หอศิลป์อังกฤษทำเก๋ จัดรวมผลงานมุ่งสำรวจประวัติศาสตร์ 'ศิลปะที่ถูกโจมตี'

ในประวัติศาสตร์หลายศตวรรษที่ผ่านมา ผลงานศิลปะบางชิ้นถูกโจมตีหรือถูกทำให้เสียรูปเดิมด้วยสาเหตุทางศาสนา บ้างก็ด้วยความไม่พอใจทางการเมือง หรือบางครั้งก็กลายเป็นการแสดงแนวคิดขบถในเชิงศิลปะยุคใหม่ หอศิลป์เททในอังกฤษรวบรวมผลงานเหล่านี้เพื่อชวนสำรวจว่าเหตุใดถึงมีการโจมตีตัวผลงานเกิดขึ้น


ผลงาน L.H.O.O.Q. ของมาร์เซล ดูชองป์ (ที่มา Wikipedia)

1 ต.ค. 2013 - หอศิลป์เททในอังกฤษจะมีการจัดแสดงนิทรรศการ "ศิลปะที่ถูกโจมตี : ประวัติศาสตร์แนวคิดทำลายรูปเคารพของอังกฤษ" (Art under Attack: Histories of British Iconoclasm) ในวันที่ 2 ต.ค. ถึง 5 ม.ค. ปีหน้า ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของนิทรรศการศิลปะที่แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์การโจมตีตัวงานศิลปะในอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 มาจนถึงปัจจุบัน

เว็บไซต์ของหอศิลป์อังกฤษเปิดเผยว่านิทรรศการในครั้งนี้ต้องการสำรวจว่าทำไมรูปเคารพ สัญลักษณ์ และอนุสรณ์ต่างๆ ถึงถูกโจมตีหรือทำให้เสียรูปด้วยแรงจูงใจทางศาสนา การเมือง หรือทางสุนทรียศาสตร์ โดยมีการนำเสนอผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และวัสดุจดหมายเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยรวมถึงผลงานของศิลปินที่นำเสนอ "การทำลาย" ในแง่ของพลังสร้างสรรค์ทางศิลปะ เช่น ผลงานของ กุสตาฟ เมทซ์เจอร์ (ผู้เคยมีผลงานชุด "ศิลปะของการทำลายล้างโดยอัตโนมัติ" ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับการทำลายกีต้าร์หลังการแสดงสดของวงดนตรี The Who)

สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ได้นำเสนอตัวอย่างผลงาน 26 ชิ้นพร้อมคำวิจารณ์ของนักวิจารณ์ศิลปะ โจนาธาน โจนส์  ซึ่งมีตั้งแต่ผลงานรูปปั้นพระคริสต์ที่ถูกโจมตีในช่วงยุคปฏิรูปต้นศตวรรษที่ 15 ไปจนถึงภาพของผลงานภาพวาดของลีโอนาโด ดา วินชี ที่ถูกชายผู้หนึ่งใช้ปืนลูกซองยิง

งานศิลปะจำนวนมากถูกทำลายหรือทำให้เสียรูปเนื่องจากเหตุผลด้านศาสนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานที่มาจากยุคศตวรรษที่ 15 หรือก่อนหน้านั้น ขณะที่บางส่วนก็เป็นเรื่องแรงจูงใจทางการเมืองเช่นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่มีกระแสการประท้วงเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง (suffragettes) ที่มีการทำลายงานศิลปะในหอศิลป์แมนเชสเตอร์ปี 1913 ทำให้ทางหอศิลป์สั่งห้ามนำร่มและเครื่องประดับของสตรีที่อาจเป็นอันตรายเข้าไปในข้างใน

ตัวอย่างของงานศิลปะที่ถูกโจมตีด้วยแรงจูงใจเชิงสตรีนิยมยังมีอีกผลงานคือผลงานที่ชื่อ "เก้าอี้" (Chair) ของอัลเลน โจนส์ ซึ่งสร้างในปี 1969 เป็นงานที่มีท่าทีเชิง 'ชายเป็นใหญ่' ทำให้มีผู้ประท้วงสตรีนิยมไม่พอใจและมีการสาดน้ำยาขัดสีใส่ผลงานในปี 1986


ผลงาน "เก้าอี้" ของ อัลเลน โจนส์ (ที่มา Tate.org.uk)
 

บางครั้งประชาชนก็รู้สึกไม่พอใจที่ผลงานศิลปะ 'เล่นง่าย' เกินไปเช่นผลงานชื่อ "ความสมดุลหมายเลขแปด" (Equivalent VIII) ของคาร์ล อังเดร สร้างในปี 1966 ซึ่งเป็นการนำเอาก้อนอิฐฉนวนทนไฟ 120 ก้อนมาเรียงกัน และเมื่อหอศิลป์เทท ซื้อผลงานนี้ด้วยราคา 2,297 ปอนด์ ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกถูกเย้ยหยันดูแคลน ทำให้ในปี 1976 มีผู้เข้าชมรายหนึ่งสาดสีย้อมผักสีน้ำเงินใส่ผลงาน ซึ่งสามารถล้างออกได้โดยง่าย เดอะการ์เดียน ระบุว่า หากมีการซื้อขายในทุกวันนี้ผลงานอิฐของอังเดรอาจจะมีราคาถึง 1 ล้านปอนด์

แต่บางคนก็มีการทำลายผลงานศิลปะอย่างไม่มีสาเหตุหรือไม่ก็มีแรงจูงใจลึกลับบางอย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้ เช่นเมื่อเดือน ก.พ. ปีนี้ ผลงาน "เสรีภาพนำทางประชาชน" (Liberty Leading the People) ซึ่งจัดแสดงในลูฟว์ถูกผู้หญิงคนหนึ่งเขียนตัวอักษร AE911 ลงไปในภาพ ซึ่งมีผู้เชื่อว่าตัวอักษรดังกล่าวสื่อถึงการสมคบคิดเบื้องหลังเหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 9/11

อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่เป็นผลงานแบบที่แต่งเติมหรือแปลงโฉมผลงานดั้งเดิมด้วยเหตุผลทางสุนทรียศาสตร์หรือการเคลื่อนไหวทางแนวคิดศิลปะยุคใหม่ เช่น ผลงานชื่อ L.H.O.O.Q. ของมาร์เซล ดูชองป์ ซึ่งเป็นภาพโมนาลิซ่าเติมหนวด โดยดูชองป์ไม่ได้นำภาพต้นฉบับมาดัดแปลง แต่เป็นการแปลงจากภาพโมนาลิซ่าฉบับโปสการ์ด ขณะที่ศิลปินบางคน เช่น สองพี่น้อง เจคและดีโน แชปแมน เล่นแรงกว่านั้นด้วยการขีดเขียนภาพผลงานดั้งเดิมของฟรานซิสโก โกยา เพื่อวิจารณ์สงครามและการขโมยผลงานในแบบ 'เซอร์เรียล' ของพวกเขาเอง

แต่ไม่ใช่ว่าการกระทำเช่นนี้จะได้รับการยอมรับหรือแม้กระทั่งมองเป็นศิลปะเสมอไปเมื่อมีผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินชื่อวลาดิเมียร์ อูมาเนทส์ ใช้หมึกดำเขียนบนภาพที่ชื่อ "สีดำบนสีเลือดหมู" (Black on Maroon) ของมาร์ค รอธโก โดยอูมาเนทส์บอกกับนักข่าวว่ามันเป็นการเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวเดียวกับดูชองป์แต่กลับถูกตัดสินให้จำคุก 2 ปี

 

เรียบเรียงจาก

Art under Attack: Histories of British Iconoclasm, Tate, 30-09-2013
http://www.tate.org.uk/about/press-office/press-releases/art-under-attack-histories-british-iconoclasm

Under the hammer: a history of attacks on art – interactive, The Guardian, 30-09-2013
http://www.theguardian.com/artanddesign/interactive/2013/sep/30/history-attacks-art-interactive-tate-britain

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท