Skip to main content
sharethis

หลังเป็นวงดนตรีต้องห้ามหลายสิบปี 'แอ๊ด คาราบาว' เดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกที่พม่า เพื่อระดมทุนช่วยเหลือพม่าจัดซีเกมส์ และหวังสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองประเทศ ทั้งนี้ไม่มีการเล่นเพลงที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งสมัยอยุธยา และไม่มีการร้องเพลง 'อองซานซูจี'

ป้ายโฆษณาคอนเสิร์ตคาราบาว ที่นครย่างกุ้ง นอกจากนี้ในงานเดียวกัน มีการร้องเพลงโดยนักร้องพม่าที่มีชื่อเสียงอย่าง "นางขิ่นเซยะ" ชาวปะโอ จากเมืองตองจี รัฐฉาน ซึ่งเป็นอดีตมิสเมียนมาอินเตอร์เนชั่นแนลปี 2012 ด้วย (ที่มาของภาพ Facebook/Carabaoygnlive)

บรรยากาศคอนเสิร์ตครั้งแรกในพม่าของวงคาราบาว  เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ลานกลางแจ้ง ศูนย์การค้า Junction Square นครย่างกุ้ง (เอื้อเฟื้อภาพโดย Phyo Win Latt) นอกจากนี้ สามารถ ชมภาพบรรยากาศคอนเสิร์ตได้ที่ Myanmarcelebrity

 

คอนเสิร์ตแรกในพม่าของคาราวบาว

22 ต.ค. 2556 - เมื่อคืนวานนี้ (21 ต.ค.) วงดนตรีคาราบาว ได้แสดงคอนเสิร์ตที่ลานกลางแจ้ง ศูนย์การค้า Junction Square ถนนแปร นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อระดมทุนจากผู้สนับสนุน เพื่อช่วยเหลือพม่าในการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่กรุงเนปิดอว์ ระหว่างวันที่ 11-22 ธ.ค. นี้ โดยการแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าวไม่มีการเก็บค่าบัตรผ่านประตู

โดยสมาชิกวงคาราบาวที่เดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตได้แก่ ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ปรีชา ชนะภัย หรือ เล็ก คาราบาว และเทียรี่ เมฆวัฒนา เป็นต้น และในงานคอนเสิร์ตดังกล่าวเอกอัครราชทูตไทยประจำนครย่างกุ้งและคณะ ผู้แทนจากกระทรวงกีฬาของพม่า และคณะสื่อมวลชนในพม่า เดินทางมาร่วมชมคอนเสิร์ตดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ผู้จัดงานได้ขอร้องไม่ให้มีการแสดงดนตรีที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกษัตริย์อยุธยาอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อย่างเช่นเพลง "พระนเรศวรมหาราช" และ "องค์ดำ" อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานว่าผู้จัดงานห้ามไม่ให้เล่นเพลงที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งสมัยปลายอยุธยา-ธนบุรีอย่าง "เจ้าตาก" "บางระจัน" และ "นายขนมต้ม" ด้วยหรือไม่ แต่มีรายงานว่าในคืนที่มีการแสดงดนตรีไม่มีการเล่นเพลงดังกล่าว โดยเพลงที่วงคาราบาวนำมาร้องเป็นเพลงที่มีเนื้อหาทั่วไป และเพลงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้ใช้แรงงาน ส่วนวงคาราบาวยังมีการขอร้องผู้จัดงานในพม่าไม่ให้มีการนำเครื่องดื่มให้พลังงานยี่ห้ออื่นไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบจุดแสดงสินค้าหรือป้ายโฆษณาภายในงานเป็นอันขาด

ทั้งนี้ใน แฟนเพจ Carabaoygnlive ซึ่งใช้ประชาสัมพันธ์การจัดงานตอนแรกได้ระบุว่าวงคาราบาวจะเล่นเพลง "อองซานซูจี" ด้วย แต่ในการแสดงคอนเสิร์ตเมื่อคืนวันที่ 21 ต.ค. ไม่มีการเล่นเพลงดังกล่าว

