ฟรีดอมเฮาส์ขยับอันดับเสรีภาพเน็ตไทยจาก 'ไม่เสรี' เป็น 'เสรีบางส่วน'

รายงานเสรีภาพอินเทอร์เน็ตปี 2013 ของฟรีดอมเฮาส์ โดยรวมลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เผยไทยอันดับแย่กว่าหลายประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ขณะที่มีคะแนนเสรีภาพเท่ากับอียิปต์ ด้านสหรัฐฯ ถูกประเมินแย่ลงจากเรื่องโครงการสอดแนมอินเทอร์เน็ตที่ถูกเปิดโปง

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2013  องค์กรฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งเป็นองค์กรที่รายงานเรื่องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพอินเทอร์เน็ต เปิดเผยรายงานสถานการณ์อินเทอร์เน็ตโลกปี 2013 โดยกล่าวถึงเรื่องการสอดแนมอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง มีการออกกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมเนื้อหาเว็บ และมีการจับกุมผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตลดลงกว่าปีที่แล้วโดยภาพรวม

อย่างไรก็ตาม รายงานเสรีภาพอินเทอร์เน็ตปี 2013 ระบุว่ากลุ่มนักกิจกรรมสามารถรณรงค์สร้างความตระหนักในเรื่องภัยต่างๆ เหล่านี้ได้และในหลายกรณีสามารถยับยั้งไม่ให้เกิดมาตรการปิดกั้นเสรีภาพเพิ่มขึ้น

ซานจา เคลลี่ ผู้อำนวยการโครงการเสรีภาพอินเทอร์เน็ตปี 2013 กล่าวว่าในขณะที่หลายประเทศยังใช้วิธีการปิดกั้นและกลั่นกรองเพื่อเซ็นเซอร์เนื้อหา รัฐบาลอีกหลายประเทศเริ่มหันมาใช้วิธีการสอดส่องว่าใครพูดอะไรในอินเทอร์เน็ต และพยายามหาทางลงโทษพวกเขา

"บางประเทศผู้ใช้อาจจะถูกจับกุมได้เพียงเพราะโพสต์สิ่งต่างๆ บนเฟซบุ๊ก หรือแค่ 'กดไลค์' ความคิดเห็นของเพื่อนที่ถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ" เคลลี่กล่าว

รายงานเสรีภาพอินเทอร์เน็ตปี 2013 เก็บข้อมูลเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ตจาก 60 ประเทศ เพื่อประเมินในเรื่องต่างๆ เช่น อุปสรรคการเข้าถึง การจำกัดเนื้อหา และการละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า เรื่องที่สำคัญและเป็นที่สนใจสำหรับปีนี้คือเรื่องโครงการสอดแนมของสหรัฐฯ ซึ่งถูกเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน และยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ นอกจากนี้ ในรายงานของฟรีดอมเฮาส์ยังระบุว่ามี 35 ประเทศจากทั้ง 60 ประเทศ ที่มีเทคโนโลยีหรือมีอำนาจทางกฎหมายในการสอดแนมอินเทอร์เน็ต ซึ่งการสอดแนมเช่นนี้มักจะเป็นปัญหาจากการถูกนำมาใช้เพื่อปราบปรามผู้ต่อต้านทางการเมืองและนักกิจกรรมด้านสิทธิพลเมือง ในประเทศเผด็จการหลายประเทศมีการใช้อีเมลและเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ของนักกิจกรรมมาเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีหรือถูกสั่งให้เผยแพร่ในช่วงไต่สวน ทำให้พวกเขาถูกจำคุก ทารุณกรรม หรือแม้กระทั่งถูกสังหาร

นอกจากนี้ความกลัวเรื่องพลังทางโซเชียลมีเดียในการเป็นแรงขับเคลื่อนการประท้วงระดับประเทศ ทำให้มีการออกกฎหมายจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็นในอินเทอร์เน็ต นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2012 มี 24 ประเทศจากกลุ่มประเทศที่ถูกสำรวจใช้การออกกฎหมายหรือคำสั่งที่เป็นการจำกัดเสรีภาพอินเทอร์เน็ต

ฟรีดอมส์เฮาส์สรุปโดยภาพรวมว่า มี 34 ประเทศที่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตลดลงโดยเฉพาะประเทศเวียดนามและเอธิโอเปีย ขณะที่เวเนซุเอลามีการเพิ่มการเซนเซอร์ในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ ขณะที่ประเทศประชาธิปไตยอย่างอินเดีย สหรัฐฯ และบราซิล ก็ถูกจัดอยู่ในข่ายมีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตลดลง

จากอันดับตารางพบว่า ประเทศไอซ์แลนด์ และเอสโตเนียยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตมากที่สุด ส่วนสหรัฐฯ แม้จะมีคะแนนแย่ลงจากการถูกเปิดโปงเรื่องโครงการสอดแนม ก็ยังอยู่ใน 5 อันดับแรก  ส่วนประเทศจีน คิวบา และอิหร่านยังคงอยู่ท้ายตารางในเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ตติดต่อกันเป็นปีที่สอง

ไทยขยับจาก "ไม่เสรี" เป็น "เสรีบางส่วน"
ทางด้านประเทศไทยอยู่อันดับที่ 46 จาก 60 อันดับ ขยับจากไม่เสรีเมื่อปี 2012 เป็นมีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตบางส่วนด้วยคะแนน 60 คะแนนเท่ากับประเทศอียิปต์  (คะแนนน้อยกว่าถือว่ามีเสรีภาพมากกว่า) โดยมีคะแนนดีขึ้น 1 จุดจากปี 2012 เมื่อเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าอันดับแย่กว่ากัมพูชา (47 คะแนน) มาเลเซีย (44 คะแนน) อินโดนีเซีย (41 คะแนน) และฟิลิปปินส์ (25 คะแนน) แต่อยู่ในอันดับดีกว่าพม่า (62 คะแนน) และเวียดนาม (75 คะแนน)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบคะแนนจากปี 2012 ประเทศพม่าและตูนิเซีย ถือว่ามีคะแนนดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จากมาตรวัดต่างๆ ในรายงานของฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า ประเทศไทยมีการปิดกั้นเนื้อหาที่เกี่ยวกับสังคม การเมือง และศาสนา มีกลุ่มผู้สนับสนุนทางการคอยชี้นำบีบบังคับในการอภิปรายในโลกออนไลน์ มีการออกกฎหมายหรือคำสั่งข้อบังคับเพื่อส่งเสริมการสอดส่องหรือห้ามการปิดบังตัวตน

ในรายงานกล่าวอีกว่า รัฐไทยได้บล็อคเว็บไซต์และหน้าโซเชียลมีเดียจำนวนหลายหมื่น นอกจากนี้ยังมีการสั่งจำคุกคนที่เผยแพร่ข้อมูลหรือแสดงความเห็นทางอินเทอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์ โดยปัญหามาจากกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

"การที่ใครๆ ก็สามารถฟ้องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใครก็ได้ในประเทศเป็นการเปิดโอกาสให้หลายคนใช้เป็นเครื่องมือฟ้องร้องศัตรูทางการเมืองหรือเพื่อยับยั้งกิจกรรมเรียกร้องสิทธิพลเมืองในบรรยากาศที่มีการแบ่งขั้วทางการเมืองสูงมาก" รายงานของฟรีดอมเฮาส์กล่าว

นอกจากนี้ฟรีดอมเฮาส์ยังได้กล่าวถึงวิธีการที่มักจะนำมาใช้ในการควบคุมอินเทอร์เน็ต ซึ่งนอกจากการปิดกั้นหรือการออกกฎหมายเพื่อจับกุมแล้ว ยังรวมการสอดแนม การติดสินบนให้มีการแสดงความเห็นสนับสนุนฝ่ายทางการและดิสเครดิตฝ่ายต่อต้าน รวมถึงการโจมตีทางอินเทอร์เน็ต เช่น ในกรณีของมาเลเซียและเวเนซุเอลาที่มีการขัดขวางหรือก่อกวนระบบเครือข่าย (DDoS attack) ของเว็บไซต์สื่ออิสระในช่วงที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง

 

เรียบเรียงจาก
New Report: Internet Freedom Deteriorates Worldwide, but Activists Push Back, Freedom House, 03-10-2013
http://www.freedomhouse.org/article/new-report-internet-freedom-deteriorates-worldwide-activists-push-back

รายงานฉบับเต็ม
http://freedomhouse.org/sites/default/files/resources/FOTN%202013_Full%20Report_0.pdf

รายงานในส่วนประเทศไทย
http://www.freedomhouse.org/report/freedom-net/2013/thailand

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท