กลุ่มนักการเมืองใต้ขอเป็นทีปรึกษาทีมพูดคุยสันติภาพ

เวทีสานเสวนากลุ่มนักการเมืองชายแดนใต้ครั้งที่ 15 เสนอถก 3 ประเด็นการพูดคุยสันติภาพ กระบวนการ บรรยากาศและเนื้อหา แนะควรตั้งนักการเมืองในพื้นที่เป็นทีปรึกษาทีมพูดคุยสันติภาพ ให้มีสตรีร่วมโต๊ะ เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รีบตอบ 5 ของบีอาร์เอ็น สนับสนุนภาษามลายู ตั้งเขตปกครองท้องถิ่นเต็มพื้นที่ ส่วนจะบริหารอย่างไรให้จัดเวทีถามประชาชน

 
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 ที่โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ยะลา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 15 มีนักการเมืองจากพรรคต่างๆ ในพื้นที่และไม่สังกัดพรรค และนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่เข้าร่วม
 
ต่อมา เวลา 13.00 น. นายนัจมุดดิน อูมา นักการเมืองจากพรรคมาตุภูมินำแถลงผลการสานเสวนาครั้งนี้ว่า สามารถสรุปได้ 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ได้แก่ ประเด็นกระบวนการของการพูดคุยสันติภาพ ประเด็นการลดเงื่อนไขความขัดแย้งและการเสริมสร้างบรรยากาศการพูดคุย และประเด็นเรื่องเนื้อหาของการพูดคุย
 
ใน 3 ประเด็นดังกล่าว มีข้อเสนอสำคัญๆ เช่น พิจารณาเชิญตัวแทนฝ่ายการเมืองจากพรรคต่างๆ ในพื้นที่เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
 
นอกจากนี้ ในคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพยังไม่มีตัวแทนฝ่ายสตรีที่ได้รับผลกระทบ ส่วนฝ่ายขบวนการพูโล บีไอพีพี อาจยังกลุ่มที่แยกย่อยออกไปและอาจกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ อยู่ด้วย ซึ่งควรมีส่วนร่วมในการพูดคุยเพื่อสันติภาพด้วย โดยหวังว่าการมีส่วนร่วมดังกล่าวจะทำให้ไม่มีฝ่ายใดออกมาปฏิเสธในภายหลัง
ฝ่ายรัฐบาลควรมีเอกภาพและแนวทางการพูดคุยที่ชัดเจน และควรปรึกษาหารือกับภาคประชาชนในพื้นที่ทั้งในกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่มากขึ้นและควรจัดหรือสนับสนุนให้มีการพูดคุยสันติภาพในหลายระดับ ทั้งที่เป็นทางการ กึ่งทางการ ไม่เป็นทางการและระดับชุมชน
 
ส่วนประเด็นการลดเงื่อนไขความขัดแย้งและการเสริมสร้างบรรยากาศการพูดคุย เช่น รัฐบาลควรเร่งยกเลิกการประกาศใช้พระราชการกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาแทนที่ เช่นพื้นที่อ.กาบัง อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุคิริน จ.นราธิวาสที่มีความรุนแรงต่ำ 
 
ส่วนประเด็นเนื้อหาของการพูดคุย เช่น รัฐบาลควรมีคำตอบในเรื่องข้อเรียกร้อง 5 ข้อของขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นลายลักษณ์อักษรในระดับใดระดับหนึ่งเพื่อให้การพูดคุยดำเนินต่อไปได้ รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาภาษามลายูในพื้นที่
 
“ให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองท้องถิ่นเต็มพื้นที่ ตามมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนในพื้นที่”
 
รัฐบาลควรสนับสนุนให้หลายฝ่าย รวมถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายประชาสังคม ฝ่ายผู้นำท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีรับฟัง/แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
 
สำหรับผู้ร่วมสานเสวนา ประกอบด้วย นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคมาตุภูมิ พรรคความหวังใหม่ พรรคดำรงไทย และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกเทศมนตรี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท