Skip to main content
sharethis
ทีวีมลายูอิสระสะดุด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ไฟเขียวให้ใช้ช่องดาวเทียมรัฐ ผ่านช่อง 11 สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา ออกอากาศ 24 ชั่วโมง เปิดร่างผังรายการ 8 ประเภท 67 รายการ บอร์ดทีวีมลายูเล็ง เพิ่มรายการภาษาอาหรับ
 
อภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ 
 
23 ต.ค.2556 ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมประชุมคณะกรรมการสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู เพื่อหารือถึงการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง
 
อภินันท์ แจ้งต่อที่ประชุมว่า รายการโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมงสามารถออกอากาศได้ทันที ผ่านช่องดาวเทียมของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 สำนักงานประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา กรมประชาสัมพันธ์
 
ส่วนการจัดทำผังรายการสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง รัฐบาลให้อิสระเต็มที่แก่คณะกรรมการสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายูในการกำหนดผังรายการ แต่ที่คิดคราวๆ น่าจะมีรายการข่าว บันเทิง กีฬา ละคระ ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งเนื้อหาและสาระ
 
“สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง คือ จะทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งหลังจากนี้ต้องช่วยกันคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร และจะต้องเปิดเวทีระดมความเห็นของประชาชนในพื้นที่” นายอภินันท์ กล่าว
 
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวต่อที่ประชุมว่า คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ ศอ.บต.จัดทำยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ ตลอดจนออกแบบเนื้อหาและผังรายการ โดยมอบหมายให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ส่วนแยกยะลา กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้เผยแพร่เป็นภาษามลายูตลอด 24 ชั่วโมง
 
ทั้งนี้ เจตนารมณ์เดิมของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง ทางศอ.บต.ต้องการให้เปิดช่องเฉพาะของตัวเอง โดยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทดลองออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องทีเอ็มทีวี (ทีวีมุสลิม) แต่การเปิดช่องดังกล่าวจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง การเปิดสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมงจึงหันมาออกอากาศทางช่องดาวเทียมของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง11) ส่วนแยก จ.ยะลา
 
 
เล็งเพิ่มรายการภาษาอาหรับ
 
พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานคณะกรรมการสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู กล่าวระหว่างประชุมว่า สถานีโทรทัศน์ภาษามลายูสามารถสื่อสารกับประชากรในอาเซียนได้ 300 ล้านคน ทางคณะกรรมการฯ จะเพิ่มรายการภาษาอาหรับด้วย เพื่อให้สารมารถสื่อสารกับชาวอาหรับอีกประมาณ 2,000,000 ล้านคน
 
พล.ต.ต.จำรูญ แจ้งต่อที่ประชุมว่า สำหรับรายการของสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง มี 8 ประเภทเนื้อหาสาระ ได้แก่ 1.ด้านศาสนา 2.ด้านการเมือง การปกครองและกระบวนการยุติธรรม 3.ด้านสุขภาพ 4.ด้านเศรษฐกิจ อาชีพ การเกษตร การเงินและธนาคาร 5.รายการทางด้านสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 6.รายการด้านการท่องเที่ยวและกีฬา 7.รายการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 8.รายการข่าวสารและบันเทิง
 
ทั้งนี้ในเอกสารประกอบการประชุม ระบุว่าทั้ง 8 สาระดังกล่าว มีทั้งหมด 67 รายการ
 
นายอภินันท์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง เป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางราชการแก่ประชาชนในพื้นที่หรือการนำเสนอข้อมูลจากประชาชนไปสู่ราชการ
 
“ส่วนจะใช้ภาษามลายูท้องถิ่นหรือภาษามลายูกลางในสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมงนั้น ต้องให้คนในพื้นที่เป็นผู้กำหนด ทางรัฐบาลและกรมประชาสัมพันธ์มีหน้าที่สนับสนุนเท่านั้น” นายอภินันท์กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net