Skip to main content
sharethis

แนวร่วมนักเรียนนักศึกษาผลักดันปฏิรูปการศึกษาไทย นำโดย ‘เนติวิทย์’ ถูกจับปรับ 500 ข้อหาใช้รถดัดแปลง ขณะชุมนุมที่ลานพระบรมรูปฯ เรียกร้องปฏิรูปการศึกษา

ภาพจากเฟซบุ๊ก 'Decharut Sukkumnoed'

25 ต.ค.2556 เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. แนวร่วมนักเรียนนักศึกษาผลักดันปฏิรูปการศึกษาไทยประมาณ 30 คน นำโดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับการปล่อยตัวจาก สน.ดุสิต หลังถูกจับที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ขณะเตรียมเดินขบวนไปกระทรวงศึกษาธิการ โดยตำรวจตั้งข้อหาใช้รถดัดแปลง ซึ่งทั้งหมดโดนปรับรวม 500 บาท

ปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษาหนึ่งในผู้ถูกจับกุม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตำรวจมีความพยายามแจ้งข้อหาในความผิดตาม พ.ร.บ.ความมั่งคงด้วย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาจากข้อเรียกร้อของแนวร่วมฯ ไม่มีประเด็นทางการเมืองจึงยอมไม่เอาความ แต่ทางกลุ่มตนเตรียมแจ้งความกลับตำรวจในข้อหาใช้รถไม่ติดทะเบียน

ล่าสุดตำรวจได้นำรถตู้จำนวน 2 คันนำนักเรียนนักศึกษากลุ่มดังกล่าวมาส่งที่กระทรวงศึกษามารับเข้าเพื่อไปยื่นหนังสือ โดยมี สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการออกมารับหนังสือแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

กลุ่มดังกล่าวต้องการเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการรูปการศึกษาให้มีความเป็นธรรม รวมถึงจัดสว้สดิการการศึกษาในแบบรัฐสวัสดิการ และยกเลิกกฎระเบียบทางการศึกษาที่โบราณขัดหลักสิทธิเสรีภาพต่างๆ 

 

แถลงการณ์
 
แนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษาผลักดันสภาปฏิรูปการศึกษาไทย
ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖
 
เรียน ฯพณฯ จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 
 
สืบเนื่องจากการที่สังคมไทยได้ตระหนักรู้แล้วว่าปัญหาของชาติในปัจจุบันมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการให้การศึกษาของเด็กไทย คนในสังคมยังทราบดีว่ามาตรฐานการศึกษาของไทยมีทิศทางตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลทางสถิติขององค์กรภายในประเทศก็ดี หรือองค์กรระหว่างประเทศก็ดี  อาจจะไม่เกินจริงนัก ต่อคำกล่าวที่ว่าสภาวะวิกฤตการณ์อันร้ายแรงของประเทศไทยคือความล้มเหลวของระบบการศึกษานี้ อันเป็นผลเนื่องมาจากปัจจัยที่หลากหลาย อาทิ การเมือง การบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และการเอาใจใส่อย่างจริงจังจากทั้งผู้บริหารและผู้สนองนโยบาย 
 
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พวกเรา นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากหลากหลายกลุ่มหลายสถาบัน ที่กำลังเป็นผู้อยู่ในระบบตามแนวนโยบายของรัฐบาล เช่น สมาพันธ์นักเรียนเพื่อการปฏิวัติการศึกษาไทย กลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องและประชุมเชียร์แห่งชาติ  กลุ่มลูกชาวบ้าน และสภาหน้าโดม ได้มีการประชุมหารือและมีมติให้จัดทำข้อเสนอและข้อเรียกร้องไปถึงท่านรัฐมนตรีฯและรัฐบาล โดยข้อเสนอของเราต้องการให้มีการจัดตั้ง สภาปฏิรูปการศึกษาไทยขึ้นโดยเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่คล้ายกับ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่ปกติมีบทบาทภารกิจเกี่ยวกับการเสนอนโยบาย แผนมาตรฐานการศึกษาของชาติโดยรับผิดชอบในการดำเนินการและประสานงาน  แต่พบจุดอ่อนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา คือไม่ได้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานอื่นๆนำไปดำเนินการตามแผนงาน เพราะเนื่องจากเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งในหลายๆหน่วยงานที่ขึ้นกับสภาการศึกษาโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานสภา  
 
ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยน รัฐมนตรีหรือรัฐบาลความต่อเนื่องในการดำเนินงานตามแผนพัฒนากระบวน การศึกษาของไทยจึงมักต้องเป็นอันหยุดชะงักไปโดยปริยายทำให้ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราจึงเห็นควรว่ารัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยที่ตกต่ำย่ำแย่มาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัย นโยบายการแก้ไขปัญหาตอนนี้เป็นเพียงการตอบสนองนโยบายของรัฐเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่าที่จะมุ่งยกระดับคุณภาพ สวัสดิการ และมาตรฐานของการศึกษา สภาปฏิรูปการศึกษาควรประกอบไปด้วยประธานสภาฯที่ต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด เพื่อความคล่องตัวและแสดงถึงการเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นสมาชิกสภาฯควรมีจำนวนไม่มากจนเกินไปและต้องประกอบไปด้วยบุคคลทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ ผู้บริหารการศึกษา และนักวิชาการเป็นต้น บทบาทหน้าที่สภาปฏิรูปการศึกษา  คือ รวบรวม กลั่นกรอง และพิจารณาข้อเสนอแนะหรือข้อเรียกร้องที่มาจากทุกสิทธิทุกเสียงตามระเบียบการ หลังจากนั้นจึงจะนำไปสู่การลงมติเป็นแผนงานปฏิรูปการศึกษาเพื่อนำไปสู่ขั้นปฏิบัติต่อไป
 
สุดท้ายเรามีข้อเรียกร้องเพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการภายใต้การกำกับดูแลของท่านรัฐมนตรีฯได้โปรดรับพิจารณาและดำเนินการเพื่อสนองต่อข้อเรียกร้องของเรา โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
 
ข้อเรียกร้องของนักเรียน
 
1. ต้องมีการกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียมในทุกพื้นที่โดยให้แต่ละโรงเรียนมีความเป็นอิสระในการบริหารงานภายใน  
2. ให้นักเรียนและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงในการตรวจสอบสถานศึกษารวมถึงในการแสดงทัศนะและกำหนดทิศทางของร่างกฎหมายหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น พระราชบัญญัติทางการศึกษาหรือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. ต้องมีการประเมินคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพโดยประเมินจากสุขภาพจิตของผู้เรียนควบคู่ไปกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 
4. การตรวจเยี่ยมโรงเรียนของภาครัฐ ควรเป็นไปเพื่อการสำรวจสภาพแวดล้อมทางการศึกษาตามความเป็นจริง ไม่ควรมีการเปิดโอกาสให้มีการจัดเตรียมล่วงหน้า โดยเฉพาะเมื่อมีผู้บริหารเข้าตรวจเยี่ยม อาทิ    
รัฐมนตรีฯไปจนถึงปลัดกระทรวง ควรมีการลงไปตรวจเยี่ยมด้วยตนเองตามโอกาสที่เหมาะสมรวมทั้งให้มีการประเมินคุณภาพภายใน เรื่องการทำงานและจรรยาบรรณของผู้บริหารและครูโดยให้นักเรียนและครูมีส่วนร่วม
5. หลักสูตรการเรียนการสอน ควรเน้นพัฒนาทักษะเชิงปฏิบัติบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์กล้าที่จะตั้งคำถาม แสดงทัศนะของตน สามารถโต้แย้งกับแนวคิดที่แตกต่างได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล 
6. หนังสือและตำราเรียนที่ใช้ควรเน้นให้มีการถกเถียงในประเด็นต่างๆโดยควรเปิดกว้างให้ผู้มีความรู้และประสบการณ์ตรงเข้ามาแสดงความเห็นได้อย่างเสรี
7.จัดการศึกษาที่เน้นไปที่การส่งเสริมทักษะในการดำเนินชีวิตและความเป็นมนุษย์ มากกว่าเน้นจำนวนชั่วโมงเรียนและมุ่งพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพของแต่ละบุคคลเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพมิใช่เพียงเพื่อสร้างบุคลากรตามความต้องการของตลาดแรงงาน
8. ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้บริหาร ครู และนักเรียน ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา และครูควรเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของนักเรียนในทุกๆเรื่อง
 
ข้อเรียกร้องของนิสิต นักศึกษา
 
1. เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหาร สามารถทำได้โดยประชาคมคือนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย รวมทั้งเรียกร้องให้มีตัวแทนนิสิตนักศึกษาสามารเข้าร่วมในสภามหาวิทยาลัย เพื่อรับฟังนโยบายตลอดไปถึงมีส่วนร่วมในการเลือกอธิการบดีของมหาวิทยาลัย
2. เรียกร้องให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการเพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นในสังคมได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมอันจะเป็นการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมาพัฒนาประเทศชาติในอนาคต 
3. วัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีใน โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ทั้งรัฐและเอกชน อันขัดต่อหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน ควรมีการยกเลิกและควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีบทลงโทษที่ชัดเจนทั้งผู้กระทำผิดและผู้รับผิดชอบ
4. ควรสนับสนุนทุนวิจัยให้กับสถาบันการศึกษาในอัตราส่วนที่มากกว่าปัจจุบัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพวิชาการไทย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net