Skip to main content
sharethis
จัดพิธีเผาหุ่นฟางปลอดประสพ-บรรหาร ชี้เป็นผู้สนับสนุนเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมอ่านคำประกาศยืนยันจะคัดค้านเขื่อนสืบต่อไป ชั่วลูกหลาน เหมือนที่คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมายาวนานกว่า 20 ปี
 
 
 
7 พ.ย.56 คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ร่วมกับชาวบ้านใน ต.สะเอียบ รวมตัวกันที่ศาลเจ้าพ่อหอแดงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตำบล หน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสะเอียบ จัดกิจกรรมเผาหุ่นฟางที่มีรูปภาพของ ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา โดยระบุว่าเป็นผู้สนับสนุนเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น
 
กิจกรรม มีการอ่านคำประกาศ คัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น จากนั้นประกอบพิธีสงฆ์แล้วเผาหุ่น ก่อนจะสลายตัวไป
 
 
ต่อเนื่องจาก การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2556 ซึ่งมีนายปลอดประสพ เดินทางมาร่วมและกล่าวว่าเขื่อนทั้งสองไม่สร้างผลกระทบกับชาวสะเอียบ สร้างความไม่พอใจแก่ชาวสะเอียบ จนทำให้การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกิดความวุ่นวายขึ้น
 
 
คำประกาศ คัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น
 
พวกเราชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนยมบน(อ่างเก็บน้ำแม่น้ำยมตอนบน) โครงการเขื่อนยมล่าง (อ่างเก็บน้ำแม่น้ำยม) ซึ่งคือเขื่อนแก่งเสือเต้นแบ่งออกเป็น 2 เขื่อน ขอประกาศยืนยันคัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จนถึงที่สุด
 
เขื่อนยมล่าง สูง 54.5 เมตร ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม หากเกิดแผ่นดินไหวเขื่อนแตกมาคงตายกันทั้งเมืองแพร่ น้ำท่วมยาวเข้าไปในอุทยานแห่งชาติแม่ยมรวม 34.5 กิโลเมตร กักเก็บน้ำ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ท่วมพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่ยม ป่าสักทอง รวมทั้งที่ทำกินของชาวสะเอียบ รวมกว่า 20,000 ไร่ ใหญ่กว่าเขื่อนแม่วงก์เกือบ 2 เท่า แต่ กบอ. เรียกว่าอ่าง
 
เขื่อนยมบน สูง 40 เมตร ท่วมบ้านแม่เต้น และป่าเบญจพรรณในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ยาวไปจนถึงอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งอีก 11 หมู่บ้านจะได้รับผลกระทบเรื่องที่ทำกินเช่นกัน แต่ชาวเชียงม่วนยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลเลย ความยาวของอ่างเก็บน้ำยาวไปถึง 40 กิโลเมตร กักเก็บน้ำที่ 258 เมตร รทก. จุน้ำ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร แตกมาคงตายกันทั้งอำเภอสอง จังหวัดแพร่
 
พวกเราได้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมายาวนานกว่า 20 ปี และยืนยันที่จะคัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง สืบต่อไป ทั้งนี้พวกเราได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 แนวทาง เสนอไปหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐมนตรี ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ทำไมผู้มีอำนาจจึงไม่นำไปพิจารณา พวกเราสนับสนุนการจัดการน้ำชุมชน การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ซึ่งหากพัฒนาลำน้ำสาขา เราจะมีพื้นที่กักเก็บน้ำกระจายอยู่ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม และสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า อีกทั้งยังทำลายป่าและชุมชน น้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่อีกด้วย เพียงข้อเสนอเดียวนี้ก็สมควรแก่การยกเลิกเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ได้แล้ว
 
พวกเราคัดค้านด้วยเหตุด้วยผล พร้อมเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหา 12 แนวทาง หากรัฐบาล กบอ. ดึงดันที่จะผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ต่อไป พวกเราก็ขอใช้สิทธิ์ของพวกเราในการคัดค้านเขื่อนเหล่านี้ต่อไป ชั่วลูกชั่วหลาน เหมือนดั่งที่เราคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมายาวนานกว่า 20 ปี
 
ด้วยจิตรคารวะ
 
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
หยุดทำลายป่าสักทอง หยุดทำลายอุทยานแห่งชาติแม่ยม หยุดทำร้ายชุมชน หยุดผลาญงบประมาณแผ่นดิน
หยุดเขื่อนยมบน หยุดเขื่อนยมล่าง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น
 
 
ภาพ: ชาวบ้านใน ต.สะเอียบ หลายร้อยคน ร่วมเวทีรับฟังฯ และมีการถือป้ายผ้า คัดค้านการก่อสร้าง เขื่อนแก่งเสือต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ชาวบ้าน ต.สะเอียบ ที่เดินทางมาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ก็ได้กันยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้น ต่อประธานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ โดย หนังสือดังกล่าว ระบุเหตุผล 8 ประการ ที่ไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง อีกทั้งระบุแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 ข้อ ดังนี้  
 
 
 

เหตุผล 8 ประการที่ไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง

            1. ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง จุน้ำได้เพียงครึ่งเดียว ยิ่งไม่มีทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เลย
 
            2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน ส่วนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างนั้น ยิ่งใช้งบประมาณมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก จึงไม่มีทางที่จะคุ้มทุนได้
 
            3. ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยาน แห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็กระทบต่อพื้นที่เดียวกันนี้ เพราะเป็นการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองตอน สองเขื่อนนั่นเอง
 
            4. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งจังหวัดแพร่มีป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในโลก จึงไม่ควรทำลาย หันมาพัฒนาอุทยานแม่ยม รักษาป่าสักทอง พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าการทำลาย
 
            5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่นๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งไม่ต้องสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง
 
            6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้เช่นกัน
 
            7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็ตั้งอยู่บริเวณแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกเช่นกัน กระทบทั้งรอยเลื่อนแพร่ และรอยเลื่อนแม่ยม
 
            8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง เป็นต้น
 

แนวทางแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 ข้อ

1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งมวลมนุษยชาติ อีกด้วย
 
2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น
 
3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า
 
4.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนให้ทุกชุมชนได้พัฒนา ฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำชุมชน ให้ องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแผนการจัดการน้ำชุมชน ใช้สะเอียบโมเดลเป็นแผนการจัดการน้ำชุมชนต้นแบบ
 
5.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ซึ่งกรมชลประทานสำรวจพบแล้ว 26 จุด ซึ่งสามารพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
6.ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
 
7.พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะสามารถลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฝนตกที่ไหนน้ำเข้าที่นั่น กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำ ไม่ไช่รอให้ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้
 
8.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
9.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน
 
10.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ
 
11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
 
12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม
 
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 
 
 
ทั้งนี้ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ตามแผนโมดูล  A1 มีผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธาน  โดยตามแผน จังหวัดแพร่ จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแม่แลง ต.เวียงต้า อ.ลอง อ่างเก็บน้ำแม่น้ำยมตอนบน ต.สะเอียบ อ.สอง และอ่างเก็บน้ำแม่น้ำยม ต.เตาปูน อ.สอง
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net