นักวิชาการ-นักกิจกรรมร่วมเสวนาหน้าโรงงานบ.จอร์จี้

นักวิชาการ-นักเคลื่อนไหวในเชียงใหม่ ร่วมถกหน้าโรงงานบ.จอร์จี้ ในโอกาสที่มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ ถือเป็นสหภาพแรงงานแห่งที่ 5 ในเชียงใหม่ หลังจากที่เกิดข้อพิพาทระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง
 
9 พ.ย. 56 เวลา 17.00 น. บริเวณด้านหน้าบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ในโอกาสที่มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ขึ้น ซึ่งถือเป็นสหภาพแรงงานแห่งที่ 5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดเสวนาวิชาการหน้าโรงงาน โดยมีนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานเข้าร่วม ได้แก่ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สุกานตา สุขไผ่ตา นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน, สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน, เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ นักวิจัยอิสระ, ตัวแทนคนงานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ จ.ลำพูน ร่วมเป็นวิทยากรพูดคุยเสวนา และมีภัควดี วีระภาสพงษ์ ดำเนินการเสวนา
 
 
เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ กล่าวว่าสหภาพแรงงานเป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานในการเรียกร้องสิทธิพื้นฐานที่ควรมีควรได้ ในฐานะที่แรงงานไม่ใช่เครื่องจักร เช่นเดียวกับปัญหาเกษตรกรรายย่อยที่ตนเคยทราบ ซึ่งมักจะเป็นหนี้สินกับธกส. เด็กที่เรียนหนังสืออยู่ก็ต้องไปกู้หนี้กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) พ่อแม่ลูกจึงเป็นหนี้หมด แล้วมหาลัยก็บอกว่าออกไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน แต่หลายคนก็กลายเป็นคนงานในนิคมฯ ลำพูน 
 
การมีสหภาพแรงงานของที่นี่จึงไม่ได้สำคัญเฉพาะต่อคนที่นี่ แต่สำคัญต่อลูกหลานในอนาคต ที่อาจจะต้องเข้าสู่โรงงาน ในท่ามกลางการพัฒนาสังคมทุนนิยมที่ต้องมีผู้ใช้แรงงานมากขึ้น กลุ่มคนต่างๆ ต้องมีการรวมกลุ่ม เพราะคนระดับล่างไม่ได้มีอำนาจ แต่มีจำนวนเยอะ จึงต้องรวมกลุ่มกันต่อรองปัญหาต่างๆ เช่น กลุ่มเกษตรกรต่อรองปัญหาที่ดิน หนี้สิน หรือราคาพืชผล การรวมกลุ่มจึงมีส่วนทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้
 
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ กล่าวว่าแรงงานเป็นส่วนสำคัญที่สุดในสังคมปัจจุบัน เพราะในสังคมอุตสาหกรรมนั้น คนส่วนใหญ่เลี้ยงชีพจากการเป็นคนงาน โดยคนงานเป็นผู้ที่สร้างความร่ำรวยและมั่งคั่งให้กับสังคม เวลาเราบอกว่าปีนี้เศรษฐกิจดีมาก มันแปลว่าคนงา นทำงานหนัก แต่ปัญหาคือคนงานเมื่ออยู่ในโรงงาน สิ่งเดียวที่มีคือการขายกำลังแรงงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานร่างกายหรือแรงงานสมอง เพื่อแลกกับเงินเดือนหรือค่าจ้าง โดยนายทุนมีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น ที่ดิน โรงงาน วัตถุดิบ แต่นายทุนไม่มีแรงงานของมนุษย์ คนงานจึงไม่ได้พึ่งพานายทุน แต่นายทุนต้องพึ่งพาคนงานต่างหาก
 
อย่างในกรณีโรงงานจอร์จี้ ทำไมเจ้าของโรงงานชาวแคนาดา ถึงต้องมาตั้งโรงงานถึงสันกำแพง ไม่ผลิตในแคนาดาเลย ก็เพราะนายทุนต้องวิ่งหาคนงาน ต้องมาง้อคนงาน การผลิตสินค้าต่างๆ ต้องมีแรงงานของมนุษย์ ที่มีชีวิตเลือดเนื้อในการผลิต แรงงานของมนุษย์เป็นสิ่งที่คนงานเป็นเจ้าของ ไม่ใช่นายทุนเป็นเจ้าของ อำนาจของแรงงานจึงมีมากกว่านายทุนเสมอในแง่นี้ สินค้าต่างๆ ก็เป็นผลผลิตของแรงงานที่ขายให้นายทุน ไม่ใช่ผลผลิตของเครื่องจักร เพราะเครื่องจักรอย่างเดียวมันทำงานไม่ได้ ถ้าไม่มีคนเปิดปิด ไม่มีคนทำงานในโรงแรม ไม่มีคนทำงานตามห้างร้านค้าต่างๆ ลำพังเจ้าของเงินก็สร้างความร่ำรวยเองไม่ได้ 
 
แต่ความต้องการของคนงานกับของนายทุนมีความขัดแย้งกัน คนงานอยากได้เงินค่าแรง ได้สวัสดิการที่ดี ได้การจ้างงานที่มั่นคง แต่นายทุนทั่วโลกต้องการกำไร ทำให้เกิดแนวโน้มการกดค่าแรง และพยายามรีดเอาแรงงานของคนงานออกมาให้ได้มากที่สุด นายทุนจึงหาทางเอาเปรียบคนงานให้ได้มากที่สุด ถ้าคนงานไม่ต่อสู้ นายทุนก็จะทุกวิถีทางบิดแรงงานให้มีมูลค่ามากที่สุด แม้แต่การมานั่งคุมหน้าห้องน้ำ การห้ามคนงานพัก หรือการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน การรวมกลุ่มกันของแรงงานจึงเป็นวิธีการเดียวที่คนงานจะต่อสู้ และเป็นพลังที่สำคัญที่สุดของคนงาน การมีสหภาพแรงงานจึงเป็นการเตรียมตัวเพื่อจะตอบโต้กับการเอาเปรียบของนายทุน เป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ของแรงงานเอง และใช้ทวงบุญคุณที่แรงงานมีต่อนายทุน
 
 
สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ กล่าวว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศไทย อายุราว 60 กว่าปี และเคยรุ่งเรืองมากในอดีต แต่เริ่มน้อยลงในปัจจุบัน เพราะย้ายไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เขมร หรือตามชายแดน โดยอุตสาหกรรมพวกนี้จะขยับไปหาค่าจ้างราคาถูก แทนที่จะจ่าย 300 บาท ก็ไปหาพื้นที่ที่ค่าจ้างถูกกว่านี้ แม้แต่อุตสาหกรรมที่ดูเฟื่องฟูในวันนี้ เช่น อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์ แต่วันหนึ่งนายทุนก็ต้องวิ่งหาพื้นที่ใหม่ที่จะทำให้มีกำไรมากที่สุด 
 
ความตั้งใจของนายทุนกับคนงานจึงต่างกัน อย่างบริษัทก็สู้ทุกอย่างเพี่อคงผลกำไรเอาไว้ คนงานก็ต้องสู้ แต่ปัญหาคือคนงานสู้ๆ ไปสักพัก ก็อาจจะเบื่อแล้ว สู้ไม่ชนะสักที ที่ต่อสู้มาก็จะหายไป แต่นายทุนเขาไม่มีทางบอกว่าไม่สู้ดีกว่า ยอมจ่ายแล้วกลับบ้าน ความตั้งใจความยึดมั่นของเขาจึงแรงและเข้มข้นกว่า การต่อสู้ของคนงานจึงต้องมีความตั้งใจและยึดมั่นในการต่อสู้  สหภาพแรงงานนั้นจึงเป็นแค่ชื่อ เป็นแค่องค์กร ไม่ได้มีรูปร่าง แต่รูปร่างก็คือพวกเราคนงาน จิตวิญญาณของสหภาพแรงงานก็คือพวกเรา ความต้องการที่จะต่อสู้ 
 
สุชาติกล่าวถึงสถานการณ์ของคนงานจอร์จี้ จากเดิมที่เคยทำงานวันละ 7.5 ชั่วโมง แต่กำลังโดนบีบให้ทำวันละ 8 ชั่วโมง เท่ากับค่าจ้างลดลงไป ชั่วโมงเพิ่มแต่ทำงานได้วันละ 307 บาทเท่าเดิม แล้วงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอบางอย่าง คนงานเย็บเสื้อผ้าไม่ได้ทั้งตัว บางคนเย็บแขน บางคนเย็บปก เย็บรังดุม คนละชิ้นๆ คนงานที่ถูกเลิกจ้าง ก็ไม่สามารถจะไปเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าได้ เพราะเย็บเป็นแต่แขนเสื้อ อายุก็มากแล้ว ทำให้ต้องไปเป็นแรงงานนอกระบบ หรือไปทำเกษตร โดยไม่มีหลักประกัน-การคุ้มครองใดๆ
 
แนวทางการต่อสู้ปัจจุบันของคนงานมีอยู่ไม่กี่ทาง ทางหนึ่งก็คือตั้งสหภาพ อีกทางคือสู้ในทางระบบ คือสู้โดยวิธีทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติก็สู้ได้ยากมาก อีกวิธีหนึ่งคือการรวมเป็นเครือข่าย คนงานกับนักกิจกรรม นักวิชาการ นักข่าว ซึ่งเห็นมากขึ้นในปัจจุบัน เพื่อจะต่อสู้กับทุน สู้กับการเอาเปรียบ รวมทั้งเครือข่ายเหล่านี้ยังมีอยู่ในต่างประเทศ โดยอาศัยช่องทางสื่อใหม่ๆ ในการสื่อสารและสร้างการต่อสู้อย่างไร้พรมแดน ทุกวิธีการเหล่านี้ต้องไปด้วยกัน ไม่สามารถใช้วิธีการเดียวได้
 
สุกานตา สุขไผ่ตา กล่าวว่า รูปแบบของการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นการแยกสลายขบวนการแรงงาน ใครเย็บแขนก็เย็บไปตลอดชีวิต ใครเข้าปกก็เข้าไปตลอด แล้วต้องทำงานแข่งกับเวลา ถ้าไม่ได้เป้าก็ไม่ได้เงิน ทำให้ไม่มีเวลาแลกเปลี่ยนความทุกข์ยากร่วมกัน มีเวลากินข้าวแค่ 40 นาที ไม่มีเวลามานั่งคุยกัน ทำให้หลายคนประสบปัญหา ทั้งโรคที่ติดตัวไปจากการทำงาน การยืนนานๆ การยกของหนัก ทำให้ผู้หญิงหลายคนเป็นโรคจากการทำงาน ถ้าเขาให้ออก ก็ออกไปเลย โดยไม่ได้คุยกับใครอีกเลย
 
ถ้ามีการรวมกลุ่มกัน เรียนรู้แลกเปลี่ยนกันระหว่างแผนกเย็บ แผนกตัด แผนกแพ็ค คุยถึงสภาพการทำงาน แล้วมีสหภาพแรงงาน โดยมีตัวแทนสหภาพขึ้นไปบอกกับนายจ้างว่าสายพานการผลิตของคุณขั้นตอนนี้ จะทำให้เกิดโรคจากการทำงานได้ คุณต้องปรับนะ ถ้าคนงานคนเดียวขึ้นไปบอก เขาจะปรับไหม เปรียบเทียบกับถ้าสมาชิก 80% เป็นสมาชิกสหภาพ ถ้านายจ้างไม่ปรับ สหภาพที่รู้กฎหมายก็ต้องทำหนังสือถึงพนักงานตรวจแรงงาน องค์กรข้างนอกเริ่มเข้ามาเกี่ยวแล้ว การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม ถ้าไม่รวมกันจึงไม่มีวันเกิดขึ้น
 
สหภาพแรงงานจึงมีขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาในแต่ละแผนกได้ และเป็นศูนย์รวมให้เราได้มานั่งคุยกัน หรืออีกหน่อย กลุ่มของชาวบ้านรอบๆ ก็สามารถมาแลกเปลี่ยนกับสหภาพ หรือร่วมในการต่อสู้ได้ ในไทย สหภาพแรงงานมีแค่ 0.02% ของคนทำงาน วันนี้เห็นทะเบียนสหภาพที่นี่ว่าเป็นแห่งที่ 5 ในเชียงใหม่ โดยอีก 4 แห่งก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน จึงเป็นภารกิจเหมือนกันว่าควรจะต้องรู้จักสหภาพอื่นๆ เพื่อการทำงานร่วมกันในอนาคต โดยกฎหมายบอกว่าสหภาพแรงงานตั้งแต่ 5 สหภาพขึ้นไป รวมกันสามารถตั้งเป็นสหพันธ์แรงงานได้ เราก็ไม่ต้องสู้อย่างโดดเดี่ยว 
 
การรวมกลุ่มยังสามารถเป็นช่องทางสร้างเศรษฐกิจของคนงานให้อยู่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งใครด้วย โดยสามารถตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ของตัวเองได้ คอยดูแลด้านเศรษฐกิจ และมีสหภาพแรงงานดูแลด้านสิทธิต่างๆ 
 
 
วรวิทย์ เจริญเลิศ กล่าวว่าการมีสหภาพแรงงานนอกจากจะเป็นการสร้างแลกเปลี่ยนกันกับคนที่หลากหลายแล้ว ยังเป็นการพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง สามารถไปนั่งต่อรองกับกระทรวงแรงงาน หรือรัฐบาลอย่างเท่าเทียม การต่อสู้รวมกลุ่มจึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เท่าเทียมด้วย
 
วรวิทย์ได้เล่าถึงการกำเนิดของวันแรงงานสากล ที่เกิดขึ้นในนิวยอร์คเมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยคนงานผู้หญิงของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าออกมารวมตัวกัน เดินขบวน จากปัญหาค่าจ้างต่ำ ทำงานมาก ปัญหาสวัสดิการ ทำให้เกิดการปะทะกับตำรวจ จนมีคนงานเสียชีวิต กลายเป็นการจุดประกายการต่อสู้ของคนงาน ในทุกปีทั่วโลก วันที 1 พฤษภาคม ก็มีการออกมาเดินขบวน ชี้ให้เห็นว่าคุณไม่ใช่คนที่ทำงานอยู่คนเดียว คนงานที่ทำงานในสำนักงาน หรือในมหาลัย ทุกคนก็สามารถไปเดินขบวน เพื่อแสดงพลังการเคลื่อนไหว 
 
ส่วนในประเทศไทยก็มีการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน อย่างในการต่อสู้ของคุณอรุณี ศรีโต ในสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียง ที่นายจ้างพยายามกลั่นแกล้งเพื่อล้มสหภาพ โดยบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและเลิกจ้างคนงาน แต่ในกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างมีกรรมการของสหภาพแรงงานอยู่ด้วย แรงงานก็เลยออกมาต่อสู้ จนมีการปิดโรงงานไป 3 เดือน แรงงานก็ยังต่อสู้ไม่หยุด จนไปเคลื่อนไหวสู้ที่หน้าทำเนียบ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อน มาถึงตอนนี้ไม่มีโรงงานไทยเกรียงแล้ว แต่สหภาพแรงงานไทยเกรียงยังอยู่ และเขาก็ยังทำงานกันอยู่ คือไปทำงานกับแรงงานนอกระบบ ทำการจัดตั้ง ต่อสู้ รวมกลุ่มเพื่อทำอาชีพ และผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ
 
วรวิทย์เล่าถึงการไปสัมภาษณ์คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่เขมร ซึ่งได้ค่าจ้างต่ำมาก รวมแล้วไม่เกิน 1 พันบาทต่อเดือน แล้วคนงานลุกขึ้นมาต่อสู้ เราถามว่าคุณต่อสู้กลัวโรงงานปิดไหม เขาตอบว่าจะปิดหรือไม่ปิด เขาก็ต้องต่อสู้ เพราะชีวิตของเขา เขาต้องขายแรงงาน เขาไม่ได้ขายให้นายทุนคนนี้ ก็ต้องขายให้กับคนอื่น เขาก็ต้องต่อสู้ อนาคตเราไม่รู้ แต่ต่อสู้เพื่อให้เรามีความเป็นมนุษย์ ไม่ให้เราถูกละเมิดสิทธิอย่างไร 
 
“การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การสร้างสังคมเพื่อน เราได้ความนึกคิดที่หลากหลาย เราได้หลายมือเข้ามาช่วย เราก้าวเข้ามาเป็นสหภาพ เราก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไปด้วย ถ้าหากคุณอยู่เดี่ยวๆ ไม่มีแนวคิดอื่นๆ มา คุณไม่เปลี่ยน แต่ถ้าเกิดกระบวนการรวมกลุ่ม เขาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้ความคิดเพิ่มเติม เขาก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปด้วย” วรวิทย์กล่าว
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคนงานโรงงานบริษัทจอร์จี้ จะเปิดการเจรจาข้อเรียกร้องที่ยังตกลงกันไม่ได้กับตัวแทนนายจ้างเป็นรอบที่ 6 ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้อีกครั้ง'
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท