Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์รองเลขาธิการ ศอ.บต. ครั้งแรกของผู้รู้อิสลามในตำแหน่งระดับสูงเพื่องานดับไฟใต้ พร้อมคำอธิบายเนื้องานทางศาสนาเพื่อปูทางไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง กับความหมายของสันติภาพและการยับยั้งความอยุติธรรม

ดูเหมือนว่า หลังจากดร.มะรอนิง สาแลมิง เข้ามารับตำแหน่งรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. อย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำการขับเคลื่อนงานด้านกิจการศาสนาอิสลามที่จะส่งผลต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูจะคึกคักขึ้นมา
 
ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ดร.มะรอนิงคือผู้รู้ศาสนาอิสลาม เป็นนักวิชาการศาสนาที่สามารถเข้ามารับตำแหน่งข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะก่อนถูกโยกมารับตำแหน่ง ดร.มะรอนิงรองเลขาธิการศอ.บต. เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชากฎหมายอิสลาม ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เป็นตำแหน่งทางวิชาการ
 
นั่นเป็นไปตามความตั้งใจของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต.ที่ต้องการให้มีผู้รู้ศาสนาอิสลามมาช่วยงานด้านกิจการศาสนาอิสลาม ซึ่งแน่นอนว่าบางเรื่องจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางด้านศาสนาอิสลามที่ลึกซึ้งมาใช้ประกอบการตัดสินใจ ยิ่งในภาวะที่สังคมพื้นที่เรียกร้องโหยหาความชัดเจนและคำอธิบายทางหลักการอย่างเปิดเผยมาเนิ่นนาน


ดร.มะรอนิง สาแลมิง 

ครั้งแรกผู้รู้อิสลามในตำแหน่งสูง(เพื่องานดับไฟใต้)
 
ดร.มะรอนิง เรียนจบปริญญาสาขากฎหมายอิสลาม(Islamic Law) จากมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมาดีนะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย จบปริญญาโทสาขากฎหมายชารีอะห์ (Principles of Jurispredence) และจบปริญญาเอกสาขาเดียวกันและมหาวิทยาลัยเดียวกัน
 
ดร.มะรอนิง มั่นใจที่มารับตำแหน่งนี้ เพราะได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งจากกลุ่มผู้นำศาสนา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาสและนักวิชาการในพื้นที่อีกหลายคน ซึ่งคุณสมบัติหลายอย่างที่พ.ต.อ.ทวีกำหนด ทำให้หลายคนยกมือชี้มายังดร.มะรอนิง แม้เจ้าตัวยืนยันว่าที่จริงยังมีคนอื่นที่มีความรู้ความสามารถอีกหลายคนก็ตาม
 
บวกกับสิ่งที่เจ้าตัวยืนยันว่า การที่มีผู้รู้ศาสนาอิสลามอยู่ในตำแหน่งระดับสูงนั้น เป็น“ฟัรดูกิฟายะห์” อันเป็นข้อบัญญัติในเชิงสังคมที่สังคมหนึ่งจะต้องมี
 
“งานทางศาสนาที่เราทำระหว่างทาง...”
 
ถามว่านับตั้งแต่มารับตำแหน่ง ได้นำเนื้อหาสาระทางศาสนาอิสลามมาใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างไรบ้าง ฟังคำตอบจาก ดร.มะรอนิง ดังนี้
 
“ต้องยอมรับว่า ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมเข้ามารับตำแหน่งนี้ เป็นการเตรียมตัวมากกว่าการลงลึกไปในสิ่งต่างๆเหล่านั้น เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”
 
“การเตรียมตัว คือ การใช้ภาวการณ์หรือสถานการณ์ เช่น ช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเราสามารถแปลสาระคำสอนทางศาสนาที่เน้นเรื่องการเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ(พระเจ้าที่ชาวมุสลิมนับถือ) มาเป็นโครงการต่างๆ ผ่านสาระทางศาสนา ผ่านศาสตร์สังคมของอิสลาม เช่นเดียวกับการช่วยเหลือสังคมและการสร้างสันติในเรื่องต่างๆ
 
ในโครงการต่างๆ จะต้องอธิบายว่าเป็นการช่วยเหลือเด็กกำพร้า แม่หม้าย แม้แต่คนในเรือนจำ ก่อนหน้านั้น ก็เป็นการนำอินผาลัน คัมภีร์อัลกุรอานไปฝากให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ การนำโต๊ะอิหม่ามจากประเทศซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นลูกหลานของคนปัตตานีมาเป็นอิหม่ามในบ้านเราในเดือนรอมฎอน
 
สิ่งนั้นเป็นเราะมะห์(ความโปรดปรานของพระเจ้า)ในเดือนรอมฎอน เพราะถือว่า 10 วันแรกในเดือนรอมฎอนเป็นเราะมะห์ 10 วันกลางเป็นมัฆฟีเราะ(การให้อภัย) และ 10 วันสุดท้าย เป็นอิตกุมมินัลนาร์(การปลดปล่อยตัวเองจากไฟนรก) เราจึงมาแปลมาเป็นโครงการทั้งหมด
 
ยิ่งในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เราสนับสนุนการอิติกาฟ (การประกอบศาสนกิจในช่วงกลางคืน) เรานำฮาดิษ(วัจนะ การกระทำและการยอมรับของศาสดามูฮัมหมัด) มาแปลเป็นโครงการ นำสาระในคัมภีร์อัลกุรอานหรือสาระทางศาสนามาเป็นแปลเป็นโครงการ สิ่งเหล่านั้นจะเป็นแฝงไปด้วยเนื้อหาของศาสตร์สังคมและการส่งเสริมสันติในตัวเองและสังคมต่างๆ
 
ในช่วงพิธีฮัจญ์ เราก็นำเอาสภาพการณ์ในช่วงนี้มาทำให้เกิดสิ่งที่สร้างสรรค์ ในเชิงการอยู่รวมกันในสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองว่า ศาสนาเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจและทุกคนก็รับได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเดือนรอมฎอนปีนี้ต่างจากเดือนรอมฎอมปีที่ผ่านมา งานอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการสานสัมพันธ์ทางศาสนา”
 
คำอธิบาย “อิสลาม-ความขัดแย้ง-สันติภาพ”
 
ในช่วงที่มีการเกิดขึ้นของกระบวนการสันติภาพหรือการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ทางศอ.บต.จะเน้นนำเรื่องศาสนาไปมีส่วนในการสร้างบรรยากาศในช่วงที่มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
 
เรื่องกระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องที่มีความชัดเจนมากในทางศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในเนื้อหาสาระที่ศาสนาอิสลามพูดถึง เพราะคำว่าอิสลามเองก็มีความหมายว่า สันติ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เป็นเชิงปฏิบัติจะต้องเป็นการสนองต่อความหมายของอิสลาม คือ สันติ และทุกคนก็เข้าใจ
 
แต่ถามว่าทำไมโลกถึงยังเกิดปัญหาความขัดแย้งกันอยู่ ไม่ใช่แค่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ในกลุ่มประเทศอาหรับ อย่างซีเรีย ลิเบีย อียิปต์ หรือในอินโดนีเซียก็ยังเกิดปัญหาความขัดแย้งเหมือนกัน และเป็นความขัดแย้งระหว่างคนมุสลิมด้วยกัน
 
ขนาดมุสลิมด้วยกันยังเกิดความขัดแย้งกัน ถ้าเป็นคนต่างศาสนิกก็ต้องมีปัญหาอยู่แล้ว ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น เพราะพวกเขาไม่เข้าใจศาสนาอิสลามใช่ไหม ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะเนื้อหาสาระทางศาสนามันชัดเจน แต่เพราะมีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยแวดล้อมตัวบุคคลหรือสภาพการณ์ที่ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ตาม หรือถูกกระทำก็ตาม 
 
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปสนับสนุนหรือไปทำให้เกิดการตีความ หรือความเข้าใจในเชิงที่ต้องการจะให้พ้นจากความขัดแย้งนั้น
 
ในศาสนาอิสลามเอง ถือเรื่องสันติเป็นสาระสำคัญ แต่ขณะเดียวกัน อะไรที่ไปทำร้ายสันติ เช่น การขดขี่ ความอยุติธรรม ก็มีข้ออ้างที่จะผลักให้ออกจากการถูกกระทำนั้นได้ 
 
ดังนั้น เราจะต้องอธิบายได้ว่า การที่เราถูกกระทำนั้นเราก็จะต้องปกป้องตัวเอง ซึ่งศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ผู้ศรัทธาถือว่า เป็นศาสนาที่สมบูรณ์ เพราะถือว่ามี(คำสอน)ทุกอย่างในตัวมันเอง ทั้งศาสนากิจ เศรษฐกิจ ธุรกิจ การศึกษา การเมืองการปกครอง โดยไม่สามารถปฏิเสธได้
 
ในเมื่อมีทุกอย่าง เราก็จะเลือกคำสอนที่จะสนองต่อเนื้อหาสาระเชิงการเมืองการปกครองหรือเชิงสังคม เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความอยุติธรรมขึ้นมา ดังนั้น จะต้องมีคนลุกขึ้นมาเพื่อปราบปรามความอยุติธรรมนั้น ดังฮาดิษที่ว่า จงพูดความจริงต่อหน้าผู้ปกครองที่อธรรม ซึ่งถือเป็นการญีฮาด(การต่อสู้ในทางศาสนา)อย่างหนึ่ง เพื่อยับยั้งความอยุติธรรม
 
ความจริงและการตีความ (เพื่อยับยั้งอยุติธรรม)
 
ดังนั้น จึงมีการให้ความหมายของการญีฮาดไปต่างๆ เพราะมันสามารถอธิบายได้ ฉะนั้นเงื่อนไขต่างๆ(ที่นำไปสู่ความอยุติธรรม)เหล่านี้ สามารถที่จะอธิบายได้ด้วย จึงเกิดปรากฏการณ์หรือพัฒนาการในเชิงการตีความขึ้นมา (ว่าใครจะตีความอย่างไรหรือตีความไปถึงไหน)
 
แม้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าศาสนาอิสลามมีครบถ้วนทุกเรื่อง แต่ทุกอย่างนั้นจะต้องมีการโน้มน้าวให้สนองความสันติตามความหมายของอิสลาม 
 
ขณะเดียวกัน ในเรื่องสันตินั้นก็มีเงื่อนไข และเกิดการอธิบายหรือการตีความขึ้นมาด้วย ซึ่งมีผลในเชิงปฏิบัติหรือเชิงพัฒนาการในตัวของมัน
 
ฉะนั้น ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องนี้ เราก็ต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ ถ้าเราพูดเรื่องความขัดแย้ง เราก็ต้องไม่มีอคติ ต้องมีใจที่บริสุทธิ์จึงพูดถึงสิ่งเหล่านี้ได้ 
 
ถ้าเรามีใจที่อคติหรือไม่บริสุทธิ์ การตีความก็จะเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นวังวน จะเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ แต่ถ้าเรามีจิตใจบริสุทธิ์ต่ออัลลอฮฺและไม่มีอคติต่อบุคคลแล้ว เราก็พูดเรื่องนี้ได้
 
เพราะทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่เป็นสิ่งอธรรมมันก็เป็นสิ่งที่อธรรม ไม่ว่าเราจะใช้วาทกรรมใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้อัลลอฮฺเท่านั้นที่เป็นผู้รู้ บางครั้งเราไม่อาจจะลงไปถึงสิ่งที่เป็นความจริงได้ดั่งที่อัลลอฮฺรู้
 
เพราะฉะนั้นอะไรที่เกิดขึ้นในเรื่องศาสนาก็จะมีคำตอบอยู่แล้ว แต่ในการหาคำตอบนั้นต้องใช้เวลา บางคนอาจจะเห็นคำตอบที่เร็วขึ้น เพราะอัลลอฮฺต้องการให้เขาเห็น
 
บางคนที่อัลลอฮฺไม่ต้องการให้เห็นหรือให้รู้คำตอบได้เร็ว ก็จะมีการตีความต่างๆนานาขึ้นมา สุดท้ายก็จะเกิดสิ่งที่เป็นความจริงขึ้นมา เพราะนี่คือความจริง
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net