Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความว่าด้วยการตีความ อ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยนั้นๆ ให้คำตอบสำหรับอนาคตที่ควรจะเป็นอย่างไร?

หมายเหตุ: บทความนี้เสนอในการสัมมนาประจำปีครั้งที่ ๑๘ สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทยร่วมกับภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง ๗๒ ปีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุม ๓ ชั้น ๓ อาคารมนุษยศาสตร์ ๒ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

 

ผมจะพูด ๓ ประเด็นหลักๆ คือ ๑) ปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นรูปแบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร ๒) ภายใต้รูปแบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการตีความ อ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยที่เด่นๆ อย่างไรบ้าง และ ๓) การตีความ อ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยนั้นๆ ให้คำตอบสำหรับอนาคตที่ควรจะเป็นอย่างไร แต่ละประเด็นมีรายละเอียดมาก แต่จะพยายามพูดให้กระชับที่สุด

๑. ปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน มีการอธิบายหลายแบบ แต่ผมคิดว่าคำอธิบายที่ให้ภาพปัญหาได้ตรงไปตรงมาคือ คำอธิบายที่ว่าปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เป็นมาตั้งแต่รัฐประหาร ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งระหว่าง “เครือข่ายอำมาตย์” กับ “เครือข่ายทุนนิยมใหม่” ที่นำโดยทักษิณ แต่ละเครือข่ายก็มีแนวร่วมที่สลับซับซ้อน มีมวลชน หรือกลุ่มคนสนับสนุนจำนวนมาก จนกลายเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ “เหลือง-แดง” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งขนาดใหญ่กว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ เครือข่ายทุนนิยมใหม่พยายามผูกโยงตัวเองเข้ากับ “วิถีทางประชาธิปไตย” เพราะกลุ่มนี้เชื่อว่าพวกเขาจะเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้ต้อง “ผ่านการเลือกตั้ง” เท่านั้น และพวกเขายังผูกโยงตัวเองเข้ากับคนชั้นกลางใหม่ หรือคนชั้นกลางระดับล่าง และคนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบท ด้วยการสร้าง “การแข่งขันเชิงนโยบาย” และ “ประสิทธิภาพในการบริหาร” ที่เน้นผลงานที่เป็นรูปธรรมขณะเดียวกันพวกเขาก็ผูกโยงตัวเองกับระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ด้วย

แน่นอน เราอาจจะตั้งคำถามได้ว่า พวกเขาโกงการเลือกตั้ง ทุจริตคอร์รัปชัน นโยบายประชานิยมก่อให้เกิดปัญหา การนำประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ก่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมอย่างไรบ้าง กระทั่งถามได้ว่ากลุ่มทุนนิยมใหม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือแค่ใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ข้อเด่นของกลุ่มนี้ที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ พวกเขายืนยันที่จะ “ต่อสู้ในวิถีทางประชาธิปไตย” และยืนยัน “การแข่งขันเชิงนโยบาย” ซึ่งเราไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ “ความชอบธรรม” ของการยืนยันที่จะ “ต่อสู้ในวิถีทางประชาธิปไตย” ได้ และการยืนยัน “การแข่งขันเชิงนโยบาย” ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เป็นอีกมิติหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยในภาคนักการเมือง

ฉะนั้น ในความคิดของผมสำหรับกลุ่มทุนนิยมใหม่ แม้เขาจะมีปัญหาในหลายๆ ด้าน แต่เมื่อว่าโดย “หลักการ” แล้ว กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สังคมยังสามารถตรวจสอบเขาได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเลือก และประเมินผลงานตามนโยบายที่เขาเสนอได้ ซึ่งหมายความว่า ต่อให้เขาเลวร้ายอย่างไรก็ยังอิงวิถีทางประชาธิปไตย และประชาชนสามารถใช้ “วิถีทางประชาธิปไตย” ในการวิจารณ์ ตรวจสอบเอาผิดทางกฎหมายได้ ถ้าระบบกลไกการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพก็ยังแก้ได้

ส่วนเครือข่ายอำมาตย์นั้น ที่จริงแล้วก็ไม่ได้ปลอดจากทุนนิยม เพราะ “ทุนอำมาตย์” ก็อยู่ในระบบตลาดทุนนิยม และอาศัยกลไกอำนาจรัฐในการขยายทุนของพวกตนเองเช่นกัน โดยอาศัยกลไกรัฐขยายทุนมาแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ยุคพลเอกเปรม จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ได้ถูกตั้งคำถาม ขุดคุ้ย วิจารณ์ตรวจสอบเหมือนกลุ่มทุนนิยมใหม่ ปัญหาคือกลุ่มนี้ไม่ได้ผูกโยงตัวเองอยู่กับวิถีทางประชาธิปไตย คือกลุ่มนี้จะใช้ “วิถีทางใดๆ ก็ได้” จะใช้วิถีทางประชาธิปไตยก็ได้ ถ้าหากได้รัฐบาลที่อยู่ภายใต้อาณัติของพวกเขา ใช้รัฐประหารก็ได้ เผด็จการก็ได้ หากช่วยปกป้องความมั่นคง และสถานะ อำนาจของพวกเขา

จุดเด่นของกลุ่มเครือข่ายอำมาตย์ คือ ๑) พวกเขามีอำนาจทางวัฒนธรรมที่ส่งทอดมาแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ๒) พวกเขามีชัยชนะในการกุม “อำนาจนำ” ทางการเมืองมายาวนาน กล่าวคือประมาณ ๑๕ ปี ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐ เป็นช่วงเวลาของการต่อสู้ขับเคี่ยวระหว่างคณะราษฎร และฝ่ายกษัตริย์นิยม ฝ่ายแรกพยายามวางรากฐานประชาธิปไตยเชิงโครงสร้างผ่านรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจังในเรื่องปฏิวัติวัฒนธรรม ฝ่ายหลังพยายามต่อสู้เพื่อฟื้นฟู “พระราชอำนาจ” ผ่านทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และการฟื้นฟูอุดมการณ์เชิงวัฒนธรรมกษัตริย์นิยม

ในที่สุด รัฐประหาร ๒๔๙๐ ก็ขจัดปรีดี พนมยงค์และสมาชิกคณะราษฎรหัวก้าวหน้าลงได้อย่างราบคาบ ปี ๒๔๙๒ มีรัฐธรรมนูญที่ระบุระบอบการปกครองของไทยว่าเป็น “ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เป็นครั้งแรก และเพิ่มพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญมากขึ้น รัฐประหาร ๒๕๐๐ ขจัดจอมพล ป.พิบูลสงครามออกไป เข้าสู่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นยุคเผด็จการทหาร พร้อมกับการเชิดชูสถาบันกษัตริย์ให้มีความสำคัญเหนือประชาธิปไตยมากขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้น ของลัทธิ “ไฮเปอร์-รอยัลลิสม์” มาถึงปัจจุบัน

ภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ที่เราสัมผัสรับรู้ในปัจจุบัน ที่มีฐานะเป็น “พ่อของแผ่นดิน” ผู้รักราษฎร เสียสละเพื่อราษฎร เป็นศูนย์รวมความรู้รักสามัคคีของราษฎรนั้น คือภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ และถูกเสริมเติมแต่งมาเรื่อยๆ โดยการปลูกฝังผ่านสถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา กองทัพ หรือระบบราชการโดยรวม สื่อมวลชน รวมทั้งกิจกรรมในโครงการพระราชดำริ และกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมด้านต่างๆ ของชาติ

อาจกล่าวโดยภาพรวมได้ว่า ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ถนอม ประภาส จนถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลา ๖ ตุลา พฤษภา ๓๕ และพฤษภา ๕๓ นับเป็นประวัติศาสตร์แห่งการ “เพิ่ม” ความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ทั้งในทางกฎหมาย และทางอุดมการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ยุคสฤษดิ์ เพิ่มอัตราโทษ ๑๑๒ จาก ๓ ปี เป็น ๗ ปี ๑๔ ตุลา มีนายกฯพระราชทานเป็นครั้งแรก ๖ ตุลา เพิ่มอัตราโทษ ๑๑๒ จาก ๗ ปี เป็น ๑๕ ปี หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถูกกำหนดเป็นนโยบายแห่งรัฐ โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ทุกวันนี้มีการเรียนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ประถมถึงมหาวิทยาลัย มีการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวบ่งชี้ในการประกันคุณภาพทางการศึกษา หลังพฤษภา ๕๓ มีการเพิ่มงบประมาณเทิดทูนสถาบันมากขึ้นเรื่อยๆ ปีละหลายพันล้าน จนถึงกว่าหมื่นล้าน

แต่ทว่าหลังรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารแต่ละครั้ง เมื่อกลับเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กลับไม่เคยมีการปรับแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้เลย ขณะที่เมื่อมองย้อนหลังไปดูเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เราจะเห็นภาพกองซากศพของนักศึกษา ประชาชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนนับไม่ถ้วน อย่างน่าสลดหดหู่ แต่เรายังไม่ได้มาซึ่งรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย สมกับที่พวกเขาเหล่านั้นสละชีวิตเข้าแลกแต่อย่างใด

ย้อนกลับมาถามว่า ความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายอำมาตย์กับเครือข่ายทุนนิยมใหม่ สะท้อนให้เห็นรูปแบบการปกครองที่เป็นอยู่ อย่างไรหรือ  คำตอบของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล น่าจะช่วยให้เรามองเห็น “หน้าตา” ของรูปแบบการปกครองปัจจุบันอย่างชัดเจนว่า

ปัจจุบันเราเรียกระบอบการปกครอง หรือ form of government ของเราว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ควรจะเรียกอีกแบบหนึ่งคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีคณะรัฐมนตรีบริหารราชการ ...เป็นรูปแบบที่จงใจจะจำกัดความหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะในเชิงสังคมวัฒนธรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทว่าเป็นการจำกัดความหลากหลายในระดับที่ผมเรียกว่า ระดับ existentialist เป็นความหลากหลายในเชิงความเป็นตัวตนของมนุษย์ ใน existential activity หรือ existential diversity โดยพื้นฐานแล้วความเป็นมนุษย์เราคืออะไร ในความคิดผมสิ่งที่เป็นหัวใจของมนุษย์เลยคือ freedom คือ เสรีภาพ ...ถ้ามนุษย์ไม่สามารถจะคิดอะไรที่อยากจะคิดได้ ไม่สามารถที่จะพูดอะไรในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดได้ ก็ไม่ใช่มนุษย์แล้ว ฉะนั้น โดยระบอบการปกครองแบบนี้ เนื้อแท้ของมันออกแบบให้จำกัด existence ของเรา [๑]

ฉะนั้น รูปแบบการปกครองเช่นนี้เองที่เป็น “เวที” ของความขัดแย้งที่กำหนดให้ฝ่ายหนึ่งอ้างอิงการใช้ “วิถีทางประชาธิปไตย” เข้ามามีอำนาจทางการเมือง แต่อีกฝ่ายสามารถใช้ “วิธีการใดๆ ก็ได้” ในการขจัดคู่ขัดแย้ง

๒. ภายใต้รูปแบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยที่เด่นๆ อย่างไรบ้าง ที่จริงแล้วการตีความ และการอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยในบ้านเราสับสนปนเปกันมาก แต่อาจแยกได้คือ มีทั้งการตีความ และการอ้างอิงใช้ที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างศีลธรรม ศาสนา และประชาธิปไตย กับความพยายามที่จะตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยไปในทางที่สนับสนุนส่งเสริมกัน

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ [๒] ที่แยกแนวคิดประชาธิปไตยในสังคมไทยออกเป็นสองสำนัก คือ “สำนักคิดประเพณีนิยม” กับ “สำนักคิดตะวันตก” นักคิดสายแรกอ้างแนวคิดพุทธศาสนามาสนับสนุนประชาธิปไตย เช่น อ้างทฤษฎี “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ของ ร. ๔ ว่ามีความเป็นประชาธิปไตย โดยโยงไปถึง “อัคคัญญสูตร” ในพระไตรปิฎกว่า เป็นแนวคิด “สัญญาประชาคม” ในพุทธศาสนา ที่ถือว่าผู้ปกครองได้อำนาจในการปกครองมาจากความยินยอมของประชาชน และว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยมีอยู่แล้วในสังคมสงฆ์ที่มีความเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ โดยวัฒนธรรมประชาธิปไตยของสังคมสงฆ์ถูกส่งทอดมาสู่วิถีชาวบ้านของสังคมไทยในอดีต สำหรับความเป็นประชาธิปไตยตามแนวคิดของกลุ่มนี้ต้องมีศีลธรรมกำกับ เช่น แนวคิด “ธรรมิกประชาธิปไตย” และ “ธรรมิกสังคมนิยม” ของท่านพุทธทาสภิกขุ และแนวคิดของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น

ส่วนนักคิดสายสำนักคิดตะวันตก จะอ้างอิงหลักการสากลคือหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคของมนุษย์เป็นฐานคิดในการนิยามประชาธิปไตย ฉะนั้น สำหรับนักคิดสายนี้ ประชาธิปไตยไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย เพิ่งเริ่มต้น “ระบอบประชาธิปไตย” ขึ้นจากการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ แต่เป็นการเริ่มต้นประชาธิปไตยที่ยังต้องเดินทางต่อ และต้องฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามจากฝ่ายกษัตริย์นิยม เผด็จการทหาร และอำนาจทุนที่คอยบั่นทอนความเป็นประชาธิปไตย ตลอดกว่า ๘๐ ปีที่ผ่านมา

แต่จะอย่างไรก็ตาม มีความซับซ้อนในการตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา สนับสนุนประชาธิปไตยระหว่างสองสำนักนี้อยู่ คือถ้าเราแยกอย่างหลวมๆ ว่า นักคิดสายสำนักคิดประเพณี เป็น “ฝ่ายจารีตนิยม” นักคิดสายสำนักคิดตะวันตกเป็น “ฝ่ายก้าวหน้า” หรือ “เสรีนิยม” เราจะพบว่าที่จริงแล้ว ไม่ใช่เฉพาะนักคิดฝ่ายจารีตนิยมเท่านั้นที่ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย แม้ฝ่ายก้าวหน้าบางส่วนก็ตีความศีลธรรม ศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน เช่น  ปรีดี พนมยงค์ ก็ตีความการปกครอง “ระบบสามัคคีธรรม” ในคัมภีร์พุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย เห็นว่า “ประชาธิปไตยต้องมีศีลธรรม” ทั้งยังเขียนหนังสือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ที่ตีความแนวคิดของพุทธศาสนาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาค แต่งนิยายเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” โดยอ้างอิงคำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนสันติภาพ เป็นต้น จอมพล ป.พิบูลสงครามเองก็อ้างแนวคิด “ธรรมาธิปไตย” สนับสนุนประชาธิปไตย แม้แต่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าอย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา ก็อ้างอิงแนวคิดพุทธศาสนาสนับสนุนการแสวงหาสัจจะ เสรีภาพ ความเสมอภาคด้วยเช่นกัน

แม้แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่อ้างแนวคิดตะวันตกตั้งคำถามกับทฤษฎี “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ว่า ที่จริงแล้วชนชั้นปกครองที่เป็นเจ้าของทฤษฎีนี้ก็ไม่เคยวางแนวทางปฏิบัติอย่างเป็น “รูปธรรม” ว่า ประชาชนทั่วไปจะมีสิทธิเลือกผู้ปกครองของตนเองอย่างไร แต่ขณะเดียวกันนิธิก็ยืนยันว่า

...พระควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างยิ่ง แต่ยุ่งเกี่ยวเพื่อนำเอาธรรมะเข้าไปสู่การเมือง เช่นเดียวกับพระควรยุ่งเกี่ยวกับการทำธุรกิจ, การสื่อสาร, การบริโภค, การพลังงาน, การศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม, กามารมณ์ หรือความสัมพันธ์ทางสังคมทุกชนิด ฯลฯ เพราะทั้งหมดเหล่านั้นล้วนมีมิติทางศีลธรรมที่เราควรพิจารณาทั้งสิ้น ความเสื่อมโทรมของสิ่งเหล่านั้นในเมืองไทยนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เราตัดมิติทางศีลธรรมออกไปโดยสิ้นเชิง และพระไม่ค่อยยอมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเอาเลย [๓]

สายชล สัตยานุรักษ์ ที่อ้างหลักคิดตะวันตกวิพากษ์ “ความเป็นไทย” บางด้าน ก็ยังเห็นว่ามีความเป็นไทยบางด้านที่ควรนำมาสนับสนุนประชาธิปไตย และเห็นว่า “ในอดีตทุกศาสนาล้วนมีการตีความหลักคำสอนใหม่ให้เอื้อต่อบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น การตีความศาสนาให้เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่น่าจะสามารถกระทำได้” [๔] ขณะที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เสนอในการปาฐกถา “รำลึก ๔๐ ปี เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ควรมี “เสรีนิยมทางการเมือง” เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเสรีภาพถกเถียงต่อรองในเรื่องต่างๆ ได้ แต่ก็ควรคำนึงถึงมิติทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเฉพาะของสังคมไทย และการมีที่ยืนของคุณค่าอนุรักษ์ต่างๆ ด้วย ดังที่เขากล่าวว่า

...วัฒนธรรมเก่าไม่จำเป็นต้องขัดแย้งประชาธิปไตยในทุกด้าน บางอย่างก็เข้ากันได้ ยกเว้นส่วนที่เป็นอำนาจนิยมที่ขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม กล่าวสำหรับในมิติอื่นๆ ในด้านวัฒนธรรมประเพณีไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถตัดขาดจากประวัติศาสตร์ของตัวเองได้ทั้งหมด...พูดก็พูด แม้แต่ประชาธิปไตยในตะวันตกก็ต้องมีพื้นที่ให้ทุกฝ่าย ตั้งแต่อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม สังคมนิยม ตราบเท่าที่ไม่สามารถทำให้มนุษย์มองโลกสีเดียวกันได้ [๕]

ส่วนฝ่ายจารีตนิยมที่ตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย ก็ยังแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ

๑) กลุ่มที่ตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย พร้อมๆ กับสนับสนุนสถานะศักดิ์สิทธิ์ และอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์ ทำให้ผลของการตีความของกลุ่มนี้เท่ากับเป็นการปกป้องรูปแบบการปกครองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย คือรูปแบบที่สมศักดิ์ เรียกว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีคณะรัฐมนตรีบริหารราชการ” ให้คงอยู่ต่อไป และเท่ากับเป็นสร้างระบบ “สองมาตรฐานทางศีลธรรม” ขึ้นมา ด้วยการตีความ อ้างอิงใช้ศีลธรรม และศาสนาตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบ ตัดสินถูก ผิด เฉพาะนักการเมืองเป็นด้านหลัก ขณะที่ตีความ อ้างอิงใช้ศีลธรรมและศาสนายกย่องความดีงามสูงส่งของสถาบันกษัตริย์แต่ด้านเดียว ผลก็คือทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า นักการเมืองเลว ไร้ศีลธรรม แต่สถาบันกษัตริย์ดีงามสูงส่งทางศีลธรรมอย่างไร้ที่ติ

การใช้ “สองมาตรฐานทางศีลธรรม” คือ “ความไม่เป็นธรรม” ในการ “ตัดสินทางศีลธรรม” (moral judgment)ความไม่เป็นธรรมนี้คือรากฐานของความไม่เป็นธรรมด้านอื่นๆ เช่น การใช้วิธีการผิดๆ อย่างไรก็ได้จัดการกับนักการเมืองเลว และใช้วิธีการผิดๆ อย่างไรก็ได้ปกป้องสถาบัน อีกทั้งยังทำให้สังคมละเลย “เพิกเฉย” หรือ “ทำเป็นไม่รู้” ว่า เครือข่ายอำมาตย์มีการอ้างอิงใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ทางธุรกิจอย่างไรบ้าง จึงไม่เรียกร้องให้มีการขุดคุ้ย ตรวจสอบ เหมือนที่เรียกร้องให้ทำกับนักการเมือง

นี่คือ “อคติ” อันเป็นรากฐานของวาทกรรมตัดสินถูก-ผิดทางการเมืองแบบ “ขาว-ดำ” “เทพ-มาร” และการอ้าง “เทพ” มาช่วยกำจัด “มาร” ที่มักนำไปสู่ความรุนแรงในนามของการปกป้องอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ตลอดมา ดังที่เราได้เห็นผ่านวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” จนมาถึงวาทกรรม “ธรรมนำหน้า” ซึ่งนำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงอีกหลายระลอกต่อๆ มา

๒) การตีความ อ้างอิงใช้พุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย พร้อมๆ กับการยืนยันการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ ตัวแทนของการตีความในแนวนี้ที่ชัดเจนคือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ไม่ได้อ้างหลักทศพิธราชธรรมเพื่อสรรเสริญเจ้าดังประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมายาวนาน แต่อ้างเพื่อกำกับตรวจสอบ “ความชอบธรรม” ของสถาบันกษัตริย์ โดยเขากล่าวว่า กษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมต้องเป็นแบบอย่างในการรักษา “ระบบที่ถูกต้อง” ของสังคม (ธรรมาธิปไตย) ถ้าเป็นกษัตริย์ในระบบประชาธิปไตย กษัตริย์ต้องมีหน้าที่ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เป็นแบบอย่างของราษฎร ต้องโปร่งใสวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ ไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ ไม่ต้องมีกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ต้องอยู่ให้ห่างความมั่งคั่ง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ควรเปลี่ยนเป็นสำนักงานทรัพย์สินของแผ่นดิน ที่บริหารโดยรัฐบาล ชั่ว ดีอย่างไร รัฐบาลก็ถูกตรวจสอบและต้องรับผิดชอบทางกฎหมายอยู่แล้ว สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ห่างจากกองทัพ จากอำนาจ ควรเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เป็นที่เคารพนับถือของราษฎรเท่านั้น

๓. การตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยดังกล่าว ให้คำตอบสำหรับอนาคตที่ควรจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าข้อถกเถียงดังกล่าวทำให้เราเข้าใจได้ว่า การตีความ และการอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยพร้อมๆ กับสนับสนุนอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ที่ตรวจสอบไม่ได้นั้น ในที่สุดเท่ากับการรักษาความไม่เป็นประชาธิปไตยให้คงอยู่ และเป็นการสร้างสองมาตรฐานทางศีลธรรมในทางการเมือง ซึ่งเป็นอคติหรือความไม่เป็นธรรมที่เป็นรากฐานของความไม่เป็นธรรมอื่นๆ ในสังคมไทย ปัญหานี้ควรถูกหยิบยกมาอภิปรายให้เกิดการตื่นรู้ในสังคมวงกว้าง และในบรรดาพระสงฆ์ เมื่อนำไปสู่การเลิกวัฒนธรรมการตีความ และการอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนาแบบสองมาตรฐานในอนาคต

ส่วนการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยของฝ่ายก้าวหน้าบางส่วน และการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยของสุลักษณ์นั้น โดยสาระสำคัญแล้วไม่ได้ขัดกับสำนักคิดตะวันตกที่อ้างอิงหลักการสากลเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคเป็นฐานในการนิยามประชาธิปไตย เพราะการที่สุลักษณ์ยืนยันว่า สถาบันกษัตริย์ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ เท่ากับยืนยัน “เสรีนิยมทางการเมือง” ตามข้อเสนอของเสกสรรค์นั่นเอง แต่แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบพุทธของสุลักษณ์ ไม่เห็นด้วยกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี บริโภคนิยม วัตถุนิยม ซึ่งดูเหมือนเป็นการเสนอ “เนื้อหา” ของประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง ตรงนี้เราอาจเข้าใจได้จากข้อเสนอของสมศักดิ์ที่ว่า การเถียงเรื่องประชาธิปไตย เราควรเถียงกันเรื่อง “รูปแบบ” ของการปกครองให้ได้คำตอบที่ชัดเจนร่วมกันก่อน ควรเถียงเรื่อง “เนื้อหา” ให้น้อยที่สุด เพราะถ้าเถียงกันว่าจะเอาเนื้อหาประชาธิปไตยแบบไหน แบบสังคมประชาธิปไตย หรือแบบรัฐสวัสดิการ ก็เถียงกันมานานมากแล้ว ไม่มีวันจบ

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ข้อเสนอของสมศักดิ์ก็คือ ให้เรามาเถียงกันว่าจะสร้างรูปแบบการปกครองที่เป็น “เสรีประชาธิปไตย” กันอย่างไร เมื่อสร้างรูปแบบการปกครองนี้ได้ เรามี “เสรีภาพ” ที่จะพูด จะถกเถียงกันได้ทุกเรื่องแล้ว จึงค่อยมาเสนอกันว่าใครจะเพิ่มเนื้อหาส่วนไหนเข้ามาอย่างไร เช่นจะเอาระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมหรือรัฐสวัสดิการ แม้แต่จะเอาสถาบันกษัตริย์หรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เอาอย่างไร ก็ต้องเอาตามนั้น โดยยังเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย แน่นอน การถกเถียงเรื่อง “รูปแบบ” ของการปกครองประชาธิปไตย ก็หนีไม่พ้นที่จะอภิปรายเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย

บางคนมองว่า ข้อเสนอเช่นนี้สร้างความขัดแย้ง แต่ที่จริงความขัดแย้งเกิดขึ้นมานานและยังดำเนินต่อไปอยู่แล้ว ข้อเสนอนี้คือการสร้าง “เวที” ที่มีกติกาที่ free and fair แก่ทุกกลุ่มความขัดแย้ง เป็นการทำให้ความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างไร้เหตุผลในแบบเดิมๆ ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างวิถีทางประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่งจะใช้วิธีการใดๆ ก็ได้ มาเป็นให้ทุกฝ่ายต้องอยู่ในวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น มีเสรีภาพที่จะพูดได้ทุกเรื่องกันทุกฝ่าย นี่จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งที่มีความหมาย คือสู้กันด้วยเหตุผลจริงๆ ไม่ใช้เป็นความขัดแย้งภายใต้ “มายาคติ” นักการเมืองเลวบริสุทธิ์ ฝ่ายกษัตริย์นิยมดีบริสุทธิ์อย่างที่เป็นมา

แต่ตรงนี้เราจะมองว่าเป็น “ทางตัน” หรือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน “เปิดทาง” ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเปิดทาง โดยเฉพาะฝ่ายกษัตริย์นิยมก้าวหน้าที่มีต้นทุนทางสังคมสูง เช่น คุณอานันท์ ปันยารชุน ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นต้นควรออกมาเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมว่า สังคมไทยควรจะวางท่าที และมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรบ้างเพื่อสร้างกติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของนักวิชาการ ปัญญาชน สื่อมวลชน กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ ควรหยิบยกปัญหานี้มาอภิปรายถกเถียงด้วยเหตุผล จนสังคมมีความเข้าใจร่วมกันและพบทางออกร่วมกันได้ โดยไม่เกิดความรุนแรงนองเลือดอีกต่อไป

 




[๑] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมจริง: เงื่อนไขของการยอมรับความหลากหลาย” ใน เกษม เพ็ญภินันท์, ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมในมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๒, หน้า ๓๓-๓๔

[๒] ดู นครินทร์ เมฆไตรรัตน์.บทความ: วาทกรรทางการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยของไทย, จากหนังสือรวมบทความวิชาการทางรัฐศาสตร์ พ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๔๒,หน้า ๒๑๔-๒๕๖ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๓

[๓] นิธิ เอียวศรีวงศ์.พระกับการเมือง.มติชนรายสัปดาห์  ๒๔, ๑๒๕๑ (๖ สิงหาคม ๒๕๔๗), หน้า ๓๖.

[๔] สายชล สัตยานุรักษ์ “วิถีไทยกับการเสริมสร้างพลเมืองไทย” ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และฉลอง สุนทราวาณิชย์ (บก.).ประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษา.กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, ๒๕๕๖, หน้า ๓๑๘

[๕] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: การประกาศจุดยืน-ข้อเสนอแนะต่อขบวนประชาธิปไตย (ประชาไท ๑๓ ต.ค.๒๕๕๖)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net