นิธิ เอียวศรีวงศ์: เขื่อน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดยหลักการพื้นฐานแล้ว ผมยังเชื่อว่า การสร้างเขื่อนกันแม่น้ำหรือสายน้ำขนาดใหญ่ได้ประโยชน์น้อยกว่าเสียประโยชน์

เพราะเขื่อนทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศมากกว่าที่ตาเราอาจมองเห็นได้ เช่น สูญเสียพื้นที่ป่า ไม่ได้หมายความเพียงเสียพื้นที่ซึ่งมีต้นไม้ขึ้นแยะๆ และเป็นที่อยู่อาศัย (กิน-นอน-สืบพันธุ์-ตายไปเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่น) ของสัตว์เท่านั้น แต่ยังมีความละเอียดอ่อนของธรรมชาติป่าซึ่งตาเรามองไม่เห็นอีกมาก เช่น เชื้อราและพืชบางชนิดซึ่งมีเฉพาะถิ่น ซึ่งผูกพันอยู่กับสัตว์บางชนิดซึ่งต้องมีเฉพาะถิ่นอีกเช่นกัน

สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์แก่มนุษย์ในระยะยาวหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ แต่ถ้าคิดในแนวนิเวศวิทยาเชิงลึก ทุกรูปแบบชีวิตย่อมมีสิทธิจะอยู่รอดบนดาวเคราะห์ดวงน้อยนี้เท่ากัน ไม่เฉพาะแต่สิ่งที่ทำประโยชน์ให้แก่มนุษย์เท่านั้น

แต่ความขัดแย้งกรณีเขื่อนแม่วงก์ทำให้ผมกลับมาคิดเรื่องนี้ใหม่ แม้ไม่อาจสรุปได้ว่าควรหรือไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะผมมีข้อมูลน้อยเกินไป แต่ก็พบว่าเขื่อนเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนกว่าหลักการพื้นฐานที่ผมกล่าวไว้มากทีเดียว

เพราะหลักการพื้นฐานที่ผมยกขึ้นมานั้น เป็นหลักการลอยๆ ที่อยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังนั้น จึงใช้ได้เพียงเป็นเครื่องชี้นำทิศทางที่เราควรดำเนินไปเท่านั้น ไม่ใช่กฎตายตัว

ยิ่งกว่านี้ปัญหาที่เกิดจากความล้มเหลวของสังคม ซึ่งสังคมไม่อยากแก้ไข หรือกลไกที่มีอยู่ไม่เพียงพอจะแก้ไขที่ต้นเหตุ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยปัญหานั้นไว้โดยไม่ทำอะไรเลย เขื่อนจึงเป็นคำตอบของปัญหาสังคมไปอย่างน่าประหลาด

ผมขอยกตัวอย่างจากกรณีเขื่อนแม่วงก์

นํ้าแม่วงก์ทำให้น้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมในหน้าน้ำ ทั้งที่อยู่ใกล้ และไกลไปถึงลุ่มน้ำสะแกกรัง แต่พื้นที่เกษตรกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่เปิดใหม่ไม่นานมานี้ โดยภูมิสัณฐานของพื้นที่แล้ว ไม่เหมาะกับการทำเกษตร แต่ประชาชนไทยจำนวนมากไม่อาจผันตัวเองไปสู่อาชีพอื่น ซ้ำต้นทุนของการทำเกษตรก็สูงมาก หากต้องซื้อที่ดินในเขตที่เหมาะสม จนกระทั่งหากไม่สามารถทำเกษตรได้ เขาจะยังชีพอยู่ได้อย่างไร

ดังนั้น พื้นที่ “ชายขอบ” ของการเกษตรจึงถูกจับจอง หรือครอบครองกว้างขวางทั่วประเทศ แม้ได้ที่ดินมาฟรีหรือได้มาในราคาถูก แต่ในระยะยาวแล้ว ต้นทุนการทำเกษตรก็สูงกว่าพื้นที่อื่น กำไรที่ได้จึงมีน้อยหรือบางแห่งอาจถึงขาดทุนต่อเนื่อง

น้ำท่วมพื้นที่เกษตรที่แม่วงก์จึงไม่ได้มีต้นเหตุทางธรรมชาติ แต่มีต้นเหตุทางสังคม นับตั้งแต่เรากระจายโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพไปไม่ทั่วถึง ทำให้คนจำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากอยู่ในภาคเกษตร อันเป็นทักษะอย่างเดียวที่ตนมีอยู่ เราไม่ยอมปฏิรูปที่ดิน ทำให้การถือครองกระจุกอยู่ในคนจำนวนน้อย ซึ่งไม่ได้ใช้ที่ดินเพื่อการผลิต แต่เพื่อเก็งกำไรในตลาด คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงทรัพยากรพื้นฐานนี้ บังคับให้ต้องบุกเบิกเข้าไปในพื้นที่ซึ่งถือว่าเป็น “ชายขอบ” ของการเกษตร เหมือนสาปชีวิตตนเองให้ตกยากไปชั่วนิรันดร์

หากไม่มีต้นเหตุทางสังคมดังที่กล่าวนี้ พื้นที่เกษตรซึ่งถูกน้ำแม่วงก์ท่วมอยู่ทุกปี ก็จะยังเป็นพื้นที่ป่า เกิดระบบนิเวศของป่าที่ต้องถูกน้ำท่วมทุกปีซึ่งแตกต่างจากป่าบนเขา ไม่มีใครเดือดร้อน ซ้ำเพราะพื้นที่ป่ามีขนาดกว้างมากขึ้น ก็ช่วยลดอุทุกภัยด้านล่างได้ เพราะป่าช่วยซับน้ำให้ไหลช้าลง อีกทั้งในหน้าแล้งยังช่วยเก็บน้ำไว้ให้พื้นที่แกนกลางเกษตรได้ใช้ด้วย

แต่จะไม่มีต้นเหตุทางสังคมเช่นนี้ได้ ก็ต้องแก้ไขทางสังคม ซึ่งเราไม่อยากแก้ หรือไม่มีกลไกทางสังคมและการเมืองสำหรับแก้ จึงต้องปล่อยให้ผู้คนทำเกษตรในพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะจะทำเกษตรไปเรื่อยๆ แล้วสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาให้ได้ เราเอาเขื่อนมาแก้ปัญหาสังคมด้วยเหตุฉะนี้

(ผมออกจะระแวงอย่างยิ่งว่า การแก้ปัญหาสังคมด้วยเทคโนโลยีในเมืองไทยนั้น นิยมทำกันมากในหมู่ชนชั้นนำ เพราะเป็นผลให้ไม่ต้องกลับมาจัดการกับต้นเหตุทางสังคมของปัญหา ซึ่งจะทำให้เห็นความไม่เป็นธรรมมากมายที่เอื้อให้ชนชั้นนำได้เปรียบอยู่)

ซึ่งก็น่าประหลาดนะครับ เพราะมันแก้ได้บางส่วน อย่างน้อยก็ช่วยสงบผู้เดือดร้อนว่าปัญหากำลังถูกแก้ไขแล้ว

ยังมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกอย่างหนึ่ง คือความทันสมัยที่ทำให้คนไทยแตกต่างจากบรรพบุรุษ มากเสียจนเราไม่อาจถอยกลับไปใช้ชีวิตอย่างบรรพบุรุษได้อีกแล้ว เราต้องใช้ทรัพยากรในชีวิตมากกว่าบรรพบุรุษหลาย (ร้อย) เท่าตัว ฉะนั้น ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น น้ำหลากหรือน้ำแล้ง จึงกลายเป็น “ภัย” ร้ายแรง

จุด “พอเพียง” ของเราไม่ใช่จุดเดียวกับปู่ของเรา อย่างน้อยเราก็อยากส่งลูกเรียนหนังสือ อยากได้รับความนับหน้าถือตาจากคนอื่น (อันเป็นธรรมชาติมนุษย์ทุกยุคสมัย) ซึ่งผ่านพบเพียงชั่วคราว จึงจำเป็นต้อง “ซื้อ” คุณสมบัติบางอย่างมาพอกตัว เราอยากดูทีวี เพราะทีวีช่วยผนึกเราให้เข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันกับสังคมรัฐชาติ และการผนึกเข้าไปนี้ทำให้เราเสียเปรียบน้อยลง ฯลฯ

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปนี้ ทำให้เราไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้มากเหมือนเดิมใช่ไหม ก็คงจะใช่ ถ้าเทียบกับเมื่อ 150 ปีที่ผ่านมา แต่เรายังสามารถรักษาไว้ได้มากทีเดียว หากสามารถจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรม และมีผลิตภาพมากกว่านี้ และถ้าทำได้เราก็คงต้องการเขื่อนเพื่อการชลประทานน้อยลงมาก

แต่ก่อนที่เราจะทำอย่างนั้นได้ (ซึ่งต้องอาศัยเวลาอีกกี่ชาติก็ไม่ทราบ) เขื่อนบางเขื่อนคงมีความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม เราก็ควรมีสติพอจะไม่ไปเชื่อคุณประโยชน์ของเขื่อนอย่างหลับหูหลับตาด้วย ผมอยากจะยกตัวอย่างถึงคุณประโยชน์ที่ไม่จริงของเขื่อนให้ดูสักหน่อย

ผมไม่เชื่อว่าเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ ก็ที่ท่วมอยุธยาครั้งหลังสุดนี้ (สูงถึง 80 ซม.) ก็ว่ามาจากน้ำที่ถูกปล่อยจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพราะฝนมาหลายลูกจนทำให้เขื่อนต้องรีบปล่อยน้ำก่อนจะสายเกินไป เขื่อนจึงอาจป้องกันน้ำท่วมได้ในปีสองปีแรก ก่อนที่จะเก็บกักน้ำได้เต็ม หลังจากนั้น ในบางปีเขื่อนก็อาจช่วยบรรเทาอุทกภัยได้บ้าง แต่ในอีกบางปี กลับทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างไม่น่าเกิด มีความเสี่ยงเท่ากับจับหัวจับก้อยหรือแล้วแต่เทวดาจะโปรด

บางคนอาจบอกว่า เรื่องนี้แก้ได้ด้วยการกักและปล่อยน้ำให้ได้จังหวะ เช่น พร่องน้ำไว้ก่อนฝนใหญ่จะมาเป็นต้น ฟังดูดีนะครับ แต่ความจริงแล้วพูดเฉยๆ นั้นง่ายดี ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเราไม่สามารถคาดเดามรสุมและไต้ฝุ่นที่พาฝนเข้าสู่พื้นที่เหนือเขื่อนได้จริง ไต้ฝุ่นที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนนั้น ปีหนึ่งมีหลายสิบลูก ลูกไหนบ้างที่จะผ่านเข้าสู่ไทยส่วนเหนือเขื่อน ต้องทำนายกันวันต่อวัน และผิดได้วันต่อวัน เพราะพ่อ (หรือแม่) เจ้าประคุณเปลี่ยนทิศทางโดยไม่มีอะไรให้คาดเดาล่วงหน้าได้เลย

ดังนั้น จึงบอกไม่ได้ว่า ควรพร่องน้ำสักเท่าไรจึงจะพอดีรับฝนในฤดู ในประเทศไทยเคยมีประวัติการพร่องมากเกินไปจนทำให้ปีฝนแล้งเกิดภัยพิบัติมากกว่าที่ควร หรือพร่องน้อยเกินไปจนเกิดอุทกภัยที่ไม่น่าเกิด

ฉะนั้น คุณประโยชน์ที่ฟังขึ้นที่สุดของเขื่อนก็คือ เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง อาจเกิดน้ำท่วมบ้างแต่พอมีน้ำให้ใช้กว้างขวางหน่อยในหน้าแล้ง (หากมีคลองส่งน้ำกระจายไปกว้างขวางสักหน่อย) แม้กระนั้นก็ต้องระวังว่า เขื่อนมีหน้าที่หลักคือชลประทาน ไม่ควรโลภมากอเนกประสงค์เป็นอันขาด โดยเฉพาะไม่ควรเอามาปั่นไฟ ถึงจะปั่นก็ต้องเป็นหน้าที่รองๆ การเก็บน้ำให้พอใช้ในการเกษตรหน้าแล้งต้องมาก่อน ไม่อย่างนั้นเขาก็จะเก็บน้ำไว้ปั่นไฟก่อนส่งมาเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรม

สมัยที่เขื่อนภูมิพลยังผลิตไฟฟ้าประมาณ 25% ของประเทศ เกิดภัยแล้งในที่ราบภาคกลางอยู่บ่อยๆ เพราะเขาไม่ปล่อยน้ำลงมามากกว่าเพื่อปั่นไฟ กลัวน้ำหมดแล้วปั่นไฟไม่ได้

เขื่อนปั่นไฟใหญ่ๆ ของโลก มีน้ำธรรมชาติเก็บไว้ในรูปของหิมะหรือน้ำแข็งบนยอดเขา ซึ่งสามารถเลี้ยงเครื่องปั่นไฟไปได้ตลอดหน้าแล้ง ในขณะที่เราต้องรอฝนลูกเดียว เขื่อนปั่นไฟจึงไม่เหมาะกับประเทศไทยเท่าไรนัก

จะอเนกประสงค์อย่างไร ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญของประสงค์ให้ชัด

ผมมีข้อมูลไม่พอว่า น้ำแม่วงก์ซึ่งรินไหลตลอดปี เพราะป่าอุดมสมบูรณ์ดีอยู่นั้น มีน้ำพอจะเลี้ยงพื้นที่ชลประทานได้กว้างขวางแค่ไหน (หากทำคลองส่งน้ำให้ทั่วถึง โดยไม่ต้องสร้างเขื่อน แต่อาจใช้ฝายยกระดับน้ำเป็นช่วงๆ) อาจไม่พอก็ได้ และถ้าไม่พอ การสร้างเขื่อนก็ได้ประโยชน์ในแง่เลี้ยงน้ำแก่พื้นที่เกษตรแน่ แต่ประโยชน์อื่นๆ นั้นไม่ค่อยน่าเชื่อถือว่ามีอยู่จริง

แต่หากบอกว่าเขื่อนมีประโยชน์ด้านชลประทานเป็นหลัก วิธีคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไป และอาจไม่มีเขื่อนไหนที่คุ้มค่าพอจะสร้างขึ้นเลย ทั้งนี้ เพราะเวลาคำนวณ “ค่า” ว่าคุ้มหรือไม่นั้น เขาเอาผลิตภาพเป็นตัวตั้ง และผลิตภาพมีความหมายจำกัดแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจของสิ่งที่ถูกผลิตขึ้น ไม่ได้มีชีวิตมนุษย์อยู่ใน “ค่า” เอาเลย

เช่น กรณีเขื่อนแม่วงก์นั้น หากถามประชาชนที่จะได้รับน้ำในฤดูแล้งว่า คุณผลิตอะไรบ้างครับ รวมทั้งหมดแล้วอาจมีมูลค่าเพียงไม่กี่บาท แต่การที่คนสามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี มีรายได้เข้าครอบครัวกระจายไปทั้งปี ส่งลูกเรียนหนังสือได้โดยไม่เดือดร้อนจนเกินไป พ่อแก่แม่แก่ได้กินไก่ย่างซีพีบ้างแทนที่จะกระเดือกไข่ต้มตาปีตาชาติ ผู้คนพอใจที่ได้เป็นพลเมืองไทยโดยไม่ต้องร้องเพลงชาติวันละ 2 ครั้ง ฯลฯ อย่างนี้จะนับเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสักเท่าไร

โดยส่วนตัว ผมตอบไม่ได้หรอกครับว่า ควรหรือไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะข้อมูลไม่พอ

ผมได้ยินมาว่า กรณีความขัดแย้งเรื่องเขื่อนแม่วงก์เป็น “การเมือง” แต่เรื่องอย่างนี้กลายเป็น “การเมือง” ไปได้ในสังคมไทย ไม่ใช่เพียงเพราะเราแบ่งสีเท่านั้น แต่สาเหตุหลักมาจากการที่สังคมไทยขาดเสียงซึ่งจะดึงผู้คนหันมาใส่ใจตรวจสอบข้อมูล และข้อสรุปทางวิชาการอย่างจริงจัง เพื่อขัดแย้งกันในเรื่องเหล่านี้ แทนขัดแย้งกันทาง “การเมือง”

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11-17 ตุลาคม 2556 หน้า 32

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท