Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
จนถึงวันนี้ก็ยังมีความแค่ข้างเดียวให้ฟัง และถ้ามองจากคำให้การที่ปรากฏจากทั้งสองฝ่าย ดูเหมือนข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือการเข้าไปรุกราน (?) ของครู การกล่าวคำว่า “อุบาทว์” “กะหรี่” และ “อีดอก” ซึ่งกลายเป็นเรื่องเมาท์กระจายกันทั่ว คนในมหาวิทยาลัยคนหนึ่งบอกขำๆว่า มหาวิทยาลัยของเรามีกรณีให้ถก(ทะเลาะ)-ทุ่ม(เถียง) กันอยู่มิเว้นวาย นี่เป็นแค่เรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งเท่านั้น  ฉันฟังแล้วก็เห็นด้วยในระดับหนึ่งเพราะมหาวิทยาลัยของเรามีเรื่องแรงร้อนกว่านี้มากจริงๆ แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหู ทั้งถือหางนักศึกษาและเข้าข้างครู ทำให้เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและไม่ธรรมดา ทั้งในแง่บทบาทหน้าที่ของครู การปะทะกันของสองขั้วความคิด และการแห่ตามอย่างเถิดเทิงทิงนองนอยของคนในสังคม ก็เลยอยากจะแสดงทัศนะบางประการเรื่องนี้สักเล็กน้อย เนื่องจากได้ยินว่าคณะไม่อยากให้พูดถึงและเนื่องจากไม่ได้ฟังความจากอีกฝ่าย จึงขอเขียนในภาพกว้างโดยอิงข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนพอสังเขปก็แล้วกัน
 
1. ครู: อำนาจ หน้าที่ 
 
เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้สงสัยในบทบาทของบุคลากรทางการศึกษาขึ้นมาตงิดๆ นอกจากงานในเชิงวิชาการ อันหมายรวมถึงการสอนหนังสือ การค้นคว้าทำงานวิจัย และการผลิตตำราต่างๆ ครูบาอาจารย์ยังมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่อนักศึกษาอีกบ้าง และควรจะมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการกำกับดูแล "สิ่งอื่น" ที่นอกเหนือจากความรู้เชิงวิชาการ
 
หากมองว่านักศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นผู้ใหญ่ คิดและตัดสินใจเองได้--ถึงแม้การเลี้ยงดูของพ่อแม่ยุคใหม่อาจทำให้เด็กบางคนขาดประสบการณ์ที่จะเสริมการตัดสินใจให้เฉียบคม แต่พวกเขาก็น่าจะมีวุฒิภาวะที่จะลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง มีวิจารณญาณและสร้างวินัยเองได้ สามารถเดินไปในทางที่ถูกที่ควรตามแบบของเขาได้--เราก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องดูแลเด็กๆให้อยู่ในกรอบ ไม่ต้องมีระเบียบที่น่าหัวเราะอย่างห้ามผับบาร์นอกรั้วมหาวิทยาลัยในระยะไม่เกินหนึ่งกิโลเมตรขายแอลกอฮอล์ และไม่ต้องพูดถึงเครื่องแบบ แต่วิธีคิดในปัจจุบันไม่ใช่เช่นนั้น เรายังมองว่าเด็กก็คือเด็ก ครูต้องปกป้องดูแลแทนผู้ปกครอง และสถาบันการศึกษาเป็นดินแดนที่สะอาด ปราศจากมลทินใดๆ ทั้งเรื่องอื้อฉาวคาวโลกีย์และเรื่องผิดกฎหมายต่างๆ ซึ่งในความจริงแล้วมัน เอ้อ...ไม่ใช่
 
สมัยที่ทำงานอยู่ในบริษัท คุณแม่ของเด็กฝึกงานซึ่งมาจากต่างจังหวัดโทร.มาฝากฝังลูกสาวให้ช่วยดูแล ให้ฉันดุว่าได้เต็มที่ บังเอิญฉันก็ดันไปรู้ว่าลูกสาวของแม่ได้ทำพฤติกรรมที่เหลือวิสัยจะดูแลได้ไปเสียแล้ว ฉันก็ได้แต่ตะกุกตะกักรับปากไปแกนๆ จะให้บอกไปได้อย่างไรว่าฉันจะเอาสิทธิ์ (ห่าน) อะไรไปตักเตือนห้ามปรามลูกสาวของแม่โดยไม่ถูกถอนหงอก (ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี) ที่ทำได้ก็แค่ดูกับแลจริงๆเท่านั้น
 
ฉันจึงค่อนข้างเห็นด้วยกับการปล่อยไหล อาจเพราะไม่ได้เป็นครูมาตั้งแต่ต้น ถามว่าดูดายไหม ก็แล้วแต่กรณี แต่ส่วนตัว ฉันขอเปลืองใจกับเด็กที่เรียกว่า “ของเรา” ได้เต็มปากมากกว่า นั่นหมายถึงคนที่เรารู้จัก รู้ใจ รู้ว่าถามได้ เตือนได้ และรับฟัง โลกมีบัวตูมบัวบานมากมายในหลายสระ ใครจะไปดูแลทุกดอกได้ ฉันมีโอกาสพบนักศึกษาถึงขั้นจำชื่อได้ปีละไม่ถึงห้าสิบ เออะ จริงๆอาจจะแค่สามสิบ ถ้าไม่มองตัวเองล้ำเลิศเกินไป ดูแลที่มีอยู่ให้ดีก่อนเถอะ ดังนั้น ถ้าคำเตือนของฉันจะมีค่าอยู่บ้าง ก็ขอเป็นคนที่เข้าใจความหวังดีเบื้องหลังการใช้อำนาจของเรา และไม่ทำให้เราเสียใจที่เสือกจะดีกว่า
 
และการแต่งกายก็ไม่มีวันเป็นปัญหาที่จะทำให้ฉันเข้าไปต่อว่าใครได้ (เพราะทุกวันนี้ฉันก็แต่งตัวติดเกณฑ์ต่ำสุดในมาตรฐานความสุภาพของคนทั่วไปอยู่แล้ว แค่ไม่โป๊เท่านั้น ฮา) ฉันคิดว่าเขามีเหตุผลของเขา เช่น เขาอาจชอบแบบนี้ ขี้เกียจซักรีด บ้านไม่มีตู้เสื้อผ้า หรืออยากประกาศความงามทางสรีระให้โลกรู้ ก็เรื่องของเขา ตราบใดที่เขารับผิดชอบตัวเองและทุกการกระทำที่เป็นผลสืบเนื่องด้วยตัวเอง ไม่ขอให้เราช่วย เราก็มองอยู่ห่างๆอย่างห่วงๆ เขาโตเป็นผู้ใหญ่จนเอาผัวเอาเมียได้แล้ว (แค่บังเอิญอยู่ในสถาบันการศึกษา) เราจะเอามาตรของเราไปวัดเขาอย่างไรได้
 
แต่มีอาจารย์บางคนที่ “อดไม่ได้” เพราะถือเป็นหน้าที่หรือเป็นอุดมการณ์ทางวิชาชีพ อันเป็นปกติของคนเป็นครูที่พึงมีความหวังดีต่อนักศึกษาและสถาบันที่ตนสังกัด ระดับและขอบเขตต่างกันไปตามมุมมอง ประสบการณ์ และวิธีคิดของแต่ละคน ซึ่งจะแปรเป็นการกระทำ (หรือไม่กระทำ) ที่แตกต่างกัน ดูเหมือนสิ่งนี้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในคนรุ่นหนึ่ง เขาก็คงไม่อยากเป็นแบบนั้น และนั่นไม่น่าจะใช่การบ้าอำนาจเสียทีเดียว เพราะเขาไม่ได้ลุกขึ้นเอาไม้ไล่ระรานคนไปทั่ว แต่จะลุกขึ้นเมื่อมีเหตุที่เขาคิดเห็นว่าไม่ถูกไม่ควร ขณะที่คนอีกรุ่นหนึ่งไม่เพียงไม่มีสิ่งเหล่านี้ ยังไม่ต้องการด้วย คำถามก็คือมหาวิทยาลัยคาดหวังให้บุคลากรทางการศึกษาทำอะไรหรือไม่ทำอะไรบ้าง สมมติว่าครู (ยัง) มีบทบาทหน้าที่ที่จะตักเตือน ห้ามปราม การกระทำที่ครูเห็นว่าไม่เหมาะไม่ควรในสถาบันการศึกษา ซึ่งในเรื่องนี้คือการแต่งตัวผิดกาลเทศะ เราจะให้ความไม่ต้องการ ไม่ยินยอม และไม่พอใจของเด็ก เป็นเหตุผลให้ครูละเลยหรือยุติบทบาทหน้าที่อันพึงกระทำไหม หรือครูที่กระทำตามบทบาทหน้าที่ที่สถาบันคาดหวังมีความผิดสมควรถูกรุมประณามโดยที่สถาบันไม่ออกมาปกป้องเลยแบบนี้ไหม แล้วเราจะยังไงกันต่อหลังจากนี้
 
มหาวิทยาลัยเป็นโลกจำลองที่เปิดให้นักศึกษาลองผิดลองถูก โดย (ควรจะ) มีครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้แนะและให้แนวทาง แต่ก็น่าเสียดายและต้องยอมรับว่าเราไม่อาจหาบุคลากรที่ดีพร้อมและถูกใจทุกคนได้ เราจึงมีครูที่สวมวิญญาณผู้คุ้มกฎหรือครูที่ทำผิดเองอยู่ บางครั้งเราก็เลือกไม่ได้ (ครูก็เลือกเราไม่ได้เหมือนกัน) แต่การทำความรู้จักและ “ดีล” กับครูแต่ละประเภทคือการเรียนรู้ เพราะเราจะได้เจอคนทุกแบบในโลกจริง ต่อให้แย่ ห่วย โหด งี่เง่า หรือร้ายกาจอย่างไร ครูจะทำร้ายเราแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น การเรียนรู้ล่วงหน้าจะทำให้เราพร้อมรับมือคนข้างนอกได้ดีขึ้น และถึงจะสรุปไม่ได้ว่าคนอายุมากกว่าจะฉลาด มีวิสัยทัศน์ หรือมีโลกทัศน์ เลิศกว่าคนอายุน้อยกว่า แต่ที่แน่ๆก็คือเขามีประสบการณ์และรู้มากกว่าเรา (อย่างน้อยก็ในเชิงวิชาการ--บางด้าน) สารัตถะของการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัย ต่างความคิด คือการเรียนรู้จากกันและกัน ไม่ใช่การผรุสวาทด่าทอคนที่เห็นต่างจากเราว่าโง่เง่า แก่กะโหลกกะลา บ้าอำนาจ
 
ในกรณีนี้ คงเป็นเรื่องน่าชื่นชมหากผู้อ่อนวัยจะแสดงความเหนือกว่าทางความคิดและให้บทเรียนที่มีประโยชน์แก่ผู้แก่วัยได้ หากเธอพิสูจน์ได้ว่ามีความคิดอ่านลึกซึ้ง มีวุฒิภาวะ (ที่จะรักษาสติ ไม่ตอบโต้ด้วยโทสะและยอมให้อารมณ์ชี้นำ ไม่ว่าจะเพื่อปกป้องตัวเองหรือใครก็ตาม) แต่เนื่องจากยากที่นักศึกษาทั้งหมดจะทำเช่นนั้นได้ แม้กระทั่งคนที่ดูจะเข้มข้นที่สุด กติกาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีอยู่เพื่อไม่ให้โลกจำลองนี้โคจรผิดทางด้วยความเร็วเกินขีดจนกระทบกระแทกดาวดวงอื่น ฉะนั้น ใครเล่าที่ต้องเป็นผู้คุ้มกฎ
 
อีกข้อหนึ่งที่น่าคิดก็คือการยอมให้ครูดุว่าสั่งสอน สมัยก่อน การน้อมตัวเป็นศิษย์หมายถึงการยอมให้ครูตำหนิตักเตือน คนรุ่นโน้นจึงไม่มีปัญหาถ้าครูจะขอดูบัตรนักศึกษาในโรงอาหารหรือพารากอน ถามว่าเขาโง่หรือ เขาขลาดหรือ เขายอมจำนนต่ออำนาจหรือ ฉันว่าไม่ใช่ เขายอมลงให้เพราะศรัทธาที่มีต่อบุคคลหรือวิชาชีพนั้นต่างหาก หากคนรุ่นหนึ่งมอบความศักดิ์สิทธิ์ให้ครูหรือเครื่องแบบ (เช่นที่เธอเลือกไม่ทำ) นั่นไม่ใช่ความโง่ เขลา ขลาด แต่เป็นทางเลือก และหากเธอเลือกที่จะไม่ให้ ขณะที่ครูยังทึกทักว่าตัวเองได้รับสิทธิ์นั้นอยู่ ครูผู้นั้นก็อาจอยู่ผิดยุคโดยไม่ยอมปรับตัว แต่เขาไม่ได้บ้าอำนาจหรอก
 
แน่ละว่าครูไม่ควรตัดสินใครด้วยอคติส่วนตัว แต่ข้อหนึ่งที่น่าจะพิจารณาด้วยก็คือ ครูในสถานศึกษา (ของรัฐ) ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามาเพราะผลตอบแทนทางการเงิน และมักเลือกสอนที่สถาบันเดิมของตน ด้วยเหตุนี้ คำทักท้วง ตำหนิ ดุว่า (หรือรุนแรงกว่านั้น) ของครูจึงอาจมี “ความรู้สึกส่วนตัว” ปนอยู่ค่อนข้างมาก แต่ต้องไม่ลืมว่านั่นคือการกระทำตามสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนในยุคที่คนส่วนใหญ่นิ่งดูดายโดยถือคติว่า “ธุระไม่ใช่” ครูคนนั้นมีอคติจริงๆ ฉันเห็นด้วย แต่เหตุผลเริ่มแรกที่ทำให้เขาเดินเข้าไปคือความเป็นห่วงสถาบันและการยึดในบทบาทหน้าที่ของตน แม้จะยึดมาตรวัดคุณค่าบางประการที่บิดเบี้ยว (ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย) แต่นั่นไม่ควรเป็นเหตุผลให้นักศึกษาด่ากลับหรือบุกตามหาคู่กรณีด้วยแผนลวงต่างๆเพื่อถ่ายรูปประจาน (เพราะนั่นจะทำให้ผู้ถูกกระทำเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ตอบโต้หรือตรงกันข้ามได้)
 
 
2. การปะทะกันระหว่างอดีตกับอนาคต 
 
สิ่งที่ปรากฏชัดในกรณีนี้คือการปะทะกันของทัศนคติสองขั้ว ขั้วหนึ่งเชื่อว่าความดีความงามคือระเบียบแบบแผน ชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาจะดำรงอยู่ได้ด้วยการตั้งมั่นในวินัย ภาพลักษณ์ และสิ่งปรุงแต่งที่งดงาม รวมทั้งจับคู่ความดีความงาม คุณค่า สถาบัน ไว้ในกลุ่มตรงข้ามกับสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ความเสื่อมเสีย และสถานบริการทางเพศ ขณะที่อีกขั้วหนึ่งเชื่อว่าแก่นแกนและเนื้อแท้ต่างหากที่พิสูจน์ความดีความงามของคน ไม่ใช่เครื่องแบบหรือเสื้อผ้าที่แสดงความสุภาพ และคนทุกคนมีอิสรภาพที่จะคิด ที่จะเติบโต ที่จะเป็น ให้ค่ากับตัวตน ความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคของมนุษย์ เหนือข้อจำกัดทางระเบียบวินัย มารยาท และกาลเทศะ
 
ด้วยเงื่อนไขว่าคำบอกเล่านั้นเป็นจริง เราเห็นคีย์เวิร์ด เช่น แต่งตัวไม่เหมาะสม ผิดระเบียบ เสื่อมเสียชื่อเสียงมหาวิทยาลัย ในส่วนที่ครูพูด ขณะที่นักศึกษาแสดงสีหน้าไม่ยี่หระ ยิ้มเยาะ ตอบโต้อย่างไม่สะทกสะท้านหรือสะดุ้งสะเทือน และทำให้ครูเดินหนีไปโดยทำอะไรไม่ได้ นอกจากทิ้ง “ถ้อยคำ” ทำร้ายตัวเองให้เธอนำมาฟ้องศาลประชาชนอย่างที่เป็นอยู่
 
ถามว่าครูผิดไหม ฉันไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำและท่าทีของครู (จากเรื่องที่เล่า) แต่ไม่มีปัญหาที่ครูเข้าไปแสดงตัวและชี้แจงความล่อแหลมและความหมิ่นเหม่ต่อกาลเทศะของเด็ก ฉันว่าเขาน่านับถือด้วยซ้ำที่กล้าทำสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกว่าควร เสือกไหม โดยพฤติกรรมก็ใช่ แต่โดยเจตนาและบทบาท น่าจะอยู่ในขอบเขตที่ทำได้ นั่นคือการเข้าไปตักเตือน (หรือดุว่า) ในบริบทของสถานที่และสถานการณ์แวดล้อมนี้ (แต่ไม่รู้ว่าที่นี่อนุญาตให้ครูริบบัตรนักศึกษาได้หรือเปล่า ได้ยินว่าสถาบันหลายแห่งให้สิทธิ์นั้นกับครู) ส่วนเด็กจะเชื่อ ชอบ หรือเชิดชูไหม ก็อีกเรื่องหนึ่ง
 
แต่โดยพื้นฐานนะ ต่อให้ไม่พอใจแค่ไหน ทั้งสองฝ่ายก็ควรเจรจาหาความกันอย่างมนุษย์ผู้ “ใฝ่” ความเจริญ การด่าเด็กว่าหน้าตาว่าอุบาทว์/ที่นี่ไม่ใช่พารากอน ไม่ใช่ประเด็น ขณะเดียวกัน การเยาะยั่ว ตีฝีปาก และเถียงคำไม่ตกฟากของอีกฝ่ายก็ไม่ใช่สิ่งพึงทำ ต่อให้ยืนด่าจนตายก็ใช่ว่าครูจะบังคับเรานุ่งโจงห่มสไบได้ เม้งเหนื่อยแล้วครูก็มักจะหนีไปหาที่ช้ำในตายเงียบๆ แต่การเถียงฉอดๆแบบด่าไปห้า ตอบมายี่สิบ คือการราดน้ำมันใส่กองเพลิงดีๆนี่เอง
 
และเมื่อมันไหม้ลาม (ไปถึงคนอื่น) ขึ้นมา...ไฟกลายเป็นคนผิดฝ่ายเดียวหรือ
 
 
3. กะหรี่และอีดอก เขาด่ากัน แล้วเราด่าใคร 

เมื่อขิงไม่ยอมเพราะสถานะเหนือกว่าและเชื่อมั่นในเกณฑ์ความถูกต้องเกณฑ์หนึ่ง ส่วนข่าก็ไม่หยุดเพราะเนื้อหาในตัวแรงจัดชัดจริง ความเผ็ดก็เลยกระจายไปทั่วโรงอาหาร แต่ประเด็นที่ยกขึ้นมาฟูมฟายคืออะไร ครูบ้าอำนาจเอาสิทธิ์อะไรมาขอดูบัตร? ฉันทำตามสิทธิเสรีภาพ ไม่หนักหัวใคร ยุ่งอะไรด้วย? หรือโกรธแทนกะหรี่ เอ้อ คนที่ถูกพาดพิง? เท่าที่อ่านดู น่าจะเป็นข้อหลัง เพราะสองข้อแรกตอบโต้ไปแล้ว ส่วนที่ว่าโกรธแทนกะหรี่ จริงๆ คำว่า “อีดอก” ก็น่าจะสาใจผู้คนที่โกรธแค้นแทนกะหรี่ทั่วโลกแล้ว ลำพังแค่ “แต่งตัวเหมือนกะหรี่” นี่ฉันไม่รู้สึกเท่าไรนะ มันก็แค่ “คำ” มันก็แค่ “การอุปมา” ถึงเสื้อผ้า แต่รู้สึกจี๊ดใจเมื่อประโยคนี้ไปรวมกับ “ทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสีย” คือกะหรี่แต่งตัววับแวมเพื่อทำงาน นั่นเป็นอาชีพของเขา การที่กะหรี่แต่งตัววับแวมหรือการที่ใครแต่งตัวเหมือนกะหรี่ทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียยังไงหรือ มหาวิทยาลัยคงไม่เสื่อมเสียเพราะคนประกอบอาชีพนั้นหรือแต่งตัวแบบนั้นหรอก แต่จะเสียหายเพราะทัศนคติแบบนั้นต่างหาก
 
อย่างไรก็เถอะ แค่การบอกเล่าว่า นังครูชะนีคนหนึ่งด่าเราว่าแต่งตัวเป็นกะหรี่ ทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อ ก็ส่ง “พลัง” สะท้อนกลับไปทำร้ายคนพูดโดยที่เราไม่ต้องเปลืองตัวแล้ว จะฟูมฟายต่อทำไม ให้สังคมรับรู้และครุ่นคิด? ให้สังคมร่วมประณาม ด่าทอ เกลียดชัง เพื่อความสะใจ? ให้อีนังชะนีนี่อยู่ไม่ได้? คงไม่ใช่ข้อแรกแน่ๆ ยิ่งถ้าดูพฤติกรรมสืบเนื่องที่อุตส่าห์สืบหาตัว หาชื่อ ด้วยวิธีต่างๆ มองเป็นอื่นไม่ได้นอกจากต้องการประจานให้อาย หรือเอาให้ตาย ซึ่งทำแล้วมันเกิดผลดีกับใคร (ตัวเอง) ไหม มันเป็นการกระทำที่คับแคบและไร้เหตุผลแบบที่เธอก่นด่าประณามอยู่ใช่หรือไม่
 
หากเปลี่ยนมาเล่าเรื่องนี้ด้วยท่าทีชวนขบคิด ให้ผู้คนถกเถียงและหาทางออก (ที่เราต้องการ) ในเรื่องบทบาทของครู กาลเทศะ มารยาท และวินัย อะไรทำนองนี้ จะทำให้เกิดวิวาทะในทางสร้างสรรค์มากกว่าไหม
 
ที่สำคัญ การที่มหาชนผู้เจริญจำนวนมากเข้ามารับฟังและกดไลก์ พร้อมสาดคำด่าใส่ผู้หญิงคนหนึ่งที่พวกเขาไม่รู้จัก ไม่ได้ถูกด่าเอง หรือเอาจริงๆ ไม่ได้ยินจากปากเจ้าตัวด้วยซ้ำ มันยุติธรรมแล้วหรือ เป็นการกระทำที่น่ายกย่องของผู้คนที่รักความเสมอภาคมากสินะ ไม่สะดุดใจบ้างหรือที่อยู่ๆ เราก็พร้อมจะรุมด่าใครคนหนึ่งที่เราไม่เห็นด้วยด้วยถ้อยคำรุนแรง (แม้จะไม่เหยียดหยาม) ได้ทันควันโดยไม่ต้องแม้กระทั่งหยุดฟังว่าอีกฝ่ายมีอะไรจะแก้ตัวไหม นี่มันอคติรูปแบบหนึ่งหรือเปล่า การที่เราพร้อมจะเฮโลเชื่อสิ่งที่เพื่อน (?) เล่า มั่นใจว่าเขาไม่โกหกบิดเบือน และถือศัตรูของเพื่อนเป็นของเราเพียงเพราะเขาเป็นฝ่ายมีอำนาจ และร่วมเล่นงานคนคนนั้น มันทำให้เรามีศักดิ์ศรีกว่าตรงไหน กระทั่งศาลยังมีความยุติธรรมก่อนจะตัดสินความเลย มุมมองของคนที่มองเรื่องนี้ย่อมต่างกัน ทั้งฝ่ายพูดและฝ่ายฟัง ขณะที่เธอยิ้มเยาะและตอกกลับแรงๆ แต่กลับเล่นบทผู้ถูกกระทำ ชักนำเพื่อนๆให้รุมโจมตีศัตรูผู้กระทำ แน่ใจหรือว่าเธอไม่ได้กระทำการต่างๆเหล่านั้นด้วยอคติแบบเดียวกัน หรืออาจจะเลวร้ายยิ่งกว่า แน่ใจหรือว่าเธอไม่ได้กระทำเขาเช่นเดียวกัน บางที เธออาจตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่กระแทกความรู้สึกของอีกฝ่าย (เธอคงคิดว่า แล้วไง ก็สมแล้ว มาเล่นเราก่อน เราอยู่ของเราดีๆ ใช่ไหม) แต่ก็นั่นแหละ ความเจ็บช้ำน้ำใจในศักดิ์ศรีของผู้ใหญ่ที่ถูก “เด็กเมื่อวานซืน” ย้อนเย้ยอาจส่งผลให้เกิดอาการกระอักโลหิต และหลุดคำพูดที่ไม่เหมาะสมออกมาก็ได้ และในกรณีนี้ เขาก็ถูกกระทำไม่ต่างจากเธอเช่นกัน (ไม่พูดถึงฝ่ายที่เห็นด้วยกับครู เพราะครูไม่ได้ออกมาอธิบายการกระทำของตัวเอง และฉันคงไม่สามารถที่จะตีความหรืออธิบายแทนได้ แต่เข้าใจว่าฝ่ายที่ออกมาเห็นด้วยกับครูก็เพราะต่อต้านปฏิกิริยาจากคำบอกเล่าของนักศึกษานั่นเอง)
 
เอาเถอะ นั่นไม่ใช่คำแก้ตัว (และฉันก็ไม่คิดจะแก้ตัวแทนใคร) เมื่อคำพูดหลุดออกไปแล้ว ผิดก็คือผิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม บทเรียนของคนเป็นครู (ทุกคน) โดยเฉพาะคนที่อยู่ในขั้วความคิดแบบอนุรักษนิยม ก็คือการทบทวน จูน และปรับทัศนคติของตนเสียใหม่ เพื่อให้ก้าวตาม ก้าวทัน และ (อาจจะ) ก้าวนำในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แล้วเธอต้องการอะไรอีก ต้องให้เขาออกมากราบเท้ากะหรี่ทั่วประเทศก่อนจึงยอมเลิกราหรือ และถ้าเขาทำแบบนั้น เธอจะพากันกราบเท้าขอโทษเขาด้วยไหม ถ้าดูจากตัวหนังสือ ฉันคิดว่าความโกรธและความชิงชังที่ปะทุออกมาในโพสต์มันรุนแรงและแผดเผากว่าแก่นความคิดที่ก้าวหน้าอยู่หลายช่วงตัวทีเดียว เพราะว่าที่สุดแล้ว อคติของเขาก็แค่คำพูด เป็นอคติที่หลุดออกมาดังๆจากการสะสมที่เขาเองอาจไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ แน่ละว่ามีความเป็นมนุษย์ของคนบางคน อาชีพบางอาชีพ ถูกทำร้ายให้บาดเจ็บ แต่เอาจริงๆนะ สิ่งสำคัญก็คือยังไม่มี "ใคร" เป็น "อะไร" สักคนเดียว
 
อย่างไรก็ตาม คงต้องบันทึกไว้ว่า กรณีนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์หนึ่ง นั่นคือครูก็ถูกด่าได้ (แถมคนด่ายังบอกเล่าได้อย่างหน้าชื่นเสียอีก) และการแสดงความไม่พอใจของคนรุ่นนี้ก็ทำได้ทันทีและเสรีมากๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าควรรู้สึกยังไงกับปรากฏการณ์นี้ดี สำหรับคนที่โตมาในยุคบูชาครู ก็ทำใจลำบากนะ ไม่ใช่เพราะการสวนกลับ หากเป็นท่าทีและวาจามากกว่า (คือต่อให้ครูร้ายยังไง ฉันคงไม่ด่าครูว่าอีดอก แล้วเอามาเล่าให้เพื่อนฟังสนุกปากแน่ๆ) แต่ในทางหนึ่ง นี่คือการลอกเปลือกนอกที่เรียกว่ามารยาทของมนุษย์ออกไป เมื่อไม่พอใจ จะมีสถานะเป็นอาจารย์หรือนักศึกษา เราก็ลุกขึ้นด่ากันด้วยถ้อยคำแรงๆที่มุ่งทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายให้ถึงที่สุด หรือฟาดฟันกันให้ตายไปข้างหนึ่ง ซึ่งจะว่าไป อยู่กันแบบจริงใจเหมือนสมัยหินก็อาจทำให้คนดัดจริตน้อยลงได้ แต่ฉันไม่เชื่อหรอกนะว่าโลกไร้มายาจะดีไปกว่าโลกดัดจริตสักกี่มากน้อย มนุษย์มีความหลากหลายและกลิ้งกลมเกินกว่าจะอยู่กันอย่างสงบได้ง่าย ไม่ว่าในโลกที่ออกแบบมาดีเพียงใด และโลกที่ว่านั้นยังไม่เคยปรากฏที่ไหน และคงจะไม่ปรากฏในเร็วๆนี้
 
ขอปิดท้ายด้วยเรื่องน่าสลดใจที่เพิ่งได้ยินมาเมื่อวาน ครูที่โรงเรียนแถวบ้านถูกให้ออกเนื่องจากผู้ปกครองของเด็กมาร้องเรียนว่าครูผู้นั้นล่วงละเมิดทางเพศบุตรหลานของตน เด็กชายคนหนึ่งถูกล่วงละเมิดโดยไม่สมยอมมาหลายครั้งจนไม่ยอมมาโรงเรียน พ่อแม่คาดคั้นจนได้ความจริงที่แสนเจ็บปวด เจ้ากรมข่าว (ลือ) เล่าว่าเด็กมีอาการบวมเจ่อทั้งที่ปากและอวัยวะเพศ และแกอยู่แค่มัธยมต้นเท่านั้น ไม่มีใครรู้ว่าตลอดหลายปีที่สอนหนังสือ ครูหนุ่มผู้นี้ได้กระทำชำเราเด็กชายไปกี่คนแล้วและอย่างไรบ้าง ส่วนที่สมยอมนั้นก็เอาเถิด (วะ) แต่อีกกี่คนที่ยอมเพราะหวาดกลัว เพราะเห็นว่าเป็นครู และกี่คนที่แบกบาดแผลเหล่านั้นออกไปจากโรงเรียน พระเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่าบาดแผลนั้นฝังในและจะไปทำร้ายลูกหลานหรือใครอื่นอีกมากมายเท่าไรในอนาคต อสุรกายในคราบครูเช่นนี้อาจไม่เคยพูดจาหมิ่นหยามเพศแม่หรืออาชีพอะไรทั้งนั้นในโลก แต่พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเจ็บช้ำกับเลือดเนื้อและหัวใจของคนเป็นๆเช่นนี้น่าประณามมากกว่าหรือเปล่า และหลังจากลาออกจากที่นี่แล้ว เขาจะไปก่อการละเมิดใครที่ไหนอีกบ้าง เมื่อไม่ได้ดำเนินคดี ไม่ได้ถูกไล่ออก ประวัติอันขาวสะอาดอาจทำให้เขาเข้าทำงานในโรงเรียนที่ไหนก็ได้ และใครจะรู้ว่าในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ (ซึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 30 ปี) เขาจะทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กอีกเท่าไร
 
หากพวกเธอเจ็บร้อนจะเป็นจะตายกับครูดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนที่ประกอบอาชีพหนึ่ง ขอให้พวกเธอเดือดร้อนให้มากกว่านี้หลายๆเท่ากับครูหรือใครก็ตามที่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและชีวิตจริงๆ 
 
เรื่องของวาทกรรมและการปะทะกันทางความคิดช่วยบริหารสมองส่วนวิพากษ์วิจารณ์ได้ดี และอาจจะช่วยให้หลายๆคนฉุกใจคิดทบทวนกรอบอคติของตัวเอง รวมถึงเปิดใจที่จะคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นมากขึ้นได้ แต่อะไรเล่าจะช่วยให้คนที่ลงมือกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่หยุดทำแบบนั้นได้ และเราควรจะมีปฎิกิริยากับคนเหล่านั้นอย่างไร
 
ฝากไว้ให้ช่วยคิดต่อนะ
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net