Skip to main content
sharethis

 

 

เมื่อวันที่ 13 ต.ค.56 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปันยามูฟวี่คลับ และสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดฉายภาพยนตร์สั้นที่เข้ารอบสุดท้ายในโครงการประกวด “หนังน่าจะแบน” ของไอลอว์ ทั้งหมด 14 เรื่องที่ห้อง Auditorium 1 ตึก Media Arts and Design ชั้น 2 สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  โดยเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ารับชมได้  มีผู้สนใจเข้าชมประมาณ 60 คนเต็มความจุของห้องฉาย

ทั้งนี้ ภายในงานที่เชียงใหม่มีการฉายหนัง 2 เรื่องคือเรื่อง “เจ็บปวด” ของ อัคร ปัจจักขะภัติ  และเรื่อง “คิม” ของ สรยศ ประภาพันธ์ ที่ไม่ได้ฉายในงานมอบรางวัลของโครงการ “หนังน่าจะแบน” เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา โดยไอลอว์ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมและการตีความกฎหมายจากบรรทัดฐานคำพิพากษาที่ผ่านๆ มา”

หลังการฉายภาพยนตร์เสร็จสิ้นลง มีการเสวนาโดยผู้กำกับภาพยนตร์ที่เข้าร่วมโครงการ 4 คน  ประกอบด้วย  อัคร ปัจจักขะภัติ (เจ็บปวด(รางวัลชนะเลิศ)) ชินวร นงค์เยาว์ (ป้าสมมติไม่ได้อยู่สมุทรสาคร (รางวัลรองชนะเลิศ)) พีระพงษ์ พรมชาติ (A Silent Manifesto) และปณิธาน พุ่มบ้านยาง (โอสถทิพย์) ในประเด็นความเป็นมาของหนังและเรื่องการเซ็นเซอร์

อัครตอบประเด็นเรื่องการทำหนังและการเซ็นเซอร์ว่า “ไม่ค่อยได้ใส่ใจว่าหนังจะต้องโดนแบนหรือไม่โดนแบน  เชื่อว่าคนทำหนังมีประเด็นที่อยากเล่าของตัวเองอยู่แล้วก็ต้องอยากให้คนได้ดู  อาจจะมีบางประเด็นที่รุนแรงเกินไปไม่ว่าด้วยภาพหรือด้วยอะไร  แต่ก็ไม่ควรจะมีการแบนในเมื่อมีเรตติ้งแล้ว  คนอายุ 20 ขึ้นไปก็ควรจะมีวุฒิภาวะในการเลือกดูเลือกชม คนอุตส่าห์ตั้งใจทำออกมาแล้วก็ควรจะได้ฉาย  ควรจะมีองค์กรของคนที่รู้เรื่องหนัง รู้เรื่องการสื่อสารมาดูแล  ดีกว่าให้คณะกรรมการที่เป็นใครก็ไม่รู้มาดู  ในสังคมไทยมีเรื่องที่บอบบางเยอะ  การเซนเซอร์ตัวเองก็เลยเกิดขึ้นจากการถูกกด ถูกบ่มเพาะสั่งสอน รวมถึงการลงโทษ  มันปูกันมานานเกินไป  ก็มีกลุ่มคนที่รู้สึกว่าควรจะเลิกได้แล้ว  เลยค่อยๆ ขยับเส้นอย่างเช่นโครงการนี้เป็นต้น  ทำให้ได้เห็นว่ายังมีคนอยู่จำนวนหนึ่งที่อยากเล่าเรื่องที่อาจจะไปแตะความบอบบางเช่นนั้น”

ชินวรตอบเรื่องการแบนว่า “ผมมีสิทธิไม่เชื่อ ทุกคนมีสิทธิไม่เชื่อ แล้วผมจะเชื่อได้ไงว่าคำว่า "แบน" ของคณะกรรมการจะเหมือนกับคำว่า "แบน" ของผม  ผมไม่เชื่อ  เท่านั้นเองครับ  หนังตั้งคำถาม  คนตอบคือทุกคน  ผมอยากดู "เจ็บปวด" กับ "คิม" มาก  ผมอยากดูยังไงผมก็ต้องหาทางดูให้ได้  สิ่งเดียวที่วงการหนังน่าจะทำการแบนก็คือราคาป๊อปคอร์น  ไม่ใช่แทนที่ผู้กำกับจะทำหนังก็ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล”

ปณิธานเล่าประสบการณ์การทำหนังครั้งแรกว่า “ตอนแรกก็กังวลตอนตีโจทย์เรื่องแตะเส้นเนื่องจากเป็นหนังเรื่องแรก  พอเอาเข้าจริงก็ไม่ได้กังวลเท่าไหร่เรื่องว่าจะโดนแบนหรือเปล่า  คนในช่วงวัยต่างๆ สามารถคิดวิเคราะห์เองได้  ถ้าเราเคารพวุฒิภาวะคน ปล่อยให้คนดู แล้วก็มาถกกัน ดีไม่ดี สมควรไม่สมควร  สังคมจะวิวัฒน์ไปเอง  ไม่ต้องมีคนมาบอกว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้คุณห้ามดูนะ  การจัดเรตติ้งก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดแล้ว”

พีระพงษ์เสนออีกมุมมองว่า “เป็นเรื่องแรกเหมือนกัน  ตอนแรกอ่านแค่กติกา  หลังจากนั้นไม่ค่อยแคร์เท่าไหร่  คนทำหนังถูกแบนเหมือนจะดังกว่าคนทำหนังทั่วไปประมาณนี้หรือเปล่า  ก็อาจจะเหมือนฌอง ปอล ซาร์ตร์ไม่ขึ้นรับรางวัลโนเบลก็อาจจะดังกว่านักเขียนรางวัลโนเบลคนอื่น  กรอบเพดานของเซ็นเซอร์นั้นรัฐไม่น่ากลัวเท่าไหร่  อำนาจนายทุนก็ไม่น่ากลัวเท่าไหร่  เราสามารถฉีกหรือหาวิธีการทำของเราเอง  แต่สิ่งที่น่ากลัวคือชีวอำนาจบางอย่างที่แฝงอยู่ในสังคมแล้วก็ยุ่งเหยิงมาจากทุกทิศทุกทางในชีวิตประจำวัน  เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะมารูปแบบไหนจากไหนเมื่อไหร่  กรอบศีลธรรมใหม่ที่สร้างจากเฟซบุคจากยูทูบจากอะไรก็แล้วแต่ กลายมาเป็นศีลธรรม กลายเป็นความผิดปกติโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ภายในความน่ากลัวก็มีข้อดีคือมีความอิสระที่มีพื้นที่ให้เราแย่งชิง  ผมมองในเรื่องศีลธรรมมากกว่าที่มาเป็นตัวกำหนดการเซ็นเซอร์อีกที”

บดินทร์ เทพรัตน์ คอลัมนิสต์นักวิจารณ์ภาพยนตร์ผู้ก่อตั้งกลุ่มปันยามูฟวี่คลับกล่าวถึงการจัดฉายหนังน่าจะแบนในครั้งนี้ว่า  “มีความกังวลนิดหน่อย แต่เราเชื่อว่าหนังมันไม่แรง เพราะดูหนังมาหมดแล้ว ไม่น่าจะมีความเสี่ยง  ที่เราเลือกจัดในมหาวิทยาลัยก็น่าจะพอช่วยได้  ยังเชื่อในกระบวนยุติธรรม  ถ้าเกิดมันทุเรศจริงๆ ก็คงจะเป็นข่าว ก็คงจะมีคนช่วยเรา  มองโลกในแง่ดี เป็นคนโลกสวย  แต่ถ้าเกิดเอาไปฉายนอกมหาวิทยาลัยก็ขอประเมินความเสี่ยงใหม่”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net