นักปรัชญาชายขอบ: เมื่ออำนาจใหม่บังอาจเจริญรอยตามนิรโทษกรรมแบบอำนาจเก่า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
ในสถานการณ์บ้านเมืองสับสน โลกโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก เป็นเหมือนโลกอีกใบหนึ่งที่เราได้ระบาย และถกเถียงแลกเปลี่ยน แม้บางครั้งจะกระทบกระทั่งกันหนักบ้างเบาบ้าง ก็ไม่ว่ากัน เป็นธรรมดาใน “ยุคสมัยวิกฤตภูมิปัญญา” ที่เรากำลังเผชิญอยู่ แต่โดยรวมแล้วหากตัดส่วนเล็กน้อยที่เกี่ยวกับลีลาท่าทีหรืออารมณ์ออกไป เราก็อาจได้สิ่งที่เกิดประโยชน์มากว่า แม้แต่คนที่ด่าเรา หากการด่านั้นมี “เหตุผล” ก็ถือว่ามีประโยชน์
 
ขอยกเรื่องที่น่าจะมีประโยชน์จากการวิเคราะห์ของ Pathai Pudha's status. (ซึ่ง อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริแชร์มาอีกที) บางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้
 
การนิรโทษ
เป็นสนามช่วงชิงแดนกัน
ระหว่างอำนาจเก่า อำนาจใหม่
+ + + + + 

ในอาณาอำนาจเก่า ที่ผ่านมา
อำนาจเก่า เคยออก พ.ร.บ.นิรโทษมาหลายครั้งแล้วก็จริง
แต่เป็นนิรโทษให้แก่พวกตัวเอง พวกลูกน้องของตนเอง
อำนาจใหม่ จะทำในสิ่งเดียวกัน ก็เป็นการชิงแดนอำนาจ

เพราะอำนาจเก่าเขาเป็นผู้จับ/จองจำ/ทำโทษ พวกของอำนาจใหม่
ถึงขั้นขอแลกตัวประกันด้วยคำว่า "นิรโทษทุกสีเสื้อ"
มันก็ยังเป็นข้อต่อรองที่ไร้ค่า ฟังน่าขันสำหรับอำนาจเก่า
เพราะพวกเสื้อเหลืองที่ยึดทำเนียบยึดสนามบิน 
ไม่ได้ถูกจับ/จองจำ/คุมขัง…


 
หากย้อนประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลา, ๖ ตุลา, พฤษภา ๓๕ ที่นักศึกษาประชาชนถูกปราบปรามบาดเจ็บล้มตายกันเป็นเบือ “อำนาจเก่า” ก็นิรโทษกรรมแก่พวกตนเองทั้งนั้น
 
เพราะอำนาจเก่า “ทำอะไรไม่ผิด” มาตลอดจึงทำให้เกิดเอกลักษณ์ของรัฐไทยดังที่เบเนดิก แอนเดอร์สันเรียกว่า “ฆาตกรรมทางการเมืองด้วยน้ำมือกลุ่มผู้ปกครองเป็นบุคลิกปกติของเมืองไทย”
 
และกลุ่มผู้ปกครองก็ทำ “ฆาตกรรมกลางเมือง” บนฐานคิดที่ต้องการรักษาอำนาจของพวกตนไว้โดยไม่สนใจว่าประชาชนต้องตายกันเท่าไร ดังข้อสังเกตของป๋วย อึ้งภากรณ์
 
... เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษาและประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในตุลาคม ๒๔๑๖ เมื่อมีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่าถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ และได้สืบเจตนานี้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในการเลือกตั้งเมษายน ๒๕๑๙ ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า “สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์” และกิตติวุฑโฒนวพลภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาป” ถึงแม้ในกันยายน-ตุลาคม ๒๕๑๙ เองก็ยังมีผู้กล่าวว่า การฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก ๓๐,๐๐๐ คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก
 
ความพ่ายแพ้ของทักษิณและพรรคเพื่อไทยวันนี้อาจไม่เกิด หากดำเนินการไปตามร่าง พ.ร.บ.ของวรชัย เหมะ ที่พวกตนยกมาโต้ข้อกล่าวหา “ล้างผิดคนโกง” มาโดยตลอด แต่พอลักไก่ไปนิรโทษกรรม “(ไม่)เหมาเข่ง” (ที่ไม่มีคดี 112 อยู่ในเข่ง) ทำให้ข้อกล่าวหา “ล้างผิดคนโกง” เป็นจริงขึ้นมาทันที
 
ข้อโจมตีมาตลอดที่ว่า “ทักษิณไว้ใจไม่ได้” ของฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นจริงอย่างเถียงไม่ได้ ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นมันทำให้ความไม่มั่นใจว่าทักษิณและเพื่อไทยจะเป็นที่ไว้วางใจได้ของมวลชนเสื้อแดงที่ต้องการประชาธิปไตย มันชัดแจ้งแดงแจ๋ว่าทักษิณและเพื่อไทยไว้ใจไม่ได้จริงๆ และไม่รู้ว่าจะให้พวกเขาเชื่อถืออีกต่อไปได้อย่างไร
 
การเดินตามรอยนิรโทษกรรมแบบอำนาจเก่าทำไว้ รัฐบาลประชาธิปไตยต้องไม่ทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อคุณปฏิเสธ “รัฐประหาร” คุณจะเดินรอยตามความไม่ถูกต้องที่รัฐประหารทำไว้ได้อย่างไร ยิ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการสละชีวิตเลือดเนื้อและอิสรภาพของประชาชน ยิ่งต้องสร้างบรรทัดฐานให้ความยุติธรรมกับพวกเขาตามครรลองประชาธิปไตยและหลักมนุษยธรรม
 
นอกจากไม่ชอบธรรม ยังแสดงให้เห็นว่าในความเป็นจริงอำนาจใหม่ไม่มีทางจะ “ทาบรอย” ทำตามอำนาจเก่าได้เลย ที่แย่กว่านั้นคือการประกาศ “ถอย” ของพรรคเพื่อไทย ที่สั่งให้ ส.ส.ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกร่าง โดยไม่มีทางออกว่าจะช่วยให้นักโทษการเมืองที่อยู่ในคุกได้รับอิสรภาพอย่างไร ยิ่งแสดงถึงการ “ไม่รับผิดชอบ” และ “ขาดมนุษยธรรม” ของพรรคเพื่อไทยอย่างไม่น่าเชื่อ
 
แต่จะอย่างไรก็ตาม การ “เป่านกหวีด” ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เรียกรวมพลปัญญาชนเดินขบวนต้าน “(ไม่) เหมาเข่ง” แต่กลับเน้นวาทกรรม “ต้านการล้างผิดคนโกง” เป็นด้านหลัก (ตามพรรคประชาธิปัตย์) โดยแทบจะไม่พูดถึงปัญหาการปล่อย “ฆาตกร” สังหารประชาชนให้ลอยนวล และไม่เรียกร้องความยุติธรรมแก่ “นักโทษการเมือง 112” เลย ก็ไม่ได้สะท้อนเสียงแห่ง “มโนธรรมทางสังคม” ที่เที่ยงตรงเลย
 
มิพักต้องเอ่ยถึงว่า ในอดีตผู้บริหารเหล่านี้ก็ไม่ได้ออกมาต้านรัฐประหาร นอกจากไม่ต้านรัฐประหารแล้ว ยังมีบางคนไปเป็น “เนติบริกร” ให้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารอีก อีกทั้งในอดีตมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ไม่เคยเป่านกหวีดต้านการนิรโทษกรรมให้พวกเดียวกันของกลุ่มอำนาจเก่าเลย
 
จึงยังยากจะเชื่อมั่นได้ว่า หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมี “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” เป่านกหวีดต้านรัฐประหารแบบที่ทำกันในขณะนี้หรือไม่
 
ที่พูดนี้ไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยกับการต้าน “(ไม่) เหมาเข่ง” เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ แต่ว่า ควรสื่อสารออกมาอย่างมี “มโนธรรมทางสังคม” ที่เที่ยงตรง ให้สาธารณะรับรู้ว่ามหาวิทยาลัยต้าน “ทุกฝ่าย” ทั้งฝ่ายนักการเมืองและอำมาตย์หรือใครก็ตามที่ทำผิดหลักการประชาธิปไตย
 
การถอยของรัฐบาลเพื่อไทย อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า การเมืองของนักการเมืองนั้นแม้จะเลวร้ายสักเพียงใด ก็ยังอยู่ในการตรวจสอบควบคุมได้ของประชาชน แต่ “การเมืองที่มองไม่เห็น” นั้นยากที่จะควบคุม
 
ถ้าสังคมเรายังมี “การเมืองที่มองเห็น” ที่ตรวจสอบควบคุมได้ กับ “การเมืองที่มองไม่เห็น”  หรือมีอำนาจใหม่ อำนาจเก่าคู่ขนานกันไปอยู่แบบนี้ โดยอำนาจใหม่ไม่สามารถเป็น “อำนาจนำ” ในทางประชาธิปไตยได้ นึกไม่ออกว่าปัญหาขัดแย้งจะดำเนินต่อไปอย่างไร
 
ยิ่งถ้าใน “ระยะเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน” เช่นนี้ หากอำนาจใหม่ไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างมั่นคง และทุ่มสุดตัวจริงๆ ที่จะสร้างระบบสังคมการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็ยากที่สังคมจะอยู่ในครรลองของการแก้ปัญหาขัดแย้งต่างๆ ด้วยสันติวิธีตามวิถีทางประชาธิปไตยได้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท