มูลนิธิชีววิถีเตือนการส่งออกมะละกอกำลังเข้าสู่วิกฤต

มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เตือนการส่งออกมะละกอเข้าใกล้วิกฤต เหตุยุโรปตรวจพบมะละกอที่นำเข้าจากประเทศไทยปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอมากเป็นประวัติการณ์ ชี้ไทยอาจสูญเสียตลาดทั้งหมดในยุโรปและญี่ปุ่น หลังญี่ปุ่นเริ่มต้นมาตรการตรวจเข้มเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา
 
12 ต.ค. 56 - หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้สั่งให้ตรวจเข้มผลิตภัณฑ์มะละกอจากประเทศไทยมากขึ้น โดยสุ่มตรวจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของการนำเข้าทั้งหมด พร้อมทั้งขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยตรวจหาสาเหตุของการปนเปื้อนผลิตภัณฑ์มะละกอของไทย หลังจากตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์มะละกออบแห้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากมะละกอจีเอ็มโอต้านโรคใบด่างจุดวงแหวน (Papaya Ring Spot Virus)ซึ่งไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยซึ่งขัดต่อกฎหมายสุขอนามัยอาหาร (Food Sanitation Act) ของญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีสัญญาณชี้ว่าการส่งออกมะละกอของไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตแล้ว เนื่องจากสหภาพยุโรปพบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มจากประเทศไทยมากเป็นประวัติการณ์
 
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า จากการติดตามระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยทางอาหารและอาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Food and Feed) ของสหภาพยุโรปพบว่า เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา ยุโรปตรวจพบมะละกอผลดิบและผลิตภัณฑ์มะละกออบแห้งที่นำเข้าจากประเทศไทยปนเปื้อนจีเอ็มโอสูงถึง 24 ตัวอย่างทั้งๆที่เป็นการสุ่มตรวจเพียงแค่ 9 เดือนแรกของปี 2556 เท่านั้น โดยจากสถิติที่ผ่านมา อียูเพิ่งพบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอครั้งแรกจากประเทศไทยเมื่อปี 2549 จำนวน 1 ตัวอย่าง ปี 2552 จำนวน 3  ตัวอย่าง  ปี 2555 จำนวน 11 ตัวอย่าง
 
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีชี้ว่า การตรวจพบมะละกอจีเอ็มโอจากผลิตภัณฑ์มะละกอจากประเทศไทยในระดับสูงขนาดนี้จะทำให้อียูยกระดับการตรวจเข้มมะละกอจากประเทศไทยเช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยอาจสุ่มตรวจในระดับมากถึง 50% ของจำนวนตัวอย่างที่นำเข้า และหากประเทศไทยยังไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้อียูอาจสั่งห้ามการนำเข้ามะละกอจากประเทศไทยในที่สุด  “ปัญหานี้จะส่งผลกระทบทั้งต่อเกษตรกรที่ปลูก ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกมะละกอและผลิตภัณฑ์มะละกอจากประเทศไทยที่จะต้องมีภาระเสียค่าใช้จ่ายสำหรับห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอก่อนการส่งออกหรือไม่ และเชื่อว่าอียูจะขยายการตรวจสอบไปยังผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้มะละกอเป็นส่วนผสม เช่นซอส และฟรุตสลัดที่มีมะละกอเป็นองค์ประกอบด้วย ”
 
“ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกซึ่งจะต้องตรวจสอบเมล็ดพันธุ์มะละกอของตนว่ามาจากแหล่งที่ปลอดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม ผู้ประกอบการที่รวบรวมผลผลิต แปรรูปและส่งออก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องจัดการปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมอย่างจริงจังมากกว่านี้”
 
ปัญหาการตีกลับและการตรวจสอบเข้มมะละกอ อาจทำให้ประเทศสูญเสียตลาดการส่งออกมะละกอไปยังยุโรป อียู และอีกหลายประเทศให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จากสถิติเมื่อปี 2554 ของ FAO ประเทศที่ส่งออกมะละกอมากที่สุดคือเม็กซิโก ส่งออก 104,797 ตัน รองลงมาคือบราซิล 28,823 ตัน ส่วนประเทศในอาเซียนที่ส่งออกมากได้แก่มาเลเซีย 22,207 ตัน และฟิลิปปินส์ 2,945 ตัน ส่วนไทยส่งออก 995 ตัน
 
ปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของมะละกอจีเอ็มโอในประเทศเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2547 โดยเกิดจากการหลุดลอดของมะละกอจีเอ็มโอซึ่งอยู่ระหว่างการปลูกทดสอบที่สถานีวิจัยพืชสวน ของกรมวิชาการเกษตร จ.ขอนแก่น รายงานจากการเฝ้าระวังของมูลนิธิชีววิถียังรายงานด้วยว่านอกจากมะละกอแล้ว ปัญหาการปนเปื้อนจีเอ็มโอในข้าวโพดซึ่งยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง รวมทั้งความพยายามของบางฝ่ายที่จะนำข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม NK603 ของบริษัทมอนซานโต้มาปลูกทดสอบในแปลงเปิด จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท