Skip to main content
sharethis
 
ภาพ: สักวันคงเป็นวันของเรา
ที่มา: มูลนิธิอิสรชน
 
เก็บตกวันฮาโลวีนปีนี้ กันด้วยกิจกรรมปลดปล่อยคนในพื้นที่สาธารณะจากการเป็นผีที่ถูกตีตราโดยอคติ ในมหกรรมวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ‘คุณกับเขาเราเท่ากัน’ หวังปักหมุดกำหนดให้วันที่ 31 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือ homeless day สำหรับประเทศไทย
 
คลิปวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวผู้คนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ
ที่มา: มูลนิธิอิสรชน
 
มูลนิธิอิสรชน ร่วมกับบ้านมิตรไตรี (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) เป็นโต้โผใหญ่ในการจัดงานดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค.56 เพื่อการสื่อสารสังคมในการดูแลซึ่งกันและกัน และสร้างโอกาสให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้เข้าถึงสวัสดิการสังคม โดยมีคนในพื้นที่สาธารณะหลายร้อยชีวิตเข้าร่วม
 
นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน 
 
นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า วันนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่เรียกว่าได้มีการสถาปนาวันของคนที่อยู่ระดับล่างสุดของประเทศ คือคนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ เราพยายามเปลี่ยนแปลงวาทกรรมของคนไทยที่เคยเรียกเขาว่า คนจรจัด พัฒนามาสู่คนเร่รอน คนไร้บ้าน และล่าสุดเราพยายามเรียกร้องให้เขาใช้คำว่า “ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” เพราะว่าในรายละเอียดของการมาอยู่ในที่สาธารณะมันมีมากกว่าการมาเร่ร่อน หรือไร้บ้าน
 
มันมีสัญลักษณ์ซ่อนอยู่เยอะในวันนี้ โดยตลอดเดือนตุลาคมมีการรณรงค์ทั่วโลกเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก และวันนี้ทั่วโลกมีการเฉลิมฉลองในฐานะวันปล่อยผี หรือวันฮาโลวีน คนที่อยู่ในที่สาธารณะจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยถูกเรียกว่าผี เราก็เลยถือโอกาสเอา 2 วันนี้มารวมกัน เพื่อทำให้คนในสังคมเห็นว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ผี เขาเป็นคน
 
“เรียกง่ายๆ ทำผีให้เป็นคน ให้เขาอยู่บนศักดิ์ศรีของความเป็นคนเท่าๆ กับเรา” นทีกล่าว
 
ประกอบกับก่อนหน้านี้ ในวันที่ 31 ต.ค.ของทุกปี คนในที่สาธารณะจะมาร่วมตัวกันมากกว่า 500 คน ในงานเครือข่ายสนามหลวงเลี้ยงอาหารแก่ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
 
นที กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมาเกือบ 10 ปี พบว่ามีคนใจดีอยู่ที่นี่ และวันนี้เป็นวันเกิดของเขา เขาเริ่มเลี้ยงอาหารด้วยตัวเขาคนเดียวในปีแรก และในปีที่ 2 ก็เริ่มมีคนมาร่วมเลี้ยงอาหารคนเร่ร่อนกับเขา จนกระทั่งปีที่แล้วมีคนมาเลี้ยงอาหารนับสิบคน และทุกวันที่ 31 ต.ค.ก็จะมีผู้มารับแจกอาหาร มากินอาหารอย่างมีความสุข
 
ส่วนคนที่มาเลี้ยงอาหาร นทีบอกว่า โดยมากเป็นพ่อค้าแม่ค้าริมคลองหลอด ว่าง่ายๆ ก็คือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเหมือนกัน ทำมาหากินในที่สาธารณะ แต่พอถึงวันหนึ่งของทุกปี เขาอยากจะคืนให้กับเพื่อนของเขาที่อยู่ในที่สาธารณะ เขาก็เอาข้าวมาเลี้ยงกัน
 
ปัง คลองหลอด วัย 64 ปี
 
“ผมทำมาหากินที่นี่ ก็อยากคืนกำไรให้คนที่นี่” ปัง คลองหลอด ชายเจ้าของวันเกิดในวัย 64 ปีเต็ม ผู้ริเริ่มการเลี้ยงข้าวคนที่ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กล่าว
 
ปัง เล่าว่า เขาเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เกิดและโตอยู่ที่ข้าวสาร วันหนึ่งเขาได้พบพ่อและลูกชายคู่หนึ่งเดินอยู่ข้างถนน ลูกชายบอกพ่อว่าหิว แต่พ่อไม่มีเงินพอซื้อข้าว จึงบอกลูกชายของเขาว่ารอให้ขายของได้ก่อนแล้วจะไปซื้อข้าวให้กิน นับแต่นั้นมาเขาจึงหันมาทำอาชีพขายข้าวแกงจากละ 10 บาทอยู่ที่ริมคลองหลอด และหากใครมาขอกินข้าวก็จะตักให้โดยไม่อิดออด
 
ปัง จัดวันเกิดโดยการเลี้ยงอาหารที่ริมคลองหลอดมาถึง 8 ปีแล้ว จากที่เมื่อก่อนจ่ายเงินเลี้ยงเพื่อนแล้วเกิดทะเลาะชกต่อยกันจนต้องเสียเพื่อนไป จึงประกาศว่าจะไม่เลี้ยงเพื่อนอีก เมื่อเขาได้มาเลี้ยงอาหารคนที่นี่มันทำให้เขารู้สึกมีความสุข และคิดว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีวิตอยู่
 
ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสดีที่ “วันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” จะถูกกำหนดขึ้น เพื่อใช้เป็นเวทีในการสื่อสาร เรื่องราวของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะต่อสังคม และพวกเขาจะได้ยื่นข้อเสนอใดๆ ก็ตามให้คนในภาครัฐได้รับรู้
 
“อย่างน้อยให้สังคมไทยได้ระลึกว่า มีวันหนึ่งของทุกปี ที่เราจะตื่นตัว มองเห็น และพูดถึงผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เหมือนกับในวันเด็กที่เราพูดถึงนโยบายด้านเด็ก วันผู้หญิง วันสตรีสากลเราพูดถึงเรื่องสิทธิของผู้หญิง เพราะฉะนั้น มันสมควรจะมีวันของพวกเขา ในการพูดถึงสิทธิของพวกเขาว่าเขาควรจะได้รับอะไรบ้าง เขามีสิทธิอะไรบ้าง และสวัสดิการที่เขามีและควรจะได้รับคืออะไร นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในสังคม” เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนกล่าว
 
000
 
ข้อเสนอสำหรับปีนี้ ในฐานะปีแรกที่มีการจัดงาน ‘วันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ’ คือ การให้ยอมรับ วันที่ 31 ต.ค.เป็นวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
 
นที กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นวาระสำคัญ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานเปิดงานรับลูก โดยได้พูดเป็นสัญญาประชาคมตรงนี้แล้วว่า ต่อจากนี้ไปวันนี้จะเป็นวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
 
นั่นหมายความว่า ต่อจากนี้ไป กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็จะเป็นเจ้าภาพในอีก 1 วันของทุกปี คือ 31 ต.ค.จะเป็นวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ซึ่งเราอาจจะจัดงานที่นี่ หรือเราจะพาคนข้างถนนเข้าโรงแรมบ้างก็ได้
 
“เรามีมหกรรมคนด้อยโอกาสอยู่แล้วแหละ แต่ทีนี้เราจะได้รู้ว่ามหกรรมนี้มันจะจัดได้ทุกปี ไม่ใช่จะจัดแบบปีเว้นปี มันจะจัดได้ทุกปี” นที กล่าว
 
เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดงาน และเดินชมนิทรรศการภาพถ่าย
 
ทั้งนี้ การจัดมหกรรมวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ‘คุณกับเขาเราเท่ากัน’ นอกจากมูลนิธิอิสรชนแล้ว ยังถือเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ บ้านมิตรไมตรี และภาคประชาชนอย่าง สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย บ้านนานา เครือข่ายฅนสนามหลวง และมูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น รวมถึง กทม.ในฐานะเจ้าของสถานที่ด้วย
 
อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลัก คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งต้องไปขยายภาคีต่อไป เพราะควบคู่กับการเสนอวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อีกภารกิจที่ยังต้องเดินหน้าต่อ คือ การผลักดันกฎหมาย ‘พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง’ เพื่อมาคุ้มครองเขา
 
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า กฎหมายนี้สาระสำคัญ คือ รัฐจะต้องเข้ามาดูแลคนไร้ที่พึ่ง คนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไร้ที่พึ่ง อาจเป็นคนเร่ร่อน คนในที่สาธารณะด้วย ข้อต่อมารัฐต้องเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลคนเหล่านี้ และมีคณะกรรมการเฉพาะระดับชาติ เรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเข้ามาดูแลปัญหาเรื่องนี้ โดยทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ให้คำแนะนำเป็นการเฉพาะ แล้วก็ต้องมีคณะกรรมการในระดับจังหวัดด้วย
 
ตรงนี้จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลได้มากขึ้น ทั้งเอ็นจีโอ หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนไร้ที่พึงเองที่มีการรวมตัวกันได้และแข็งแรงพอในการดูแลกันเองรัฐก็ต้องสนับสนุน คือเป็น พ.ร.บ.ที่ระดมการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนให้เข้ามาดูแลปัญหาสังคม โดยไม่ได้มีบทกำหนดโทษ แต่เป็น พ.ร.บ.เชิงบวกที่เปิดโอกาสให้คนทำงานคุ้มครองคนที่อยู่ในที่สาธารณะสามารถช่วยเหลือคนในที่สาธารณะได้โดยไม่ผิดกฎหมายและมีกฎหมายคุ้มครองด้วย
 
นทียกตัวอย่างปัญหาที่เคยเกิดขึ้นว่า กรณีกลุ่มผู้ป่วยข้างถนน ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดย พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ในกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ 3 กลุ่ม ทำหน้าที่พาคนป่วยออกจากถนน คือ 1.บุคคลกรทางการแพทย์หรือสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญทางจิตวิทยา 2.เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3.เจ้าพนักงานปกครองคือเทศกิจ
 
ทำให้ทุกวันนี้คนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หรือเอ็นจีโอไม่สามารถเอาคนป่วยออกจากถนนได้เอง จะต้องมีตำรวจไปด้วย และตำรวจจะต้องทำบันทึกปากคำส่งโรงพยาบาล โรงพยาบาลถึงจะรับรักษา แต่หากเปิดโอกาสให้เอ็นจีโอเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ สามารถทำบันทึกปากคำแล้วนำส่งโรงพยาบาลได้ ปัญหามันจบเร็ว ช่วยเหลือคนได้อย่างทันท่วงที
 
ดังนั้น ข้อเรียกร้องในทางกฎหมายจึงมีอยู่ 2 ข้อ คือ 1.ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 2.ให้แก้ไขอนุบัญญัติ อนุมาตรา หรือกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพจิตที่กระทรวงสาธารณสุขถืออยู่
 
ขณะนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ผ่าน ครม.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.56 อยู่ระหว่างกลับไปแก้ไขถ้อยคำในกฤษฎีกา รอเข้าสภาฯ โดยการรับรองของ ครม.อีกครั้งหนึ่ง
 
“ต้องยอมรับว่าลุ้นอยู่ ถ้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ทำพิษเสียก่อนโอกาสของคนไร้ที่พึ่ง คนข้างถนนก็น่าจะมีภายในรัฐบาลนี้ ถ้าเห็นแก่ประชาชนกันก่อน หยิบ พ.ร.บ.นี้ขึ้นมาลัดคิวพิจารณา ให้สังคมช็อกไปเลย ผมว่ายิ่งสนุก ก็อยากให้เฝ้าดูและเป็นกำลังใจกัน เพราะกฎหมายนี้แท้งระหว่างสภาฯ มา 2 ครั้งแล้ว สมัยคุณอภิสิทธิ์ ก็เอาเข้าสภาฯ 15 วัน ก่อนยุบสภา มาถึงสมัยคุณยิ่งลักษณ์ก็ยังลุ้นกันอยู่” นทีกล่าว
 
000
 
สำหรับภาพรวมสถานการณ์ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะของไทย ล่าสุดมูลนิธิอิสรชน ฉายภาพคนในที่สาธารณะถึง 13 กลุ่ม เนื่องจากพบรายละเอียด ปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น
 
นที กล่าวว่า ใน 3 กลุ่มหลังที่เพิ่มขึ้น พบชาวต่างชาติตกยาก กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กระเทยรุ่นเดอะที่โชว์ไม่ได้แล้วออกมาใช้ชีวิตข้างถนน ถามว่าทำไมต้องแยกเขาออกมาเป็นพิเศษ เพราะเขาต้องได้รับการสื่อการจากบุคคลที่คุยกับเขารู้เรื่องและเป็นบุคคลพิเศษ ต้องเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันจึงจะเข้าถึงปัญหาของเขาได้ ไม่ปกปิดและไม่กดทับ
 
กลุ่มสุดท้ายคือครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน ที่ต้องแยกออกมาเพราะเมื่อเปิด AEC กลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนอย่างก้าวกระโดดภายใต้สังคม AEC เพราะแรงงานเคลื่อนย้ายเข้ามาและจะมีการพาครอบครัวเข้ามาด้วย ถ้าในไซต์งานก่อสร้างไม่มีการดูแลก็จะเกิดกรณีที่แม่อุ้มลูกออกมาขอทานข้างนอกได้
 
กลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีปัญหาไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องซอยปัญหาให้ละเอียด เพื่อให้ได้รู้ว่ามีอะไรบ้างที่ข้างถนน มูลนิธิ หน่วยงานเอกชนทั้งหลายที่ทำงานจะได้รู้ว่าภารกิจไหนของเขาที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เขาจะได้ทำโครงการ ทำงบประมาณ เพื่อลงมาทำงานให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
 
ส่วนเรามีหน้าที่แจกแจงว่าเราเจอใคร เพิ่มขึ้นแค่ไหนอย่างไร เตรียมความพร้อมไว้
 
 
เมื่อถามถึงความน่าเป็นห่วง นที แจกแจงว่า มูลนิธิอิสรชน จัดอันดับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะออกเป็น 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีแดงประกอบด้วย 4 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ป่วยข้างถนน ผู้ติดสุรา เด็กและครอบครัวเร่ร่อน และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเขาต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เช่น กรณีผู้ป่วยจะเห็นได้ชัดเจน ส่วนผู้ติดสุราก็มีโอกาสถูกทำร้ายร่างกายได้ ส่วนครอบครัวเร่ร่อนจะมีเด็กอยู่ด้วยต้องช่วยเหลือให้เร็ว
 
กลุ่มสีเหลือง อาทิ คนเร่รอน เซ็กเวิร์คเกอร์ ผู้พ้นโทษ ส่วนกลุ่มสีเขียวจะเป็นคนไร้บ้าน ชาวต่างชาติ แรงงาน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ คนไร้บ้านต้องการมีบ้าน หาบ้านให้อยู่ได้ ชาวต่างชาติหากสามารถประสานงานสถานทูตได้เร็วก็กลับบ้านได้เร็ว ส่วนแรงงานหากผลักดันให้ไซต์งานก่อสร้างดูแล เขาก็สามารถอยู่ที่นั่นได้
 
นที ให้ข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การเพิ่มขึ้นของกลุ่มครอบครัวแรงงานเป็นสถานการณ์จริงที่คนเห็น ซึ่งไม่ได้น่ากลัว แต่กลุ่มผู้ป่วยยังน่ากลัว เพราะไม่เกิน 6-10 ปีข้างหน้าเราจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในปี 2560-2565 ผู้สูงอายุจะมีจำนวน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด
 
ทั้งนี้ ครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม นั่นหมายความว่า 1 ใน 5 ของประชากรหรือประมาณ 14 ล้านคน ครึ่งหนึ่งคือ 7 ล้านคน มีโอกาสป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม และในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งหรือ 3.5 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะออกมาเดินข้างถนนถ้าเราไม่สร้างกลไกในการป้องกัน ดังนั้นจึงต้องเตือนเพื่อสร้างกลไกในการป้องกัน ไม่ใช่บอกว่าให้รอรับคน 3.5 ล้านคน
 
ตัวเลขตรงนี้มาจากสถิติของประชากร และข้อมูลจากคนที่ทำงานกับผู้สูงอายุที่ว่า ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ถึงร้อยละ 50 ในขณะที่มูลนิธิอัลไซเมอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็พบว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่อยู่ในบ้านออกมาสู่ถนน
 
“ตัวเลขผู้สูงอายุที่จะเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมนั่นก็คือผู้ป่วยข้างถนนซึ่งเป็นกลุ่มที่น่ากลัวแบบเห็นตัวเลขมากที่สุด” นทีกล่าว
 
 
ข้อเสนอสำหรับเรื่องนี้คือต้องไปสร้างกลไกในระดับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งก็ย้อนกลับมาที่การผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่ และสิ่งที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หรือมูลนิธิอิสรชน จะลงไปสนับสนุนได้ก็คือการอบรมให้ชุดความรู้ในการทำงาน
 
ยกตัวอย่าง ตอนนี้นทีไปอบรมให้ที่ จ.สระแก้ว เพื่อการทำแผนจังหวัดในการดูแลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นจังหวัดแรก และที่สมุทรสาครกำลังมีการดำเนินการ
 
ถือว่ามีความหวังในการแก้ไขปัญหาอยู่...
 
000
 
31 ต.ค.56 นิทรรศการภาพถ่ายขาวดำของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในกรอบสีเรียบราว 20 ภาพ ถูกจัดวางไว้เป็นระยะริมทางเดินในสวนหย่อมหลังพระแม่ธรณีบีบมวยผม ริมคลองหลอด ขณะที่บรรยากาศโดยรอบคึกคักไปด้วยผู้คนที่หอบหิ้วข้าวของพะรุงพะรัง 
 
 
ภาพถ่ายภายใต้คอนเซ็ปต์ “คุณกับเขา เราเท่ากัน...” ถ่ายทอดความเป็นคนธรรมดาของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ในลักษณะภาพถ่ายหน้าตรง ที่สื่อถึงการมองเห็นซึ่งกันและกันด้วยความเคารพ ท่ามกลางบรรยากาศในชีวิตประจำวันของพวกเขา
 
“เราขอเขาถ่ายภาพได้ ใครๆ ก็คุยกับเขาได้ ไม่น่ากลัว เพียงแต่เราเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน” อภิชน รัตนาภายน เจ้าของผลงานกล่าว
 
อภิชน กล่าวว่า แม้จะใช้เวลาในการทำงานกับการลงพื้นที่ภาพถ่ายเพียง 7 วัน พร้อมกับการบันทึกเรื่องราวของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นวิดีโอ แต่ก็อาศัยเวลาในการเก็บข้อมูลของอาสาสมัครของมูลนิธิอิสรชนนานแรมปี
 
อภิชน เคยเป็นอาสาสมัครมูลนิธิอิสรชนตั้งแต่เมื่อปี 2553 และเป็นผู้ถ่ายทอดสารคดี ผลงาน ‘บ้านไม่มีเลขที่’ ในรายการก(ล)างเมือง ทางไทยพีบีเอส ที่ว่าด้วยวิถีชีวิตของคนใต้สะพานพระรามเจ็ด เล่าถึงการถ่ายภาพชุดนี้ว่า คนทั่วไปมักมีอคติ ไม่กล้าสบตา ไม่กล้าเข้าใกล้กับคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั้งที่จริงเขาก็เป็นคนธรรมดาเหมือนๆ กับเรา แต่ทัศนคติต่างหากที่ทำให้เกิดความต่าง จึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวตรงนี้
 
“อยากให้คนได้รู้ ไม่ใช่เหมารวมรวมว่าพวกเขาเป็นคนไม่ดี ว่าเป็นพวกชอบลักขโมย เพราะทั้งคนดีและคนไม่ดีล้วนมีอยู่ในทุกสังคม” อภิชนบอกเล่าความคิด
 
...
 
