Skip to main content
sharethis
 
ความร้อนแรงยังไม่จบ แม้ (แทบ) จะถูกกลบด้วยกระแสการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ดังสนั่นครึกโครมอยู่ในขณะนี้ แต่ ‘ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. …’ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ต.ค.56 ก็ยังคงถูกจับตามองอย่างตามติดเช่นเดียวกัน ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภาผู้แทนราษฎรในระยะเวลาอันใกล้นี้
 
หนึ่งในเวทีพูดคุยอย่างถึงเนื้อครั้งล่าสุด ศูนย์สังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้’ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.56 เชิญนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานทางวัฒนธรรม นักกฎหมาย รวมทั้งผู้ที่สนใจในเรื่อง ‘วัฒนธรรมไทย’ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเนื้อหาโดยละเอียดมากขึ้น
 
 
 

ทำความรู้จัก อนุสัญญาฯ ยูเนสโก ต้นร่างของกฎหมายไทย?

ดังที่ทราบกันว่า ประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2552 มีมรดกภูมิปัญญาพื้นบ้านขึ้นทะเบียนแล้ว 218 รายการ และการจัดทำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็เพื่อรองรับพันธกิจในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโก (UNESCO) ฉบับปี 2546
 
เพื่อสะท้อนความเข้าใจว่า เนื้อหาตามร่างกฎหมายมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทย เป็นไปตามอนุสัญญาฯของยูเนสโกแค่ไหน เพียงไร ก่อนอื่นใดคงต้องไปทำความเข้าใจกับอนุสัญญาฯ ฉบับนี้กันก่อน
 
 
อเล็กซานดรา เดอเนส (Alexandra Denes) นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า กว่าจะมาเป็นอนุสัญญาดังกล่าวได้ต้องผ่านการถกเถียงมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่มีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (The World Heritage Convention) เมื่อปี 2515 (1972) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ก็มีปัญหาเพราะหัวใจหลักของอนุสัญญานี้เป็นการอนุรักษ์ สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ ที่กำลังเสื่อมโทรม แต่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลายเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว และกลายเป็นจุดเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน
 
ส่วนอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มีจุดเริ่มต้น เมื่อปี 2516 (1973) จากการวิพากษ์วิจารณ์ว่ายูเนสโกมุ่งเน้นเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และมองข้ามมรดกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีประเพณีและดนตรี โดยผู้ที่เรียกร้องให้ยูเนสโกหันมาสนใจเรื่องนี้คือรัฐมนตรีของโบลิเวีย เนื่องมาจากพบว่ามีวงดนตรีต่างชาติที่นำเพลงพื้นเมืองของเปรูและโบลิเวียมาแต่งเป็นเพลงชื่อ ‘If I could’ ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมถูกแปรรูเป็นสินค้าเพื่อส่งออก
 
ต่อมายูเนสโกทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปกป้องประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม เมื่อปี 2532 (1989) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการบันทึกและเก็บข้อมูลโดยหน่วยงานรัฐที่เป็นภาคี ในรูปแบบเชิงวิชาการ ซึ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช้การอนุรักษ์หรือปกป้อง เน้นแต่เก็บข้อมูล ขณะที่วิถีชีวิตกำลังจะหายไป และเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่มีกลไกการบังคับใช้ แทบไม่มีผลอะไรกับประเทศภาคี
 
ในปี 2540 (1997) มีการจัดการประชุมระดับนานาชาติ “World forum on the protection of folklore” ที่ภูเก็ต โดยยูเนสโกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ ไวโพ (World Intellectual Property Organization: WIPO) แต่ในการประชุมครั้งนี้ทั้ง 2 องค์กรมีแนวทางความคิดที่ต่างกัน
 
ไวโพเน้นว่า ควรมีการป้องกันเรื่องลิขสิทธิ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยสร้างระบบในการขึ้นทะเบียนและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งก็มีคนคัดค้านว่าสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ว่าดนตรี การแสดง หรือพิธีกรรมต่างๆ ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ และมันจะทำลายโดยทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้หยุดนิ่ง ขณะยูเนสโกเน้นการให้เกียรติ ส่งเสริม สร้างจิตสำนึกในมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกคุกคามโดยกระแสโลกาภิวัตน์
 
การประชุมครั้งต่อมาในปีเดียวกันที่โมร็อกโก มีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐและนักวิชาการเข้าร่วมพูดคุยกันถึงการป้องกันพื้นที่ทางวัฒนธรรม Jamaa’ el-fna square ที่ โมร็อกโกซึ่งถูกคุกคามโดยการพัฒนาของเมือง นำไปสู่ปี 2541 (1998) ที่มีการประกาศรายการมรดกวัฒนธรรมบอกเล่าและมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Proclamation of Masterpieces of Oral and Intangible Cultural Heritage of Humanity 2001-2005)
 
อีกทั้ง ในปี 2544 มีประกาศในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Declaration on Cultural Diversity)
เกิดขึ้น เหล่านี้เป็นก้าวสำคัญของการพัฒนากรอบแนวคิดของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปี 2546 (2003)
 
นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวว่า ระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามีการถกเถียงเพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และระหว่างการร่างอนุสัญญาฯ ในช่วงปี 2544-2546 ก็มีการประชุมถกเถียงกันหลายครั้งโดยมีนักมานุษยวิทยา คนทำงานด้านมรดกวัฒนธรรมเข้าร่วม จนได้มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อนุสัญญาฯ ต้องเน้นบทบาทของเจ้าของวัฒนธรรมและชุมชนเป็นหลัก เพราะเห็นปัญหาจากประกาศ ข้อตกลง รวมทั้งเครื่องมือที่มีอยู่เดิม
 
นอกจากนี้ ในการประชุมมีการถกถียงกันอย่างมากเรื่องการขึ้นทะเบียน เพราะหลายฝ่ายเห็นว่าการขึ้นทะเบียนจะทำให้เกิดเป็นการแข่งขันกันระหว่างรัฐเพื่อแสดงถึงความสวยงามของวัฒนธรรม ไม่ได้เน้นที่ชุมชน แต่ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจำเป็นต้องใช้การขึ้นทะเบียน เนื่องจากเห็นความสำเร็จของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเพื่อสร้างความตระหนักในมรดกทางวัฒนธรรม จึงอยากใช้การขึ้นทะเบียนต่อไป ซึ่งก็ต้องอาศัยหน่วยงานรัฐเป็นผู้ขึ้นทะเบียน
 
อเล็กซานดรา กล่าวว่า หลักการของอนุสัญญาฯ ของยูเนสโกที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ระบุไว้ทั้งในมาตรา 1 ที่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ มาตรา 2 ที่ว่าด้วยคำนิยาม และในมาตรา 15 ซึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง อีกทั้งในอนุสัญญาของยูเนสโกไม่ได้ใช้เกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนว่าต้องเป็นวัฒนธรรมที่เลอค่า หรือเป็นมาสเตอร์พีซ แต่สิ่งที่เน้นคือความหมาย คุณค่าตามเจ้าของและความเสี่ยงที่จะสูญหายไป
 

แม้บอกว่าเน้นการมีส่วนร่วม ก็ไม่ใช่ไร้ซึ่งปัญหา

อเล็กซานดรา ให้ข้อมูลว่า อนุสัญญาฯ ดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดย ริชาร์ด คูริน ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับการร่างอนุสัญญาฯ ว่า ถึงแม้ในอนุสัญญาฯ จะเน้นให้เจ้าของวัฒนธรรมในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบันทึก ทำวิจัย นำเสนอ สืบทอด หรือโปรโมทจารีตประเพณี วิถีชีวิตของเขาเอง แต่นั่นสร้างความตึงเครียด เนื่องจากบางรัฐบาลสามารถพูดแทนพลเมืองของตัวเองได้ และอาจไม่ยอมมอบอำนาจให้กับชมชนโดยเฉพาะกับชุมชนชายขอบหรือชนกลุ่มน้อย ในบางบริบทไม่มีความหมายเลยเมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน
 
คูริน ระบุด้วยว่า สิ่งสำคัญในอนุสัญญาฯ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น ดนตรีต่อต้าน ตำนานที่เกี่ยวกับการต่อสู้ หรือความรู้ความทรงจำที่เกี่ยวกับการโยกย้าย การยึดครองดินแดนดั้งเดิม ทั้งหมดนี้อาจถูกมองว่าไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งในมรดกของรัฐชาติ เขาย้ำว่ากฎบัตรสิทธิมนุษยชนพยายามป้องกันคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือคนชายขอบจากการควบคุมของรัฐ แต่ถ้าอาศัยหน่วยงานรัฐเพื่อขึ้นทะเบียนสุดท้ายก็จะเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน
 
นอกจากนี้ คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ คือทำอย่างไรจึงจะมีกระบวนการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่ชุมชนมีส่วนร่วมได้จริง เพราะการขึ้นทะเบียนโดยนิยามแล้วก็หมายถึงการคัดเลือก เป็นการจัดลำดับระบบการยืนยันความเป็นจริง การร่วมมือและทำงานกับชุมชนกลายเป็นการสร้างรูปแบบและระเบียบในการเลือกมรดกทางวัฒนธรรมที่จะเป็นมรดกของรัฐชาติ ตรงนี้เป็นปัญหาที่ทำให้หลายคนไม่เห็นด้วย
 
ทั้งนี้ เคยมีคนเสนอว่าทำไมไม่รวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมทั้งหมด แต่ก็จะเกิดความยุ่งยากและเป็นข้อมูลที่ใหญ่มาก
 

เทียบร่าง พ.ร.บ.มรดกทางวัฒนธรรมฯ ไทย กับอนุสัญญาฯ ยูเนสโก แตกต่างอย่างมีนัยยะ

อเล็กซานดรา กล่าวว่า หากร่างกฎหมายมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทยนำเอาอนุสัญญาฯ ยูเนสโกมาเป็นต้นแบบจริงก็น่าสงสัยว่าทำไมจึงไม่มีมาตราที่ว่าด้วยเรื่องบทบาทของชุมชน คำว่า บทบาท สิทธิ หน้าที่ การมีส่วนร่วม แทบไม่มีให้เห็นในเนื้อหา หากการทำร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเป็นภาคีทำไมจึงไม่มีเรื่องนี้อยู่
 
เมื่อมาดูร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จะพบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกณฑ์ในการคัดเลือก เช่น ในมาตรา 5 มีการนิยามว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ขึ้นทะเบียน ต้องมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วิชาการ ศิลปะ คุณค่าทางจิตใจ หรือผลงานควรค่าแก่การรักษาไว้ และมาตรา 22 มีการระบุถึงการพิจารณาขึ้นทะเบียนว่ามีหลักเกณฑ์ในเรื่องความโดดเด่นและคุณค่าเชิงสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความสงสัยในหลักเกณฑ์ดังกล่าว
 
เพราะเมื่อกลับไปเทียบกับอนุสัญญาฯ ยูเนสโกจะไม่มีเกณฑ์ในการคัดเลือกเช่นนี้ ดูได้จากมาตรา 2 โดยสิ่งที่สำคัญคือการมองความหมายและคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมในสายตาของเจ้าของไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือบุคคล และอีกคำถามหนึ่งก็คือ ใครเป็นผู้ตัดสินใจ และจะเอาอะไรมาเป็นตัววัดว่ามรดกทางวัฒนธรรมนั้นๆ ดีเด่น หรือมีคุณค่าในเชิงศิลปะหรือประวัติศาสตร์ 
 
นอกจากนี้ อเล็กซานดรา ยังกล่าวถึงมาตรา 19 และ 20 ในร่างกฎหมายของไทยที่พูดถึงคณะกรรมการระดับจังหวัดว่า วิธีการขึ้นทะเบียนค่อนข้างจะซับซ้อน แต่เข้าใจจาก พ.ร.บ.ว่าจังหวัดจะเป็นตัวเชื่อระหว่างชุมชนกับส่วนกลางและกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยจะต้องขึ้นทะเบียนกับจังหวัดก่อน ซึ่งก็เกิดคำถามว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่ข้ามพรมแดนของจังหวัดจะจัดการอย่างไร
 
ตามมาตรา 21 เรื่องการนำเสนอขึ้นทะเบียนมี 2 วิธี คือ มีตัวแทนชุมชนที่สามารถเสนอขึ้นทะเบียนกับทางจังหวัด และจังหวัดเองสามารถเสนอเพื่อขึ้นทะเบียน ซึ่งเมื่อกลับไปดูอนุสัญญาฯ จะพบว่าได้พูดถึงบทบาทของมหาวิทยาลัย เอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมด้วย แต่ไม่เห็นในร่างกฎหมายของไทย จึงเกิดคำถามว่าหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ จะมีสิทธิ์ในตรงนี้หรือไม่
 
ส่วนมาตรา 34 ที่พูดถึงการให้งบประมาณสำหรับมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นทะเบียนแล้ว นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียให้ความเห็นว่า การให้งบประมาณสนับสนุนเป็นรางวัลความดีเด่นของวัฒนธรรมอาจนำมาสู่ความขัดแย้งได้ ตรงนี้อาจต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้วย   
 
สำหรับมาตราที่มีการพูดถึงมาก อย่างมาตรา 39 ซึ่งระบุถึงการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งขึ้นทะเบียนแล้วไปใช้ว่า จะดัดแปลงหรือบิดเบือนให้แตกต่างไปจากสาระสำคัญไม่ได้ เว้นแต่จะระบุถึงแหล่งที่มาและแสดงถึงการประยุกต์หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่เพิ่มเติม นี่เป็นอีกมาตราหนึ่งที่ไม่ตรงเลยกับอนุสัญญาฯ ซึ่งไม่พูดถึงของแท้หรือต้นกำเนิด แต่สนับสนุนให้มีนวัตกรรม
 
และมาตรา 40 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนต่อศาสนา กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นไปในทางที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นี่เป็นมาตราที่สร้างความหวาดกลัว
 
มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมร่วม (Sharing Culture) อย่างดนตรีหรือตำนานที่มีทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นกัมพูชาหรือลาว เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันมีผลต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ หรือตัวอย่างตำนานปาจิต-อรพิมที่มีในอีสานใต้รวมทั้งในประเทศลาว จะตีความอย่างไรว่ามรดกทางวัฒนธรรมนี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติหรือเปล่า
 

แนะบรรเทาปัญหาการขึ้นทะเบียน ด้วยการเปิดโอกาสชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

อเล็กซานดรา แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องการขึ้นทะเบียนจะยังคงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งและสร้างปัญหา เพราะอย่างไรก็ตามการขึ้นทะเบียนก็เป็นการคัดเลือก เป็นการให้คุณค่ากับมรดกทางวัฒนธรรมบางอย่าง เนื่องจากเห็นว่าต้องการการสนับสนุนส่งเสริมมากกว่ามรดกทางวัฒนธรรมอื่น อย่างไรก็ตาม
 
“แม้ว่าจะมีปัญหากับกระบวนการขึ้นทะเบียน แต่จะสามารถบรรเทาปัญหานี้ได้หากมีความตั้งใจจริงที่จะให้มีการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำความเข้าใจคุณค่าและความหมายของมรดกทางวัฒนธรรมจากมุมมองของเจ้าของจริงๆ แทนที่จะเอาความคิดนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าในเชิงวิชาการ หรือคุณค่าในเชิงชาติมานับว่าอะไรควรจะขึ้นทะเบียน” อเล็กซานดรากล่าว 
 
นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวด้วยว่า ควรมีการตระหนักถึงวัฒนธรรมที่เป็น Sharing Culture ที่มีลักษณะข้ามพรมแดน เพราะตอนนี้โครงสร้างทั้งหมดของการขึ้นทะเบียนเป็นลักษณะจังหวัดแล้วขึ้นไปยังส่วนกลางซึ่งไม่ได้สะท้อนชีวิตของมรดกทางวัฒนธรรม
นอกจากนี้ อเล็กซานดรายังแสดงความห่วงใยเรื่องการเรียกร้องให้อ้างอิงจุดกำเนิด (origins) ว่า อาจก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากวิถีชีวิต วัฒนธรรมระบุได้ยากมาก เพราะมีความเปลี่ยนแปลงและมีอิทธิพลซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มคน ซึ่งมาตรการนี้อาจกลายเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การแย่งชิงกันได้ ยกตัวอย่าง กันตรึมโบราณซึ่งอำเภอหนึ่งใน จ.สุรินทร์มีความภาคภูมิใจว่าที่อื่นไม่มีเหมือนเขา
 
หรือกรณีวิถีประเพณี จากการลงพื้นที่ศึกษาเรื่อง ประเพณีสลากย้อมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวยอง ใน จ.ลำพูน ซึ่งถ้าจะอ้างอิงแหล่งกำเนิดจะเป็นที่ไหน ในท้องถิ่นหรือที่เมืองยองในประเทศพม่า อีกทั้งมีหลายหมู่บ้านที่จัดพิธีนี้หลังมีการฟื้นฟูกลับมากว่า 50 ปี ซึ่งก็มีความเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร จึงยากที่จะเน้นความดั้งเดิมได้
 
ดังนั้น เธอจึงคิดว่าไม่ควรมีคำนี้ใน พ.ร.บ.วัฒนธรรมที่มีชีวิต
 
 
 
หมายเหตุ: การเสวนาวิชาการ ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้’ จัดที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.56 ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย พัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา || ห้องภาพเมืองสุรินทร์, ภาสกร อินทุมาร || คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ภูมินทร์ บุตรอินทร์ || คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Alexandra Denes || สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
 
ติดตามอ่านตอนต่อไปได้ทางประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net