Skip to main content
sharethis

อวัตถุศึกษากับอธิปนำเสนอข่าวสารลิขสิทธิ์รอบโลก สัปดาห์นี้นำเสนอข่าวกูเกิ้ลเตรียมยึดแอนดรอยด์, งานวิจัยชี้การปิดเว็บ Megaupload ทำให้ไฟล์ถูกลิขสิทธิ์กว่าสิบล้านไฟล์สูญหาย, ชาวอังกฤษจ่ายค่าปรับเกือบล้านฐานทวีตข้อความหมิ่นประมาท ฯลฯ

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 
 
 
22 ต.ค 2556

Googlelizing Android: แผนการ "ยึด" ระบบปฏิบัติการ Android ของ Google

ในปี 2550 ระบบปฏิบัติการ Android ที่ทาง Google ให้เงินสนับสนุนเปิดตัวเป็นครั้งแรกพร้อมๆ กับ iPhone รุ่นแรก ระบบปฏิบัติการนี้เป็นระบบปฏิบัติการแบบโอเพ่นซอร์ซ (Open Source) กล่าวคือเป็นระบบปฏิบัติการที่ใครจะนำไปใช้อย่างไรก็ได้ และสามารถนำไปพัฒนาการได้โดยเสรี ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หรือกระทั่งขออนุญาตใครทั้งสั้น

ในตอนนั้น Google หวาดกลัวอนาคตที่ทาง Apple จะผูกขาดอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกมาก และทาง Google ก็ยังไม่มีที่ยืนในตลาดเลย ดังนั้นการสนับสนุน Android จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการขัดขา Apple

ในตอนนี้ส่วนแบ่งของตลาดอุปกรณ์มือถือนั้นสิ่งที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android มีสูงถึงเกือบ 80% และยังมีแนวโน้มจะสูงขึ้นโดยส่วนแบ่งของอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS ของ Apple อยู่ที่เกือบ 20% ซึ่งก็ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่าง 10-20% มาหลายปีแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นระบบปฏิบัติการณ์อื่นๆ ก็ดูจะลดลงอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆ กับที่ Android ขยายตัว กล่าวคือ Android นั้นได้ยึดตลาดอุปกรณ์มือถือเป็นที่เรียบร้อยไปแล้วนั่นเอง

แน่นอนว่า Google ย่อมพยายามแสวงหาประโยชน์จากส่วนแบ่งมหาศาลนี้ แต่ Google จะทำอย่างไรในเมื่อ Google เองก็ได้เป็นผู้ทำให้เกิด Android ที่เป็นโอเพ่นซอร์ซ และคู่แข่งของ Google เองอย่าง Amazon ก็ยังนำไปพัฒนาระบบของตัวเอง

วิธีการทำมาหากินของ Google โดยพื้นฐานคือการขายแอปป์ (หรือโปรแกรม) ต่างๆ บน Play Store หรือร้านค้าแอปป์ออนไลน์บนระแบบปฏิบัติการ Android ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้คนมาซื้อแอปป์ที่ Play Store? ในเมื่อมันมีร้านค้าแอปป์อื่นๆ บนระบบปฏิบัติการ Android อยู่ (ในกรณีของสารบบอินเทอร์เน็ตจีนไม่มี Play Store ด้วยซ้ำ เพราะ Google ดำเนินการในจีนไม่ได้)

วิธีการของ Google คือนำ Android มาปรับปรุงใหม่ให้เกิดระบบปฏิบัติการที่มีลิขสิทธิ์ของ Google และทำให้บริษัทมือถือทั้งหมดที่เป็นไปได้ใช้ระบบปฏิบัติการนี้ และทำให้มือถือที่เป็นระบบปฏิบัติการใหม่นี้ทุกเครื่องต้องมุ่งสู่ Play Store ของ Google ซึ่งนี่รวมถึงจูงใจให้นักพัฒนาแอปป์นั้นพัฒนาแอปป์มาขึ้นบน Play Store ด้วย

กระบวนการเป็นดังนี้

1. Google พัฒนาระบบต่อยอดจาก Android เป็นแบบ "ปิด" กล่าวคือมีลิขสิทธิ์ ผู้อื่นนอกจาก Google ไม่สามารถใช้ได้ ทำให้สิ่งที่อยู่ใน Android Open Source หยุดการพัฒนาไป และพัฒนาการต่อจากนั้นจะพบในระบบปฏิบัติการของ Google เองที่เป็นการต่อยอดแบบมีลิขสิทธิ์ (ของ Google)

2. ตั้ง Open Handset Alliance ขึ้น กล่าวคือจับบรรดาผู้ผลิตมือถือและแท็บเล็ตรายใหญ่ของโลกเซ็นสัญญาให้ผลิตแต่มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการของ Google เท่านั้น ห้ามผลิตสิ่งที่ใช้ระบบปฏิบัติการอื่น ดังนั้นนี่เป็นการทำลายโอกาสทางธุรกิจของผู้พัฒนา Android ต่อยอดนอกร่มเงาของ Google (นี่เป็นสาเหตุให้ Kindle ของ Amazon ที่พัฒนาระบบปฏิบัติการต่อยอดมาจาก Android เช่นกันหาที่ผลิตได้ยากลำบากมาก - แต่ก็หาจนได้)

3. การผูกขาดระบบปฏิบัติการในตลาดมือถือและแท็บเล็ต นำไปสู่การผูกขาด "ร้านค้าแอปป์" ที่ Google จะได้ประโยชน์เต็มๆ ซึ่งทาง Google ก็อำนวยความสะดวกให้กับผู้พัฒนาแอปป์ในระบบปฏิบัติการของ Google เต็มที่ และสร้างความยากลำบากให้กับผู้พัฒนาแอปป์นอกระบบปฏิบัติการของ Google เต็มที่เช่นกัน

4. จูงใจให้นักพัฒนาแอปป์ใช้อินเตอร์เฟซแอปป์ (Application Programming Interface หรือ API) ของ Google ที่สัมพันธ์กันเป็นระบบ ซึ่ง API แบบนี้จงใจจะกันพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกที่ใช้ Android ออกไป เช่น ถ้าเล่นเกมก็จะไม่สามารถเข้าลงทะเบียนและใช้ระบบเซฟกลางได้เป็นต้น (ในกรณีทียังเล่นได้ เพราะหลายๆ แอปป์ที่สร้างมาด้วย API แบบของ Google จะเล่นบน Android ไม่ได้) ซึ่งที่ร้ายกว่านันก็คือ API ของ Google นั้นรองรับการใช้ระบบปฏิบัติการ iOS ด้วย ดังนั้นนี่จึงเป็นแผนการที่จะให้ผู้พัฒนาแอปป์ทั้งหลายพัฒนาแอปป์บน API ของ Google (เพราะใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการณ์ของ Google และ iOS) และไม่พัฒนาแอปป์ให้กับ Android โดยอัตโนมัติ

News Source: http://arstechnica.com/gadgets/2013/10/googles-iron-grip-on-android-controlling-open-source-by-any-means-necessary/

 

23 ต.ค. 2556

งานศึกษาจาก Northeastern University ชี้ว่าการปิดเว็บ Megaupload ทำให้ไฟล์ที่ถูกกฎหมายกว่า 10 ล้านไฟล์ต้องหายไป และไฟล์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ชัดเจนมีเพียง 31% ของไฟล์ในเว็บเท่านั้น

นักวิจัยชี้ว่าไฟล์ราว 4% บนเว็บ Megaupload ก่อนที่จะเปิดไปเป็นไฟล์ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ไฟล์อีก 31% เป็นไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนไฟล์อีก 65% ที่เหลือไม่สามารถระบุสถานะลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนได้

นี่ทำให้เกิดคำถามว่าการปิดเว็บไซต์แห่งนี้ในวันที่ 19 มกราคม 2555 อันลือลั่น มีความชอบธรรมเพียงใดหากมันทำในนามของการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ไปจนถึงชี้ให้เห็นถึงการดำรงอยู่ในเชิงปริมาณของ "ผู้โดนลูกหลง" ในสงครามลิขสิทธิ์

News Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/10/18/megaupload-2, http://torrentfreak.com/megaupload-raid-destroyed-more-than-10000000-legal-files-131018/

 

24 ต.ค. 2556

YouTube ประกาศเพิ่มเงิ่นไขทั่วไปว่าช่อง YouTube ที่มีผู้ลงทะเบียนติดตาม (subscriber) มากกว่า 10,000 คนจะสามารถเปิดช่องเสียเงิน (paid channel) ใหม่เพื่อสร้างรายได้จาก YouTube เพิ่มได้

โครงการช่องเสียเงินเป็นโครงการของ YouTube ที่มีการริเริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาโดยโครงการนำร่องจะเป็นช่องที่ทาง YouTube เลือกมา

อย่างไรก็ดีในขณะนี้ทุกๆ เข้าของช่อง YouTube ที่มีผู้ติดตามไม่ต่ำกว่า 10,000 คนและมีบัญชี Adsense พ่วงอยู่กับบัญชี YouTube ก็จะสามารถยื่นเรื่องเพิ่งเปิดช่องเสียเงินใหม่ได้ แต่จะไม่สามารถเก็บเงินกับช่องฟรีที่เคยได้สร้างมาไว้ได้

ประเทศที่สามารถเข้าร่วมกับโครงการนี้ได้ในขณะนี้ก็มีสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส สเปน ออสเตรเลีย บราซิล ญี่ปุ่น เม็กซิโก และเกาหลีใต้

ซึ่งก็อาจมีเพิ่มประเทศอื่นๆ ตามมาในเร็วๆ นี้ (แต่ของไทยน่าจะอีกยาวไกลเพราะทาง Google เคยแสดงจุดยืนแล้วว่ากฎหมายอินเทอร์เน็ตของไทยมีปัญหา ซึ่งจากตอนนั้นถึงตอนนี้ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ด้านกฎหมาย)

News Source: http://gigaom.com/2013/10/23/youtube-now-lets-more-creators-charge-for-their-videos/

 

รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอินเดียเตรียมหารือกับองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลกเพื่อให้เพิ่มการลดหย่อนให้ "ซีร็อกซ์หนังสือ" เพื่อการศึกษาไม่นับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

หลังจากเป็นเรื่องเป็นราวที่ทางสำนักพิมพ์ Oxford University Press สำนักพิมพ์ Cambridge University Press และสำนักพิมพ์ Taylor & Francis ได้ฟ้องร้องร้านถ่ายเอกสารที่มหาวิทยาลัย Delhi ฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการทำ "คอร์สแพ็ค" หรือถ่ายเอกสารหนังสือเพื่อใช้ในรายวิชาขายให้นักศึกษา

ในตอนนี้ทางการอินเดียได้รุดหน้าพยายามจะผลักดันข้อยกเว้นว่าการถ่ายเอกสารหนังสือเพื่อการศึกษานั้นไม่นับว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ให้เป็นมาตรฐานระดับนานาชาติผ่านองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลกหรือ WIPO (World Intellectual Property Organization) แล้ว โดยการจะไปหารือกับบรรดาชาติภาคี WIPO ในการประชุมครั้งต่อไป

News Source: http://www.telegraphindia.com/1130921/jsp/nation/story_17374550.jsp#.UmlySlPbWM0

 

27 ต.ค. 2556

ชายอังกฤษต้องจ่ายค่ายอมความ 15,000 ปอนด์ (ราว 750,000 บาท) คดีรีทวีตข้อความหมิ่นประมาทว่าลอร์ดคนหนึ่งเป็นพวกชอบลวนลามเด็ก

อย่างไรก็ตาม ลอร์ดผู้นี้ก็ยังไม่จบแค่นั้น และจ้องจะฟ้องคนอีกราว 20 คนที่ทำการรีทวีตข้อความหมิ่นประมาทดังกล่าว

เหล่าผู้โดนฟ้องนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของคนที่รีทวีตข้อความหมิ่นประมาทนี้ที่น่าจะมีราวๆ 10,000 คนทีเดียว

ที่น่าสนใจคือทางด้านอเมริกาแม้จะมีการฟ้องหมิ่นประมาทด้วยการทวีตอยู่เนืองๆ แต่ก็ยังไม่มีคนฟ้องร้องหมิ่นประมาทกันในระดับการ "รีทวีต" หรือการผลิตซ้ำข้อความของผู้อื่นแต่อย่างใด

News Source: http://gigaom.com/2013/10/26/repeat-a-horrible-lie-on-twitter-pay-25000-is-that-fair/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net