นอกจากการแสดงคอนเสิร์ตโดยวงคาราบาวแล้ว ในงานยังมีการร้องเพลงของนักร้องพม่าที่มีชื่อเสียงอย่าง "นางขิ่นเซยะ" ชาวปะโอ จากเมืองตองจี รัฐฉาน ซึ่งเป็นอดีตมิสเมียนมาอินเตอร์เนชั่นแนลปี 2012 ด้วย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ต.ค. แอ๊ด คาราบาว ให้สัมภาษณ์เผยแพร่ใน ไทยรัฐออนไลน์ว่า เป็นการแสดงดนตรีเพื่อสนับสนุนการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ กีฬานั้นช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และทราบมาก่อนว่าชาวพม่าให้ความสนใจในงานเพลงและก็รู้สึกยินดีที่ได้มาเล่นคอนเสิร์ตที่พม่าเป็นครั้งแรก และยืนยันว่าจะไม่ร้องเพลงใดๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองของพม่า เพราะการเมืองภายในประเทศพม่ากำลังไปได้ด้วยดี และไม่ต้องการให้ผู้คนรู้สึกเกิดความขัดแย้งใดๆ

สำหรับคอนเสิร์ตดังกล่าวโดยเป็นการแสดงที่จัดโดยมูลนิธิคาราบาว และได้รับการสนับสนุนการเดินทางจากสายการบินแอร์เอเชีย และในงานมีป้ายโฆษณาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อมาม่า ของเครือสหพัฒน์ด้วย ทั้งนี้มูลนิธิคาราบาว ได้มอบเงิน 1 ล้านบาท หรือประมาณ 31 ล้านจ๊าดให้กับคณะกรรมการจัดการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 27 เพื่อใช้เป็นกองทุนสนับสนุนการจัดแข่งขันต่อไป

สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตโดยวงคาราบาวที่นครย่างกุ้งนั้น อิระวดี ฉบับออนไลน์ รายงานด้วยว่า เกิดขึ้นในช่วงที่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดระเบิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ของพม่า และมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย โดยริชี การ์เซีย คณะกรรมาธิการด้านกิจการกีฬาของฟิลิปปินส์ กล่าวเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ว่ากังวลในสวัสดิภาพของนักกีฬา ขณะที่ผู้อำนวยการของกระทรวงกิจการกีฬาของพม่า จ่อซันอู กล่าวว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงแข่งขันกีฬาซีเกมส์จะเป็นไปอย่างเข้มงวด "ความปลอดภัยเป็นมาตรการสำคัญของเรา" และย้ำว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะทำงานอย่างแข็งขัน

ทั้งนี้ชาติเจ้าภาพอย่างพม่า ตั้งเป้าหมายในกีฬาซีเกมส์ที่จะเป็นเจ้าภาพไว้ว่าจะได้ 100 เหรียญทอง

 

จากกำเนิดวงดนตรีที่ฟิลิปปินส์ สู่หุ้นส่วนเครื่องดื่มบำรุงกำลัง

สำหรับวงคาราบาวนั้น เกิดจากการตั้งวงดนตรีของนักศึกษาไทยในฟิลิปปินส์ในทศวรรษที่ 2520 ได้แก่ ยืนยง โอภากุล สานิตย์ ลิ่มศิลา หรือ ไข่ และกีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือ เขียวใช้ชื่อว่า "คาราบาว" เพื่อใช้ในการแสดงบนเวทีในงานของสถาบัน โดยเล่นดนตรีแนวโฟล์ค สำหรับ "คาราบาว" แปลว่าควายในภาษาตากาล็อก เป็นสัญลักษณ์หมายถึงผู้ใช้แรงงาน โดยได้ชื่อนี้มาจากการที่สมาชิกวงรุ่นก่อตั้งเห็นอนุสาวรีย์รูปควาย ตรงทางเข้าทิศตะวันตกของสวนริซาล ปาร์ก ที่ตั้งขอองนุสาวรีย์โฆเซ ริซาล (José Rizal) นักชาตินิยมและผู้เรียกร้องเอกราชให้กับฟิลิปปินส์จากสเปน ซึ่งถูกประหารชีวิตใน พ.ศ. 2439

ในปี 2545 ยืนยง โอภากุล ได้ร่วมหุ้นกับบริษัทโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เจ้าของและผู้บริหารโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ถนนพระราม 3 ในชื่อของ บริษัทคาราบาวแดง โดยใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อจำหน่ายเครื่องดื่มให้พลังงาน "คาราบาวแดง"

ทั้งนี้ในบทความวิจัยของ บงการ อิ่มสำอางค์ หัวข้อ อุดมการณ์ทางการเมืองในบทเพลงคาราบาว ช่วงปี 2524 - 2554 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์หลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวข้อ "ความคิดทางการเมืองในบทเพลงคาราบาว" พบว่าเนื้อหาของเพลงวงคาราบาวมีการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ตามช่วงเวลา 3 ช่วง โดยช่วงแรก ช่วงก่อตั้งวง ระหว่าง พ.ศ. 2524-2526 เนื้อหามีการสื่อถึงอุดมการณ์ทางการเมืองสังคมนิยม กล่าวถึงปัญหาสังคมและการเอารัดเอาเปรียบ การสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม สังคมที่ร่วมแรงร่วมใจกันไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ต่อต้านการแข่งขัน การร่วมมือร่วมใจกันในการสร้างสรรค์สังคมที่อยู่อย่างเป็นสุข

ช่วงที่สอง ช่วงรุ่งเรืองของวง พ.ศ. 2527-2533 เนื้อหามีการสื่อถึงอุดมการณ์ทางการเมืองชาตินิยม โดยคาราบาวกล่าวถึงความรัก ความสามัคคีในชาติ และเน้นการสำนึกในบุญคุณของชาติ ความจงรักภักดี และช่วงที่สาม ช่วงประคองตัวของวง พ.ศ. 2534-ปัจจุบัน เนื้อหามีการสื่อถึงอุดมการณ์ทางการเมืองชาตินิยมโดยกล่าวถึงปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศและปัญหาวัฒนธรรมข้ามชาติ กับชาติตะวันตก และสหรัฐอเมริกา การต่อต้านต่างชาติ และสหรัฐอเมริกา ปัญหาด้านวัฒนธรรมข้ามชาติที่มากระทบกับวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม รวมถึงปัญหาการแบ่งแยกดินแดน และอุดมการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตย โดยคาราบาวเรียกร้องให้ผู้นำประเทศมาจากการเลือกตั้งของประชาชน การต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น และการต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง (อ่านบทความวิจัยที่นี่)

ทั้งนี้คาราบาวเคยแต่งเพลงหลายเพลงที่วิจารณ์รัฐบาลทหารพม่า และสนับสนุนฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยและชนกลุ่มน้อยพม่า เช่น ในปี 2532 ในอัลบั้มทำมือ มีการเผยแพร่เพลง "ฉานสเตท" เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของชาวไทใหญ่ ในรัฐฉาน ในปี 2533 ในอัลบั้ม "ห้ามจอดควาย" มีการเผยแพร่เพลง "กอทูเล" เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยง ในรัฐกะเหรี่ยง หรือ กอทูเล

ในปี 2538 วงคาราบาวได้เผยแพร่เพลง "อองซานซูจี" เพื่อสนับสนุนอองซานซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พรรคฝ่ายค้านในพม่า ซึ่งในรอบ 21 ปีจนถึงปี 2553 ถูกรัฐบาลทหารพม่าในสมัยนั้นกักบริเวณเป็นเวลา 15 ปี และในปี 2545 เคยเผยแพร่อัลบั้ม "ไม่ต้องร้องไห้" ใช้ทำนองของบ็อบ มาเลย์ มีเนื้อหาสนับสนุนชาวไทใหญ่และประชาชนในรัฐฉาน ที่เรียกร้องเอกราชจากพม่า

ทั้งนี้วงคาราบาวมักได้รับเชิญจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าไปแสดงคอนเสิร์ตในฐานที่มั่นในหลายวาระ โดยเฉพาะการแสดงคอนเสิร์ตในพื้นที่ของกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army - SSA) ที่นำโดย พล.ท.เจ้ายอดศึก (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 1, 2)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net