Skip to main content
sharethis

เอไอประเทศไทย ฉายหนัง Give Up Tomorrow สารคดีเจ้าของ 18 รางวัล แสดงปัญหากระบวนการยุติธรรมและโทษประหารชีวิตในฟิลิปปินส์ที่สั่นสะเทือนจิตใจประชาชนทั้งประเทศ 

 
“เวลาผมอยู่ในคุก ทุกๆ วันผมจะคิดว่า วันนี้จะทำอะไร และทำอะไรต่อหลังจากนั้น  มันอาจจะมีบ้างที่รู้สึกอยากจะยอมแพ้ แต่ก็ยอมแพ้ไม่ได้  ผมมักจะบอกเพื่อนร่วมคุกของผมเสมอว่า ถ้าจะยอมแพ้ ให้ยอมแพ้วันต่อไป เมื่อวันพรุ่งนี้มาถึง ค่อยเอาไว้ยอมแพ้วันพรุ่งนี้ “ 
 
นี่คือคำพูดของปาโก้ ลาราญากา (Paco Larrañaga) ที่ให้สัมภาษณ์จากเรือนจำเซบู หลังจากเขาถูกคุมขังมาแล้ว 8 ปีสำหรับคดีที่หลายคนมองว่าเขาไม่ได้ก่อ วลีนี้กลายมาเป็นชื่อภาพยนตร์เรื่อง Give Up Tomorrow ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของปาโก้ ชายหนุ่มลูกครึ่งฟิลิปปินส์และสเปนจากตระกูลออสเมนา (Osmeña clan) ตระกูลของอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เซอร์จิโอ ออสเมนา ซึ่งเป็นครอบครัวที่ทรงอิทธิพลในเกาะเซบูทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ที่โชคชะตาพลิกผัน ให้ปาโก้ได้รับโทษประหารชีวิตจากคดีฆาตกรรม และกลายเป็นคดีที่สะท้อนความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ต้นจนจบ  
 


ตัวอย่างภาพยนตร์ Give Up Tomorrow

 
ปาโก้ถูกจับกุมเมื่อเขาอายุ 19 ปี ในเดือนกรกฎาคม ปี 2540 เนื่องจากตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมข่มขืนสองพี่น้อง มารีจอย ชอง และแจ็คเกอลีน ชอง ทั้งคู่อยู่ในวัยยี่สิบต้นๆ โดยศพที่เชื่อว่าเป็นมารีจอย ถูกข่มขืนและโยนลงจากหน้าผาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คดีดังกล่าวเป็นคดีที่สะเทือนขวัญฟิลิปปินส์โดยเฉพาะในเซบูเป็นเวลานานหลายปี โดยปาโก้ถูกจับกุมเนื่องจากในอดีตเขาเคยมีประวัติในคดีทำร้ายร่างกาย เช่นเดียวกับจำเลยอีกหกคนซึ่งยืนยันว่าตนเองถูกใส่ร้ายเนื่องจากเคยมีคดีติดตัว 
 
การที่ปาโก้เป็นลูกหลานของครอบครัวผู้มีอิทธิพลเชื้อสาย Mestizo (ลูกครึ่งระหว่างสเปนและฟิลิปปินส์) ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นสูงในสังคมสเปน ต่างจากชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีนที่มักถูกมองว่าอยู่ในชนชั้นที่ต่ำต้อยกว่าในสังคม ทำให้เขากลายเป็นเหยื่อที่สื่อมวลชนและสาธารณะพร้อมที่จะโจมตีด้วยความอัดอั้นจากความไม่เท่าเทียมในสังคมฟิลิปปินส์ที่มีอยู่อย่างมหาศาล 
 
ปาโก้ยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเองด้วยพยานกว่า 35 คนทั้งเพื่อนร่วมชั้นเรียน ครู หลักฐานรูปถ่าย ทะเบียนการเข้าเรียน ที่บ่งชี้ว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 40 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุฆาตกรรม ปาโก้อยู่ที่กรุงมะนิลา ห่างไปจากเซบูกว่า 600 กิโลเมตร แต่ด้วยหลักฐานฝ่ายโจทก์ที่ถูกนำเสนอมาด้วยความน่าสงสัยในตอนหลัง ทำให้ศาลเชื่อว่าเขามีความผิดจริง และถูกสั่งลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
 
หนังฉายบรรยากาศหลังการตัดสินของคดีดังกล่าว ที่ห้องพิจารณาคดีก้องไปด้วยเสียงกรีดร้องของเทลม่า ชอง มารดาของสองพี่น้องชอง และบรรดาคนที่รอฟังคำตัดสินอยู่ภายนอกศาล ที่ต่างตะโกนด้วยความไม่พอใจที่ศาลลงโทษเพียงจำคุกตลอดชีวิต และเรียกร้องให้ลงโทษจำเลยทั้ง 7 คนด้วยโทษประหารชีวิต 
 
จากนั้นไม่นาน ครอบครัวลาราญากาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ด้วยคำร้องว่าปาโก้ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยชี้ว่าในกระบวนการไต่สวนมีความไม่ปกติและความไม่เป็นธรรมต่อตัวจำเลยในหลายจุด แต่สิ่งที่ครอบครัวปาโก้ได้รับจากผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่มีความใกล้ชิดกับครอบครัวตระกูลชองซึ่งทรงอิทธิพลไม่แพ้กัน คือการลงโทษประหารชีวิต
 
“การพิจารณาคดีนี้เห็นได้ว่าเป็นการไต่สวนจากแรงกดดันจากสาธารณะและความคิดเห็นจากสื่อจำนวนมหาศาล” มาร์ตี้ เซจูโด ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สัมภาษณ์หลังการฉายครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ ซึ่งเป็นการฉายครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดขึ้นเนื่องในวันรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตสากล วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกๆ ปี
 

a
บรรยากาศการฉายภาพยนตร์สารคดี ที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ กรุงเทพฯ

มาร์ตี้ ผู้กำกับที่มาจากนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เล่าที่มาของการทำหนังเรื่องนี้ว่า เขาเองได้ติดตามคดีของปาโก้มาโดยตลอด และเมื่อทราบว่าปาโก้ถูกศาลฟิลิปปินส์ตัดสินลงโทษประหารชีวิต เขาจึงรู้สึกอยากบอกเล่าเรื่องราวของปาโก้เพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมรวมถึงโทษประหารชีวิต และเนื่องจากเขาเองเป็นน้องชายของพี่สะใภ้ครอบครัวลาราญากา จึงสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวที่จำเป็นได้ค่อนข้างสะดวก 
 
มาร์ตี้เล่าว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาทำทั้งหมดเจ็ดปี โดยร่วมกับผู้กำกับไมเคิล คอลลินส์ โดยหลังจากฉายครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์ไทรเบคก้าที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา “Give Up Tomorrow” ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ถึง 18 รางวัล และยังได้รับการเสนอชื่อประเภทข่าวสืบสวนสอบสวนดีเด่นสำหรับรางวัลเอ็มมี่ครั้งที่ 34 ด้วย
 
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้ไปฉายที่ฟิลิปปินส์เป็นเวลาสามอาทิตย์ โดยมาร์ตี้เล่าว่า ตอนแรกเขาค่อนข้างไม่แน่ใจว่าผลตอบรับในภาพยนตร์จะเป็นอย่างไร เพราะตลอด 15 ปีที่ผ่านมา สาธารณชนฟิลิปปินส์เชื่อว่าปาโก้เป็นคนผิดมาตลอด แต่หลังจากที่หนังได้ฉายที่มะนิลา ความคิดเห็นของผู้คนก็เปลี่ยนไป โดยเชื่อว่าปาโก้เป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมและมองว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากคนดูฟิลิปปินส์อย่างล้นหลาม
 
ฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปเมื่อปี 2549 ในสมัยประธานาธิบดีอาร์โรโย่  หลังจากที่ได้รับแรงกดดันจากสหประชาชาติ ศาสนจักรแคธอลิก และสเปน ทำให้ปาโก้ซึ่งได้รับโทษประหารชีวิตเมื่อปี 2547 ได้ลดโทษเหลือการจำคุกตลอดชีวิต พร้อมๆ กับนักโทษที่ได้รับโทษประหารทั่วประเทศอีกกว่า 1,200 คน 
 
หลังจากที่ปาโก้ได้รับโทษประหารชีวิต เนื่องจากบิดาของเขาเป็นคนสเปน ทำให้ทางครอบครัวของเขาพยายามใช้ช่องทางให้รัฐบาลสเปนเข้ามาช่วยเหลือกรณีปาโก้ซึ่งถือว่าเป็นพลเมืองของสเปนด้วย เขาแอบถ่ายวีดีโอและส่งออกมาให้คนข้างนอก “ผมชื่อปาโก้ ลาราญากา ผมเป็นพลเมืองสเปน และผมถูกจองจำมาเกือบ 15 ปีแล้ว” 
 
ปาโก้ ลาราญากา (เสื้อสีเทา)
 
แรงกดดันต่อรัฐบาลฟิลิปปินส์จากทุกทิศทางเริ่มมีมากขึ้น หนังสือพิมพ์ Diaro Que รายใหญ่ของสเปน ได้ทำแคมเปญล่ารายชื่อจากสาธารณชนเพื่อส่งให้รัฐบาลสเปนกดดันรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรวมรายชื่อได้กว่า 300,000 รายชื่อ เพื่อส่งให้สถานทูตฟิลิปปินส์ในสเปนและเรียกร้องให้ปล่อยตัวปาโก้ทันที
 
“ทันทีที่ฉันอ่านกรณีของปาโก้ ฉันรู้ทันทีเลยว่ามีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับคดีนี้แน่นอน” ตัวแทนจากองค์กร Fair Trial Abroad กล่าว เธอชี้ว่า แต่เนื่องจากกรณีของปาโก้สิ้นสุดลงแล้วที่ศาลฎีกา จึงมีทางเดียวที่จะอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อ นั่นคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต่อมาสหประชาชาติจึงทำหนังสือเพื่อไปกดดันฟิลิปปินส์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตและชี้ว่ากระบวนการไต่สวนดังกล่าวไม่เป็นธรรม ซึ่งนำมาสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในฟิลิปปินส์เมื่อปี 2549 
 
ปัจจุบัน ปาโก้ ลาราญากายังคงถูกจำคุก แต่อยู่ในเรือนจำสเปน เนื่องจากได้ร้องขอเปลี่ยนประเทศซึ่งสามารถทำตามสนธิสัญญาที่สเปนและฟิลิปปินส์ได้ตกลงร่วมกันไว้ ภาพยนตร์มิได้บอกว่าเขาจะมีชะตากรรมต่อไปอย่างไร เพียงต่อจบท้ายด้วยเสียงของปาโก้ที่ให้สัมภาษณ์ออกมาว่า เขาหวังว่าจะได้เป็นอิสระที่ประเทศสเปน แต่ในความเป็นจริง ผู้พิพากษาในสเปนก็ปฏิเสธการอุทธรณ์ของเขาหลายครั้ง และไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป
 
สำหรับจำเลยอีกหกคนที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในคดีเดียวกัน มาร์ตี้บอกว่า เขาเชื่อว่าทั้งหกคนถูกใส่ร้ายและเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เลือกหยิบคดีของปาโก้มานำเสนอเพราะมีความซับซ้อนซึ่งมีกลไกระดับระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม สำหรับจำเลยอีกหกคนนั้น ผู้กำกับสารคดีกล่าวว่าเขามีแผนที่จะทำหนังสั้นเกี่ยวกับแต่ละคนและอัพโหลดให้ชมทางเว็บไซต์ในภายหลัง 
 
แน่นอนว่า คดีอย่างปาโก้ ที่ผู้บริสุทธิ์ถูกประหารชีวิต มิได้เกิดขึ้นเพียงแค่คดีนี้คดีเดียว สถิติการลงโทษประหารชีวิตในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2516 ชี้ว่า จากจำนวนการลงโทษประหารชีวิตทั้งหมด 1,323 คดี มีจำนวน 142 คนที่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากถูกให้พ้นผิดในภายหลัง ซึ่งความผิดพลาดมาจากข้อบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม 
 
ปัจจุบันกว่า 140 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกต่างตระหนักว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ต่อการลดลงของอาชญากรรม รวมทั้งผู้บริสุทธ์อาจตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ยังคงมีความบกพร่อง
 
สำหรับประชาคมอาเซียน กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมาย ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ  สำหรับประเทศไทย (แม้ว่าจะมีการกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้เป็นจำคุกตลอดชีวิตแทนในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 2 (2552-2556) ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐสภาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2552 ก็ตาม) อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่   
 
          
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net