Skip to main content
sharethis

 

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ที่ห้อง 711 ศาลอาญารัชดา เวลา 9.00 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บประชาไท ตกเป็นจำเลย ตามความผิดมาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พูดภาษาชาวบ้านคือ จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำผิดในเว็บบอร์ดประชาไท สืบเนื่องมาจากการโพสต์ 10 ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในช่วงปี 2551

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้มีความผิดเพียง 1 ข้อความ ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท

 

5 คำถามเกี่ยวกับคดี

  1. คดีนี้สำคัญอย่างไร
  2. โจทก์ฟ้องว่าอย่างไร
  3. ศาลชั้นต้นพิพากษาอย่างไร
  4. จำเลยอุทธรณ์ประเด็นใด
  5. มาตรา 15 ความรับผิดของตัวกลาง มีปัญหาอย่างไร

 

1. คดีนี้สำคัญอย่างไร

คดีนี้เป็นที่สนใจมากพอสมควรโดยเฉพาะจากสื่อต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นคดีที่ “ตัวกลาง” (intermediary) หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือพื้นที่ในอินเตอร์เน็ต ถูกลงโทษเท่ากับผู้กระทำผิด (ผู้โพสต์ข้อความ)  เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากกว่าตัวกลางควรถูกลงโทษเสมือนทำผิดเสียเองหรือไม่

ตัวกลาง ไม่ใช่เฉพาะผู้ให้บริการเว็บบอร์ด ซึ่งเริ่มซบเซาลงแล้วในยุคนี้ แต่รวมถึงศูนย์ข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บบอร์ด หรือบล็อกด้วย

“ผลการตัดสินคดี จีรนุช เปรมชัยพร จะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานของการกำกับดูแล และการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ย่อมจะส่งผลต่อตัวกลาง การประกอบการด้านอินเทอร์เน็ตในไทย สังคมผู้ใช้เน็ตไทยและสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกของประเทศไทย อย่างมีนัยยะสำคัญ”

เครือข่ายพลเมืองเน็ต
สรุปความเคลื่อนไหว คดี Internet กับภาระรับผิดของตัวกลาง “ผอ.ประชาไท”

เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้ว่า ด้วยกฎหมายลักษณะนี้และการตีความแบบที่เป็นอยู่ ผู้ให้บริการทั้งหลายจะลดความเสี่ยง หรือ “เพลย์เซฟ” ด้วยการใช้แนวทางไม่เปิดกว้าง พยายามคัดกรองการแสดงความคิดเห็นอย่างถึงที่สุด เป็นสำคัญ เพื่อความอยู่รอดปลอดคดี

แน่นอน แม้แต่เว็บบอร์ดประชาไทเองก็ต้องปิดตัวลงในท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 31 ก.ค.53

นอกจากนี้ แม้คดีจีรนุชจะไม่ใช่คดีแรกที่ “ตัวกลาง” ถูกลงโทษด้วยมาตรา 15 เพราะก่อนหน้านี้มีผู้ให้บริการเว็บบอร์ดที่ต่างๆ โดนฟ้องเนื่องจากมีการกระทำผิดโพสต์ภาพลามก โพสต์ภาพการร่วมเพศ หรือมีการโพสต์หมิ่นประมาท กันมาแล้ว แต่คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่เกี่ยวข้องการการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง พาดพิงสถานบันกษัตริย์ และยังเป็นคดีแรกที่จำเลยต่อสู้คดี

 

2. โจทก์ฟ้องว่าอย่างไร

หากติดตามคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอันเกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์ในยุคนี้ เราจะพบว่ากราฟจำนวนคดีลักษณะนี้พุ่งขึ้นสูงในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนัก โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร และช่วงก่อน-หลังการสลายการชุมนุม 2553

กล่าวสำหรับเว็บบอร์ดประชาไท มันเป็นส่วนหนึ่งของเว็บข่าวประชาไทมาตั้งแต่ราวปี 2547 แต่มาบูมสุดขีดในช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ซึ่งทางการไล่ปิดเว็บ เว็บบอร์ดและพื้นที่สนทนาจำนวนมาก ระหว่างที่เฟซบุ๊คยังไม่เกิดก็เห็นจะมีเว็บบอร์ดนี่เองที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสนทนาของผู้คน ช่วงนั้นเว็บบอร์ดประชาไทยังไม่โดนปิดและมีนโยบายเปิดต่อการแสดงความเห็นทางการเมืองจึงมีผู้เข้ามาโพสต์ข้อความจากหลักสิบกลายเป็นเกือบ 3,000 ข้อความ 300 กระทู้ต่อวัน 

คดีนี้ โจทก์ คือพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ให้บริการและดูแลเว็บบอร์ดประชาไท จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในความควบคุมของจำเลยที่เข้าข่ายความผิดดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์จำนวน 10 ข้อความ ในช่วงระหว่างวันที่ 15 เม.ย. - 3 พ.ย.2551 เป็นความผิดตามมาตรา 14 และ 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

อารีย์ จิวรักษ์ นักวิชาการจากไอซีที ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เบิกความว่า จำเลยปล่อยให้ข้อความทั้ง 10 ข้อความอยู่ในระบบนาน 11 วัน 1 วัน 3 วัน 2 วัน 2 วัน 1 วัน 3 วัน 2 วัน 1 วันและ 20 วันตามลำดับ ประกอบกับจากการตรวจยึดโน้ตบุ๊คของจำเลยยังพบข้อความภาพระบุว่าควรยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์เพราะเป็นบุคคลไม่ดี และภาพถ่ายดัดแปลงพระบรมฉายาลักษณ์ ทำให้เห็นว่าจำเลยจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามฟ้อง 

ส่วนจำเลยนำสืบถึงมาตรการดูแลและความพยายามในการปรับระบบการดูแลให้รัดกุมตามลำดับ รวมถึงระบบอาสาสมัครที่มีอำนาจลบข้อความทันที แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือผู้เข้ามาใช้บริการที่ก้าวกระโดดหลังรัฐประหาร เมื่อเห็นข้อความไม่เหมาะสมจำเลยลบทันทีโดยตลอด ส่วนข้อความและภาพพระบรมฉายาลักษณ์ดัดแปลงที่ปรากฏในฮาร์ดดิสก์ตามที่โจทก์อ้างฟ้องนั้น เป็นไฟล์สำเนาที่ระบบคอมพิวเตอร์จัดเก็บไว้อัตโนมัติ โดยจำเลยลบไฟล์ดังกล่าวออกจากอีเมล์ที่มีผู้ส่งให้เนื่องจากเห็นว่าไม่เหมาะสม จำเลยไม่ได้มีเจตนาจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ ตามฟ้อง

รายละเอียดการสืบพยานติดตามได้ที่  http://freedom.ilaw.or.th/case/112#detail

 

3. คำพิพากษาศาลชั้นต้นมีรายละเอียดอย่างไร

1. ข้อความทั้ง 10 ข้อความ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไอซีทีทำสำเนาลงในเอกสารนั้น เป็นข้อความที่มีการโพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไทจริงหรือไม่

เห็นว่า หัวกระดาษมีชื่อเว็บไซต์ประชาไทหลายจุด จำเลยมิได้ปฏิเสธชัดแจ้งเพียงแต่เบิกความลอยๆ ว่าไม่เคยเห็นข้อความดังกล่าว เอกสารดังกล่าวโจทก์ทำสำเนาขึ้นมาไม่ปรากฏมูลเหตุจูงใจที่ไอซีทีจะกลั่นแกล้งจำเลย เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลย และจำเลยยอมรับว่า 1   ใน 10   ข้อความนั้นอยู่ในเว็บบอร์ดจริง เนื่องจากตำรวจมีหมายเรียกจำเลยให้ไปตรวจสอบ และพบข้อความดังกล่าวจากนั้นจำเลยทำการปิดกั้นข้อความ จึงเชื่อว่าอีก 9 ข้อความที่เหลือซึ่งเข้าข่ายหมิ่นเป็นข้อความในเว็บบอร์ดจำเลยจริง

2. ปัญหาว่าจำเลยเป็นผู้นำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบหรือไม่

เห็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยเป็นผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวตามที่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษ (มาตรา 14(2) , 14(3) )

3. จำเลยจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด (มาตรา 15) ในเว็บบอร์ดหรือไม่ เห็นว่า

3.1 แม้การให้บริการเว็บบอร์ดไม่ใช้ชื่อจำเลยโดยตรง แต่การเป็นผู้อำนวยการของเว็บไซต์ประชาไท ก็อยู่ในความหมายของ “ผู้ให้บริการ” ตามกฎหมายกำหนด

3.2 จำเลยจะต้องรับผิดในข้อกล่าวหาหรือไม่

> ทางไอซีทีได้ส่ง URL เข้าข่ายหมิ่นให้ตำรวจดำเนินการหลายร้อยคดี ในจำนวนนี้พบ 9 ข้อความที่เป็นของเว็บบอร์ดประชาไท (ภายหลังตำรวจแจ้งเพิ่มเติมอีก 1 ข้อความ) เมื่อนำสู่คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คณะกรรมการฯ เห็นว่าข้อความเหล่านั้นเข้าข่ายความผิด 

> จำเลยเบิกความถึงความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ วันละ 20,000-30,000 คน การแสดงความเห็นในเว็บบอร์ดนับถึงเดือนต.ค.2551 มีผู้อ่านและแสดงความเห็นกว่าหนึ่งล้านข้อความแล้ว ซึ่งในจำนวนนี้มีข้อความที่หมิ่นเหม่ ไม่เหมาะสม ถูกปิดไปราวร้อยละ 3

> ส่วนที่เจ้าหน้าที่ไอซีทีเบิกความว่าเมื่อพบข้อความแล้วได้แจ้งจำเลย ก็ไม่ได้ระบุว่าแจ้งจำเลยโดยตรงหรือไม่ เมื่อไร แจ้งก่อนหรือหลังจากลบข้อความแล้ว

> แม้ตำรวจเบิกความว่าจำเลยรับว่ามีการนำข้อความดังกล่าวไปโพสต์ในเว็บบอร์ดก็เพียงรับว่ามีการนำข้อความไปลงเท่านั้น ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยจงใจหรือสนับสนุนให้มีการโพสต์ตามโจทก์กล่าวหา

> ข้อนำสืบของโจทก์เรื่องตรวจพบข้อความรูปภาพพาดพิงถึงสถาบันในฮาร์ดดิสก์โน้ตบุ๊คจำเลย ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยในคดีนี้ ทั้งข้อความและภาพดังกล่าวก็ไม่ได้โพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไท จึงเป็เรื่องไกลเกินเหตุที่จะนำมารับฟังว่าจำเลย “จงใจหรือสนับสนุน” ให้มีการลงข้อความ 10   ข้อความตามฟ้องในเว็บบอร์ด

4. ปัญหามีอยู่ว่า จำเลยปล่อยให้ข้อความอยู่ในเว็บบอร์ดนานต่างๆ กัน จะถือว่าจำเลย “ยินยอม” ให้มีการกระทำผิดหรือไม่

เห็นว่า  ลักษณะกระดานสนทนาย่อมไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ก่อนดังเช่นข้อมูลข่าวสารทั่วไป พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้บัญญัติชัดแจ้งเกี่ยวกับระยะเวลานับแต่เกิดการกระทำผิดว่า ควรมีระยะเวลานานเพียงใดจึงจะถือว่าผู้ให้บริการยินยอมให้มีการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน

นอกจากนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลเว็บดำเนินการแก้ไขกรณีที่มีการนำข้อความไม่เหมาะสมเข้าสู่ระบบของผู้ให้บริการในฐานะตัวกลางระหว่างผู้ใช้บริการในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

กรณีจะถือว่าผู้ให้บริการยินยอมให้มีการกระทำผิด โดยทันทีหลังจากมีการนำเข้าข้อความไม่เหมาะสมสู่ระบบของตัวกลางนั้น นับว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการ แต่ผู้ให้บริการเองจะอ้างว่าไม่ทราบว่ามีการกระทำผิดในพื้นที่ในความควบคุมของตนโดยไม่ได้คำนึงถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ดเพื่อให้พ้นความรับผิดและทำให้กฎหมายไม่มีสภาพบังคับนั้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ของจำเลย หากจำเลยเข้าไปตรวจสอบข้อมูล ซึ่งแต่ละกระทู้ก็เพียงสั้นๆ อ่านแล้วสามารถเข้าใจได้โดยง่ายว่ามีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 หรือไม่ หากปริมาณข้อความมีมากจนเกิดความสามารถของจำเลยก็เป็นหน้าที่ที่จะจัดหาลูกจ้างเพื่อช่วยดำเนินงาน เมื่อพิจารณาแล้ว น่าเชื่อว่า

หลังจากมีกระทำผิดควรจะใช้เวลาตรวจสอบและนำข้อความออกภายในระยะเวลาสมควร เพราะหากปล่อยนานอาจมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อไม่จบสิ้น เมื่อปรากฏว่าข้อความอยู่ในเว็บบอร์ดนาน 11, 13, 2, 2, 1, 3, 2, 1 วัน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยได้รู้ถึงการนำเอาข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในความควบคุมของจำเลยอันจะถือว่าเป็นความผิด

ส่วนข้อความที่อยู่ในเว็บบอร์ด 20 วัน เกินเวลาอันสควรที่จำเลยจะตรวจสอบพบ จึงเป็นการงดเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการภายในเวลาอันสมคาร หากไม่ได้รับหมายเรียกให้ไปให้ปากคำก็ไม่แน่ว่าข้อความดังกล่าวจะอยู่ในระบบอีกนานเพียงใด กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยให้ความยินยอมโดยปริยายในการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 

ที่นำสืบว่าเว็บไซต์ประชาไทมุ่งเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและส่งเสิมประชาธิปไตย ศาลก็ยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสะท้อนถึงธรรมภิบาลและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศหรือองค์กรนั้นๆ การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั้งด้านบวกและลบย่อมเป็นโอกาสในการนำไปปรับปรุงประเทศ องค์กร และตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้น แต่เมื่อจำเลยเปิดช่องให้มีการแสดงความเห็น จำเลยย่อมมีหน้าที่ในการรวจสอบข้อมูลที่อาจกระทบต่อความมั่นคงรวมทั้งสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 15 ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ คงจำคุก 8   เดือน ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้จำเลยมีโอกาสเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ โทษจำคุกจึงรอการลงโทษไว้ 1 ปี

 

4. จำเลยอุทธรณ์ประเด็นใด

ทั้งอัยการและจำเลยต่างอุทธรณ์คดี โดยจำเลยอุทธรณ์ในหลายประเด็น

- ทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานว่า เมื่อมีการโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ด จำเลยจะได้ทราบถึงข้อความดังกล่าวหรือมีการแจ้งเตือนให้จำเลยปิดกั้น ข้อเท็จจริงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยรับรู้และยินยอม

ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่ผู้ให้บริการอ้างว่าไม่ทราบว่ามีการกระทำผิดเพื่อให้หลุดพ้นความรับผิดและทำให้กฎหมายไม่มีสภาพบังคับนั้น เรียนว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กำหนดภาระหน้าที่ของผู้ให้บริการให้ต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่า 90 วัน โดยไม่ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องตรวจสอบหรือรับรู้ถึงเนื้อหาทุกข้อความ ทั้งยังไม่มีกฎระเบียบอื่นใดกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการหรือมาตรการในการกำกับดูแลเนื้อหาข้อมูลคอมพิวเตอร์แน่ชัด ทางนำสืบโจทก์ก็ไม่ได้สืบให้เห็นมาตรฐานทั่วไปอันถือเป็นมาตรฐานวิชาชีพได้

ดังนั้น การจะถือโดยปริยายว่าผู้ให้บริการต้องรับรู้หรือรับผิดชอบต่อทุกข้อควาที่มีผู้อื่นนำเข้าระบบย่อมเป็นการไม่เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการ

- มาตรฐานความรับผิดของผู้ให้บริการในสหภาพยุโรป ตัวกลางไม่ต้องรับผิดตราบเท่าที่ไม่รู้ว่ามีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายอยู่ และได้พยายามลบเนื้อหาเหล่านั้นทันทีที่ได้รู้ ส่วนในอเมริกาตัวกลางจะได้รับความคุ้มครองจนกระทั่งภายหลังจากที่ได้รับการแจ้งเตือนว่ามีเนื้อหาผิดกฎหมาย

- รายงานผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ที่นำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (2554) กล่าวถึงการควบคุมเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตและการกำหนดความรับผิดผู้เป็นสื่อกลางว่ารัฐหลายแห่งพยายามคุ้มครองผู้เป็นสื่อกลางโดยนำมาตรการต่างๆ ที่เรียกว่า “แจ้งและลบออก” มาใช้

- คณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรป สรุปว่า แนวทางที่มีประสิทธิผลที่สุดทางกฎหมายในการจัดการกับเนื้อหาผิดกฎหมายในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตควรมุ่งไปที่ผู้ให้บริการระดับ server รูปแบบที่ควรส่งเสริมต่อไปคือ การสร้างวัฒนธรรมแห่งการรับผิดชอบร่วมกัน 

- เคยมีการเชิญผู้ให้บริการรวมถึงจำเลยประชุม โดยไอซีทีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปแนวทางดำเนินการร่วมกันว่า หากผู้ดูแลเว็บเห็นข้อความไม่เหมาะสมให้อยู่ในวิจารณญาณของผู้ดูแลในการระงับการเผยแพร่ หากสตช.หรือไอซีทีเห็นว่าข้อความใดเข้าข่ายความผิดจะมีการประสานให้ผู้ดูแลเว็บปิดกั้น หากไม่ดำเนินการตำรวจจะทำหนังสือแจ้งเตือนไป หากยังเพิกเฉยจะดำเนินการตามกฎหมาย

- เว็บบอร์ดประชาไทมีนโยบายไม่ปิดกั้นความเห็นต่างแต่ต้องไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษของผู้อื่น ดำเนินการมาด้วยดีจนหลังรัฐประหารที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เว็บก็มีการปรับปรุงมาตรการดูแลอยู่ตลอดเวลาให้รับกับสภาวการณ์

- การตรวจสอบไม่ง่ายดังศาลเข้าใจ เนื่องจากกระทู้สั้นๆ ดังที่ศาลว่านั้น มีผู้ตอบกระทู้จำนวนมากซึ่งไม่อาจคาดหมายได้ว่าผู้กระทำผิดกฎหมายจะแทรกอยู่ในข้อความใด ทั้งไม่อาจเปรียบกับกรณีข้อความที่ตำรวจมีหมายเรียกให้จำเลยไปตรวจสอบ เมื่อพบจำเลยก็ทำการปิดกั้นทันที ทำให้ศาลเห็นว่าหากจำเลยทำหน้าที่ก็ทำได้ไม่ยากและหากไม่มีหมายเรียกก็ไม่รู้ว่าข้อความนั้นจะอยู่ในระบบนานเท่าใด ขอเรียนว่า กรณีนั้นมีความต่าง กรณีปกตินั้นต้องไล่ดูทั้งหมด หรือสุ่มดูข้อความที่สงสัยว่าอาจผิดกฎหมายเพื่อพิจารณาว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งใช้เวลานาน ไม่เหมือนที่ตำรวจเรียกไปตรวจสอบเนื่องจากมีวันที่ ชื่อกระทู้ ชื่อผู้โพสต์ โดยละเอียดอยู่แล้ว สามารถค้นหาเพื่อทำการปิดกั้นได้เลย จากข้อเท็จจริงข้างต้น เรียนว่า จำเลยไม่ได้งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ผู้ให้บริการ และได้ทำหน้าที่ตามมาตรฐานสากลมาโดยตลอด

- ในคดีอาญา โจทก์เป็นผู้กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำผิดย่อมมีหน้าที่ในการนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ประเด็นในคดีนี้เมื่อไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติ หรือมีระเบียบ ประกาศกำหนดไว้โดยแน่ชัดถึงภาระหน้าที่ หรือหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติในการกำกับดูแลเนื้อหาของผู้ให้บริการ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบถึงมาตรฐานทั่วไปที่ผู้ให้บริการพึงปฏิบัติ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้มีพยานมานำสืบว่า การทำหน้าที่ดูแลเว็บบอร์ดของประชาไทไม่ได้มาตรฐานทั่วไปอย่างไร ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยงดเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็น “การยินยอมโดยปริยาย" นั้น จำเลยเห็นว่าเป็นการที่ศาลชั้นต้นอาศัยข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยมาวินิจฉัย เป็นการรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้แก่พยานหลักฐานโจทก์อันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลย ย่อมไม่ชอบด้วยหลักการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา

- มาตรา 15 ผู้ให้บริการจะรับผิดต่อเมื่อกระทำโดยเจตนา รับรู้ถึงการที่ผู้อื่นกระทำความผิดในระบบที่ตนควบคุมดูแล แต่เพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขหรือปิดกั้นข้อความนั้น คดีนี้ทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้รับรู้หรือรับแจ้งจากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดถึงข้อความดังกล่าว หากศาลชั้นต้นจะฟังได้ว่า การดูแลเว็บบอร์ดของจำเลยยังไม่เพียงพอตามที่ควรจะเป็น กรณีก็คงถือได้ว่าจำเลยเพียงบกพร่องในการทำหน้าที่เท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนายินยอมให้มีการกระทำผิด

 

5. ปัญหาของมาตรา 15 มีอะไรบ้าง 

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

 

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอม ให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา 14

 

สำหรับข้อบกพร่องของมาตรา 15 เครือข่ายพลเมืองเน็ตเคยนำเสนอไว้ ดังนี้

ข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

คดีของจีรนุชชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ดังนี้

1. ภาระของ "ท่อ"

มาตรา 15 ปฏิบัติกับผู้ให้บริการ หรือ "ตัวกลาง" (intermediary: เช่น ศูนย์ข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บบอร์ด บล็อก) เสมือนหนึ่งเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ผู้มีทั้งหน้าที่และความสามารถในการคัดกรองเนื้อหาทั้งหมดก่อนตีพิมพ์ แต่คุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์เช่นทุกวันนี้คือ ข้อมูลทุกอย่างไหลผ่านอย่างรวดเร็ว ตัวกลางจึงเป็นเพียง "ท่อข้อมูล" หรือช่องทางผ่านของเนื้อหาเท่านั้น (mere conduit) หากผู้บังคับใช้กฎหมายไทยจะถือว่าตัวกลางต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลและเนื้อหาทั้งหมดที่ผ่านตัวกลางแล้ว นั่นย่อมหมายความว่า ตัวกลางจฟะต้องกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมดก่อนการเผยแพร่ ซึ่งด้วยความเร็วและปริมาณข้อมูลจำนวนมาก สิ่งดังกล่าวยากที่จะทำให้เป็นไปได้ โดยไม่กระทบกับการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

2. ท้องที่เกิดเหตุ "ทั่วราชอาณาจักร"

มาตรา 15 อ้างถึงความผิดอาญาตามมาตรา 14 โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิด "ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา" ซึ่งรวมถึงความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ การเป็นความผิดอาญาทำให้บุคคลใดก็ได้สามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ และการเข้าถึงจากที่ใดก็ได้ของเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต ทำให้การแจ้งความเป็นไปได้จากทุกพื้นที่ ซึ่งเปิดโอกาสให้กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันได้ เช่นเดียวกับที่มีการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาไปแจ้งความในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างความยากลำบากแก่ผู้ถูกฟ้องโดยไม่มีเหตุอันควร3

3. ตัวกลางกลายเป็น "แพะ"

ในการดำเนินคดีกับ "ตัวกลาง" ดังเช่นในคดีของจีรนุชทั้งสองคดีนั้น ยังไม่มีการตัดสินโดยศาลว่าข้อความที่ถูกแจ้งนั้นเป็นข้อความที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่ามีผู้โพสต์ข้อความเพียงรายเดียวที่ถูกดำเนินคดี และคดียังไม่สิ้นสุด ซึ่งในกระบวนการสอบสวนเกี่ยวกับผู้โพสต์รายนี้นั้น เว็บไซต์ประชาไทได้ให้ความร่วมมือตามที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง สำหรับผู้โพสต์ข้อความอื่น ๆ รัฐต้องไม่พยายามเอาผิดกับตัวกลาง เมื่อได้รับความร่วมมือแล้วแต่ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดตัวจริงได้

ภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายและต่อสู้คดีที่ต้องใช้ทรัพยากร รวมถึงเวลาเดินทางอันยาวนาน ประกอบกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐมุ่งเน้นการจับกุมตัวกลาง ทำให้ตัวกลางต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเกินสัดส่วนที่สมเหตุผล นำไปสู่แนวโน้มที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเกินความจำเป็น โดยยึดหลัก "ลบเกินไว้ก่อนปลอดภัยกว่า" หรือกำจัดภาระทั้งหมดโดยการยกเลิกพื้นที่สำหรับเนื้อหาที่ผู้ใช้ผลิตเอง (user-generated content) เช่นการปิดบริการเว็บบอร์ด ซึ่งสร้างผล กระทบกับผู้ใช้จำนวนมากที่ไม่ได้กระทำความผิด

เราต้องไม่ลืมว่าโครงการเช่น วิกิพีเดีย และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นได้เพราะคุณลักษณะของอินเทอร์เน็ตที่เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ผู้อ่านสร้างเนื้อหาได้เอง อย่างรวดเร็ว จากทุกสถานที่ แต่การควบคุม จำกัดสิทธิ และบีบพื้นที่ตัวกลางลง เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการสร้างสรรค์นวัตกรรม จะทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์

ข้อยกเว้นความรับผิด (Safe Harbour)

ในประเทศที่กฎหมายเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะมีการกำหนดข้อยกเว้นความรับผิด (safe harbour) หรือการถือว่าตัวกลางเป็นผู้บริสุทธิ์โดยปริยายในขณะที่ยังไม่สามารถพิสูจน์เจตนาการกระทำความผิดได้ เนื่องจากตัวกลางคือพื้นที่ที่โดยปกติไม่มีส่วนรู้เห็น หลักการนี้จึงมีไว้เพื่อคุ้มครองตัวกลางจากภาระทางกฎหมายที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ไม่ได้ให้เสรีภาพแก่ตัวกลางจนเกินขอบเขต เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งตัวกลางเมื่อพบเนื้อหาที่เป็นความผิด และขออำนาจศาลเพื่อสั่งให้มีการลบเนื้อหานั้นได้ (notice and take down) ทั้งนี้ต้องเป็นไปในระยะเวลาที่เหมาะสม4

ข้อเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ในปัจจุบัน เป็นไปในลักษณะคุกคามเพื่อบีบพื้นที่ "ตัวกลาง" อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

เครือข่ายพลเมืองเน็ตจึงเห็นว่า มาตรา 15 ของกฎหมายฉบับนี้ เป็นบทบัญญัติที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง จึงเสนอให้พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ดังนี้

1.พิจารณาและปฏิบัติกับ "ตัวกลาง" ในฐานะที่เป็นเพียงทางผ่านของข้อมูล (ท่อ) หรือเป็นเพียงที่พักข้อมูลแบบอัตโนมัติ (cache/buffer) และเข้าใจถึงธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลไหลผ่านตัวกลางอย่างรวดเร็ว จนไม่อาจกลั่นกรองหรือควบคุมได้ในทางที่คุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์

2.ถือว่าตัวกลางนั้นบริสุทธิ์โดยปริยาย (by default) โดยตระหนักว่าตัวกลางนั้นเป็นเพียงทางผ่านของข้อมูลเท่านั้น จนกว่าจะมีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า ตัวกลางมีเจตนาสนับสนุนหรือสมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด และจึงนำมาสู่การพิสูจน์ในชั้นศาล

3.หากศาลยังไม่ตัดสินว่า ข้อความที่เป็นปัญหานั้นผิดกฎหมายจริง และ/หรือ ผู้กระทำการตามมาตรา14 (ผู้โพสต์ข้อความ) มีความผิดจริง จะยังเริ่มดำเนินคดีกับตัวกลางตามมาตรา 15 ไม่ได้

4.หากศาลตัดสินแล้วว่า ตัวกลางมีเจตนากระทำความผิดจริง โทษที่ตัวกลางต้องรับ จะต้องมีการแยกแยะแตกต่างหนักเบา ระหว่าง ทำเอง, สนับสนุน, ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ตามหลักสัดส่วน

5.ต้องมีการบัญญัติข้อกำหนดลายลักษณ์อักษรเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ว่าด้วยหลักการแจ้งลบข้อความที่ผิดกฎหมาย (notice and takedown procedure) เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe harbour) ให้กับตัวกลาง เช่น เมื่อผู้ดูแลเว็บได้รับจดหมายจากเจ้าหน้าที่ว่ามีข้อความผิดกฎหมาย แล้วไม่ลบภายในเวลาอันสมเหตุผลตามที่กำหนด จึงอาจถูกพิจารณาว่ามีความผิด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net