คุณเห็นภาพแล้วคุณมีคำถามหรือรู้สึกอะไรไหม ถ้าเราไม่บอกว่าเขาเป็นใคร
 
คุณเห็นภาพใคร... คนธรรมดา
 
แล้วเขาต่างจากเราตรงไหน... ไม่
 
เพราะฉะนั้น เมื่อเรามองหน้ากัน เราไม่มีความต่าง เราเท่ากัน
 
 
 
 
ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั้ง 13 ประเภท
 
(กลุ่มที่ 11-13 เป็นการค้นพบในการเก็บข้อมูลในปี 2556
ที่มา: มูลนิธิอิสรชน)
 
1.คนไร้บ้าน คือ บุคคลที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือบนท้องถนนเป็นที่พักอาศัยอันเนื่องมากจากการถูกไล่ที่ดินที่เป็นที่พักอาศัย ไม่มีที่ดินทำมาหากิน
 
2.คนเร่ร่อน คือ บุคคลที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือบนท้องถนนเป็นที่อยู่อาศัย มักจะอยู่ตามจุดต่าง ๆ เช่น สนามหลวง สะพานพุทธ หัวลำโพง หมอชิต สวนลุมพินี ใต้ทางด่วนหรือใต้สะพานต่างๆ สถานที่อยู่ของคนเร่ร่อนจะอิงอยู่กับแหล่งหากิน เช่น สถานีรถโดยสาร ตลาด และแหล่งท่องเที่ยวสาเหตุที่คนออกมาเร่ร่อน สาเหตุพบว่ามาจากการตกงาน ปัญหาครอบครัว ความพิการไม่สามารถดูแลตนเองได้ เร่ร่อนตามพ่อแม่และชอบใช้ชีวิตอิสระ
 
3.เด็กเร่ร่อน / ครอบครัวเร่ร่อน คือเด็กที่ไม่มีถิ่นที่อยู่อาศัยและเร่ร่อนตามถนนหรือที่สาธารณะ ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น
• ตามลักษณะการหาเลี้ยงชีพ ได้แก่ กลุ่มเร่ร่อนขอทาน กลุ่มออกแรง ประกอบอาชีพ
• ตามวิถีการดำรงชีวิต ได้แก่ เร่ร่อนตามวิถีชีพของครอบครัว ซึ่งจะเคลื่อนย้ายตามครอบครัวไปตามแหล่งงาน
 
หมายเหตุ: อีกกรณีหนึ่งที่พบในพื้นที่ กล่าว คือ เด็กเร่ร่อนเมื่อเติบโต ได้มีการสร้างครอบครัวในที่สาธารณะ กลายเป็นครอบครัวเร่ร่อนและเด็กที่เกิดมาจะเป็นเด็กเร่ร่อนถาวร เพราะพ่อและแม่ออกมาเร่ร่อนตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปี ไม่ได้ทำบัตรประจำตัวประชาชน พอมาสร้างครอบครัวในถนน เด็กที่เกิดมาจึงไม่มีเลข 13 หลัก
 
4.ผู้ติดสุรา โรคติดสุราหรือพิษสุราเรื้อรัง เป็นคำกว้าง ๆ ที่ใช้ในการวินิจฉัยผู้ติดสุราที่ทำให้เกิดปัญหาหน้าที่การงาน หรือสุขภาพ มีลักษณะการดำเนินโรคอย่างเรื้อรัง โดยผู้ป่วยมักไม่ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ว่าเกิดจากการใช้สุรา สาเหตุที่ทำให้บุคคลเหล่านี้ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อันเนื่องมาจากครอบครัวไม่สามารถดูแล หรือบางครอบครัวไม่สามารถรับได้กับการมีพฤติกรรมดื่มสุราเป็นประจำ อีกส่วนหนึ่งคือ บุคคลเหล่านี้พอมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ แล้วดื่มสุรามาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกและทำให้เพิ่มความต้องการ แม้ว่าจะเกิดผลเสียมากมาย เป็นการเสพติดทางใจ และการเสพติดทางร่างกาย ทำให้เกิดการถอนสุราหรือไม่สบายหากไม่ได้ดื่ม
 
5.ผู้ป่วยข้างถนน คือ ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่พลัดหลงออกจากบ้านมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะจนกลายสภาพเป็น “คนเร่ร่อน” ทั้งนี้ยังรวมถึง “คนเร่ร่อนไร้บ้าน” ที่มีอาการผิดปกติทางสมองหรือทางจิตด้วย
 
6.พนักงานบริการ คือ บุคคลที่หาเลี้ยงชีพตัวเองด้วยการบริการทางเพศ ให้บริการทางด้านอารมณ์ จิตใจ โดยแลกกับค่าตอบแทน การเป็นพนักงานบริการอาจเนื่องมาจากเหตุหลายประการ เป็นต้นว่าความยากจนของครอบครัว ความจำเป็นในทางเศรษฐกิจประการอื่น การขาดความรักและความอบอุ่นจากพ่อแม่ การไม่เป็นที่รักและยอมรับของใคร ๆ การได้เห็นตัวอย่างในเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ไม่ดีมาแต่เยาว์วัย ความผิดปรกติทางจิตใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี โดยมักยืนตามที่สาธารณะ ตามริมถนน บางคนเป็นทั้งคนเร่ร่อนและพนักงานบริการ
 
7.ผู้พ้น คือ บุคคลที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำแล้วไม่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ อันเนื่องมาจากว่าในสภาพของความเป็นจริงแล้ว สังคมยังไม่ให้โอกาสคนที่พ้นโทษออกมา ทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ไป ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
 
8.คนจนเมือง คือ คนจนเมือง หรือชุมชนแออัด ไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง การเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สิน จึงอพยพมาเสี่ยงโชคในเมือง แต่เมื่อเข้ามาเผชิญในเมืองแล้วด้วยค่าครองชีพที่สูง ละเมืองหลวงไม่ได้มีอนาคตอย่างที่คาดหวัง ทำให้คนเหล่านี้ผิดหวัง ไม่มีที่ไป กลับสู่ภูมิลำเนาก็ไม่มีที่ดินทำมาหากิน ไม่มีงาน จึงใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือท้องถนน
 
9.คนที่ใช้ที่สาธารณะหลับนอนชั่วคราว คือบุคคลที่มาทำภารกิจบางอย่าง เช่น มาเฝ้าญาติที่โรงพยาบาล ไม่มีที่พักอาศัย ไม่มีเงินพอเช่าห้องพักจึงอาศัยที่สาธารณะหลับนอน หรือบางกรณี คือ หนุ่มสาวโรงงาน หรือพนักงานรับจ้างทั่วไป ไม่สามารถเช่าห้องพักราคาสูงได้ จึงใช้ที่สาธารณะในการพักหลับนอน
 
10.คนเร่ร่อนไร้บ้าน คือ บุคคลที่ออกมาจากที่พักอาศัยเดิมที่ไม่สามารถอยู่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดใดก็ตามจึงออกมาอยู่ตามที่สาธารณะ หรือบุคคลใดที่ออกมาจากที่พักอาศัยเดิม หรือบุคคลเดิมมาตั้งครอบครัวหรือมาใช้ชีวิตแบบครอบครัวใหม่ในพื้นที่สาธารณะ และทั้งสองกลุ่มอาจจะย้ายที่พักไปเรื่อยๆ หรือ ปักหลักที่ใดที่หนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อดำรงชีวิตประจำวันในที่สาธารณะนั้นๆ
 
11.ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หมายถึง การที่มนุษย์มีเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิสัย อันหมายรวมถึงการปฏิบัติตัวและการมีพฤติกรรมทางเพศที่แตกต่างและหลากหลายตามธรรมชาติ ไม่ใช่มีเพียงแค่ 2 เพศ คือ เพศชายและเพศหญิง เท่านั้น ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาใช้ชีวิตข้างถนน ด้วยการไม่ได้รับการยอมรับในครอบครัว สังคม หรือชุมชน
 
12.ชาวต่างชาติตกยาก ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่พลเมืองในแถบอาเซียน ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และประสบปัญหาสังคม ทำให้กลายเป็นคนเร่ร่อนตกยากอยู่ในประทศไทย มีสาเหตุหลัก 3 ประการได้แก่ ครอบครัวคนไทยทอดทิ้ง หุ้นส่วนทางธุรกิจเอาเปรียบ และโดนโจรกรรมทรัพย์สิน
 
13.ครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน ประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และประชากรในแถบอาเซียน ที่เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทย แต่อยู่ในฐานะของผู้ยากไร้ไม่ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง หรือติดตามหัวหน้าครอบครัวมาเพื่อทำงานแต่ใช้พื้นที่สาธารณะพักอาศัย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net