Skip to main content
sharethis
เอกสารประกอบการประชุม “ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า: จริยธรรม กับความรับผิดชอบ” นำเสนอข้อมูล 3 โครงการด้านพลังงานที่ไทยเข้าไปลงทุนในพม่า เขื่อนสาละวิน โรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย และมาย-กก กับภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนร่วมภูมิภาค
 
 
ปัจจุบัน ประเทศพม่าซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ สายน้ำ และแร่ธาตุ ได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนทั้งจากประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียน และทั่วโลก เข้าไปลงทุนในโครงการต่างๆ มากมาย โดยโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และเพิ่มปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า
 
สำหรับภาคธุรกิจที่ประเทศไทยเข้าไปลงทุนมากที่สุดในประเทศพม่าคือ ภาคพลังงาน โดยมีทั้งนักลงทุนภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าจากไทยเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่หลายโครงการด้วยกัน
 
ขณะนี้ กระทรวงพลังงานของไทยกำลังปรับปรุงแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ.2555-2576 (แผนพีดีพี 2013) ของประเทศฉบับใหม่ โดยมีแผนจะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากถ่านหิน 10,000 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านอีก 10,000 เมกะวัตต์ สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพม่ากระทรวงพลังงานวางแผนเจรจากับพม่าเพื่อรับซื้อเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ โดยจะแก้ไขกรอบข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) จากเดิมที่เคยตกลงรับซื้อไว้ 1,500 เมกะวัตต์
 
ทั้งนี้ โครงการด้านพลังงานที่ไทยเข้าไปลงทุนในพม่า และวางแผนรับซื้อไฟฟ้ามี 3 โครงการหลัก คือ
 
1) โครงการเขื่อนสาละวิน ประกอบด้วย เขื่อนฮัตจี (1,360 เมกะวัตต์ - รัฐกะเหรี่ยง) และ เขื่อนมายตง (หรือเขื่อนท่าซาง เดิม 7,110 เมกะวัตต์ - รัฐฉาน)
2) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก (405 เมกะวัตต์ - รัฐฉาน)
3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย ภายใต้โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย (1,800-4,000 เมกะวัตต์ - แคว้นตะนาวศรี)
 

โครงการเขื่อนสาละวิน

ปัจจุบัน แม่น้ำสาละวินตอนล่างในเขตพื้นที่พม่ามีแผนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำรวม 6 เขื่อน[1] โดยมีนักลงทุนจากจีน พม่า ไทย รวมถึงรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าจากไทย คือ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย กฟผ.มีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนฮัตจี และเขื่อนท่าซาง และมีแผนที่จะนำไฟฟ้าจาก 2 เขื่อนนี้เข้าระบบเครือข่ายพลังงานของอาเซียน (ASEAN Grid) ผ่านโครงข่ายสายส่งของประเทศไทยด้วยเช่นกัน
 
เขื่อนฮัตจี (1,360 เมกะวัตต์) มูลค่าการลงทุน 80,000 ล้านบาท โดยมี บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ถือหุ้นอยู่ 36.5%
เขื่อนมายตง หรือเขื่อนท่าซาง (7,110 เมกะวัตต์) มูลค่าการลงทุน 3.6 แสนล้านบาท โดยมี บริษัท กฟผ. อินเตอร์ เนชันแนล (EGATi) จำกัด (สัดส่วนการถือหุ้นยังไม่แน่นอน มีทั้งที่ระบุว่า 56.5% และ 30%)
 
เดือนกรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา กฟผ.อินเตอร์ (EGATi) กล่าวถึงแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2556-2560) ของบริษัทโดยระบุถึงเขื่อนฮัตจีและเขื่อนมายตง และให้ข้อมูลว่าเขื่อนฮัตจีมีแผนจะปั่นไฟฟ้าขายให้ไทยในปี 2566 แต่ยังติดปัญหาการสู้รบของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ทำให้ยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจพื้นที่ได้ ในขณะที่ปัญหาความล่าช้าของโครงการมายตง (หรือเขื่อนท่าซางเดิม) คือ มีการเสนอ 2 โครงการอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน แต่มีผู้ถือหุ้นคนละกลุ่มคือ โครงการท่าซาง และโครงการมายตง แต่ล่าสุดกระทรวงพลังงานของไทยระบุว่า รัฐบาลพม่าได้เลือกโครงการมายตง โดยไทยจะถือหุ้น 30% ส่วนผู้ร่วมทุนใหญ่มาจากจีน คือบริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น และบริษัท Three Gorges Corporation (ผู้ถือหุ้นโครงการเขื่อนสามผาในจีน) เขื่อนมายตงจะเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินโครงการประมาณ 12 ปี
 
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่าไทยและพม่าอยู่ระหว่างจัดทำกรอบข้อตกลงความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ โดยไทยจะขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากพม่า 10,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวิน (มายตง) 7,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย 3,000 เมกะวัตต์ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่งกระทรวงพลังงานระบุว่า หากได้ข้อสรุปใดๆ จะต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ก่อน โดยกรอบการลงทุนดังกล่าว ยังเป็นการเชื่อมโยงระบบสายส่งอาเซียน (ASEAN Grid) โดยขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานได้เร่งรัดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจรจารายละเอียดเพื่อจัดทำข้อตกลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป
 
ทั้งนี้ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขงในประเทศลาว ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ ก็กำลังให้ความสนใจกับโครงการเขื่อนสาละวิน โดยระบุว่าบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาลู่ทางการลงทุน ในขณะที่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (RATCH) ก็ประกาศจะร่วมลงทุนโครงการเขื่อนมายตงด้วย
 
หากสร้างเขื่อน 2 แห่งนี้ จะทำให้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตรจมอยู่ใต้น้ำ ประชาชนกว่า 70,000 คนต้องถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่ ป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำสายใหญ่สายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงไหลอิสระ จะถูกทำลายลง รวมทั้งการล่มสลายของระบบนิเวศที่ปากแม่น้ำสาละวินด้วยเช่นกัน
 

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก (405 เมกะวัตต์)

บริษัท อิตาเลียนไทย เพาเวอร์ จำกัด (บริษัทลูกของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์) ได้รับสัมปทานก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก ที่เมืองก๊ก รัฐฉาน เป็นพื้นที่ต้นน้ำแม่กก ซึ่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยผ่าน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง โดยในปี 2552 กฟผ.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) 369 เมกะวัตต์ กับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ โดยมีแผนจะสร้างสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ (kV) จากโครงการ ความยาว 80 กิโลเมตร มายังชายแดนไทย และจากชายแดนไทยไปยังสถานีไฟฟ้าเชียงรายอีก 80 กิโลเมตร ซึ่งในปี 2554 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 2,740 ล้านบาท เพื่อให้ กฟผ.ดำเนินการสร้างสายส่งไฟฟ้า โดยได้บรรจุไว้ในแผนพีดีพี 2010 (พ.ศ.2553) ระบุการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบในปี 2559 ในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็พยายามเจรจาเข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้าในสัดส่วนอย่างต่ำ 25% ด้วย
 
 
จากเอกสาร “ปกป้องเมืองก๊กให้ปลอดภัยจากถ่านหิน” (Save Mong Kok from Coal) โดยกลุ่มรักษ์เมืองก๊ก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2554 รัฐบาลทหารของพม่าในขณะนั้น ได้เพิ่มกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่เมืองกก และส่งผลไห้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีชาวบ้านมากกว่า 2,000 คนต้องหลบหนีออกจากพื้นที่ และส่วนใหญ่หนีเข้ามายังประเทศไทย บางส่วนได้อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นติดชายแดนไทย ตรงข้ามอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และทหารได้บังคับย้ายชาวบ้านกว่า 80 ครอบครัวให้อพยพไปยังพื้นที่จัดสรรแห่งใหม่ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกและการดำรงชีวิต
 
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังหวั่นเกรงว่า การขุดเหมืองและการเดินระบบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำกกซึ่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย ปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ เช่น ปรอท สารหนู โครเมี่ยม และแคดเมี่ยม รวมถึงการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ปอด ทั้งจากเหมืองถ่านหิน ที่เก็บพักถ่านหิน และการขนส่ง จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ และเป็นเหตุให้เกิดฝนกรด สร้างความเสียหายกับพืชผลการเกษตร นอกจากนี้ การสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230kV ขนาดความกว้าง 40 เมตร จะเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียพื้นที่ตั้งบ้าน เรือกสวนไร่นา และป่าไม้หลายพันไร่ ทั้งในเขตประเทศพม่าและประเทศไทย
 

โรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย (1,800-4,000 เมกะวัตต์)

ในเดือนมกราคม 2555 กระทรวงพลังงานของพม่าได้ประกาศยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย[2] โดยอ้างถึง “ปัญหาสภาพแวดล้อม” และระบุว่าการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากได้ “รับฟังเสียงของประชาชน”
 
กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมาทั้งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของไทย และ กฟผ.ต่างยังคงผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทวาย โดยอ้างถึงกระแสการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของชาวบ้านในประเทศไทย ทำให้ต้องหาพลังงานจากเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และ/หรือ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ เอ็กโก ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ.เข้าไปลงทุนก่อน และมีแผนจะกระจายหุ้นให้กับ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล โดยให้เหตุผลในความคล่องตัว เพราะหากเป็น กฟผ.อินเตอร์ฯ ลงทุนเอง อาจติดปัญหาเรื่องขั้นตอน อาทิ การขอมติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นต้น
 
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กฟผ.ได้ลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ทวาย แต่จนถึงขณะนี้ ยังมิได้เปิดเผยข้อมูลชัดเจนว่ามีข้อสรุปเช่นไร ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญหนึ่งคือต้องรอผลสรุปแผนลงทุนจากรัฐบาลก่อน และมีข้อเสนอว่าต้องลงทุนด้านสายส่งไฟฟ้าก่อนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีข้อเสนอทั้งการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าในระยะแรก 400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเริ่มเฟสแรกอยู่ที่ 20-100 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับนิคมก่อน เพราะเชื่อว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในนิคมจะยังไม่มาก และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5-1.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเมกะวัตต์ ส่วนไฟฟ้าที่เหลือใช้จากนิคมจะส่งขายกลับมายังประเทศไทย และต่อมามีข้อเสนอใหม่ว่า จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกใช้ในนิคมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ และส่วนที่ 2 ขายให้กับไทย 4,000 เมกะวัตต์
 
ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา กฟผ. ระบุว่า ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการถ่านหินในทวาย และกล่าวว่า พม่าได้เห็นชอบในหลักการตามที่รัฐบาลไทยเสนอกรอบการก่อสร้างโรงไฟฟ้า “ถ่านหินสะอาด” ขนาด 1,800 เมกะวัตต์ รวมทั้งระบบสายส่งไฟฟ้า วงเงินรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะละ 600 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง กฟผ.กับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ซึ่งต้องพิจารณาเงื่อนไขการลงทุน สิทธิประโยชน์ และระบบภาษี ที่พม่าจะให้กับไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยรัฐบาลไทยจะให้หลักประกันในการรับซื้อไฟฟ้าที่เหลือจากการขายให้กับภาคอุตสาหกรรมในทวาย ผ่านระบบสายส่งที่ไทยลงทุน เชื่อว่าจะมีความชัดเจนและก่อสร้างได้ภายในสิ้นปีนี้
 
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์เมียนมาไทม์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 รายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงพลังงานของพม่าได้กล่าวว่า ทางกระทรวงยังไม่ได้รับข้อเสนออย่างเป็นทางการเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทวาย แต่ระบุว่าเพิ่มเติมว่า ทางกระทรวงจะตรวจสอบทุกขั้นตอนหากมีการเซ็นเอ็มโอยูเกิดขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของพม่ายังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “หากชาวบ้านไม่พอใจ โครงการก็จะดำเนินการไม่ได้”
 
เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2556 องค์กรภาคประชาชนของพม่าได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยระบุถึงผลเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนพม่า ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายของประเทศพม่าในการมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
 
 
ที่มา: เอกสารประกอบการประชุม “ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า: จริยธรรม กับความรับผิดชอบ” 15 ตุลาคม 2556 โดย โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)
 
หน่วยงานร่วมจัด: โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ภายใต้ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ / เสมสิขาลัย / มูลนิธิบูรณะนิเวศ / มูลนิธินโยบายสุขภาวะ / กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ / องค์กรคณะกรรมการศูนย์บรรเทาในพม่า Burma Relief Center (BRC) / ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (RCSD) / โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (FOCUS) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

[1] หนังสือพิมพ์เมียนมาไทม์ วันที่ 18 สิงหาคม 2556 รายงานว่า พม่ากำลังจะเดินหน้าก่อสร้าง 3 เขื่อนจากแผนที่มีอยู่ 6 เขื่อนบนลำน้ำ สาละวินในประเทศพม่า คือ เขื่อนกุนโหลง 1,400 เมกะวัตต์, เขื่อนหนองผา 1,000 เมกะวัตต์, เขื่อนมานตอง 200 เมกะวัตต์, เขื่อนมายตง 7,110 เมกะวัตต์, เขื่อน ยวาติ๊ด 4,000 เมกะวัตต์ และเขื่อนฮัตจี 1,360 เมกะวัตต์ โดยเขื่อนสามตัวแรกจะร่วมกับจีน ซึ่งได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้เรียบร้อยแล้ว ส่วน 3 เขื่อนหลังจะร่วมกับไทยและจีน โดยยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการการศึกษาความเป็นไปได้
 
[2] โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นโครงการที่ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2553 บนพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร ที่เมืองทวาย แคว้นตะนาวศรี อายุสัมปทาน 60 ปี โดยมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภค และระบบขนส่งที่เชื่อมโยงมายังประเทศไทย ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมัน และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยได้จัดตั้ง บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เพื่อดำเนินงาน แต่ที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาความล่าช้าของการก่อสร้างและการระดมทุน ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 127,000 ล้านบาท โดยมี บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน ปัจจุบันรัฐบาลไทย ได้วางแผนการสนับสนุนโครงการด้วยการจัดตั้ง บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด ในรูปแบบของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างสำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ของไทย ร่วมกับ Foreign Economic Relation Department ของประเทศพม่า เพื่อบริหารโครงการ นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ 81 เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางจากทวายสู่ท่าเรือแหลมฉบังของไทย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net