Skip to main content
sharethis
ร้อง กทม.ยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนเมือง ทวงสัญญาจากการรถไฟ เดินหน้านโยบาย ‘ชัชชาติ’ ก่อนประกาศเจตนารมณ์วันที่อยู่อาศัยสากล UN ต้องไม่ใช่เสือกระดาษ
 
 
วันนี้ (7 ต.ค.56) เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ นับพันคน จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิที่อยู่อาศัยอันซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของมนุษย์ โดยการเดินเท้าเข้ายื่นหนังสือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
 
 
ร้อง กทม.ยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนเมือง
 
จุดแรกศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
 
รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ดร.ผุสดี ตามไท มารับข้อเสนอและเจรจากับตัวแทนสลัมสี่ภาค
 
การเดินทางเริ่มต้นจากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปพบผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง โดยมีนางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ให้การต้อนรับและร่วมหารือกับตัวแทนเครือข่ายเกี่ยวกับการติดตาม มาตรการ และนโยบายในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง
 
นางสาวอัมพร จำปาทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นการรวมตัวของเครือข่ายคนจนเมืองที่อยู่ในชุมชนแออัด และคนเร่ร่อนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีสมาชิก 6 เครือข่าย กว่า 50 ชุมชน กระจายอยู่ใน 40 เขตของกรุงเทพฯ ซึ่งสมาชิกของเครือข่ายเป็นแรงงานที่อยู่ในภาคบริการ ภาคการผลิต และการก่อสร้างทั้งในระบบและนอกระบบ โดยทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนในชุมชน และคนเร่ร่อนไร้บ้าน รวมทั้งนำเสนอนโยบายต่อภาครัฐ
 
ในช่วงก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.56 เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้นำเสนอมาตรการ และนโยบายในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง ต่อ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการพัฒนา และการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจาก มรว.สุขุมพันธ์ ครั้งนี้ในวาระวันที่อยู่อาศัยสากล ทางเครือข่ายฯ จึงมาติดตามการทำงานตามข้อเสนอ
 
นางผุสดีกล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ มีข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จัดตั้งคณะกรรมการร่วมกัน โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายสลัม 4 ภาค และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหา และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง ใน 5 หมวด คือ 1.การแก้ไขปัญหาด้านความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย กรุงเทพฯ ต้องไม่สนับสนุนการไล่รื้อชุมชนด้วยมาตรการทางกฎหมายและการใช้ความรุนแรง และต้องเอื้ออำนวยให้ชุมชนดำเนินการตามโครงการบ้านมั่นคงได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง และทะเบียนบ้านถาวรตามกฎกระทรวง ที่ได้รับการยกเว้นภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
 
2.การพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนเมือง โดยจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และการดูแลผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วย และผู้ด้อยโอกาในชุมชนที่ถูกทอดทิ้ง 3.การพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยให้มีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกห้องเรียน ในด้านสังคม ศิลปะ ธรรมชาติ เป็นต้น กระจายตามจุดต่างๆ เช่น สวนสาธารณะหรือห้องสมุด รวมทั้งกิจกรรมอาสาของเยาวชนเพื่อฝึกการมีจิตรสาธารณะ  
 
4.การพัฒนาเมืองที่ปลอดภัย ด้านจราจรและขนส่งสาธารณะ ด้านการบริการสาธารณะ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ด้านการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในครอบครัวและชุมชน และ 5.การสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ในด้านอาชีพ ด้านการดูแลสุขภาพคนไร้บ้าน ด้านการรับรองสถานะของคนไร้บ้าน ด้านการสนับสนุนการการจัดศูนย์พักคนไร้บ้านโดยภาคประชาชน เป็นต้น
 
ทั้งนี้ กทม.จะเชิญผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เข้าหารืออย่างไม่เป็นทางการภายในเดือนนี้อีกครั้งหนึ่ง
 
 
ทวงสัญญาจากการรถไฟ เดินหน้านโยบาย ‘ชัชชาติ’
 
ที่มาภาพ: เอก ตรัง
 
ที่มาภาพ: เอก ตรัง
 
ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเดินทางออกจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าไปยังกระทรวงคมนาคม และยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทวงสัญญาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เห็นว่าที่ผ่านมานายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมว.คมนาคมมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาชุมชนแออัดในที่ดินการรถไฟฯ ตามข้อเสนอของเครือข่ายฯ จากการเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฯ 4 ครั้ง และได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขด้วยตนเอง
 
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาให้ประสบความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของนายชัชชาติเท่านั้น เพราะต้องอาศัยกลไกการตอบสนองในทางปฏิบัติจากการรถไฟฯ ในฐานะเจ้าของที่ดินด้วย ซึ่งเครือข่ายฯ เห็นว่าการรถไฟฯ ยังดำเนินการล่าช้า ไม่ตอบสนองอย่างเพียงพอเพื่อให้นโยบายบรรลุผล
 
 
ด้านสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เสนอข่าวว่า พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังรับหนังสือจากเครือข่ายสลัม 4 ภาคว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในที่ดินการรถไฟฯ จากกรณีที่ชุมชนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช และช่วงบางซื่อ - รังสิต โดยให้พิจารณาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเบื้องต้น และหาพื้นที่รองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
 
พร้อมทั้งเสนอให้คณะกรรมการรถไฟฯ พิจารณาหลักการเช่าที่พักอาศัยใหม่ ปรับสัญญาเช่าของชุมชนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ให้ชำระค่าเช่าพร้อมกันในวันที่ 1 พ.ย.ของทุกปี และเสนอให้ นายชัชชาติเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม และแจ้งความคืบหน้าการประชุมทุกครั้ง ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติหลักการค่าเช่าใหม่ให้การรถไฟฯ ดำเนินการพิจารณาอนุมัติให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อให้เกิดการลงนามต่อสัญญารวมถึงชำระค่าเช่า
 
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวด้วยว่า เรื่องความเดือดร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด โดยการดำเนินการทุกขั้นตอนจะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และจะนำหนังสือที่ได้รับในวันนี้ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับทราบและพิจารณาต่อไป
 
 
ประกาศเจตนารมณ์วันที่อยู่อาศัยสากล UN ต้องไม่ใช่เสือกระดาษ
 
 
จากนั้น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ เดินทางต่อไปยังสำนักงานผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) ถนนราชดำเนิน เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ โดยมีการอ่านประกาศเจตนารมณ์วันที่อยู่อาศัยสากล ประจำปี 2556 หน้า UN เรียกร้องให้ยุติการทำตัวเป็นองค์กรเสือกระดาษ ซึ่งไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถใดๆ ในการยุติหรือคลี่คลายปัญหาการไล่รื้อ และให้ UN หันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังและมีเจตจำนงหนักแน่นต่อการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและขจัดการไล่รื้อให้หมดไปจากวิถีชีวิตของคนจนเมือง
 
 
ต่อด้วยการชักธงใหญ่ 5 ผืน ระบุข้อเรียกร้องประจำปีนี้ ประกอบด้วย 1.Stop human right violation against the poor around the world! 2.When will the UN stop being just  a paper tiger! 3.No more evictions in ASEAN! 4.World bank: we need genuine pro-poor development! 5.ADB: stop: supporting “development” that evicts the poor!
 
 
กิจกรรมสุดท้าย คือการเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลปักหลักชุมนุมบริเวณประตูน้ำพุเพื่อรอฟังผลการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลกับตัวแทน ขปส.ที่เข้าประชุมร่วมกับรัฐบาล โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net