ILO ILO : ชีวิตขันขื่นของ 'แมงเม่า' กลางแสงไฟ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
 
หมายเหตุ : ผู้เขียนพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง แต่หากพลาดพลั้งประการใดขออภัยผู้อ่านทุกท่านมา ณ ที่นี้
 
1
 
คำนิยม : [โดยผมเอง]
 
ทุกตัวละครหลักมีมิติ มีด้านลบ มีด้านร้าย และมีมุมน่ารักในตัวเอง เช่นเดียวกับสถานที่และเหตุการณ์ที่นำพาเราไปโดยไม่กล่าวโทษ มันเป็นเพียงความขันขื่นของชีวิตอันไม่น่าโสภาแต่แทรกเข้ามาอย่างแยบยล เสียงหัวเราะขบขันยามดูชีวิตพวกเขาเหล่านั้น บางทีมันก็คล้ายกับเสียงหัวเราะเย้ยหยันความบัดซบที่เรามีให้แก่ตัวของเราเอง
 
ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้แบบนี้ เพราะคิดว่าการนำเสนอเรื่องราวของคนที่เป็นคนและการกระเสือกกระสนดิ้นรนในโลกแบบเดียวกันนี่แหล่ะ คือสิ่งที่ทำให้หนังเรื่อง ‘ILO ILO’ เข้าไปกระตุกต่อมอารมณ์ของใครต่อใคร กระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นเสียงปรบมือยาวนานร่วม 15 นาที ในการฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด พร้อมกับการคว้ารางวัล ‘กล้องทองคำ’ ของผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม ‘แอนโธนี เฉิน’ และดีอีกเช่นกันที่เวลานี้ มงคลภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์เฮาส์ อาร์ซีเอก็กำลังฉายหนังเรื่องนี้ในบ้านเรา
 
หากจะให้เชิญชวนไปดู ผมยังคงชูที่จุดนี้ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะมันก็คือ..“เรื่องของเรา”
 
2
 
บทนำ
 
‘ILO ILO’ เป็นหนังเล็กๆที่ผูกเรื่องราวกับช่วงเวลาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ โดยเล่าผ่านภาพชีวิตของครอบครัวลิมใน ‘เมือง’ สิงคโปร์ ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญที่ซ้อนเข้ามาแทรกคือ ‘คนใช้’ หรือ‘แม่บ้าน’ ที่ข้ามน้ำ ข้ามทะเล และข้ามชาติมาจาก ‘ฟิลิปปินส์’ ในช่วงจังหวะสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ
 
ทั้งนี้ ครอบครัวลิมอาจเป็นภาพตัวแทนของชีวิตใน ‘สังคมเมือง’ ที่การมี ‘คนใช้ /แม่บ้าน’ กำลังเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งเป็นภาพอันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ครอบครัวร่ำรวยเท่านั้นจึงจะมีเงินเหลือพอซื้อความสบายเพิ่มเติมแม้แต่เรื่องในบ้าน
 
แต่ภาพจำเหล่านั้นคงเก่าไปแล้ว ปัจจุบันสังคมเมืองหลายแห่งรวมทั้งกรุงเทพฯเอง ‘เวลา’ ได้ถูกดึงออกไปจากคนทำงานเพื่อแลกกับสถานะทางการเงินที่ชีวิตแบบชนบทไม่อาจตอบสนองได้ ในสภาพที่ชีวิตต้องขับเคลื่อนไปด้วยเรื่องเงินๆทองๆ การจ่ายเงินออกไปจึงอาจคุ้มกว่าเสียเวลามาดูแลบ้าน เวลานี้ในกรุงเทพ หลายครอบครัวที่พอมีศักยภาพทางเศรษฐกิจก็จะเริ่มมองหาแม่บ้านสักคนมาทำหน้าที่ตรงนี้ ในขณะที่ตำแหน่งแห่งที่นั้นเคยเป็นที่ทางของ ‘เมีย’ แต่แรงผลักของความจำเป็น[หรือความคุ้มค่า]ทำให้เมียต้องออกไปทำงานเพื่อเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจอีกต้นของบ้าน ซึ่งหลายครั้งพวกเธอหลายคนอาจทำตรงนี้ได้ดีกว่า ‘ผัว’ เสียอีก ดังนั้น ในภาวะที่การเงินคือแรงขับเคลื่อนนี้ ‘ความสัมพันธ์’ ภายในครอบครัวจึงกระจัดกระจายออก แต่ก็ยังเสมือนมีสายใยบางอย่างที่ยึดเอาไว้ไม่ให้ขาดออกจากกัน และในบางครั้งบางเวลา สายใยบางๆเส้นนี้เองที่จะกลับมามีความสำคัญและทำให้ชีวิตเดินต่อไปได้  
 
ภาพสะท้อนของความสัมพันธ์อันกระจัดกระจายนี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมให้ ‘เจี่ยเล่อ’ ไอ้หนูวัย10 ขวบ ตัวเด่นของเรื่องใน ILO ILO กลายเป็นไอ้แสบที่เอาแต่ใจตัวเอง ดื้อรั้น ติดเกม ก้าวร้าว และขาดวินัยอย่างรุนแรง ความแสบของเจี่ยเล่อนับว่าอยู่ในระดับติดแบล็คลิสต์เบอร์ต้นๆของโรงเรียน แต่ความสำคัญของความสัมพันธ์ที่หายไปนั้นก็ยังถูกสะท้อนออกมาจากคำพูดลอยๆครั้งหนึ่งของแม่ที่ว่า “สมัยอากงยังอยู่ไม่เห็นดื้อขนาดนี้”
 
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเจี่ยเล่อก็เหมือนใยเส้นหนึ่งที่ดึงให้ ‘แม่’ ออกมาจากงานเพื่อจัดการเรื่องของเขา ‘ด่วน’ ในหลายครั้ง แม้แม่จะตระหนักดีถึงสถานการณ์เลวร้ายทางเศรษฐกิจในเวลานั้นที่ควรต้องยึดความมั่นคงทางเศรษฐกิจเอาไว้ก็ตาม สำหรับครอบครัวของเจี่ยเล่อไม่ว่าเสาเศรษฐกิจของพ่อหรือแม่ล้วนสำคัญ นั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจจ้าง ‘เทเรซ่า’ มาเป็นแม่บ้านและเป็นพี่เลี้ยงของเจี่ยเล่อ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสัมพันธ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในครอบครัวนี้
 
 
3
 
คนใช้ : แม่บ้าน การต่อสู้กับทัศนคติแฝงเร้น
 
‘สิงคโปร์’ อาจเป็นสังคมที่ดูเป็นเมืองจ๋าๆและความบ้านนอกบ้านนาที่พอสัมผัสได้ ‘กลิ่น’ อาจเป็นที่ ‘คนใช้’ หรือ ‘แม่บ้าน’ ซึ่งในความคล้ายคลึงแต่แตกต่างโดยเฉพาะทัศนะที่มีต่องาน ‘ฟิลิปปินส์’ เป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมากจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเสาค้ำเศรษฐกิจของประเทศไว้ครึ่งหนึ่งหรือกว่านั้น และหากกล่าวถึงแรงงานสาย ‘แม่บ้าน’ เมือง  ILO ILO คือเมืองที่มีชื่อเสียงและเป็นที่มาของหนังเรื่องนี้  
 
ดังที่กล่าวว่า ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ประการหนึ่งก็คือ ความเป็นภาพสะท้อนของ ‘กรุงเทพฯ’ ในบ้านเรา งานแม่บ้านกำลังกลายเป็นส่วนสำคัญเพื่อให้การขับเคลื่อนธุรกิจและดำเนินชีวิตสามารถเป็นไปได้อย่างคล่องตัวโดยไม่ต้องห่วงเรื่องข้างหลังรวมไปถึงเบียดบัง ‘เวลา’ ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในทางมูลค่า
 
อย่างไรก็ตาม ชนบทที่ค่อยๆเปลี่ยนเป็นเมืองในสังคมไทย งานประเภทนี้จะไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆของประชากรภายใน เมื่อประกอบกับทัศนคติที่มีมาแต่ยุคเจ้าขุนมูลนาย งาน ‘แม่บ้าน’ จึงถูกมองในภาพเดียวกับ ‘คนใช้’ ที่สภาพการจ้างงานเป็นเรื่องเดียวกันกับการอุปถัมป์ค้ำชูอันชวนให้อึดอัดและคลุมเครือ งานในบ้านจึงไม่เป็นที่นิยมจากแรงงานภายในและเปิดโอกาสให้ ‘แม่บ้าน’ จากต่างแดนโดยเฉพาะเพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้ามาทำแทนที่ สิ่งที่สำคัญก็คือปรากฏการณ์นี้กำลังหล่อหลอมให้พวกเธอหรือพวกเขาเหล่านั้นที่ข้ามชาติเข้ามากลายเป็นส่วนเดียวกันกับโครงสร้างสังคมและครอบครัวของเรา แต่ในด้านการจัดการหรือออกแบบเพื่อการรองรับกลับเป็นเรื่องเต็มไปด้วยปัญหา
 
ในแวดวงแม่บ้าน แรงงานต่างชาติมักถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาทำงานด้วยค่าแรงที่ถูก ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ความโดดเดียวแปลกแยกหรือห่วงกังวลทางบ้าน ความไม่ปลอดภัยจากนายจ้าง สภาพการจ้างงานหรือสัญญาที่เอาเปรียบโดยเฉพาะเวลาพักหรือวันหยุดที่มักจะไม่ถูกกล่าวถึงในการจ้างงาน หรือเรื่องอำนาจที่มีน้อยกว่าในการต่อรอง เป็นต้น
 
สำหรับสิงคโปร์  ‘ภาษา’ อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งของแรงงานแม่บ้าน ซึ่งคนจากฟิลิปปินส์ที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีจะมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นๆ และการมาเป็นแม่บ้านของ ‘เทเรซ่า’ ก็สะท้อนภาพนั้น ทั้งยังทำให้เห็นสังคมของคนฟิลิปปินส์ที่ก่อตัวขึ้นในสิงคโปร์จนมีความแข็งแรงในระดับมีย่านเล็กๆที่สามารถให้คำแนะนำกระทั่งเพิ่มช่องทางธุรกิจของคนฟิลิปปินส์ในต่างแดนที่มากขึ้นได้
 
อีกประเด็นที่ ILO ILO สะท้อนออกมาได้อย่างน่าสนใจก็คือ หนังยังได้นำเสนอภาพการปะทะกันเล็กๆระหว่างอุดมคติของรัฐกับความรู้สึกที่มนุษย์มักมีอยู่ ILO LO ได้เผยภาพการหล่อหลอมความเป็นสิงคโปร์ผ่านสถาบันการศึกษาออกมาอย่างชัดๆ ซึ่งนอกจากจะย้ำเรื่องความชัดเจนในระเบียบวินัยแล้ว ความเท่าเทียมไม่แบ่งแยกเชื้อชาติก็เป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญในอุดมการณ์ของชาติ ดังนั้น ในขณะที่พ่อของเจี่ยเล่อพยายามแสดงออกอย่างให้เกียรติแก่เทเรซ่าอยู่เสมอ แต่สิ่งที่แม่ทำก็คือการยึด ‘พาสปอร์ต’ มาเก็บเอาไว้เป็นอำนาจต่อรองตั้งแต่วันแรกของการจ้างงาน ซึ่งมันก็ได้สะท้อนทัศนคติบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ภายในตัวตนของมนุษย์คนหนึ่งออกมา แม้จะถูกหล่อหลอมมาอย่างเข้มงวดเพียงใดก็ตาม
 
ในส่วนของเจี่ยเล่อซึ่งจะต้องมีหน้าที่ต่อกันและกันและสัมพันธ์โดยตรงกับ ‘เทเรซ่า’ ความสัมพันธ์เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เทเรซ่าก็ไม่ใช่ตัวแทนของความบ้านนอกไร้เดียงสาที่จะใช้ความดีชนะใจเหมือนพล็อตละครบางเรื่องที่ถูกวางไว้ แต่เธอคือภาพตัวแทนของการกระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้น แม่บ้านจาก ILO ILO คนนี้จึงสามารถจัดการตอบโต้ได้อย่างมีชั้นเชิง แต่ท่ามกลางความสัมพันธ์แบบมัวๆและจะมัวๆไปตลอดเรื่องนี้ สิ่งที่‘เทเรซ่า’ มีให้เจี่ยเล่อมากที่สุดก็คือ ‘เวลา’ และเมื่อมีสิ่งนี้ เทเรซ่าก็ไม่ใช่ ‘คนอื่น’ สำหรับเจี่ยเล่ออีกต่อไป
 
4
ลูก : ครอบครัว สังคม และการหล่อหลอม
 
เมื่อแรงขับเคลื่อนของชีวิตในสิงคโปร์คือ ธุรกิจและตัวเลข ดังนั้น ทุกคนในครอบครัวของเจี่ยเล่อจึงต้องทำธุรกิจและคลุกคลีกับตัวเลขเสมอ [เช่นเดียวบ้านเราอย่างน้อยต้องลุ้นกันเดือนละ 2 ครั้ง] ซึ่งไอ้แสบอย่างเจี่ยเล่อเองก็มีงานอดิเรกเกี่ยวกับตัวเลขที่ทำอย่างจริงจังและบางครั้งก็ทำในเวลาเรียนจนโดนฝ่ายปกครองเรียกพบ แต่ไอ้แสบก็สามารถพลิกแพลงวิกฤติเป็นโอกาสและสามารถนำมันไปต่อรองกับอาจารย์ได้สำเร็จ แม้เขาจะดูเป็นจอมสร้างปัญหา แต่เขาก็มีทักษะชีวิตในการเอาตัวรอดในระดับที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน
 
อาจด้วยสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ‘เจี่ยเล่อ’ แม้จะเติบโตมาในครอบครัวที่แสดงออกด้านความรักกันบางๆ แต่ก็ไม่ถึงกับไม่อบอุ่น ส่วนที่ดูจะชัดเจนกว่าคือความกระด้างไม่อ่อนไหวหรือไร้ซึ่งความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ ทั้งนี้ ในภาวะที่ทุกคนต่างกระจัดกระจายออกจากกัน ‘อากง’ ที่น่าจะเคยขัดเกลาสัมผัสตรงนี้ก็ได้ตายจากไปแล้ว
 
ดังนั้น ภาพสะท้อนของผลผลิตจากสังคมที่หล่อหลอมจิตใจในรูปแบบนี้ ในวันเกิดที่เจี่ยเล่อได้ลูกไก่ 2-3 ตัว มาเลี้ยงแทน ‘ทามาก็อตจิ’ เกมสัตว์เลี้ยงที่พังไป ไก่ที่เติบโตขึ้นจึงไม่ใช่ความผูกพันหรือความรักที่น่าจะโตขึ้นตามเวลาอย่างที่ควรจะเป็น แต่มันจะยังคงถูกมองเป็นอาหาร เป็นเครื่องเซ่นไหว้ หรือเป็นเครื่องติดสินบนผี และทุกคนในบ้านต่างก็ทยอยกินมันอย่างปกติกระทั่งเหลือไก่เพียงตัวเดียว เขาจึงบอกกับเทเรซ่าระหว่างกินไก่ ว่า “ผมอยากเลี้ยงมันไว้”
 
“ถ้าเธอยากเลี้ยงมัน ก็รู้จักให้อาหารมันบ้าง” เธอตอบเรียบง่าย
 
ผมเคยได้ยินภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวไว้ ‘ลองเปลี่ยนวิธีคิดแล้วโลกของคุณก็จะเปลี่ยน’
 
บางทีความสัมพันธ์อาจเหมือนกับการเลี้ยงไก่ เมื่อสายตาที่มองบางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนไป ความหมายของสิ่งนั้นก็เปลี่ยนตาม สำหรับ ‘เจี่ยเล่อ’ เมื่อ ‘เวลา’ ได้เพาะสร้างความสัมพันธ์ที่สามารถมองไก่เป็นมากกว่าอาหาร และโดยลึกๆแล้วสิ่งที่เปลี่ยนคงไม่ใช้แค่มุมมองที่มีต่อไก่เท่านั้น
 
แต่ ‘เวลา’ มันคงเป็นการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อ ‘คน’ ด้วยเช่นกัน     
   
 
5
แม่ :  ความแปรปรวนของผู้รองรับ
 
ราวปี 2539 – 40 ท่ามกลางบรรยากาศที่กำลังตึงเครียด สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอันชวนอึดอัดที่คุกคามไปทั่วอาเซียน เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ครอบครัวของ ‘เจี่ยเล่อ’ ก็ได้รับผลกระทบไปเช่นกัน ในภาวะเช่นนั้นแม่ที่เป็นเสมียนรับรู้สถานการณ์เป็นอย่างดีเพราะเธอคือผู้พิมพ์จดหมายเลิกจ้างในบริษัทให้กับบุคคลที่กำลังจะโดนไล่ออกเหล่านั้นนั่นเอง
 
ใน ILO ILO บทบาทของแม่คือการต้องรับรู้และจัดการเรื่องต่างๆหลายเรื่อง อารมณ์ของเธอจึงดูแปรปรวนหรือหวั่นไหวเป็นพิเศษ แม่ของเจี่ยเล่อกำลังตั้งท้องลูกคนที่ 2 ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก หากโชคร้ายทั้งเธอและผัวอาจถูกออกจากงานได้ทุกเมื่อ ถึงกระนั้นแต่เธอยังต้องยอมเสี่ยงโดดงานเข้าไปจัดการปัญหาของเจี่ยเล่อในโรงเรียนหลายครั้ง นอกจากนี้เรื่องเธอยังมีเรื่องต่างๆในบ้านที่ต้องรับรู้ รวมไปถึงยังต้องดูแลไปถึงเรื่องภาพลักษณ์ของผัว จนทำให้เธอออกจะดูเป็นคนจุกจิก หรือแม้แต่การรับ ‘เทเรซ่า’ เข้ามาเพื่อแบ่งเบาภาระในบ้าน มันจึงเป็นธรรมดาที่เธอจะมีความระแวงเล็กๆแฝงเข้ามา รวมทั้งอาจเจ็บใจเล็กๆที่เจี่ยเล่อดูจะติดเทเรซ่าเป็นพิเศษ จนแม้แต่ความเป็นแม่ยังเหมือนถูกแย่งไปดูแลโดยที่เธอเองกลับไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
 
ทุกปัญหาที่พุ่งเข้าสู่การรับรู้ของแม่ เวลานี้เธอเหมือนเหมือนฟองน้ำที่อิ่มตัว หนักอึ้ง และกำลังจมดิ่ง แต่ในภาวะแบบนี้ สิ่งที่ดูเหมือนจะหายไปจากสังคมสิงคโปร์คือเรื่องการยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ดังนั้น ในอาการที่กำลังเคว้งคว้างทางวิญญาณของผู้คน ธุรกิจนอกรีตอีกรูปแบบจึงเกิดขึ้นมาโดยอาศัยคารมและการโน้มน้าวเป็นเครื่องมือ แม่ของเจี่ยเล่อเองก็หลงเข้าไปจนต้องเสียเงินก้อนใหญ่เช่นเดียวกับสมาชิกจำนวนมากที่ถูกหลอก
 
ท่ามกลางความหวั่นไหวและการมองหาชีวิตที่ดีขึ้น คนเหล่านั้นกลับถูกสถานการณ์ซ้ำเข้าไปอีก
 
6                                     
พ่อ : หัวหน้าครอบครัว /ความพ่ายแพ้ ?
 
ท่ามกลางบรรยากาศที่กำลังตึงเครียดและวิกฤติ ‘ต้มยำกุ้ง’ ที่แรงขึ้นเรื่อยๆกระทั่งมันล้มครืนลงทั้งระบบ ‘พ่อ’ คือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุดในหนัง ILO ILO
 
หากเศรษฐกิจดำเนินไปตามปกติ วันเวลาของครอบครัวลิมก็คงผ่านไปเรื่อยๆด้วยสถานะที่ถึงไม่อู้ฟู่ก็น่าจะมั่นคง โดย ‘พ่อ’ คงจะเป็นแบบอย่างของแบบแผนทั้งในเชิงอุดมคติที่มีเหตุผล ความลงตัวในหน้าที่การงาน ภาพลักษณ์ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับเหล้าและบุหรี่ และมีความเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีหน้ามีตาในสังคมโดยเฉพาะ ‘สังคมเก่า’ ที่เหมือนจะแข่งขันกันด้วยวิถีใน ‘สังคมใหม่’ นั่นคือการชี้วัดกันด้วยสถานะทางการเงินและการงานซึ่งแม้แต่ในหมู่เครือญาติก็เหมือนจะข่มกันอยู่ในที
 
แต่เมื่อมันเกมจบลงด้วยฟองสบู่ที่แตกโพละ สถานะของ ‘พ่อ’ จึงกลายเป็นไม่มั่นคงที่สุดท่ามกลางทุกความคาดหวังที่แบกไว้ แม้ว่าเขาจะมีประสบการณ์ทำงานด้านการขายมานาน แต่ในนาทีที่ไม่เป็นที่ต้องการระบบ พ่อจึงถูกเลิกจ้างอย่างง่ายๆ ซ้ำร้ายกว่านั้นเงินจำนวนมากยังต้องสูญเสียไปกับหุ้นที่ล้มทั้งกระดาน
 
ปัญหาของพ่อกลายเป็นเรื่องที่พยายามปกปิดและรอวันคลี่คลายในภายหลัง   
 
 
7
สรุป
 
ILO ILO ได้เผยให้เห็นคือชีวิตของ ‘แมงเม่า’ กลางแสงไฟ ซึ่งมีทั้งที่ล้มตายและรอดตาย แต่กระนั้นแมงเม่าก็จะล้อเล่นกับไฟอยู่ดี เพราะการมีชีวิตในแสงสว่างมันก็น่าจะดีกว่าตกอยู่ในความมืดมนอนธกาล
 
ไม่มีคำตอบที่สำเร็จสำหรับการปิดเรื่อง ILO ILO ในตอนจบเรื่องบรรยากาศที่กำลังตึงเครียดของ ‘ต้มยำกุ้ง’ก็ยังคงอยู่ หากมองจากประเทศไทยเอง ในช่วงเวลานั้นก็มีทั้งคนที่ถูกระทบมาก ถูกระทบน้อย มีคนที่เลือกจะตาย และก็มีคนที่เลือกจะไม่ตาย
 
คนที่เลือกจะไม่ตายก็ต้องปรับตัวและดิ้นรนกันต่อไป..ไม่มีทางเลือกอื่น
 
บางทีนาทีของการตัดสินใจมันอาจขึ้นอยู่เส้นใยบางๆที่ยึดโยงชีวิตที่เบาหวิวและกระจัดกระจายเอาไว้ด้วยกัน สำหรับ ‘สังคมเมือง’ แม้เส้นใยเหล่านั้นจะบางมากเสียจนแทบมองไม่เห็น แต่หากมันไม่ขาดออกในช่วงเวลาสำคัญและดึงรั้งกันเอาไว้ เส้นใยนี้เองที่จะรักษาลมหายใจของพวกเขา 
 
สำหรับเรา แม้ว่า 16 ปี จะผ่านมาแล้ว แม้ว่าเราจะเดินบนเส้นทางสายเดิมจนไม่แน่ใจว่าจะยังจำกันได้อีกไหม..ในช่วงเวลาวิกฤติ พิษเศรษฐกิจที่พังครืน วันนั้น ตัวเรา ครอบครัวของเรา สังคมของเรา อยู่ในภาวะอารมณ์แบบใด...??
 
บทเรียนเลวร้ายอาจกลายเป็นความกลัว แต่คงจะดีกว่าถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงมันให้เป็นความระมัดระวัง เพราะทางเลือกของคนอย่างเราๆมันก็คงมีไม่มากนักและบางครั้งมันก็ไม่มีให้เลือกเอาเสียเลย
 
เมื่อการดิ้นรนกันต่อคงเป็นสิ่งที่ต้องทำ สุดท้ายนี้ ผมจึงขอเป็นกำลังใจให้ ‘แมงเม่า’ ทุกตัวจงมีชีวิตต่อไป แม้ว่าจะต้องเล่นกับแสงไฟที่ร้อนแรงเพียงใดก็ตาม.  
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท