Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, ฮิวแมนไรท์วอทช์ และอีกสององค์กรสิทธิ ออกแถลงการณ์เรียกร้องสหภาพยุโรปกดดันรัฐบาลลาว ให้พาสมบัด สมพอนกลับมาอย่างปลอดภัย

 
28 ต.ค. 2556 ในวาระที่ตัวแทนของรัฐสภายุโรปได้มาเยือนประเทศลาวในวันที่ 28 ตุลาคม ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับอีกสามองค์กร ได้แก่ Christian Solidarity Worldwide, Fédération Internationale des Ligues de droits de l’homme และ Human Rights Watchได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สภายุโรปดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อตามหาตัวสมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโสชาวลาวที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555  ให้ช่วยดำเนินการติดตามกดดันรัฐบาลลาว เพื่อนำตัวสมบัดกลับมาอย่างปลอดภัย
 
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้ 
 
0000
 
 
บรัสเซลส์ 25 ตุลาคม 2556
เรียน สมาชิกรัฐสภา,
 
 จากการที่ท่านจะเข้าร่วมกับตัวแทนของรัฐสภายุโรป (European Parliament) เพื่อไปเยือนประเทศลาวในวันที่ 28 ตุลาคม เราขอเรียกร้องให้ท่านดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สมบัด สมพอน ผู้นำภาคประชาสังคมคนสำคัญของลาวได้กลับคืนมา เขาได้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย
                
สมบัดหายตัวไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 ที่กรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว[1] ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ครอบครัวของเขาได้รับมา แสดงภาพครั้งสุดท้ายที่สมบัดอยู่ที่สถานีตำรวจท่าเดื่อ มีความเป็นไปได้ว่าทางการลาวเกี่ยวข้องกับหายตัวไปของสมบัด และสถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อทางการลาวไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มที่ ทั้งยังปฏิเสธความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก รวมทั้งความช่วยเหลือด้านการวิเคราะห์ภาพต้นฉบับจากกล้องวงจรปิด
                
ตามกฎหมายระหว่างประเทศ การบังคับบุคคลให้สูญหายหมายถึงการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานที่เป็นตัวแทนจับกุม ควบคุมตัว หรือลักพาตัวบุคคล และต่อมาปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นถึงการจับตัวไป หรือปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคล เป็นเหตุให้บุคคลไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ในฐานะเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ลงนาม (แม้จะยังไม่ให้สัตยาบันรับรอง) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เมื่อเดือนกันยายน 2551 ทางการลาวมีความรับผิดชอบต่อการป้องกันและเยียวยากรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย และต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยงดเว้นจากการกระทำที่ละเมิดวัตถุประสงค์และเป้าประสงค์ของสนธิสัญญาดังกล่าว
                
เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่ปล่อยให้สมบัดหายตัวไปเป็นเวลา 10 เดือนและไม่มีการติดตามข้อมูล แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากนานาชาติอย่างกว้างขวางให้นำตัวเขากลับคืนมา รวมทั้งมติของรัฐสภายุโรปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 รวมทั้งข้อเรียกร้องจาก Catherine Ashton ซึ่งเป็นผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป (High Representative) ในเดือนธันวาคม 2555 และสหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้นำตัวสมบัดกลับคืนมา ภายหลังการประชุมคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาลครั้งที่ 4 ระหว่างสปป.ลาว-สหภาพยุโรป ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียงจันทน์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ทั้งยังมีความพยายามล่าสุดในการติดตามกรณีของสมบัด โดยตัวแทนจากสมาชิกรัฐสภายุโรปได้เดินทางไปเยือนลาวเมื่อเดือนสิงหาคม 
                
ในเวลาเดียวกัน ลาวได้รับเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศจำนวนหลายล้านยูโรต่อปี รวมทั้งเงินจำนวน 12 ล้านยูโรจากสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นงบสนับสนุนทั่วไปสำหรับรัฐบาลลาวระหว่างปี 2551-2555 ตามแนวปฏิบัติด้านการสนับสนุนงบประมาณสำหรับประเทศที่สามของสหภาพยุโรป (Guidelines on Budget Support to third countries) “พันธกิจที่มีต่อคุณค่าในขั้นพื้นฐาน” รวมทั้งสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมของประเทศผู้รับทุน จะต้องถือเป็น “เงื่อนไขหลักของความร่วมมือด้านการพัฒนาของสหภาพยุโรป รวมทั้งการให้ทุนสนับสนุนทั่วไป”[2]
                
สหภาพยุโรปควรใช้อิทธิพลที่มีอยู่เพื่อประกันว่าสมบัดจะกลับมาอย่างปลอดภัย และต้องกระตุ้นให้รัฐบาลลาวตอบคำถามที่ยังค้างอยู่เกี่ยวกับการหายตัวไปของสมบัด และให้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ โดยหากเป็นไปได้ควรให้บุคลากรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนในการสอบสวนกรณีนี้
                
การหายตัวไปของสมบัดทำให้ประชาคมระหว่างประเทศเกิดความสนใจต่อปัญหาการขาดเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบในลาว และยังส่งสัญญาณในเชิงข่มขู่อย่างเย็นชาต่อภาคประชาสังคมของประเทศที่ค่อนข้างบอบบางอยู่แล้ว ในการมีปฏิสัมพันธ์กับทางการลาว สหภาพยุโรปควรเน้นถึงประเด็นพื้นฐานเกี่ยวกับความบกพร่องของสิทธิทางพลเรือนและการเมืองโดยทั่วไป รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ และเสรีภาพด้านศาสนาหรือความเชื่อ สหภาพยุโรปควรเรียกร้องให้รัฐบาลลาวประกันให้มีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานในด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และด้านการพัฒนาอย่างกรณีของสมบัด
                 
เนื่องจากรัฐบาลลาวได้แสดงเจตนารมณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) ระหว่างปี 2559-2561 การบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีสมบัดต้องถือเป็นบททดสอบสำคัญของพันธกิจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในประเทศที่มีการเติบโตรวดเร็วสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2555 การทำงานของภาคประชาสังคมรวมทั้งบุคคลต่าง ๆ อย่างเช่นสมบัด เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยประกันไม่ให้มีการละเลยสิทธิมนุษยชนในระหว่างการพัฒนาอย่างรวดเร็วของลาว สหภาพยุโรปควรเน้นต่อรัฐบาลลาวว่า ความคืบหน้าอย่างมากในการคลี่คลายกรณีของสมบัด ต้องถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
                
เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของยุโรปในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยผ่านการดำเนินงานภายนอก เราขอเรียกร้องให้ตัวแทนของรัฐสภายุโรปที่จะไปเยือนประเทศลาว กระตุ้นรัฐบาลลาว
 
  • ให้ประกันให้มีการนำตัวสมบัด สมพอนกลับมาอย่างปลอดภัยและโดยทันที
  • ตอบคำถามที่ยังค้างอยู่เกี่ยวกับการหายตัวไปของสมบัด และให้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ
  • สอบสวนอย่างเต็มที่ในการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีสมบัด สมพอน โดยต้องทำอย่างโปร่งใสและทันท่วงที และให้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ
  • แก้ปัญหาการกดขี่สิทธิทางพลเรือนและการเมือง รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบในลาว และประกันให้มีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม
 
จนกว่าสมบัด สมพอนจะกลับมาสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย เราจะไม่ลืมกรณีของเขา และจะเรียกร้องต่อไปเพื่อให้นำตัวเขากลับคืนมา ขอขอบคุณต่อความสนใจในข้อกังวลที่จริงจังและต่อเนื่องของเราเกี่ยวกับชะตากรรมของเขา
 
ด้วยความนับถือ
 
Amnesty International
Christian Solidarity Worldwide
Fédération Internationale des Ligues de droits de l’homme
Human Rights Watch
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net