Skip to main content
sharethis

ประธานศูนย์ทนายมุสลิมปัตตานีระบุอยู่ที่การตีความ ตั้งคำถามเหตุในพื้นที่เป็นคดีการเมืองหรือไม่ หากคนทำผิดถูกปล่อยตัว เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับอุ้มฆ่าก็ได้ประโยชน์ นักวิชาการจี้เมื่อล้างความผิดก็ยกเลิกการเยียวยา แต่ถ้าทำแล้วเหตุรุนแรงสงบก็น่าสน

 
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจัดเสวนา “เรื่องนิรโทษกรรมหรือปล่อยให้คนผิดลอยนวล” มีนักศึกษาเข้าร่วมประมาณ 30 คน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 ที่ห้องประชุมอิหม่ามอัล-ฆอซาลี วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
 
 
นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวระหว่างเสวนาว่า พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับนี้ สามารถตีความหมายได้หลายแบบที่เกี่ยวข้องกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างหนึ่งที่สามารถมองได้ คือ คำว่า Set Zero คือเริ่มต้นใหม่ได้หมด คือสามารถนิรโทษกรรมได้ทั้งหมด คนที่ทำผิดก็ได้ประโยชน์ คนที่ถูกขังในเรือนจำก็ออกมาได้ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ กรือเซะหรืออุ้มฆ่า โดยเฉพาะการอุ้มฆ่านายสมชาย นีละไพจิตร ก็จะถูกนิรโทษกรรมทั้งหมด ตนมองว่า คำที่ใช้ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ คนที่ได้ประโยชน์คือเจ้าหน้าที่รัฐ
 
นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การออกพ.ร.บ.ฉบับนี้ จุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงมากกว่า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ไม่ได้รวมถึงการนิรโทษกรรมกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะบริบทต่างๆใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย
 
“ส่วนการทำผิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเปล่า เป็นเรื่องที่จะต้องตีความกันต่อไป เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้นิยามความหมายของการทำความผิดอย่างชัดเจน” นายอับดุลกอฮาร์ กล่าว
 
 
นายอับดุลกอฮาร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากยกโทษผู้กระทำความผิดคดีความมั่นคงหรือคดีก่อการร้ายต่างๆ ตั้งแต่ปี 2547 ทั้งหมดเพราะเป็นความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองแล้ว ลองนึกภาพดูว่าบุคคลที่สูญเสียจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไรกับประเด็นนี้ ดังนั้นการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีการพูดคุยมากกว่านี้
 
ส่วนกรณีพ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวข้องกับ 1 ใน 5 ข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็นที่ให้ปล่อยผู้ต้องขังและยกเลิกหมายจับที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงทั้งหมดอย่างไรนั้น นายอับดุลกอฮาร์ กล่าว ขณะนี้ยังไม่ได้รับสัญญาณใดๆจากรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้
 
“ผมคิดว่าประเด็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เพราะรัฐบาลจะต้องอธิบายให้คนไทย 70 กว่าจังหวัดให้รับรู้ ซึ่งปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย เพราะเป็นปัญหาที่ซับซ้อน”
 
“จากการดูเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยส่วนตัวมองว่า คดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เป็นคดีทางการเมือง เพราะรัฐมองว่าคดีเหล่านี้เป็นอาชญากรรมหรือการก่อการร้าย รัฐไม่ได้มองเป็นการเรียกร้องทางการเมือง เพราะใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้คำว่า ชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกความเห็นทางการเมือง”
 
“การที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้เขียนอย่างนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิ์หลังจากรัฐประหารปี 2549 และการชุมนุมทางการเมือง ถามว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปรากฏการณ์เหมือนในกรุงเทพหรือไม่ คำตอบคือไม่ หรือหากคิดว่าในพื้นที่เป็นการเรียกร้องขอปกครองตนเอง มีการตั้งกลุ่มและมีการชุมนุมเหมือนในกรุงเทพหานคร มันก็อาจเป็นเรื่องการเรียกร้องทางการเมืองก็ได้ อยู่ที่การตีความ” นายอับดุลกอฮาร์ กล่าว
 
นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวด้วยว่า คิดอีกอย่างหนึ่งคืออาจนำพ.ร.บ.ฉบับนี้มาเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพก็ได้ โดยอาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาว่าใครบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่มีกฎหมายอื่นที่เปิดช่องให้สามารถนิรโทษกรรมผู้ที่อยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพได้
 
นายสิทธิศักดิ์ ดือเระ อาจารย์ประจำแผนกวิชากฎหมายอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจในหากมีการนิรโทษกรรมผู้ทำผิดคดีความมั่นคงจริงแล้ว การเยียวยาต่อผู้ที่ถูกกระทำก็จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะการเยียวยาเกิดจากการกระทำความผิด ในเมื่อไม่มีการทำผิดการเยียวยาก็จะไม่เกิด
 
 
นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เคยทำความผิด เมื่อนิรโทษกรรมแล้วก็สามารถที่จะรับบำเหน็จบำนาญอันเรื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ที่สำคัญที่สุดจะเห็นบุคคลที่เคยอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ ออกมาเดินบนถนนได้อย่างสง่างามในอนาคตได้
 
“ผมคิดว่า การนิรโทษกรรมตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ครอบคลุมถึงกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย เพราะข้อความใหม่ที่เพิ่มขึ้นในขั้นแปรญัตติที่ขยายเวลาไปถึงปี 2547 จากปี 2549 นั้นน่าจะตั้งใจเล่นงาน คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ที่ตรวจสอบเรื่องการทุจริต (ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกิดหลังปี 2547 อย่างคดีที่ดินรัชดา มากกว่าเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้” นายสิทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า 
 
“แม้เหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 แต่ดูตามบริบทแล้ว การบริโทษกรรมไม่น่าจะเกี่ยวข้องด้วย แต่สุดท้ายขึ้นอยู่คณะกรรมการว่า สามารถนำเรื่อง 3 จังหวัดมาเกี่ยวข้องได้หรือเปล่า”
 
รศ.อับดุลเลาะ อับรู อาจารย์ประจำแผนวิชาเศรษฐศาสตร์และการจัดการในอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า หาก พ.ร.บ.ฉบับมีผลบังคับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย คำถามคือปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จะจบหรือไม่ ซึ่งหมายถึงการเอาบุคคลที่อยู่เรือนจำออกมา แต่การต่อสู้จบหรือไม่ คำตอบคือไม่ ดังนั้นเมื่อไม่จบ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะบังคับใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างไร เพราะบริบทต่างกัน
 
“ยกเว้นว่าออกกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อนิรโทษกรรมอะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จบลง ไม่มีการต่อสู้ ขบวนการหยุดยติการต่อสู้ แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ บางทีกฎหมายนี้อาจจะใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้” รศ.อับดุลเลาะ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net