Skip to main content
sharethis

8 พ.ย. 2556 - สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แถลงผลการสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยประจำปี 2555/2556และประมาณการปี 2557 (ICT Market 2012/2013& Outlook 2014)  ซึ่งนายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(SIPA) กล่าวว่า ในส่วนของ SIPA ในปีนี้ ได้ทำการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นปีที่สอง ซึ่งได้มีการปรับปรุงวิธีการศึกษา ขอบเขตการศึกษา และกรอบนิยามในตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ รวมทั้งซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว ให้มีความชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลการสำรวจที่น่าเชื่อถือซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดจนได้มีการสำรวจบุคลากรด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ภายในองค์กร(in-house) เป็นปีแรกด้วย

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงผลการสำรวจว่าในปี 2555 ภาพรวมของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทย มีมูลค่าการผลิตเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 31,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึงร้อยละ 24.0  โดยจำแนกเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่มีมูลค่าการผลิต 5,877 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 24.7 และบริการซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่าการผลิต 26,102 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 23.9 ขณะที่ ซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว มีมูลค่าการผลิต 4,218 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 5.4

ส่วนในปี 2556 ประมาณการเบื้องต้นว่า ตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยจะมีมูลค่าการผลิตในประเทศไทยกว่า 39,096 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 22.2  โดยจำแนกเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่มีมูลค่าการผลิตประมาณ 7,962 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 35.5 และบริการซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่าการผลิตประมาณ 31,134 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 19.3 ทั้งนี้ การเติบโตที่ต่อเนื่องของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยเป็นผลจาก สภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการเติบโตในช่วงหลังจะชะลอตัวลงบ้าง และทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  (ICT) เพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้นนอกจากการผลิตเพื่อจำหน่ายแล้วยังพบว่าในปี 2555 มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้ภายในองค์กร (in-house) อีกอย่างน้อย 686.3 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 12.2

สำหรับตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวนั้น มีมูลค่าการผลิต 4,886.7 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 15.9 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

สำหรับมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในปี 2557 นั้น คาดการณ์เบื้องต้นว่า จะมีมูลค่าประมาณ 44,026 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 12.6  และสำหรับตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวในปี 2557 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 5,864 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 20

ในด้านการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์นั้น ประเทศไทยยังคงมีการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไม่มากนัก โดยในปี 2555 มูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยอยู่ที่817 ล้านบาทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.6 ของมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ทั้งหมด  โดยจำแนกเป็นมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 242 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ 575 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวค่อนข้างมาก โดยในปี 2555 มีมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว 1,742 ล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.3 ของมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net