รายงาน เสวนา "วีรชนจีระ บุญมาก กับเจตนารมณ์ 14 ตุลา" และนิด้า

คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์จัดอภิปรายในโอกาสรำลึก 40 ปี 14 ตุลา หัวข้อ "วีรชนจีระ บุญมาก กับเจตนารมณ์ 14 ตุลา" ที่นิด้า อธิการบดีร่วมกล่าวเปิดงานชี้เหตุการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยเบ่งบานในสังคมไทย

9 ต.ค.56 เวลา 13.00 น.ที่  ห้องประชุม “จีระ บุญมาก” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์จัดอภิปรายในโอกาสรำลึก 40 ปี 14 ตุลา หัวข้อ "วีรชนจีระ บุญมาก กับเจตนารมณ์ 14 ตุลา" โดยมี ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษร จุฬาฯ ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ รวมอภิปราย

ภาพซ้าย นางละเมียด บุญมาก ภรรยาจีระ

ภาพขวา จีระ บุญมาก ขณะถูกยิงเสียชีวิต

อธิการบดีเล่าถึงความผูกพันจิระกับนิด้า และคุณูปการ 14 ตุลา

รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาตร์ (นิด้า) กล่าวเปิดการอภิปรายด้วยว่า คุณูปการของการต่อสู้ 14 ตุลา 2516 ได้เปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยเบ่งบานในสังคมไทย เป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่ส่งผลให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางความคิดและมีสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวาง ความงดงามของ 14 ตุลาไม่เพียงทำให้ประชาธิปไตยปักหลัก สร้างฐานในระบบการเมืองการปกครองของไทยเท่านั้น นักเรียน นิสิต นักศึกษาประชาชนยังได้ศึกษาถึงวีรภาพอันวีระอาจหาญของวีรชน

อธิการบดีนิด้าเล่าถึงจีระ บุญมาก ว่าเป็นนักศึกษาปริญญาโทสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลาประมาณ 12.00 น. เป็นศพแรก ในวันเกิดเหตุจีระพาลูกออกไปเดินเล่นซื้อของ เมื่อกลับมาบ้านได้ฟังวิทยุรายงานข่าวว่านักเรียนนักศึกษากำลังจะก่อการจลาจล และบุกเข้ายึดวังสวนจิตรลดา จีระไม่เชื่อว่าข่าววิทยุจะเป็นความจริง จึงออกจากบ้านเพื่อมาดูสถานการณ์ จีระถือธงชาติเดินเข้าหาทหาร ขอร้องว่าทหารอย่าทำร้ายเด็กนักเรียนที่ไม่มีอาวุธ แต่เขากลับถูกยิงและเสียชีวิตทันที นักศึกษาประชาชนได้นำธงชาติเข้ามาเช็ดเลือดจีระ ห่มร่างด้วยธงชาติ และนำศพขึ้นไปวางบนพานรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการแห่ศพข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าไปที่สี่แยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

“ชื่อของวีรชนผู้หาญกล้าจีระ บุญมาก ได้รับการเสนอเป็นชื่อห้องประชุมของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์หรือนิด้า เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจให้นักศึกษา คณาจารย์ และประชาชนทั่วไปได้รำลึกถึง ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของเหตุการณ์ 14 ตุลา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์จึงไม่ลังเลที่จะร่วมกับสมาคมญาติและวีรชน 14 ตุลา 16 และคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งมีคุณละเมียดบุญมาก ภรรยาของจีระ บุญมากเป็นรองประธานกรรมการในการจัดงานสัมมนาในวันนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจต่อความหมายที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย และเจตนารมณ์ของวีรชน เป็นการร่วมบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่ช่วยเตือนใจและเตือนสติพวกเราทุกคน ถึงเรื่องราวในอดีตที่ผูกพันกับเรา” รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าว

สารคดีจีระ บุญมาก ที่นางละเมียด ภรรยาจีระ นำมาฉายในงาน

ห้องประชุม จีระ บุญมาก กับนิด้า

ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี กล่าวถึงความสำคัญของห้องประชุมจีระ บุญมาก กับนิด้าเนื่องจากที่นี่เริ่มต้น 2509 ในช่วงแรกสร้างตึกแล้วไม่มีการตั้งชื่อเฉพาะ ห้องประชุมจีระ ในฐานะที่เขาเป็นเป็นอาคารแรกที่มีการตั้งชื่อ ในปี 17 ทำให้เห็นว่าจีระ นักศึกษาปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา มีความหมายมากกับนิด้า  ซึ่งหอประชุมดังกล่าวมีชั้นเดียวสามารถรองรับคนได้ 300 คน ใช้ทั้งงานรับปริญญา ปฐมนิเทศ งานสังสรรค์ จนกระทั้งปี 46 จึงมีการรื้อเนื่องจากไม่สามารถรองรับนักศึกษาที่มีมากขึ้น จนกระทั้งมีความคิดที่จะสร้างสร้างหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ที่จะรองรับคนได้มากขึ้น ดังนั้นภาระหอประชุมจีระฯ จึงลดลง อย่างไรก็ตามห้องประชุมนี้เป็นประโยชน์กับนิด้า และทุกคนที่มาก็รู้จักจีระจากห้องประชุมนี้

ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ กล่าวด้วยว่าตนมีส่วนสำคัญในการทุบห้องประชุมจีระ ในปี 47 เนื่องจากขณะนั้นเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน เพื่อสร้างอาคารที่รองรับนักศึกษาที่มากขึ้น โดยในครั้งนั้น มีอาจารย์หลายคนก็ทักท้วงว่าจะทำให้ชื่อ “จีระ” หมายไปจากนิด้า แสดงให้เห็นว่าชื่อนี้มีความสัมพันธ์กับนิด้าย่างมาก และตามโครงการที่สร้างตึกใหม่ก็มีแผนไว้แต่แรกว่าจะต้องมีห้องประชุมจิระอยู่ด้วย

ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี

จีระ กับ 14 ตุลา เคลื่อนไหวด้วยความเสียสละและสันติ

เหตุที่ชื่อจีระ ถึงเป็นที่รู้จักคู่กับ 14 ตุลา ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ มองว่า เนื่องจากเวลาคนเราทั่วไปจะจำเหตุการณ์อะไรก็จะโยงภาพเข้ากับตัวเอง ถ้านึกถึงภาพ 14 ตุลา หลายคนจะเห็นหลายอย่าง มี 2 ภาพที่เห็นคือ ภาพ จีระ บุญมาก กับธงชาติที่เปื้นเลือด อีกภาพเป็น ภาพคุณก้านยาว (ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ มีชื่อเดิมว่า ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว)ดังนั้นคุณจีระยังอยู่ในจินตภาพของคนกับเหตุการณ์ 14 ตุลา

ก่อนถูกยิงคุณจีระ เขาออกจากบ้าน หลังจากฟังข่าวกรมประชาสัมพันธ์ แล้วคนรู้สึกว่าไม่จริง เมื่อไปที่เกิดเหตุเห็นว่าช่ากลกับทหารเผชิญหน้ากัน คุณจีระต้องการให้ช่างกลใจเย็นๆ แล้วเอาส้มกับธงชาติ เดินไปหาทหาร ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนนั้นต้องการสันติ ต้องการปรองดอง ดังนั้นเมื่อดูจาก จีระ แสดงให้เห็นว่าเป็นกระแสที่รักความเป็นธรรม ประชาธิปไตยด้วยใจบริสุทธิ์ และสันติ บวกกับเป็นนักศึกษาปริญญาโท มีครอบครัวแล้ว ทำให้คนเห็นถึงความเสียสละสู้เพื่อประชาธิปไตย จึงไปกระตุ้นความรู้สึกกับคนอื่น คุณจีระจึงเป็นจิตภาพสะท้อนคนที่เคลื่อนไหวด้วยความเสียสละและสันติ

การเปลี่ยนแปลง 3 ด้านหลัง 14 ตุลา

ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ กล่าวว่าหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. สร้างการเปลี่ยนแปลงกับประเทศไทยใน 3 ด้าน

  1. วัฒนธรรม ในส่วนที่เปลี่ยนอย่างต่อเนื่องคือความรู้สึกที่ว่าสังคมไทยต้องมีประชาธิปไตย ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไม่ต่อเนื่องคือเรื่องของจิตใจนักศึกษาช่วงนั้นกระแสหลักคือมีจิตอาสา มีส่วนช่วยให้คนรุ่นนี้มีจิตใจสาธารณะที่กระตือรือร้นเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม แต่สิ่งนี้ไม่ต่อเนื่อง ปัจจุบันนักศึกษามีลักษณะที่เหมือนก่อน 14 ตุลา คือเป็นแบบสายลมแสงแดด
  2. มหาวิทยาลัยรับแนวคิดของประชาธิปไตยมาใช้ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร จากที่ก่อนหน้านี้ทหารจะเข้ามาบริหารมหาวิทยาลัย โดยนิด้าเป็นที่แรกที่มีการสรรหาอธิการและมีการเลือกตั้งคณะบดี ทำให้มีบรรยากาศที่มีความเป็นอิสระในการบริหารจากรัฐบาลขึ้น มีอิสระในทางวิชาการ ทหารหมดบทบาทลงในมหาวิทยาลัย
  3. เศรษฐกิจ โดย 14 ต.ค. ทำให้ไทยปฏิรูประบอบเศรษฐกิจโดยปล่อยให้ตลาดเป็นเสรี เพราะทหารถูกลดบทบาทลงในทางเศรษฐกิจ

14 ตุลา กับการพัฒนา

ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย กล่าวว่าคุณจีระเป็นคนต้องการความสันติ ไม่ต้องการความรุนแรง ถือธงเพื่อที่จะไปเจรจากับทหาร นิด้า ตั้งขึ้นโดยเจตนารมณ์ที่ต้องการให้การศึกษาเกี่ยวกัยการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตั้แต่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ดันนี้ความต้องการของคนที่ทำงานหรือข้าราชการ คือต้องกาความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา คุณจีระ เมื่อมาเรียนนิด้า ก็ได้ความรู้ความคิดที่จะมีส่วนร่วมให้การพัฒนาประเทศ แต่เนื่องจากระบอบการเมืองการปกครองเป็นเผด็จการทหาร เมื่อเริ่มต่อสู้ 14 ต.ค. ดังนั้นคุนจีระจึงสนใจและเมื่อได้ยินกรมประชาสัมพันธ์คุณจีระก็ไม่เชื่อจึงออกจากบ้านไปที่ชุมนุม

ผลของ 14 ตุลา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลายประการ เช่น

  1. ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพและตื่นตัวทางการเมือง ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ จะเห็นได้ว่าหลัง 14 ต.ค. กรรมกรชุมนุมกันมากขึ้น ชาวนาตื่นตัวมากขึ้น
  2. เป็นการไปทุบหัวผู้ปกครองจนแตก หลัง 14 ตุลา ผู้ปกครองไทยไม่สามารถปกครองเหมือนเมื่อก่อนที่คนๆ เดียว สามารถปกครองได้ยาวนาน ทำให้ชนชั้นปกครองไทยแตกไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้นชนชั้นปกครองจึงไม่สามารถทำได้เหมือนก่อนหน้าที่จะเป็นเผด็จการระยะยาว
  3. ในทางเศรษฐกิจ 14 ตุลา ทำลายระบบการผูกขาดตัดตอน ของทุนขุนนาง เปิดทางให้ทุนขนาดเล็กและกลางสามารถใหญ่ขึ้น เพราะเมื่อก่อนนั้นทหารจะเป็นประธานบริษัท หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ทหารก็มาเป็นอธิการบดี

รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เกร็ดบางเรื่องในทางประวัติศาสตร์ 14 ตุลา
รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ กล่าวถึงเกร็ดบางเรื่องในทางประวัติศาสตร์ในขณะนั้นเรารู้สึกว่ารัฐบาลเผด็จการจะมาทำลายความเป็นอิสระของศาล คิดว่า ปัญหาหลักมาจาก รัฐบาลถนอม ประภาส ภาพพจน์ไม่ดี แล้วหลวงจำรูญเนติศาสตร์ (จำรูญ โปษยานนท์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอกฏหมายโบว์ดำ จากการที่รัฐบาลขณะนั้นไม่สามารถควบคุมข้าราชการยุติธรรมได้ ขณะที่ข้าราชการอื่นรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งโยกย้ายได้ ขณะที่ข้าราชการยุติธรรม ต้องปฏิบัติตาม กต. ตัดสิน แม้แต่ทหารขณะนั้นยังสามารถควบคุมได้ ดังนั้นหลวงจำรูญจึงเสนอให้ข้าราชการอยู่ในระบบเดียวกันหมด แต่ถูกคัดค้าน ในที่สุดก็ต้องถอย จึงปิดฉากกฎหมายโบว์ดำและหลวงจำรูญ

เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแห้ง โดยเมื่อปี 2513 มหาลัยทั่วประเทศรับนักศึกษาทั้งระบบ ได้เพียงหมื่นคน ขณะที่นักเรียนจบ ม.ศ. 5 27,000 คน แสดงว่ามี คนที่ไม่ได้เรียกต่อถึงหมื่นเจ็ดพันคน จึงไม่แปลกที่นักเรียนขณะนั้นสอบเข้ามหาลัยไม่ได้ก็กินยาตาย ดังนั้นโครงการที่นักการศึกษากลุ่มหนึ่งที่ ดร.สัก เป็นแกนนำ คือการตั้ง ม.ราม จึงมีความสำคัญต่อการศึกษา และนักศึกษาที่ รามฯ ก็เป็นกำลังสำคัญของการเคลื่อนไหว 14 ตุลา แต่การเมืองก่อน 14 ตุลา ดร.สักก็ต้องเข้าหาผู้มีอำนาจหรือประภาส เพื่อผลักดันโครงการมหาวิทยาลัยรามฯ จนผ่าน แต่ก็กลายเป็นปัญหาการเมืองต่อมา

มองถนอมอีกมุม

รศ.ดร.สุธาชัย กล่าวว่าเมื่อมองทางประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปดูการบริหาร ประเทศสมัยถนอมก็ไม่ได้เลวร้ายนัก จอมพลถนอม บริหารประเทศก่อนที่จะมาเป็นนายก เพราะจอมพลสฤษดิ์ ป่วย จอมพลถนอม จึงบริหารราชการแทนในฐานะรองนายกคนที่ 1 และเรื่องภาพพจน์ทุจริตนั้นไม่ได้มีตัวเลขที่แสดงว่าถนอมร่ำรวยผิดปกติ แต่จุดอ่อนที่ทำให้ถนอนพังคือ หนึ่งการรัฐประหารตัวเอง ทำให้ความขัดแย้งทั้งหมดไปรวมศูนย์อยู่ที่ถนอม สองคือการโปรโมทณรงค์ กิตติขจร มากเกิดไป ภาพพจน์ของณรงค์จึงมาทำลายถนอมเอง ในความเป็นจริงภาพถนอมนั้น มีภาพของความเป็นเป็นนายกคนซื่อเมื่อครั้งขึ้นมาสู่อำนาจแรกๆ ซึ่งถ้าตายก่อน 14 ตุลา นั้นก็อาจมีภาพเป็นฮีโร่ บังเอิญ อยู่มาถึงปี 16 ภาพจึงเป็นผู้ร้าย ดันั้นหากมองประวัติศาสตร์แล้วเข้าใจใหม่มันมีลัษณะพิเศษอยู่ ประวัติศาสตร์ที่มันจริงมันอาจเป็นอีกเรื่องกับที่เป็นอยู่เพราะมันถูกตีความอธิบายด้วยการเมือง

กลุ่มต้านถนอม ที่ไม่ได้มีเพียงนักศึกษา

รศ.ดร.สุธาชัย กล่าวถึงขบวนการ 14 ตุลา ว่าแม้ขบวนการนักศึกษาจะสำคัญ แต่จริงๆ มันเกิดจากกลุ่มทางการมืองที่ต้านถนอมอยู่ 3 กลุ่ม คือ

  1. พวกก้าวหน้า รวมถึงขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้าย นักประชาธิปไตย
  2. กลุ่มศักดินา หรือโมนากี้เซอร์เคิล กลุ่มนิยมเจ้า กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ 2 ลักษณะกับฝ่ายถนอมหรือขุนศึก หนึ่งคือการร่วมมือ โดยขุนศึกเอากลุ่มนี้มาเป็นกำแพงต้าน ฝ่ายก้าวหน้า แต่ฝ่ายอนุรักนิยมกลับเล่นบทพระรอง จึงมีความขัดแย้งจากการที่ต้องการเล่นบทหลัก และหลังจากปี 11 ความขัดแย้งก็มีมากขึ้น สถาบันกษัติรย์มีควาใกล้ชิดกับขบวนการนักศึกษามากขึ้น เสด็จทรงดนตรีตามมหาวิทยาลัย มีจำนวนหนึ่งเข้าเฝ้า หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่ทันยุคสมัย ดังนั้น ขบวนการนักศึกษายังไม่ได้เป็นฝ่ายก้าวหน้า ก่อนวันที่ 14 ตุลา นักศึกษาที่ถูกจับและได้รับการปล่อยตัว แต่ยังไม่มาที่ชุมนุม ช่วงบ่าย วันที่ 13 ตุลา นักศึกษาที่ออกมาจากคุกนั้นก็ไปรอเข้าเฝ้า จึงกล่าวได้ว่านักศึกษาในปี 16 ไม่ได้เป็นซ้าย หรือขบวนก้าวหน้า
  3. ทหารไม่เป็นเอกภาพ มีทหารกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เอาถนอม-ประภาส เช่น พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ ที่เคยเป็นคนใกล้ชิด ปรีดี แม้แต่ถนอม-ประภาสจอมพลสฤษดิ์ ก็ไม่ได้ไว้วางใจ

ดังนั้น 14 ตุลา จึ้งเป็นความขัดแย้งที่ซับซ้อน นักศึกษาจึงเป็นผู้ที่มาถูกจังหวะ จากความขัดแย้งที่เขม็งเกลียวนี้

ห้องประชุมจีระฯ ชั้น 3 อาคารสยามบรมราชกุมารี

นอกจากห้องประชุมจีระ บุญมาก เปลี่ยนจากห้องประชุมที่เป็นชั้นเดียวมาอยู่ชั้น 3 อาคารสยามบรมราชกุมารี ที่สร้างใหม่แล้ว ผู้สื่อข่าวสอบถามนางละเมียด บุญมาก ภรรยาจีระ พบว่าเธอยังทำงานเป็นพยาบาลอยู่ที่ห้องพยาบาลชั้นล่างอาคารกีฬาและสโมสรนักศึกษาในนิด้าด้วย

ภายในห้องประชุมจีระฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท