Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองอุบลราชธานีมีคำพิพากษา ให้เพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าบัวสมหมาย ไบโอแมสจำกัด เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

27 ก.ย. 56 - เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลปกครองอุบลราชธานี ตุลาการผู้แถลงคดี (นายอิทธิพล ทัศนา) ได้อ่านคำพิพากษาคดีดำหมายเลขที่ ส.2/2555 กรณีนายทองคับ มาดาสิทธิ กับพวก 185 คน ฟ้องร้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กับพวกรวม ๗ คน เรื่อง คดีเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กระทำการโดยมิชอบทางกฎหมาย กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลบริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด โดยมีตัวแทนชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน 50 กว่าคน ตำบลท่าช้างและตำบลบุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษา

ศาลได้กำหนดประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 3 ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ฟ้องที่อาศัยในหมู่บ้านที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า 4 หมู่บ้าน มีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ ประเด็นที่สอง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้บัวสมหมายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นที่สาม องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง ปล่อยให้ บริษัทบัวสมหมาย ฯ ขุดสระน้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก่อสร้างโรงไฟฟ้า เป็นการละเลยต่อหน้าที่และเป็นการละเมิดต่อชาวบ้านหรือไม่ ซึ่งในแต่ละประเด็น ศาลได้มีคำวินิจฉัยดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ฟ้องคดีที่อาศัยในหมู่บ้านที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า 4 หมู่บ้าน มีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ ชาวบ้านที่อาศัยในหมู่ 3 และ 12 ต.ท่าช้างและ หมู่ 9 และ 11 ตำบลบุ่งมะแลง ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องต่างมีภูมิลำเนาอยู่ใกล้เคียงที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่พิพาท ที่อาจได้รับผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนตามปกติ ตลอดจนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต รวมทั้งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จึงย่อมเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้

ประเด็นที่สอง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้บัวสมหมายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่า โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 การใช้อำนาจของรัฐ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มาตรา 57  บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล จากหน่วยงานรัฐและมีสิทธิแสดงความเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาตรา 66 ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติสุขและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคุณภาพชีวิตของตน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้เกิดขี้เถ้าหรือฝุ่นละอองที่ออกจากปล่องของโรงงานและฝุ่นละอองที่เกิดจากการขนย้าย จึงมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต ต่อ ผู้ฟ้องคดี ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบห้าคน ดังนั้น ก่อนการอนุญาตต้องให้ชาวบ้านซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้า ได้มีสิทธิรับทราบข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลในการดำเนินโครงการ และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตน เพื่อให้ กกพ. กรมโรงงาน ผู้ว่าราชการจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด อบต.ท่าช้าง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๗ นำไปประกอบการพิจารณา มาตรา 57 ส่วนวิธีการให้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็น โดยที่ยังไม่มีกฎหมาย จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การประชาคมหมู่บ้านบ้านคำสร้างไชย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ราษฎร์ในพื้นที่ได้รับทราบ และเพื่อแสดงความคิดเห็นในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้เป็นการประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด และโดยที่เป็นการประชุมตามปกติของหมู่บ้าน เพราะผู้ใหญ่บ้านมิได้มีข้อมูลทั้งดานข้อดีและข้อเสีย ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุชมชน รวมทั้งก็ประกาศล่วงหน้าก่อนประชุมเพียงวันเดียว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่เพียงพอที่ประชาชนจะได้ศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอ จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นการกระชุมฟังฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของ มาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ

ส่วน อบต.ท่าช้าง มีการมติเห็นชอบโครงการอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่มีประชาชนบางกลุ่มมาคัดค้าน อบต.มีอำนาจหน้าที่ดูแลจัดการธรรมชาติและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่น ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และหลักการกระจายอำนาจในระบอบประชาธิปไตยในการให้ท้องถิ่นปกครองตนเองภายใต้แนวคิดว่าท้องถิ่นนั้นย่อมต้องทราบว่าอะไรมีประโยชน์และตรงต่อความต้องการของท้องถิ่นตนมากที่สุด โดยต้องให้ชาวบ้านผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบได้รับทราบ คำชี้แจง และเหตุผลในการการดำเนินโครงการ พร้อมให้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นเสียก่อน

ส่วนอุตสาหกรรมจังหวัด ได้อ้างว่าได้ปิดประกาศ 15 วันให้ทราบโดยทั่วกันแล้ว ศาลเห็นว่าการปิดประกาศเป็นเพียงการแจ้งข้อมูลการขออนุญาต ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลหรือคำชี้แจงที่ทำให้บุคคลโดยทั่วไปได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าของบัวสมหมายฯ ซึ่งไม่ได้มีการชี้แจงเหตุผลหรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่บริษัทบัวสมหมาย ไปโอแมส จำกัด จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่สาม องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง ปล่อยให้ บริษัทบัวสมหมาย ฯ ขุดสระน้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก่อสร้างโรงไฟฟ้า เป็นการละเลยต่อหน้าที่และเป็นการละเมิดต่อชาวบ้านหรือไม่ ศาลเห็นว่า การขุดสระของบริษัทบัวสมหมาย ฯ เป็นการดำเนินการก่อนได้รับใบอนุญาตเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ อบต.ท่าช้าง ไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมาย พรบ.กรมโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบกับ พรบ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 ไม่ได้ใช้บังคับในเขตตำบลท่าช้าง การที่ อบต.ท่าช้างปล่อยให้ บริษัทบัวสมหมายดำเนินการขุดสระดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เมื่อมิได้ละเลยต่อหน้าที่แล้วจึงมิได้กระกระทำละเมิดต่อชาวบ้านผู้ฟ้องคดี

ศาลจึงพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่ (สรข.5)02-590/2553 ให้แก่บริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ( คำพิพากษาศาลปกครองอุบลราชธานี (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม)คดีหมายเลขดำ ที่ ส.2/2555 หมายเลขแดง ที่ ส.6/2556)

ด้านนางหวาน กล่าวว่าตนรู้สึกดีใจ ที่ศาลให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านเราต่อสู้มานาน ตั้งแต่ลูกสาวยังเล็กๆ จนตอนนี้อายุ 6 ปีแล้วไปสู้ที่ไหนก็เอาลูกไปด้วย ต่อไปลูกไม่ต้องลำบากแล้ว สู้เพราะปกป้องชุมชนเพื่อลูกหลานไม่ต้องมารับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเหมือนที่เคยเห็นที่ร้อยเอ็ด ขอบคุณศาลปกครองที่ท่านยังให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน

ด้าน นางสาวสดใส สร่างโศรก กล่าวว่า ถือว่าวันนี้เป็นชัยชนะยกแรก หลังจากที่ต่อสู้มานาน 6 ปี เป็นชัยชนะที่ได้มาด้วยน้ำตาและความสูญเสีย ชาวบ้านต่อสู้มานานทุกระดับก่อนที่จะมาฟ้องศาลปกครองและเมื่อมาฟ้องศาลก็ใช้เวลา เกือบ 2 ปี ชาวบ้านแทบจะหมดความหวังเมื่อได้ฟังตุลาการแถลงคดีด้วยถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ในวันนี้คำพิพากษาของศาลนับเป็นประวัติศาสตร์ของคดีโรงไฟฟ้าชีวมวล ศาลได้วินิจฉัยต้นเหตุของปัญหา และคุ้มครองประชาชนภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะทุกส่วนทุกระดับที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ผ่านมาการกระทำของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ดูถูกชาวบ้านอยากทำอะไรก็ทำโดยไม่คำนึกถึงความเป็นธรรมต่อชาวบ้าน ต้องขอบคุณศาลปกครองอุบลราชธานี ที่ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านและความยุติธรรมยังพอมีอยู่ในสังคมไทย การต่อสู้ของชาวบ้านยังไม่สิ้นสุด หากมีการอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดี ชาวบ้านต้องสู้ต่อไป และกรณีเรื่องการขุดสระน้ำแม้ศาลจะเห็นว่าไม่เป็นการละเมิดต่อชุมชน ชาวบ้านก็ยอมรับคำตัดสินของศาล แต่ในความเป็นจริงชาวบ้านยังเดือดร้อนจากการขุดสระน้ำของบริษัทบัวสมหมาย ซึ่งในปีนี้กว่าน้ำจะมีหรือเต็มหนองน้ำหรือสระน้ำของชาวบ้านก็เมื่อที่อื่นน้ำท่วม ชาวบ้านต้องหาแนวทางเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบรูณ์ดังที่เคยเป็นมาก่อนต่อไป

อนึ่ง คดีนี้สืบเนื่องมาจาก บริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด จะทำการผลิตพลังงานไฟฟ้า กำลังการผลิต ๙ เมกะวัตต์ ติดตั้งเครื่องจักร 30,063 แรงม้า คนงาน 37 คน ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 29 หมู่ 17 ตำบลท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี และชาวบ้าน ได้มีการคัดค้าน การก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทบัวสมหมาย ตั้งแต่ ตุลาคม 2551 เนื่องจากกระบวนการการออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมายและดำเนินการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อบต. ซึ่งชาวบ้านได้ยื่นของความเป็นธรรมกับศาลปกครองเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด และให้ฟื้นฟูทรัพยากรที่เสียหายกลับคืนสู่ภาพเดิม

โดย มีนายทองคับกับพวก 185 คน เป็นผู้ฟ้องคดี และได้ยื่นฟ้อง 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ 1 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 2.กรมโรงงานอุตสาหกรรม 3.ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี 4.อุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี 5.องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง 6. ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 17 บ้านคำสร้างไชย ตำบลท่าช้าง และ 7.บริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้ถูกฟ้องคดี

เพราะทั้ง 6 หน่วยงานได้ร่วมกัน ออกใบอนุญาตฯ ให้บริษัทบัวสมหมายไบโอแมสโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระบวนการออกใบอุญาตฯนั้น มีความไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และ มาตรา 289 คือ เริ่มตั้งแต่การประชุมในหมู่บ้านที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม และ อบต.ท่าช้างไม่มีการเปิดเผยข้อมูลไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่ปกป้องสิทธิผู้ใช้พลังงานและชุมชนท้องถิ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net