Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางกระแสการเมืองอันร้อนระอุด้วยการประท้วง Hwfh8iyพ.ร.บ.นิรโทษแบบเหมาเข่ง มองไปอีกด้านก็มีการลุ้นว่าศาลโลกจะพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารอย่างไรในวันที่ 11 พฤศจิกายน  2556  ผู้ที่อ้างตัวเองว่าเป็นคนไทยรักชาติบางกลุ่มกำลังตั้งหลักจะประท้วงคำตัดสินของศาลโลก หากว่าศาลโลกตัดสินออกมาว่าแล้วไม่เป็นที่พอใจ  รวมทั้งการพยายามเชื่อมโยงประเด็นคดีปราสาทพระวิหารเป็นประเด็นทางการเมือง  คนชั้นกลางผู้นิยามตนเองว่ารักชาติทั้งหลายอาจสงสัยว่า ชาวบ้านภูมิซรอล พวกเขาเป็นใคร หรือ หมู่บ้านนี้มีอยู่ในแผนที่ประเทศไทย บทความนี้ผู้เขียนต้องการบอกเล่าชีวิตของชาวบ้านภูมิซอลผู้อยู่ตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา ว่าพวกเขามีสภาพอย่างไร ในทุกครั้งที่ประเด็น "เขาพระวิหาร" ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ในภูมิซรอล เราจะพบเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยและรัฐกัมพูชาในหมู่บ้านได้ทั่วไป พวกเขาคือผู้ได้รับผลกระทบทางตรงต่อสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว อาทิ มีคนในหมู่บ้านที่เป็นทั้งผู้พิการแขนขาด ขาขาด หูหนวก  ตาบอด เพราะโดนทุ่นระเบิด ในสถานะที่แตกต่างกันออกไป  ชาวบ้านยังเคยทำงานเป็นสายลับที่เคยทำงานให้หน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐไทย  เป็นชาวบ้านที่เคยรับจ้างจากรัฐไทย เพื่อไปเป็นทหารในกองทัพเฮงสัมรินและฮุนเซน ในยุคที่รัฐไทยสนับสนุนช่วยเฮงสัมรินและฮุนเซนช่วงชิงอำนาจรัฐคืนจากเขมรแดงและเวียดนามที่ปกครองประเทศในทศวรรษ 2520-2530   ชาวบ้านบางคนไม่ใช่ขาขาดครั้งเดียว แต่ขาดแล้วขาดอีกถึงสามครั้ง  ขาจริงขาดไปแล้วใส่ขาเทียม ขาเทียมก็โดนทุ่นระเบิดอีก   

เช่นเดียวกัน ในเหตุการณ์การปะทะระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มผู้นิยามตนเองว่ารักชาติ ที่เดินทางไปประท้วงทวงคืนในปี พ.ศ.2551-2552 ทำให้ชาวบ้านถูกให้ความหมายว่าเป็นคนไทยไม่รักชาติ เป็นคนไทยหัวใจเขมร นำมาซึ่งความสัมพันธ์อันย่ำแย่ระหว่างรัฐไทยและกัมพูชา จนในปี พ.ศ.2554 เกิดการปะทะกันของทหารทั้งสองประเทศ หมู่บ้านโดนระเบิด ชาวบ้านหนีตายสุดชีวิตหากพูดเป็นภาษาชาวบ้านคือ หนียางตายออก หลังจากนั้นก็อยู่กันแบบหวาดผวาในวิถีที่เรียกว่า “เตรียมของให้พร้อมและวิ่งให้เร็ว” จะขึ้นภูหาอยู่หากินก็ไม่ได้ เพราะหมู่บ้านถูกประกาศเป็นพื้นที่กฎอัยการศึก ในแง่มุมของชาวบ้าน พวกเขาได้อธิบายตัวเองว่า พวกเขาคือคนไทยรักชาติไม่ต่างจากพวกคุณ เรามาลองฟังดูว่าชาวบ้านเขาบอกว่าอย่างไร

คำถามคือ แล้วชาวบ้านภูมิซรอลรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกให้ความหมายว่า “เป็นคนไทยหัวใจเขมร เป็นคนไทยแต่ไม่รักชาติไทย” คำถามต่อมาคือชาวบ้านภูมิซรอลอธิบาย  ตลอดจนให้ความหมายของความรักชาติของพวกเขาอย่างไร และพวกเขาแสดงความรักชาติอย่างไร

เมื่อผู้เขียนถามชาวบ้านภูมิซรอลในเรื่องว่าด้วยความรักชาตินั้น  บางครั้งเสมือนการเข้าไปสะกิดบาดแผลแห่งการสูญเสียของชาวบ้าน ความเจ็บปวด ความข่มขื่น ความระทมทุกข์ ซึ่งมีริ้วรอยมากน้อยแตกต่างกันไป ตามประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน เรื่องราวของพวกเขาล้วนมีสงครามและความขัดแย้งเป็นแกนเรื่อง เรื่องที่ชาวบ้านภูมิซรอลเล่าถึงความรักชาติมักมาควบคู่กับการสูญเสียอวัยวะของร่างกาย ขาขาด นิ้วขาด ตาบอด  หรือไม่ก็สูญเสียญาติพี่น้อง สูญเสียครอบครัวที่เคยอบอุ่น

จากการสนทนากลุ่มและสัมภาษณ์รายบุคคล ชาวบ้านภูมิซรอลเป็นจำนวนมาก สรุปได้ว่าโดยภาพรวมแล้วทุกคนบอกว่า ชาวบ้านภูมิซรอลทุกคนรักชาติ ถ้าไม่รักชาติก็คงหนีไปอยู่ที่อื่นหมดแล้วล่ะ ทุกคนเป็นคนไทย มีสัญชาติไทย ในกรณีคนที่ยังไม่มีสถานะบุคคลก็มีการพิสูจน์สัญชาติ กันทั้งหมู่บ้านแล้ว  ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าโรงเรียนเพื่อให้อ่านออกเขียนภาษาไทยได้ นอกจากนี้ ชาวบ้านภูมิซรอล ยังเป็นหมู่บ้านอาสาสาสมัครปกป้องชายแดนมาทุกยุคทุกสมัย      มีคำย่อจนแทบจำไม่ได้มานานแล้ว ชาวบ้านทำตามที่เจ้านาย(หมายถึงหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐไทย)บอกว่าคนไทยที่รักชาติต้องทำ   เป็นเหตุผลเพียงพอในการอธิบายความรักชาติหรือไม่ เป็นคำถามของชาวบ้าน   ขณะสัมภาษณ์ชาวบ้านในประเด็นนี้ ผู้เขียนทราบทันทีว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว     ที่ต้องระมัดระวังมาก  ผู้เขียนได้เห็นสีหน้าท่าทางของชาวบ้านโกรธมาก พูดภาษาชาวบ้านคือ โมโหเลือดขึ้นหน้า แต่ทุกครั้งที่ถามเหมือนการไปตอกย้ำภาพแทนความจริง “เป็นคนไทยแต่ไม่รักชาติ เป็นคนไทยหัวใจเขมร”

ชาวบ้านภูมิซรอลเล่าว่า พวกเขาอยู่ที่นี่ด้วยความรู้สึกว่าบ้านภูมิซรอลคือบ้าน อยู่แล้วมีความสุข ทำมาหากินภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจนมาก่อน  การทำมาหากินมาจนถึงปัจจุบันก็พอลืมตาอ้าปากได้  ถ้าชี้วัดกันด้วยเงินออมและภาระหนี้สิน บางคนก็ยังถือว่ายากจนอยู่ ที่ผ่านมาศึกสงครามครั้งไหน ๆ ก็ไม่ได้รุนแรงเท่ากับการปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาใน พ.ศ. 2554 ชาวบ้านจึงไม่ได้รู้สึกว่าสงครามและความขัดแย้งในอดีตเป็นอุปสรรคใหญ่โตในการดำเนินชีวิต ผิดกับครั้งนี้ความขัดแย้งนำมาซึ่งอุปสรรคทุกอย่างในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการทำมาหากิน ชาวบ้านอธิบายว่า รู้สึกโกรธมากเมื่อกลุ่มคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนไทยรักชาติ ประณามชาวบ้านภูมิซรอลว่าเป็นคนไทยไม่รักชาติ  

“หมู่บ้านเรารักชาติทุกคน รักมานาน ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ทำตามที่เจ้านายบอกว่าชาวบ้านทำแล้วเกิดประโยชน์เพื่อบ้านเพื่อเมือง” ในแง่คือการที่ชาวบ้านตอบสนองต่อนโยบายความมั่นคงของรัฐไทยมาโดยตลอด

 เรื่องเล่าว่าด้วยคนบ้านภูมิซรอลกับสงครามและความรักชาตินั้นมีอยู่ว่า ตั้งแต่ประมาณก่อนทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา หมู่บ้านภูมิซรอล มีคนที่รับใช้ชาติจำนวนมาก เช่น เป็นสายลับให้เจ้านายไปสืบข่าวเมืองลุ่มซึ่งหมายถึงประเทศกัมพูชา  เป็นทหารรับจ้างในสงครามเวียดนาม เป็นทหารพราน เป็นทหารรับจ้างให้กองทัพเฮงสัมริน เป็นนักเก็บกู้ระเบิด คนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะดังกล่าวต่างเป็นชาวบ้านอาสาสมัครไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) เพิ่งเปลี่ยนมาเรียกว่า ชุดอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้าน(ชรบ.) เมื่อไม่นานมานี้  หากแบ่งผลกระทบจากสงคราม

ยุคก่อตั้งชุมชน(พ.ศ.2484-2513) - ยุครัฐบาลลอนนอลแห่งกัมพูชา(พ.ศ.2513- 2518)

ชาวบ้านเล่าว่า การอยู่ที่นี่เหมือนมีศึกรอบด้านทั้ง ทหารป่าหรือไทยแดงรบกับตชด. เขมรแดงรบกับเขมรลอน นอล บ้านภูมิซรอลรวมทั้งหมู่บ้านชายแดนแถบนี้ เจ้านายได้จัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านไทยอาสาปัองกันชาติ(ทสปช.)ประเภทป้องกันตันเอง  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องภัยคุกคามจากทหารป่าหรือที่เจ้านายเรียกว่าคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ตามแนวชายแดน[1]     การเป็นหมู่บ้าน ทสปช.นั้น ผู้ที่เป็นอาสาสมัครสามารถติดอาวุธได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) และตชด.[2] เป็นผู้ฝึกอบรมปลูกฝังแนวคิดการรักชาติและวิธีการใช้อาวุธ นอกจากนี้ยังมีการอบรมปลูกฝังแนวคิดความรักชาติผ่านกิจกรรมลูกเสือชาวบ้าน[3]

 (2) ยุครัฐบาลเขมรแดงพอล พต ( พ.ศ.2518-2522 ) – ยุครัฐบาลเฮงสัมริน  และฮุนเซน ( พ.ศ.2522 -2531)

ชาวบ้านหลายคนเล่าว่าในหมู่บ้านช่วงนี้เต็มไปด้วยเขมรอพยพและหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ  ตลอดจนหน่วยงานเพื่อมนุษยธรรมต่าง ๆ  เช่น กาชาดสากลและอีกหลายหน่วยงานส่วนใหญ่ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ชาวบ้านจำไม่ค่อยได้  ในยุคนี้หมู่บ้านภูมิซรอลยังคงเป็นหมู่บ้านไทยอาสาป้องกันชาติ รวมทั้งมีชาวบ้านสมัครไปเป็นทหารพราน  ไปเป็นทหารรับจ้างให้กองทัพเฮงสัมริน ชาวบ้านหลายคนที่เป็นทหารรับจ้างกองกำลังเขมรแดงเฮงสัมรินบนเขาพระวิหารนานถึง 8  ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 -2531)ได้ค่าจ้างเดือนละ 17,000.-เรียว[4] ในช่วงที่ไปเป็นทหารรับจ้างให้กองทัพเฮงสัมรินนั้น บางคนพาลูกเมียขึ้นไปอยู่ด้วย ลูกๆ จึงไม่ได้เข้าโรงเรียน ส่วนเมียทำอาหารขายให้กับตชด. บางคนเป็นทหารพราน  ยุคนี้มีทุ่นระเบิดรอบหมู่บ้านมากที่สุด รวมทั้งการเก็บกู้ทุนระเบิดไปขายให้หน่วยงานกรอ.มน.ลูกละยี่สิบห้าบาท ปริมาณของทุนระเบิดมีเป็นจำนวนมาก  บางเดือนชาวบ้านเก็บมาขายได้เงินมากถึงสองแสนบาท สงครามในยุคนี้ได้ส่งผลต่อชีวิตชาวบ้านภูมิซรอลในหลายด้าน เช่น มีชาวบ้านที่โดนทุ่นระเบิดเสียชีวิตและขาขาดขณะเดินทางไปทำไร่บนภูจำนวนมาก ชาวบ้านบางคนโดนจับไปเป็นเชลยสงคราม บางคนต้องเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์โดยไม่สมัครใจ

 (3) ประมาณพ.ศ.2531 – ถึงประมาณ พ.ศ.2551

จากสงครามจาก 2 ยุคที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อชีวิตชาวบ้านภูมิซรอลโดนทุ่นระเบิดเสียชีวิตและขาขาดเพราะไปทำมาหากินบนภู นโยบายรัฐในยุคนี้คือการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ช่วงแรกรัฐให้ชาวบ้านเก็บทุ่นระเบิดมาขายให้ทหารกร.อมน.ลูกละ 25  บาท โดยไม่มีการอบรมการเก็บกู้ระเบิดแต่อย่างใด ชาวบ้านเล่าว่าบางเดือนเก็บรวมกันหลาย ๆ คนเอาไปขายได้ครั้งละประมาณ 2 แสนบาท ทำให้มีคนตายและขาขาดเพราะเก็บกู้ทุ่นระเบิดไปขาย จนประมาณปี พ.ศ.2548 จึงมีหน่วยงานที่อบรมการเก็บกู้ระเบิดให้ชาวบ้านอย่างเป็นทางการ และเปิดรับสมัครชาวบ้านเข้าทำงานดังกล่าว

จากคำบอกเล่านี้เห็นได้ว่า ถึงแม้สถานภาพของชาวบ้านแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน  แต่ได้ใช้ชีวิตในหมู่บ้านภูมิซรอลด้วยภาระหน้าที่ลักษณะพลเมืองที่ดีของรัฐไทย  ประเด็นที่สำคัญกว่าการได้รับค่าจ้างคือความรักชาติ “ถ้าไม่รักชาติไทยคงไม่ไปทำหน้าที่อันสำคัญแต่มีความเสี่ยงขนาดนั้น”  เรื่องราวของตชด. นั้นพอเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่ต้องมาประจำการเป็นตำรวจเฝ้าปราสาทพระวิหาร  แต่การเป็นสายลับให้นายฝรั่ง(C.I.A.) ชาวบ้านบอกว่ารู้สึกเป็นเกียรติมาก เพราะน้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสหน้าที่นี้สำคัญแบบนี้ ไม่ใช่ว่าพูดภาษาเขมรได้แล้วจะได้เป็นสายลับ แต่ต้องเข้าใจความเป็นตัวตนคนเขมรลุ่มได้ ต้องรู้ทางหนีทีไล่  แม้ว่าค่าจ้างที่ได้รับนั้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับความเสี่ยง  หากเขมรลุ่มจับได้อาจโดนฆ่าตาย และที่สำคัญชาวบ้านบอกว่าเพราะรักชาติไทย ช่วยนายฝรั่งเท่ากับช่วยนายไทยให้รอดพ้นจากสงคราม

ในช่วงทศวรรษ 2531-2551 รัฐไทยได้มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ชาวบ้านก็พอลืมตาอ้าปากได้ด้วยธุรกิจการท่องเที่ยว รัฐเองก็มีรายได้จาการเก็บค่าผ่านแดนไปฝั่งกัมพูชาจากนักท่องเที่ยว รวมทั้งปันส่วนค่าธรรมเนียมเข้าชมปราสาทจากรัฐกัมพูชา แต่ความเฟื่องฟูของการท่องเที่ยวจบลงทันทีพร้อมเสียงปืนและเสียงระเบิดในปี พ.ศ.2554

ชาวบ้านบอกว่าเจ้านายอยากให้เป็นแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านไทยอาสาป้องกันชาติหรือ หมู่บ้านแห่งเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ชาวบ้านล้วนทำตาม การเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้นำเงินเข้าประเทศมากมาย  แล้วกลุ่มผู้นิยามตนเองว่ารักชาติมาประท้วงแล้วจากไปทำให้ทั้งชาวบ้านและรัฐสูญเสียรายได้ส่วนนี้ แล้วใครกันแน่ที่ไม่รักชาติ นี่คือการตอบโต้และคำอธิบายความรักชาติของชาวบ้าน  อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในช่วงรอฟังคำพิพากษาศาลโลกนี้ เราก็พบว่าท่าทีของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ คือ ไทยและกัมพูชา ดูจะระมัดระวังและไม่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปลูกกระแสการเมืองภายในประเทศตัวเอง ทำให้สถานการณ์แบบที่พบในหลายปีที่ผ่านมายังไม่เกิดขึ้น แต่ที่ยังเหมือนเดิมคือ การใช้นิยามคำว่า "รักชาติ" ออกมาปลุกระดมกันทางการเมือง




[1] อดีตแกนนำนักศึกษาและชาวบ้านที่เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)ยืนยันว่า พื้นที่บริเวณบ้านภูมิซรอลนั้น เป็นพื้นที่จรยุทธ์ของพคท.(สัมภาษณ์,ไม่สามารถเปิดเผยชื่อและนามสกุลผู้ให้ข้อมูลได้)

[2]กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกลาง เพื่อต่อต้านภัยคุกคามที่มุ่งทำลายผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ

[3] ลูกเสือชาวบ้านเป็นกลุ่มของชาวบ้าน เป็นชาวบ้านจัดตั้งของรัฐเพื่อนโยบายด้านความมั่นคง 

[4]สกุลเงินเรียว (Riel) ของประเทศกัมพูชา อัตราแลกเปลี่ยนใน พ.ศ.2555 เงินกัมพูชา 100 เรียวแลกได้ 1 บาทไทย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net