สัมภาษณ์ประจักษ์ ก้องกีรติ: ทางเลือกภายใต้การเมืองสองขั้ว

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ประชาไทสนทนากับฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) ซึ่งเขาเห็นว่านี่เป็นจังหวะดีที่พรรคการเมืองทางเลือกจะก่อรูปก่อร่างขึ้นเป็นช่องทางใหม่ๆ สำหรับประชาชนในภาวะที่สองพรรคการเมืองใหญ่แสดงผลงานได้ย่ำแย่และไม่เคารพต่อฐานเสียงของตนเอง

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจศึกษาความเป็นไปของการเมืองภาคประชาชนและความรุนแรงทางการเมืองไทย ตั้งข้อสังเกตไปในทิศทางเดียวกันว่านี่อาจจะเป็นจังหวะที่สุกงอมในการเกิดขึ้นของพรรคเล็กพรรคน้อย เพราะ 2 พรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทยล้วนแสดงให้เห็นว่าห่วยและไม่ยึดถือในอุดมการณ์ที่ตนได้ประกาศต่อมวลชน 

ในส่วนของเพื่อไทยต้องปฏิรูปพรรคให้พ้นจากสภาวะมุ้งทางการเมือง ไปสู่การเป็นสถาบันทางการเมือง และพัฒนาคุณภาพ ส.ส. เขตของตนเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ด้อยคุณภาพ ขณะที่ความขัดแย้งในการบริหารระหว่างมุ้งเก่าของพี่ชาย-ทักษิณ ชินวัตร กับมุ้งใหม่ของน้องสาว-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเพียงความขัดแย้งเชิงเทคนิค ไม่ใช่ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ที่จะเป็นสัญญาณของการพัฒนาพรรคที่มีฐานมวลชนขนาดใหญ่ของประเทศนี้จริงๆ

เขาเห็นว่าคนเสื้อแดงตกอยู่ในฐานะที่ลำบาก มีทางเลือกหลักๆ สองทาง คือ ตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง กับสอง คือพยายามกดดันให้พรรคเพื่อไทยปฏิรูปตัวเองให้ได้

อย่างไรก็ตาม หนทางส.ส.เขต พรรคทางเลือกที่สามในความหมายที่เป็นพรรคเชิงอุดมการณ์นั้นยาก ไม่ง่ายที่จะโต โดยเฉพาะในต่างจังหวัด สิ่งสำคัญที่ฉุดรั้งไม่ให้พรรคทางเลือกเติบโตได้แม้ในภาวะที่อุดมการณ์ทางการเมืองนั้นแตกตัวออกเป็นหลายชุดเช่นนี้ ก็เพราะการเมืองไทยยังอยู่ภายใต้ความขัดแย้งหลัก 2 ขั้ว ทำให้แม้จะเห็นต่างกันอย่างไร ก็พร้อมจะหลับตาจูงมือไปด้วยกันก่อน

เขามีข้อเสนอว่า ทางออกที่เป็นไปได้อาจจะเป็นการสร้างแนวร่วมพรรคการเมืองให้แข็งแกร่ง ขณะที่ประชาชนและแอคทิวิสต์ผู้เบื่อหน่ายพรรคห่วยๆ ก็อาจจะต้องเดินในแนวทางของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่อไป

ทำไมพรรคทางเลือกจึงยังไม่สามารถมีที่ยืนในการเลือกตั้งไทย

คือโดยระยะยาวมันจำเป็นที่จะต้องมีอยู่แล้วในแง่การเป็นพรรคทางเลือก เพราะจริงๆ มันไม่ใช่ทุกสังคมที่จำเป็นจะต้องมีระบบสองพรรค มันไม่ใช่ระบบสองพรรคเป็นระบบที่จะต้องดีที่สุด ยุโรปหรือที่ไหนหลายที่มันก็มีระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค มันต้องตอบสนองผลประโยชน์หรือฐานทางสังคมที่หลากหลาย แต่จริงๆ ตอนนี้ ภาวะที่ชนชั้นนำไม่ยอมเข้ามาเล่นการเมืองในระบบ นั่นแหละเป็นตัวที่ทำให้พรรคทางเลือกเกิดยาก เพราะถึงที่สุด ถ้าเราดูอย่างปรากฏการณ์ที่เสื้อแดงต้องกลับมาหาพรรคเพื่อไทยตอนนี้ เพราะพอเกมเปลี่ยนกลายเป็นเกมล้มรัฐบาลแล้ว เขาก็รู้ว่าต้องผนึกกำลังกัน

โจทย์การเมืองมันก็กลับไปที่เดิมว่าคุณจะเอารัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลจากการชี้นำ

ใช่ คือมันเป็นภาวะสองขั้วไง ซึ่งภาวะสองขั้วมันทำให้พรรคทางเลือกที่สามหรือสี่ เกิดยาก คือเกิดก็ได้ แต่มันจะเกิดแบบค่อนข้างแคระแกรน คือมัน paradox ทั้งเป็นสถานการณ์ที่เหมือนสุกงอม ที่คนเริ่มเรียกร้องทางเลือกใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกันโจทย์การเมืองพื้นฐานยังไม่เปลี่ยน คือความพยายามจากชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งที่จะล้มระบอบประชาธิปไตยไปโดยสิ้นเชิง มันทำให้คนที่ไม่ว่าจะเห็นต่างกันอย่างไร แต่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ก็ยังเกาะกันอยู่

แต่ว่าในภาวะที่ต้องเกาะกันอยู่ คือเราเห็นรอยร้าวแล้ว คือของ ปชป. ก็จะเห็นว่าคนที่ออกมาบนท้องถนนก็มีหลายกลุ่ม ขณะที่เพื่อไทย แม้จะต้องเกาะกันอยู่ แต่มันมีรอยร้าวเกิดขึ้น เป็นการเมืองภาวะฉุกเฉิน
มันก็มีอยู่จริงๆ น่ะ

หลังรัฐประหาร พรรคการเมืองใหม่ คนก็ไม่เลือก เพราะจะทำให้เสียงแตก ก็ต้องเลือกปชป.ไว้ก่อน

ใช่ เพราะกลัวเสียคะแนน เสียของ ตอนนี้คนโหวตแบบ strategy (การเลือกโดยคาดหวังเชิงยุทธศาสตร์)

มันจำเป็นจริงๆ หรือที่จะต้องเล่นเลือกแบบยุทธศาสตร์ ขนาดนี้ จริงแค่ไหนที่ถ้าไม่โหวตเพื่อไทยจะทำให้มีฝั่งล้มประชาธิปไตยเข้ามาเทคโอเวอร์ได้

มันจริงก็ต่อเมื่อมันมีรัฐประหารหรือตุลาการภิวัตน์เกิดขึ้น แต่ตอนนี้คือมันยังมีอยู่แหละ จริงมากน้อยแค่ไหนไม่รู็ คือผมไม่ได้บอกว่ามันไม่ควรมีพรรคทางเลือกที่สามนะ จริงๆ ผมชี้ไว้ตั้งแต่ตอนที่มันเลือกตั้งเสร็จใช่ไหม ก.ค.2554 ว่าตอนนี้เมืองไทยเข้าสู่โมเดลสองพรรคไปแล้ว ในความหมายที่ว่ามีสองพรรคเท่านั้นที่เป็นคู่แข่งกันจริงๆ และมีโอกาสที่จะชนะเลือกตั้ง เวลาเราพูดถึงระบบสองพรรคไม่ได้หมายความว่า ไม่มีพรรคที่สามที่สี่ที่ห้าอยู่ในระบบ แต่หมายความว่าเฉพาะสองพรรคใหญ่เท่านั้นที่มีโอกาสชนะเลือกตั้ง เหมือนในอเมริกาไม่ได้มีอยู่สองพรรค มีพรรคเยอะแยะไปหมด แต่พรรคอื่นไม่ได้มีที่นั่ง ไม่ได้ชนะมามีโอกาสได้เป็นรัฐบาล

ทีนี้ พรรคอื่นๆ ตอนนี้ที่มันอยู่ในระบบ ผมเห็นด้วยว่าไม่ได้เป็นทางเลือก เพราะอย่างพรรคอย่างพรรคชาติไทย ภูมิใจไทย พลังชล จริงๆ แล้วมาเป็นพรรคที่สามที่สี่ที่ห้า แต่ไม่ได้เป็นทางเลือกเชิงนโยบายหรือทางเลือกเชิงอุดมการณ์ลย แต่เป็นมรดกตกทอด เป็นโมเดลแบบโบราณมากตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยก่อน 2540  คือมีฐานะเป็นแค่มุ้งหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งไม่ได้นำเสนอนโยบายหรือทางเลือกเชิงอุดมการณ์ที่แตกต่างออกไปเลย เป็นแค่มุ้งที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นนำที่เป็นนายทุนนักการเมืองท้องถิ่นแค่นั้น แล้วก็เอาพรรคของตัวเองมาเพื่อต่อรองอำนาจผลประโยชน์ในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งตอนนี้จริงๆ แล้ว ในการเลือกตั้ง หลังใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา พรรคพวกนี้มันเสื่อมลงแล้ว  แล้วเราจะเห็นว่าล่าสุดพรรคที่สามที่สี่จำนวนที่นั่งมันก็น้อยลงทุกทีๆ และห่างไกลกับพรรคที่หนึ่งที่สองมาก ตอนนี้เรามีเพื่อไทย พรรคอันดับหนึ่งที่ได้เสียงเกินครึ่ง 260 กว่าเสียง  ปชป.อีกร้อยกว่าเสียง พรรคที่สามหล่นฮวบลงมาเหลือสามสิบกว่าเสียง แล้วที่เหลือก็เป็นพรรคต่ำสิบอีกเยอะแยะ รวมถึงพรรคหนึ่งที่นั่งสองที่นั่ง อย่างพรรคมาตุภูมิ รักษ์สันติ

ซึ่งแต่เราก็เห็นแล้วว่าหลายพรรคเหล่านี้ก็เป็นมุ้งที่แตกมาจากพรรคไทยรักไทยนั่นแหละ ถ้าไม่มี คมช. ไม่มีรัฐประหาร ไม่มีการมาบีบ เขาก็ไม่แตกกันหรอก มุ้งต่างๆ เหล่านี้เดิมอยู่ไทยรักไทยหมด สุวัจน์ ลิปตพัลลภ

ฉะนั้น ใช่ โดยสถานการณ์ตอนนี้เป็นระบบสองพรรคแล้วโดยที่พรรคที่สาม-ห้าแทบไม่มีความหมาย ในความหมายที่ว่าไม่ได้เป็นทางเลือกให้กับประชาชน ฉะนั้นโดยสถานการณ์มันจำเป็นที่จะต้องมีพรรคทางเลือกที่ไม่ใช่แค่สองพรรคใหญ่ โดยเป็นพรรคทางเลือกที่ไม่ใช่โมเดลแบบเดิม แบบพรรคชาติไทย ภูมิใจไทย พลังชล

ซึ่งถ้าอย่างนั้นโมเดลพรรคทางเลือกที่ควรจะเป็น ที่จะสามารถเบียดแทรกพรรคการเมืองใหญ่ที่อยู่ในภาวะที่ต้องผนึกกันไว้ก่อน พรรคการเมืองทางเลือกที่จะเบียดแทรกขึ้นมาได้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

พรรคทางเลือกในประเทศอื่นๆ ที่มันจะเติบโตและประสบความสำเร็จได้ในการเลือกตั้งและอยู่ได้ยาวหน่อย ไม่ใช่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจ แข่งเลือกตั้งครั้งเดียวและล้มไป มันต้องมีสองสามอย่าง คือต้องมีฐานทางสังคมที่ชัดเจนว่ากำลังเป็นตัวแทน (represent) ใคร และใครคือกลุ่มเป้าหมายที่จะเลือกคุณ เพราะถ้าไม่มีฐานทางสังคม ก็จะกลายเป็นพรรคของกลุ่มนักกิจกรรม นักคิดปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง ที่เห็นอะไรตรงกันแล้วเรามาตั้งกลุ่ม โอเค เราเสนอนโยบายที่เป็นทางเลือกจริง แต่ถามว่ามีฐานทางสังคมหรือเปล่า ที่เขาจะเลือกพรรคนี้ ซึ่งแตกต่างไปจากพรรคใหญ่เลยที่เขาเคยเลือกอยู่ ฐานทางสังคมนั้นจะแตกตัวออกมาไหม เช่น ในฝั่งเสื้อแดง จะมีกลุ่มเสื้อแดงที่พอถึงเวลาเลือกตั้ง จะแตกตัวออกมาไม่โหวตเพื่อไทย แล้วมาโหวตพรรคใหม่ ซึ่งเป็นเฉดแดงเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เฉดเพื่อไทย มีไหม ก็ต้องประเมินว่ากลุ่มก้อนทางสังคมตรงนี้ ฐานของผู้เลือกตั้งมีมากน้อยขนาดไหน

ประเมินอย่างไร เพื่อไทยประเมินว่าไม่เกินหมื่น เพราะในช่วงแรกที่เขาดันนิรโทษกรรม เขาคิดว่าในกลุ่มเสื้อแดงด้วยกันเองคนที่จะต้านเขา ไม่เกินหมื่น

คิดว่าเกิน แต่เกินมากน้อยขนาดไหนไม่รู้

คิดว่าใครที่จะแตกออกไป อย่างเพื่อไทย เขาประเมินจากฐานว่าเขาคุมแต่ละจังหวัดได้ เช่น อีสาน

เสื้อแดงเชิงอุดมการณ์ เสื้อแดงที่เข้าใจประเด็นทางอุดมการณ์ ที่ผ่านมามันมีอยู่ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม เพื่อหลักสิทธิมนุษยชน ที่มันมากไปกว่าแค่เรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจ หรืออยู่ภายใต้เครือข่ายหัวคะแนนแบบเก่า มันมีอยู่จริง เสื้อแดงแบบนี้ที่มีการเติบโตทางคุณภาพเยอะมาก แต่จำนวนมากน้อยขนาดไหนเราประเมินไม่ได้เพราะที่ผ่านมามันรวมอยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกัน มีแต่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ที่จะ represent ผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้ ฉะนั้นอย่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุด จะเห็นว่าหลายเขตเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อไทย คุณภาพแย่มาก คนบ่นระงมไม่อยากไปเลือกตัวบุคคลคนนั้น แต่ก็ต้องเลือก เพราะก็ไม่สามารถทำใจไปโหวตพรรคอื่นได้ พรรคอื่นอาจจะนำเสนอตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าด้วยซ้ำในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในบางเขต แต่ว่าก็ต้องเลือกเพื่อไทย เพราะเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์ หรือเหตุผลเชิงการเมืองในภาพรวม มีคนมาบ่นเยอะมาก โดยเฉพาะในเขต กทม. ส.ส.ที่เพื่อไทยส่งมาลง บางเขตดูไม่ได้เลย บางคนก็ย้ายมาไม่รู้กี่พรรคแล้ว บางคนคนในเขตก็รู้ว่าไม่เคยทำงาน ก็เกาะกระแสพรรคมาแค่นั้น คนก็จำใจต้องไปโหวต  ถ้ามีพรรคทางเลือกในฝั่งเสื้อแดงด้วยกันที่นำเสนอคนที่ดีกว่า ก็อาจจะดึงเสียงไปได้  แต่ตอนนี้ มันยังประเมินไม่ออกว่ามากน้อยขนาดไหน

แต่การเลือกตั้งที่่ผ่านมา เพื่อไทยในกรุงเทพก็ได้น้อยกว่าที่คิด

แต่เสียงปาร์ตี้ลิสต์ไม่น้อยนะ ถ้าเอาปาร์ตี้ลิสต์หรือเอายอดรวม ส.ส.แต่ละเขตมารวมกัน ห่างกับประชาธิปัตย์นิดเดียวเอง แทบไม่มากต่างกัน เพราะแต่ละเขตแพ้ชนะกันนิดเดียว ส.ส.กทม. ระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย 

แต่ทีนี้ถ้าตอบคำถามอีกทีก็คือว่า ส.ส.เขตอาจจะยากสำหรับพรรคทางเลือก เพราะตอนนี้ชัดเจนถ้าเอาผลการเลือกตั้งมากางดู จังหวัดจำนวนมากเลือกแบบยุทธศาสตร์ คือเลือกยกจังหวัด ถ้า map โดยดูสี จังหวัดไหนเลือกเพื่อไทยทั้งพรรคเป็นสีแดง จังหวัดไหนเลือก ปชป. ทั้งพรรคเป็นสีฟ้า  จะเห็นว่าเหนือกับอีสานออกมาแดงพรึ่บเลย ใต้ ตะวันตก กับตะวันออก บางจังหวัดเป็นสีฟ้าหมด  เหลือไม่กี่จังหวัดที่พรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยแทรกขึ้นมาได้ จังหวัดที่มี ส.ส.มาจากหลายพรรค หรือเรียกว่า "จังหวัดเรนโบว์" "จังหวัดสีรุ้ง" แบบเบี้ยหัวแตก เหลือน้อยแล้ว ตอนนี้มีลักษณะภูมิภาคชัดเจน เหลือแค่ภาคกลางนี่แหละที่ยังไม่มีใครยึดครองได้ ยังมีหลายพรรคแข่งกันอยู่

ซึ่งภาคกลางก็ต้องไปดูอีกทีว่ามาจากฐานตัวบุคคลหรือเปล่า

ใช่ เช่น เพราะพรรคอย่าง บรรหาร เขาทำฐานไว้แน่นหนา แข็งแกร่งมานาน  อย่างสุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี อุทัยธานี ก็ยังรักษาฐานไว้ได้ หรือ อีสานใต้ พรรคภูมิใจไทยก็ยังรักษาฐานไว้ได้ แถวบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ
เพราะฉะนั้นในระดับ ส.ส.เขต พรรคทางเลือกที่สามในความหมายที่เป็นพรรคเชิงอุดมการณ์ ยาก ไม่ง่ายที่จะโต โดยเฉพาะในต่างจังหวัด

เพราะเวลาจะชนะในระดับ ส.ส.เขต มันต้องทั้งนำเสนอตัวบุคคลที่เป็นที่รู้จักที่เข้มแข็ง ปฏิเสธไม่ได้ ถึงจะไม่ซื้อเสียง แต้องมีงบในการหาเสียง จัดปราศรัย เคาะประตูบ้าน จ้างคนมาช่วย เพราะ ส.ส.เขตจะแค่ชูนโยบายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องแนะนำตัวให้รู้จัก ต้องลงพื้นที่ หาเสียงต่อเนื่อง ถ้าอยู่ดีๆ กระโดดลงไปในพื้นที่ๆ ใดพื้นที่หนึ่ง โดยคนไม่รู้จักเลย ลำบาก ถ้าจะทำต้องเริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่วันนี้ ถ้าจะได้ที่นั่งบ้างในระดับ ส.ส.เขต ในอีกสองปี ถ้าทำ 3-6 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ไม่มีทางสู้กับพรรคเดิมที่อยู่ในระบบแล้วได้

ฉะนั้น โอกาสที่เป็นไปได้มากกว่าสำหรับพรรคทางเลือกที่จะได้ที่นั่งคือ ปาร์ตี้ลิสต์ แล้วจริงๆ ระบบปาร์ตี้ลิสต์ก็ออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้พวกพรรคทางเลือกเชิงนโยบายหรือเชิงอุดมการณ์โตได้ คือคุณอาจจะไม่มีฐานเสียงในพื้นที่ ไปสุพรรณบุรี ไม่มีใครรู้จัก อาจเป็นที่รู้จักในโลกโซเชียลมีเดีย เป็นนักกิจกรรม เป็นปัญญาชนที่มีชื่อเสียง แต่ลงพอไปในระดับเขต ไม่มีใครรู้จักคุณเลย ลำบาก  แต่ถ้าระบบปาร์ตี้ลิสต์แล้วมีนโยบายที่ชัดเจน ยังเป็นไปได้ เพราะโอกาสที่คนจะโหวตแบบแบ่งคะแนนมันมีเยอะ เพราะเขามีสองคะแนนในมือ คะแนนหนึ่งเลือก ส.ส.เขต อีกคะแนนเลือกพรรค ถ้าพรรคทางเลือกนี้สามารถเสนอนโยบายที่ก้าวหน้าจริง ตอบสนองปัญหาจริงๆ  แล้วโยงกับความเดือดร้อนต้องการของกลุ่มทางสังคมจริงๆ  ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์ที่เสื้อแดงอาจจะเลือก ส.ส.เขต เพื่อไทย แต่ปาร์ตี้ลิสต์เลือกพรรคแดงก้าวหน้า (สมมติ) หรือฝั่งเสื้อเหลืองอาจมีปรากฏการณ์ที่ ส.ส.เขตก็เลือกคนที่เขาเลือกกันมาตั้งนานแล้ว อาจจะเลือก ส.ส.ปชป. เหมือนเดิม แต่ปาร์ตี้ลิสต์อาจจะเลือกพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองใหม่กลับมาทำพรรคจริงจัง หรือพรรคหน้ากากขาว ถ้าหน้ากากขาวมาตั้งพรรคและนำเสนอนโยบายที่ก้าวหน้ากว่าปชป. ก็เป็นไปได้

ที่บอกว่าต้องมีฐานทางสังคมที่ชัดเจน อีกข้อคือ
สอง คือต้องมีอุดมการณ์ที่แตกต่างจริงๆ จากพรรคการเมืองใหญ่ที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว เพราะไม่อย่างนั้นคนก็จะรู้สึกว่าเลือกพรรคใหญ่ดีกว่า เพราะอย่าลืมมันกลับไปที่ประเด็นที่เราคุยกันตอนต้น โจทย์ใหญ่ของการเมืองไทย คือ มันมีการต่อสู้กันอยู่จริงระหว่างพลังที่ปฏิเสธระบอบรัฐสภา ระบบการเลือกตั้ง กับระบบที่ยอมรับการเลือกตั้ง ยอมรับเวทีรัฐสภา ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นพื้นฐาน ฉะนั้น ภาวะที่มีการต่อสู้ของสองพลังนี้ มันเลยเกิดภาวะ polarization หรือแยกเป็นสองขั้ว คนต้องถูกผลักให้เลือกข้างๆ ข้างหนึ่ง การเลือกตั้งหลังรัฐประหารเป็นต้นมา ทั้งปี 50 54 เราก็จะเห็นว่าคนโหวตแบบยุทธศาสตร์ รวมทั้งการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.  โจทย์กลายเป็นเหลือแค่ว่า ไม่เกี่ยวว่าคุณชอบสุขุมพันธุ์หรือไม่ แต่ถ้าคุณไม่ต่อต้านทักษิณ คุณต้องเลือกสุขุมพันธุ์ ตอนนั้นโจทย์มันหดมาเหลือแค่นี้

ภาวะอย่างนี้มันยังดำรงอยู่ ฉะนั้น พรรคที่จะเกิดใหม่ทั้งฝั่งเสื้อแดงและฝั่งเสื้อเหลือง ที่จะเกิดขึ้นมาเพราะไม่พอใจพรรคของตัวเองที่มีอยู่ ต้องมั่นใจว่าจะนำเสนออุดมการณ์ที่แตกต่างอย่างชัดเจนจริงๆ คนเขามีสองคะแนนก็ต้องตัดสินใจเลือก ไม่งั้นเขาก็ไม่โหวตให้คุณอยู่ดี

จากปรากฏการณ์ที่พรรคเพื่อไทยเสนอนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เราอาจจะประเมินจากเฟซบุ๊กซึ่งส่วนใหญ่คนที่ใช้เป็น ปัญญาชน คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลางที่เข้าถึงเทคโนโลยี มีความเห็นเยอะ จากนักกิจกรรม นักวิชาการรุ่นใหม่ที่แสดงความผิดหวัง แต่เรากำลังมองมุมกลับว่าช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา  ไม่แน่ใจว่าพลังของคนกลุ่มนี้ ปัญญาชน คนชั้นกลาง มีพลังมากแค่ไหนที่จะดึงคะแนนออกมาจากเพื่อไทย หรือฐานมวลชนออกมาได้ ประเมินว่ากลุ่มนี้มีพลังมากพอไหม อาจมีนักวิชาการอย่างสันติประชาธรรม นิติราษฎร์ ที่นำเสนอชุดความคิดอุดมคติ แต่มันมีผลสะเทือนมากพอที่จะทำให้คนเสื้อแดง ไม่ใช่แค่มีความจงรักภักดีต่อทักษิณเท่านั้น แต่ว่าขยายไปสู่ชุดอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ผลสะเทือนทางความคิดมีแน่ ปัญญาชน นักกิจกรรรม สื่อก้าวหน้า นิติราษฎร์จัดงานทีคนฟังไม่รู้เท่าไหร่ แต่ถามว่า คนเหล่านี้จะไปทำพรรคการเมืองหรือเปล่าล่ะ นั่นคือคำถามสำคัญ เพราะพรรคการเมืองมันไม่ใช่ง่ายแล้ว มันคือการจัดองค์กรอีกแบบหนึ่ง มันคือสถาบันทางการเมือง ซึ่งต้องการการทำงานต่อเนื่อง ต้องการการอุทิศตัว ต้องการเวลา จะทำแบบงานอดิเรกไม่ได้

แล้วส่วนใหญ่ นักวิชาการไม่ได้มีทักษะในการทำงานพรรคการเมืองหรอก ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็เจ๊งหมด หรือถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยจะทำ ถ้าจะทำก็ขาหนึ่งอยู่ในระบบ อีกขาอยู่ในพรรคการเมืองก็ไม่สำเร็จ ต้องไปทำเต็มตัว เพราะแง่หนึ่ง พูดแบบจริงๆ เลยคือ การทำพรรคการเมืองยากกว่าการทำขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอีก เพราะขบวนการ เคลื่อนไหวทางสังคมอาจจะไม่ต้องทำงานตลอดเวลา  เคลื่อนเมื่อมีประเด็น เมื่อสถานการณ์เรียกร้อง แล้วคุณก็อุทิศตัวเฉพาะในช่วงเวลานั้น ออกไปจัดงาน มีคนเข้าร่วมไม่ต้องมาก เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่เชิงปริมาณ  ถ้าสื่อสนใจรายงานข่าวก็สร้างอิมแพคได้แล้ว ประเด็นนั้นก็กลายเป็นที่ถกเถียง นักวิชาการก็เหมือนกัน เราแค่คนสองคน นิติราษฎร์หกเจ็ดคนมีความคิดที่ชัดเจนนำเสนอสู่สังคม สังคมก็ตอบรับ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ แต่ถ้าคุณไปเล่นเกมพรรคการเมือง แน่นอน ท้ายสุดเป้าหมายคือคุณก็ต้องการชนะเลือกตั้ง ต้องลงแข่งขันการเลือกตั้ง เมื่อนั้นเป็นเรื่องปริมาณ ถ้าไมมีคนโหวตให้ก็จบ ถ้ารณรงค์แทบตาย มีคนสนใจความคิด สื่อพูดถึง เพราะรวบรวมคนที่มีความคิดดีเป็นกลุ่มก้อน แต่ท้ายที่สุดไม่มีใครเลือกเลย ไม่ได้สักที่นั่งก็ไม่มีประโยชน์

เงื่อนไขหนึ่งของพรรคการเมือง คือต้องนำเสนอชุดความคิดที่ไปได้ดีกว่าที่มีอยู่ ในข้อเท็จจริงคือตอนนี้มองเห็นไหมว่ามีปัจจัย-กลุ่มคนอะไรที่จะมาเป็นพรรคการเมืองทางเลือก 

ก็คือกลุ่มทางสังคม นี่คือปัจจัยแรก เชื่อว่ามีแล้ว กลุ่มเสื้อแดงที่ต้องการทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่เพื่อไทย แต่ยังอยู่ในอุดมการณ์แบบเสื้อแดงที่ก้าวหน้าไปกว่าเพื่อไทย อันนี้มีแน่ ฉะนั้นโดยสถานการณ์ถึงตอนนี้พอเราเริ่มเห็นรอยแยกระหว่าง นปช. เสื้อแดง กับพรรคเพื่อไทย ก็เป็นสถานการณ์อันดี เหมาะสมที่จะทดลองทำพรรคการเมืองทางเลือก แต่ประเด็นที่พยายามนำเสนอก็คือว่า มันไม่พอ แค่กระแส เพราะกระแสที่จะแปรไปเป็นคะแนนเสียง ที่นั่ง พลังจริงๆ ในฐานะพรรคการเมือง มันยังต้องการปัจจัยอีกหลายอย่างเสริมไป  ก็คืออุดมการณ์ที่ชัดเจน และอีกอันที่สำคัญที่สุดก็คือบุคลากรหรือทีมงานที่จะมาทำงานพรรคการเมืองเต็มเวลา

มีปัจจัยอื่นอีกไหมที่จะขัดขวางการเกิดของพรรคทางเลือก
มีแน่นอน เพราะคนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น และคิดเชิงการเมืองมากขึ้น ซึ่งจริงๆ เป็นพัฒนาการที่ดี แต่ตอนนี้เวลาคนจะโหวตที่บอกว่าโหวตเชิงยุทธศาสตร์หมายความว่า เขาคิดเยอะมากแล้วเขาก็ไม่อยากโหวตโดยที่โหวตไปแล้ว คะแนนเขาจะเสียของ ฉะนั้น ถ้าเขารู้สึกว่าพรรคทางเลือกที่เกิดขึ้นมาไม่ได้เป็นทางเลือกจริงๆ ไม่ได้ต่างจริง ๆ เขาเลือกยี่ห้อเดิมดีกว่า และอย่าลืมท่ามกลางรอยร้าวที่เห็น ระหว่างเสื้อแดงกับเพื่อไทย เสื้อแดงก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ เพราะมีเสื้อแดงที่ไม่ได้คัดค้าน พ.ร.บ.เหมาแข่ง เสื้อแดงที่โอเคกับการที่คุณทักษิณจะกลับบ้าน มีตั้งเยอะที่สนับสนุน เช่น เสื้อแดงในต่างจังหวัด ในอุดรฯ ยกตัวอย่างรูปธรรม ในอุดรฯ ถ้ามีพรรคทางเลือกขึ้นมา แข่งกัน ส.ส.เขตใครจะชนะ แต่อย่างที่บอกว่าในระดับปาร์ตี้ลิสต์ยังได้ คือโดยกฎกติกามันเอื้อให้พรรคทางเลือกเติบโตได้ อันนี้มันก็เป็นตลกร้ายหน่อย คือระบบรัฐธรรมนูญ 2540 ต้องการสกัดไม่ให้มีพรรคเล็กพรรคน้อย เพราะตอนนั้นคนร่างมาจากสำนักคิดที่เชื่อว่าว่าระบบสองพรรคเป็นระบบที่ดีที่สุด ก็พยายามเปลี่ยนโดยบังคับใช้กฎกติกา  เปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่อย่างถอนรากถอนโคน เพื่อเปลี่ยนระบบรัฐสภาผสม พรรคหลายขั้วมีหลายมุ้ง เป็นระบบสองพรรค ซึ่งก็ทำได้จริง ประสบความสำเร็จ อย่างปาร์ตี้ลิสต์ ก็มีเพดานไว้ที่ 5% พรรคถิ่นไทยของ คุณพิจิตต รัตนกุล ซึ่งชูนโยบายสิ่งแวดล้อม ที่จะออกมาเป็นแนวพรรคกรีน ได้ไม่ถึง 5% ก็ไม่โต ก็แท้งไปแล้ว ไม่มีใครจำได้ แต่พอรัฐธรรมนูญ 2550 โดยกฎกติกาพยายามจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 2540 คือต้องการให้พรรคเล็กพรรคน้อยเกิดได้ แต่ตอนนั้นคนร่างไม่ได้มีความคิดหัวก้าวหน้า ไม่ได้ทำเพราะอยากเห็นพรรคกรีน พรรคสังคมนิยม พรรคที่ชูรัฐสวัสดิการ แต่จุดมุ่งหมายคือทำยังไงที่จะไม่ให้พรรคอย่างทักษิณโตขึ้นมาได้อีกในการเมืองไทย ที่พรรคเดียวเป็นรัฐบาลได้ด้วยตัวเอง ชนะเสียงข้างมากเด็ดขาด แล้วก็มาเคลมคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 19 ล้านเสียง   เขาไม่ต้องการทำให้มันเกิดขึ้น จึงทุบตรงนี้ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้เป็นเบี้ยหัวแตก รวมถึงเอาทหารเข้าไปแทรกแซงในความเป็นจริง นอกจากร่างกฎกติกาที่จะทำลายพรรคใหญ่แล้ว ก็ไปบีบ อย่างที่รู้ ให้พรรคต่างๆ แตกตัวออกไป จนภูมิใจไทยก็ต้องถอนตัวออกไป แยกตัวออกไปจากไทยรักไทย ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จระดับหนึ่ง มันก็เลยเกิดสภาวะพิกลพิการที่มีพรรคหนึ่งที่นั่ง สองที่นั่ง ห้าหกที่นั่ง เยอะแยะไปหมด ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรอย่างที่พูดไปแล้ว แต่โดยกฎกติกาตอนนี้ เอื้อให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยได้มากกว่าปี 40  แต่เราจะใช้ประโยชน์ตรงนี้ยังไง

สมมติเอาพรรคคุณชูวิทย์เป็นโมเดล หาเสียงปาร์ตี้ลิสต์อย่างเดียวโดยไม่ต้องลง ส.ส.เขตเลย ยังได้ 4-5 ที่นั่ง ต้องชูให้โดน มีนโยบายที่โดนใจ ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าคุณชูวิทย์หาเสียงคนเดียวยังได้มาตั้ง 4-5 ที่นั่ง  ถ้าพรรคทางเลือกที่สามที่สี่ในเชิงอุดมการณ์จัดองค์กรที่ดี และมีฐานสนับสนุนทางสังคม ชูนโยบายที่โดนใจ ทำสามสิ่งนี้ได้ก็มีโอกาสจะได้มากกว่าห้าที่นั่ง เอาพลัง-ทุน ทุ่มเทไปที่ปาร์ตี้ลิสต์ หาเสียงไปทั่วประเทศ ใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ไม่ต้องไปทุ่ม ส.ส.เขตมาก เพราะต้องใช้พลังงานเยอะมาก ถ้าจะส่งลงในระดับ ส.ส.เขตด้วย

ที่พูดตั้งแต่ต้นว่า โดยเงื่อนไขนี้มันยาก เพราะคนโหวตก็จะโหวตในเชิงยุทธศาสตร์ นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เพื่อไทยและประชาธิปัตย์เล็งเห็นหรือเปล่าว่า ฉันจะทำยังไงก็ได้ ยังไงเสียงพวกนี้ก็ต้องอยู่กับฉัน มันจะต้องอยู่ในภาวะนี้กันไปอีกยาวระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน มันมีพลวัตเกิดขึ้น ทีนี้ถ้าสองพรรคนี้ จะทำยังไงให้ตอบสนองต่อมวลชนได้มากกว่านี้ จะต้องปรับตัวยังไงบ้างไหม

ถึงที่สุดตอนี้ทั้งเสื้อแดงและเพื่อไทยเองอยู่ในจุดที่คับขันทั้งคู่ หมายถึงว่าต้องคิดถึงโหมดในการที่จะมีความสัมพันธ์กันว่าจะมีความสัมพันธ์กันแบบไหน เพราะเดิมจริงๆ แล้วก็ไม่ได้แนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกันมาตลอด แม้ว่าจะเป็นพันธมิตรกัน แต่ว่ามีความตึงเครียดมาตลอด ในรอบหลายปีที่ผ่านมา หลายประเด็นที่เสื้อแดงเสนอก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากเพื่อไทย หรือ ส.ส.เพื่อไทยหลายคนก็ไม่มีอุดมการณ์ ก็เป็น ส.ส.แบบนักการเมืองแบบเก่าที่เกาะกระแสมาเท่านั้นเอง กระทั่งบางคนเคยให้สัมภาษณ์ว่ามองการเคลื่อนไหวแบบมวลชนเสื้อแดงเป็นอุปสรรคของพรรคด้วยซ้ำ ว่าถ่วง เหนี่ยวรั้งการทำงานของพรรคโดยเฉพาะในภาวะที่เขาคิดว่าการเมืองเริ่มจะนิ่งแล้ว จะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ เสื้อแดงมาเสนอเรื่องที่แหลมคมอย่าง  112 กลับยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยทำงานลำบาก

เสื้อแดงตกอยู่ในฐานะที่ลำบาก เสื้อแดงมีทางเลือกหลักๆ สองทาง ท่ามกลางความไม่พอใจเพื่อไทยที่ไม่ค่อยตอบสนองทางนโยบายหรือมีอุดมการณ์ที่ล้าหลังหลายเรื่อง หนึ่งคือ ตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง กับสอง คือพยายามกดดันให้พรรคเพื่อไทยปฏิรูปตัวเองให้ได้ มันเป็นสองทางเลือก

ก็ต้องประเมินว่าถึงจุดแตกหักหรือยังว่าจะแยกตัวเองออกมาตั้งพรรคการเมืองของตัวเองเลย และถ้าทำแบบนี้อาจจะได้ใครมาบ้าง กระทั่งก็ต้องคิดว่าจะดึง ส.ส.จากเพื่อไทยบางคนได้ไหมที่มีอุดมการณ์ ซึ่งถ้าดึงมาได้ก็จะได้ฐานเสียงเขามาด้วย แทนที่จะเริ่มต้นจากศูนย์

มีใครไหมที่จะยินดีออกมาตั้งพรรคใหญ่เช่นกัน พวก ส.ส.เสื้อแดงมีไหม

สอง คือถ้าคิดว่าทางเลือกแรกยาก ก็ต้องกดดันให้เพื่อไทยปฏิรูปให้ได้จริง

ต้องปฏิรูปอะไรบ้าง

เยอะ เพราะเพื่อไทย  ไม่ได้มีความเป็นสถาบัน เป็นโมเดลเดียวกับพรรคอื่นๆ ที่มีมาก่อน โมเดลเดียวกับพรรคชาติพัฒนา พรรคความหวังใหม่ พรรคอะไรต่างๆ คือมันขาดระดับของความเป็นสถาบันพรรคการเมือง ที่ไม่ไปผูกติดกับตัวบุคคลๆ ใดบุคคลหนึ่ง ถ้ามันเป็นสถาบันจริงๆ ก็คือว่า ต่อให้คุณทักษิณเลิกเล่นการเมืองไป หรือครอบครัวชินวัตรไม่สนใจการเมืองแล้ว อยากวางมือจากการเมือง พรรคเพื่อไทยก็ต้องอยู่ต่อเนื่องไปได้ ถามว่ามันจะอยู่ได้เช่นนั้นไหม นั่นก็จะเป็นตัววัดระดับความเป็นสถาบันทางการเมือง

แต่ก็อย่างที่ทุกคนรู้ว่าตอนนี้พรรคเพื่อไทย ก็ยังผูกติดอย่างแยกไม่ออกจากคุณทักษิณ คือ คุณทักษิณเป็นเจ้าของพรรค พูดง่ายๆ มันเป็นบริษัททางการเมืองอันหนึ่งของแก แต่โดยสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์บีบให้แกและพรรคเพื่อไทยต้องมาเล่นบทต่อสู้ทางประชาธิปไตย ซึ่งถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์  พรรคนี้ก็จะเป็นอีกพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่อยู่ในระบบ นำเสนอนโยบายแข่งขันในการเลือกตั้งเหมือนกับพรรคอื่นๆ แต่โดยเหตุบังเอิญทางประวัติศาสตร์ ที่โดนกลั่นแกล้ง ทำให้หลุดจากอำนาจด้วยพลังที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เขาก็เลยต้องเล่นบทนักประชาธิปไตย แต่ตอนนี้มันมาถึงทางแยกแล้ว ที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเล่นได้ เขาก็อยากเล่นเกมแบบชนชั้นนำที่กลับไปดีลกัน มันง่ายกว่า

ซึ่งเราก็เลยเห็นธาตุแท้ ที่ถึงที่สุด เราก็เลยเห็นว่า ส.ส.จำนวนมากก็มีด้านที่เป็นนักการเมืองจริงๆ นักเลือกตั้งจริงๆ อย่างที่โดนวิจารณ์ ไม่รู้ว่ามีถึง 10% หรือเปล่าที่ ส.ส.เพื่อไทยมีแนวคิดเชิงอุดมการณ์ เข้าใจประเด็นทางอุดมการณ์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักความเป็นธรรมทางสังคม

แต่แน่นอนไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสในการปฏิรูปเสียเลย เพียงแต่ต้องมีการสร้างแรงกดดันที่มากพอ ที่จะผลักให้เกิดการปฏิรูปได้ เสื้อแดงก็ต้องแสดงพลังกดดัน

ถึงตอนนี้บางที่ก็อาจจะวิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยเองก็แตก ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าที่ใกล้ชิดทักษิณกับกลุ่มอำนาจใหม่อย่างยิ่งลักษณ์ ก็มีการงัดคัดคานกันคิดว่าจะเป็นโอกาสในการพัฒนาไปได้ไหม

แต่มันไม่ได้แตกเชิงอุดมการณ์นะ หมายถึง แก๊งไทยคู่ฟ้า ที่อ่อนไหวว่ากับกระแสชนชั้นกลาง

รุ่นใหม่คือยิ่งลักษณ์กับทีมเขา และทีมเก่าของทักษิณ ดูจะขัดแย้งกันในเชิงเทคนิคมากกว่า ว่าจะบริหารอย่างไรให้รอด สังเกตว่าไม่ใช่ความต่างเชิงอุดมการณ์นะ แต่เป็นสองแผนกในบริษัทเดียวกัน ซึ่งมองแนวทางการบริหารบริษัทไม่เหมือนกัน แล้วใครจะขึ้นมานำตอนนี้ เผอิญพี่ชายไม่อยู่แล้ว น้องสาวก็แสดงภาวะผู้นำออกมาพอสมควร และมีทีมงานที่จะสร้างมาแวดล้อมตัวเอง เพื่อกีดกันนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนหนึ่งของพี่ชายออกไป ทีมงานแวดล้อมนายกฯ ยิ่งลักษณ์ส่วนใหญ่ก็เป็นเทคโนแครตหรือคนที่มีแนวคิดที่โบราณน้อยกว่า อาจจะไม่ได้ก้าวหน้า แต่อ่อนไหว (sensitive) กว่ากับกระแสสังคม รู้ว่าต้องเล่นการเมืองกับสื่อยังไง และเน้นหนักเรื่องการบริหารนโยบายโลจิกติกส์มหภาค การผลักดันโครงการโลจิกติกส์ เมกะโปรเจกส์ทั้งหลาย แต่ถึงที่สุดมันไม่ใช่ความต่างเชิงอุดมการณ์ ในความหมายที่ว่า ถึงที่สุดกลุ่มคุณยิ่งลักษณ์ก็ไม่เอาการปฏิรูป 112 เหมือนกัน  หรือจะถึงขั้นละทิ้งนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมไหม แล้วหันไปสร้างนโยบายแบบสวัสดิการทางสังคม welfare state ก็คงไม่ไปถึงขั้นนั้น 

แต่ที่เราพูดถึงทางเลือก มันเป็นทางเลือกอีกแบบหนึ่งเลย ที่ไม่ใช่แค่ความต่างระหว่างแผนกพี่ชายกับน้องสาว แต่เป็นชุดนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะต่างออกไปเลย  ทั้งนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม นโยบายทางการเมืองก็ต้องมีทางเลือกที่จะต่างออกไปกับสิ่งที่เพื่อไทยทำอยู่ตอนนี้ ซึ่งแง่หนึ่งจริงๆ ก็มีแนวโน้มที่อยากจะปรองดองกับชนชั้นนำ ไม่ได้แคร์นักกับเรื่องความยุติธรรม หรือการแสวงหาความจริง การปฏิรูปกฎหมายที่ล้าหลัง ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองไทยให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น หรือนโยบายทางการเมืองเรื่องภาคใต้ จะเอายังไง นโยบายทางเศรษฐกิจก็ยิ่งสำคัญ จะมีไหมชุดทางเลือกที่ไม่ใช่สิ่งที่เสนอมาตั้งแต่ไทยรักไทย ต่อเนื่องมาถึงเพื่อไทย แนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจแบบประชานิยม อะไรจะคือนโยบายทางเลือกทางเศรษฐกิจที่จะมี เพราะถึงที่สุดการเป็นพรรคการเมืองที่จะประสบความสำเร็จ ให้ได้เสียงพอสมควร ได้ที่นั่งพอสมควร เป็นกลุ่มก้อน มันเสนอ single issue ไม่ได้  มันแคบไป ถ้าเลือกตั้งท้องถิ่น ได้ เลือกตั้ง ผู้ว่า กทม.ได้ แต่ถ้าเลือกตั้งระดับชาติ ในฐานะพรรคการเมืองต้องมีชุดนโยบายที่เป็นแพคเกจที่มันครอบคลุมมิติต่างๆ เหล่านี้

ถ้าเป็นชูวิทย์ (กมลวิศิษฎ์) เป็น exceptional (ข้อยกเว้น) ถึงที่สุดไม่รู้จะเป็นโมเดลได้ไหม เพราะเล่นกับชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เล่นกับสื่อ และมันไม่ใช่พรรคการเมืองด้วยซ้ำ เป็นการเมืองแบบ one man show มันคือกลุ่มคุณชูวิทย์ นำโดยคุณชูวิทย์คนเดียว ไม่มีความเป็นสถาบัน ไม่มีความเป็นองค์กร ไม่มีสมาชิกพรรคด้วยซ้ำ เพียงแต่เล่นกับกระแส พอดีเป็นคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ในฝั่งเสื้อแดงหรือเหลืองก็ตาม มีคนระดับคุณชูวิทย์ไหม สนธิ ลิ้มทองกุล อาจจะได้ ถ้าจะเอาโมเดลนี้เป็นหลักต้องมีแม่เหล็กดึงดูดเป็นตัวบุคคล นโยบายต่อต้านคอรัปชั่นของแกตอนนั้นยังไม่ได้มีรูปธรรมอะไรเลยด้วย มันเป็นสโลแกนหรือโวหารอย่างหนึ่ง ถึงวันนหนึ่งถ้าเบื่อการเมือง ทะเลาะกับสมาชิกพรรคมากมาย แกเลิกเล่นการเมือง พรรคนี้ก็จะหายไป พรรคการเมืองไทยมันล้มหายตายจากมาเยอะแล้ว

จริงๆ โมเดลที่ใกล้เคียงกว่าสำหรับพรรคการเมืองทางเลือกในปัจจุบัน คือ ประสบการณ์ของพรรคสังคมนิยม พรรคแนวทางซ้ายที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลา ตอนนั้นเป็นยุคทอง การเลือกตั้งในปี 2518-2519 มีพรรคแนวทางสังคมนิยมถึง3 พรรค คือ พรรคพลังใหม่ พรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรค3 พรรคนี้รวมกันได้เสียตั้ง 30 กว่าเสียง คนมีความคิดหัวก้าวหน้าในสมัยนั้นมาตั้งพรรคเพราะเห็นว่าถึงที่สุดอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ได้จริงๆ ต้องสู้ในเกมการเลือกตั้ง เพื่อมีอำนาจผลักดันเชิงนโยบาย เปลี่ยนกฎหมาย การเป็นเพียงแค่ขบวนการนักศึกษา ชาวนา กรรมกรไม่เพียงพอ คนที่เห็นว่าต้องทำงานการเมืองในระบบก็ไปทำพรรคการเมืองเยอะแยะเต็มไปหมด แคล้ว นรปติ, นพ.ประแส ชนะวงศ์, คนรุ่นใหม่อย่าง ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ตอนนั้น 30 กว่าที่นั่งก็ไม่น้อย หลัง 14 ตุลากระแสมันขึ้นสูงจริงๆ แล้วเขาชูนโยบายที่จับใจ การปฏิรูปที่ดินก็ได้เสียงชาวนาแน่นอน ขณะที่พรรคอื่นไมได้เสนอนโยบายอะไรที่ตอบสนองการแก้ปัญหาของชาวบ้านเลย

ถ้าวันนี้มีพรรคการเมืองที่สามขึ้นมา มันก็จะเป็นการสู้กันระหว่างนโยบาย แต่ประชานิยมก็ยังคงจับใจมากกว่า

แน่นอน เพราะประชานิยมเป็นการให้ผลตอบแทนในระยะสั้นที่จับต้องได้ ในขณะที่นโยบายสวัสดิการทางสังคม เสนอแล้วกว่าจะผลักดันให้เป็นกฎหมายได้มันยาวนาน ถ้าคุณเป็นพรรคเล็กมีที่นั่งไม่กี่ที่นั่ง กฎหมายก็อาจไม่ผ่าน นโยบายที่หาเสียงไว้ก็ไม่ปรากฏเป็นจริง ขณะที่นโยบายประชานิยม ค่าแรง 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เบี้ยผู้สูงอายุ มันเป็นอะไรที่จับต้องได้ทันที

ที่พูดนี่ไม่ได้ให้หมดกำลังใจ แต่ว่าต้องประเมินอย่างจริงจัง เพราะการตั้งพรรคการเมืองทางเลือกไม่ใช่ของง่าย มีอุปสรรคเยอะ อันที่จริงเรื่องนี้มีการพูดกันตั้งแต่ก่อนจะมีการตั้งพรรคไทยรักไทยด้วยซ้ำ คงจำได้ช่วงหลังพฤษภา 35 ตอนนั้นคนก็เบื่อหน่ายพรรคการเมืองในระบบ ทุกพรรคคอรัปชั่นเหมือนกันหมด ไม่มีนโยบาย เป็นแค่พรรคของกลุ่มทุนเพียงแต่ต่างกลุ่มกันเท่านั้น กลุ่มเอ็นจีโอมีการพูดถึงพรรคกรีน พรรคอะไรต่อมิอะไร คนที่ต่อมากลายเป็นแกนนำเสื้อเหลืองเขาเคยอยากทำพรรคการเมืองทางเลือกมาก่อนตั้งนานแล้ว พรรคด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน ชูสวัสดิการทางสังคม

แต่ดูเหมือนเมื่อเข้ามาร่วมขบวนกับเสื้อเหลืองก็ถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมไปเลย

ใช่ เพราะสถานการณ์ทางการเมือง  แต่ตอนนั้นพันธมิตรฯ ก็แตกกันเองด้วย มีเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ยินดีมาทำพรรคการเมืองใหม่ ตอนหลังคุณสนธิก็ไม่เอาด้วย หลายคนก็ไม่ทำ มันก็เลยแท้งไป เพราะแม้แต่ปีกที่อยากทำพรรคการเมืองก็แตกกันเอง แล้วบางปีกก็ไปเสนอยุทธศาสตร์โหวตโนอีก ก็เลยสับสนไปกันใหญ่ จะเล่นการเมืองในระบบ หรือจะโหวตโนไม่เอาอะไรเลย เสียงก็เลยกระจัดกระจายมาก

ถ้าจะมีพรรคทางเลือกจะเสนออะไรที่แตกต่างจากประชาธิปัตย์

นั่นน่ะสิ ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนหลังมีการไปตั้งกลุ่มกรีน ก็อาจจะเป็นเสื้อคลุมอันใหม่ ทำให้เห็นว่าไม่ใช่เสื้อเหลืองเดิม

จริงๆ โจทย์มันคล้ายๆ กันของทั้งสองอุดมการณ์ โจทย์ของคนจะทำพรรคการเมืองทางเลือกฝ่ายเหลืองก็จะเจอโจทย์เดียวกันกับคนที่จะทำพรรคทางเลือกฝ่ายแดงนั่นแหละ ตลาดของคนที่เขาจะต้องไปช่วงชิงก็คือ ตลาดของคนที่เลือกประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยอยู่แล้ว เขาจะชิงเสียงตรงนี้มายังไง เพราะถึงที่สุดผู้เลือกตั้งจะไม่ถึงกับสลับขั้ว มันจึงเป็นการดึงคะแนนเสียงกันเองในหมู่พรรคที่อยู่ในปีกเดียวกัน คือ พรรคทางเลือกเสื้อแดงก็จะไม่ได้ไปได้เสียจากฝั่งเหลืองหรอก ยิ่งหนักขึ้นด้วยซ้ำเพราะนำเสนออุดมการณ์ที่ก้าวหน้ากว่าเดิมอีก พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ได้กลุ่ม swing voters ที่ไม่ได้จงรักภักดีกับพรรคไหนมาเยอะพอสมควร เพราะปาร์ตี้ลิสต์กระโดดจาก 12 ล้านเป็น 15 ล้าน คนไม่ได้เป็นแฟนคลับเพื่อไทย ไม่ได้เป็นแฟนคลับทักษิณ ไม่ได้เป็นเสื้อแดง แต่เห็นว่านโยบายโดยรวมเพื่อไทยดีกว่า หรือเลือกเพื่อไทยแล้วบ้านเมืองจะไปได้มากว่า ราบรื่นกว่ามีไม่น้อย เพราะตอนนั้นเพื่อไทยชูนโยบายเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ถ้าเสื้อแดงทางเลือกมาเสนอนโยบายที่ก้าวหน้า ภาษีมรดก สวัสดิการสังคม มาตรา 112 ถามว่าจะได้ swing voters ตรงนี้ไหม คิดว่าจะยิ่งไม่ได้ เสื้อเหลืองก็เช่นเดียวกัน อะไรคือชุดนโยบายที่ต่างออกไป ต่างจากเสื้อแดง เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ สมมติจะบอก ต่อต้านทุนนิยมสามานย์ มันก็ต้องมีรูปธรรม แต่ไม่แน่มันอาจมีกลุ่มการเมืองแบบฝ่ายขวาสุดโต่งก็ได้ เหมือนที่เกิดขึ้นในยุโรป

ที่เป็นอยู่นี่ยังไม่สุดโต่งอีกหรือ

อย่างประชาธิปัตย์ พอถึงเกมเลือกตั้งเขาไม่กล้าเสนอนโยบายที่สุดโต่งมากนะ ลองสังเกต ยังไม่ถึงกับมีแนวเพิ่มโทษ 112 หรือนโยบายชาตินิยมสุดโต่ง การแข็งกร้าวกับประเทศเพื่อนบ้าน ใช้แนวทางปราบปรามแข็งกร้าวในภาคใต้ ฯลฯ มันมีกลุ่มที่สุดโต่งกว่าที่ประชาธิปัตย์เป็น ซึ่งในยุโรปมีพรรคแนวนี้แล้วช่วงหลังก็ได้เสียงในสภาจำนวนหนึ่ง มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านชนกลุ่มน้อย ฯลฯ คนกลุ่มนี้ใครจะไปรู้มันอาจจะงอกออกมาเป็นพรรคการเมืองก็ได้ และได้เสียง 4-5 ที่นั่งในสภาก็สร้างความปั่นป่วนได้แล้ว

มันไม่ได้มีคนกลุ่มนี้ในระบบการเมืองอยู่แล้วหรือ

มันมี แต่ยังไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาเป็นรูปธรรมของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

ท่าทีของพรรคการเมืองที่มีอยู่ก็ไม่ได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงกับแนวทางสุดโต่งอย่างนี้  เช่น นโยบายทหารในภาคใต้ ก็ไม่มีใครกล้าพูดว่าพรรคเราไม่เห็นด้วย

แต่ขณะเดียวกันเขาก็ไม่กล้ากระโจนคว้ามาผลักดันเป็นนโยบายอย่างเต็มที่ ข้อดีของการเมืองระบบรัฐสภาและระบบเลือกตั้ง คือมันสกรีนความคิดสุดโต่งจำนวนหนึ่งออกไป เพราะถ้าคุณเป็นพรรคการเมืองใหญ่ อยากจะชนะการเลือกตั้ง คุณเสนอนโยบายสุดโต่งไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างช่วงชิงเสียงตรงกลาง การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เพื่อไทยก็ผลัดหน้าทาแป้งน่าดู พยายามพูดเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ พูดเรื่องนโยบายทางการเมืองน้อยมาก ไม่มีเลยประเด็นเรื่องความยุติธรรม การหาความจริง แล้วตอนนั้นเขาชนะมาก็เพราะภาพฝันเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เมกกะโปรเจ็กต์ รถไฟรางคู่

ในภาวะเปลี่ยนผ่าน มันมีภาวะเลี่ยงการเผชิญหน้าเป็นปกติ

ช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลที่ขึ้นมาอำนาจเปราะบาง ไม่เสถียร ถ้าพลาดเมื่อไรก็ถูกโค่นล้มได้ทุกเมื่อ ด้วยกลไกต่างๆ ที่มีอยู่เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าการเคลื่อนไหวบนท้องถนน อำนาจตุลาการ ทหาร ที่จะคอยเช็คบิลคุณ เป็นการทำงานอยู่ภายใต้สภาวะที่รู้ว่าตัวเองไม่มั่นคงมาก

ตอนนี้เรามาถึงจุดที่พรรคการเมืองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์อย่างที่มวลชนบางส่วน (ทั้งสองฝ่าย) คาดหวัง มันน่าจะเป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการมีทางเลือก หลังจากการเมืองถูกทำให้เป็นสองขั้วชัดเจน ภาวะอารมณ์คนชั้นกลาง คนตาสว่างจากทักษิณจากเหตุการณ์นิรโทษ เขาจะแปลงพลังอันนี้เป็นอะไรได้

จริงๆ มี 2-3 ทาง คือ คงตัวเองเป็น social movement หรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่อไป มันไม่จำเป็นที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทุกขบวนการต้องแปลงตัวเองเป็นพรรคการเมืองหมด ขบวนการที่เป็นกลุ่มขบวนการทางสังคมมันก็มีพลังในตัวเอง พรรคการเมืองมันมีพลังแต่ก็มีข้อจำกัดในตัวเองเหมือนกัน ฉะนั้น ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องวิ่งเข้าสู่การเป็นพรรคการเมืองหมดเพื่อจะเปลี่ยนแปลงสังคม แต่โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างพลังกดดันให้พรรคการเมืองที่ตัวเองเป็นแนวร่วมอยู่ด้วยต้องปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายหรืออุดมการณ์ให้ก้าวหน้ามากขึ้น ตอบสนองagenda ทางสังคมที่ก้าวหน้า

ที่ผ่านมา มีคำวิพากษ์วิจารณ์ เช่น นักวิชาการส่วนที่ดูก้าวหน้าแทนที่จะเป็นพลังคัดง้าง ถ่วงดุล หรือกระตุกพรรคเพื่อไทยให้ก้าวหน้ากว่านี้ แต่กลับเป็นผู้ปกป้องพรรคเพื่อไทยเสียมากกว่า

เดี๋ยวมันก็กลับไปที่ประเด็นเดิมที่พูดอีก พยายามจะเข้าใจเขาเพราะการเมืองแบบสองขั้วมันยาก พูดง่ายๆ ว่าถ้าการเมืองไทยไม่พิกลพิการ เป็นการเมืองเหมือนประเทศส่วนใหญ่ พลังคุกคามที่จะมาล้มระบอบประชาธิปไตยไม่มีแล้ว ถ้าการเมืองปกติ ตอนนี้พรรคการเมืองไทยก็จะต้องแตกเป็นหลายพรรคแล้ว ไม่มาเกาะกันอยู่ เพราะมันมีความขัดแย้งในแต่ละขั้วพอสมควร ไม่ได้เห็นร่วมกัน พูดง่ายๆ พรรคการเมืองในประวัติศาสตร์โลกเกิดขึ้นเพราะมีความแตกแยกทางสังคม มีความแตกแยกทางสังคม พรรคเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ที่ต่างกันระหว่างกลุ่มทางสังคมใหม่ๆ เหมือนในยุโรป เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดความขัดแย้งทางชนชั้นก็มีพรรคที่โตขึ้นมาจากขบวนการแรงงานเพื่อมาปกป้องผลประโยชน์ของแรงงาน กับพรรคที่โตขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายทุนอุตสาหกรรม หรือพรรคที่ต้องการช่วยเหลือชาวนา

จริงๆ 7-8 ปีที่ผ่านมานี้ ความขัดแย้งในสังคมไทยสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ลึกซึ้ง แหลมคม ถ้าไม่มีพลังอำนาจนอกระบบ social divisionแบบนี้มันจะต้องผลิตให้เกิดพรรคการเมืองเยอะแยะมากมายแล้วตอนนี้ คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมของไทยมันไม่เกิด ท้ายสุดก็เหลืออยู่ 2 พรรค นั่นก็เพราะการเมืองเราจริงๆ ยังไม่ได้เล่นกันในกรอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาปกติ มันก็จะเข้าใจไม่ได้ เหมือนนักวิชาการตะวันตกจำนวนหนึ่ก็มาถาม พวกที่ศึกษาพรรคการเมืองในยุโรปเมื่อมาศึกษาพรรคการเมืองในไทย เขาก็ถามว่า ทำไม นปช.เสื้อแดงไม่มีพรรคการเมืองของตัวเอง ทำไมต้องไปผูกอยู่กับพรรคเพื่อไทย เพราะในระบบการเมืองแบบปกติ นปช. คงตั้งพรรคการเมืองไปนานแล้ว หรือเสื้อแดงอาจมีพรรคการเมือง 2-3 พรรคด้วยซ้ำ แต่ก็เพราะการเมืองที่เล่นกันสองชั้นนี่แหละทำให้พรรคการเมืองทางเลือกมันไม่โต รวมถึงปัญญาชนจำนวนหนึ่งก็คิดเชิงยุทธศาสตร์เหมือนกัน ไม่ใช่แค่ผู้เลือกตั้งเป็น strategic voter แต่ปัญญาชนก็เผชิญปัญหาแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เช่น เรื่องนี้ถ้าโจมตีรัฐบาลแล้วนัยของมันคืออะไร โจมตีไปถึงจุดหนึ่งจะทำให้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำจนล้มไปเลยไหม มันมีการคิดคำนวณเยอะ แต่ถ้าเป็นสภาวะปกติ มันก็คงด่ากันแหลกแล้วสิ่งที่เพื่อไทยทำในหลายเรื่อง นโยบายหลายอย่างก็ผิดพลาด มีช่องโหว่มีปัญหาเยอะแยะมากมาย

มันเป็นภาวะกระอักกระอ่วน การเมืองไทยที่ว่าน้ำเน่าก็น้ำเน่าในแง่นี้ ไม่ใช่น้ำเน่าในความหมายแบบที่อ.ชัยอนันต์ สมุทรวานิช พูดในสมัยก่อนว่ามีเลือกตั้งแล้วก็มีรัฐประหาร แต่น้ำเน่าในความหมายนี้ที่ว่า การเล่นการเมืองแบบสองชั้น แล้วฝ่ายเสื้อเหลือง หรือฝ่ายชนชั้นนำก็อาศัยอันนี้เป็นข้ออ้างมาโจมตีนักการเมืองและพรรคการเมือง ว่า นักการเมืองไทยมันไม่มีคุณภาพ พรรคการเมืองไทยมันห่วย ถามว่ามันห่วยไหม มันก็ห่วยจริง พรรคการเมืองไทยไม่ใช่พรรคการเมืองที่ดี ทุกพรรคยังห่างไกลจากการเป็นพรรคการเมืองที่ดีในการตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชน แต่ถามว่าในสภาวะแบบนี้ที่คนเบื่อหน่ายพรรคการเมืองนักการเมือง มันเกิดจากอะไร

ฝั่งเสื้อเหลืองมองเห็นปัญหาแค่ครึ่งเดียว นักการเมืองเลว พรรคการเมืองเห็นแก่ตัว แต่ถ้าเราดูประวัติศาสตร์ไทย จะเห็นได้ว่าการพัฒนาพรรคการเมืองนั้นถูกทำให้สะดุดตลอด พรรคการเมืองไทยในฐานะสถาบันทางการเมืองมันเพิ่งพัฒนา ช้ามาก หรือการเลือกตั้ง เราเพิ่งมีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอในยุคป๋าเปรมเป็นต้นมานี่เอง ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ก่อนหน้านั้นมีรัฐประหารตลอด แล้วหลังยุคป๋าเปรมก็ยังมีรัฐประหาร รสช. ล่าสุดก็ยังมีกลไกแบบตุลาการภิวัตน์ที่ยุบพรรคการเมืองอีก ฉะนั้น ที่พรรคการเมืองมันห่วย ปัญหาอีกครึ่งหนึ่งมันก็มาจากทหารและตุลาการกับ ชนชั้นนำกลุ่มเดิมที่จริงๆ เขาไม่ต้องการให้พรรคการเมือเติบโต โดยเฉพาะพรรคแบบมวลชน (mass based political party) พรรคการเมืองที่มีพลังที่เราเห็นในตะวันตกก็คือพรรคที่มีฐานมวลชน ลิงก์กับกลุ่มพลังที่ชัดเจน พรรคแรงงานมีกลุ่มแรงงานเป็นฐานเสียง พรรคชาวนา พรรคฝ่ายซ้ายในบราซิล ก็มีขบวนการชาวนา คนยากคนจนเป็นฐานเสียง มีฐานเสียงรองรับที่เป็นจริง แต่ของไทยพรรคการเมืองแบบมวลชนถูกสกัดกั้นตลอดไม่ให้เติบโต คนที่สกัดกั้นก็พวกชนชั้นนำ นักรัฐศาสตร์ที่ไปทำงานรับใช้พวกทหาร ที่ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 40 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง รวมถึงการออกแบบระบบเลือกตั้งที่ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองมวลชนเติบโต

ตอนนี้ไม่รู้ว่าตั้งพรรคใหม่กับปฏิรูปพรรคเดิมให้ดีขึ้น อย่างไหนยากกว่า ต้องไปคิด อย่างฝั่งประชาธิปัตย์เองก็มีคนพยายามให้มีการปฏิรูป คิดว่าถูกแล้วที่จะผลักดันแนวทางนั้น แต่พอการเมืองมาสู่โหมดเดิม คือ ไล่รัฐบาล แม้แต่คุณอลงกรณ์ (พลบุตร) เองก็ต้องกระโจนมาร่วมกับสมาชิกพรรคคนอื่น อันนี้เป็นเกมระยะสั้นมาก ม็อบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่คุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) เป็นคนนำ ท้ายที่สุดมันจะพาสังคมไทยไปสู่ทางตัน ไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย แต่เกมที่คุณอลงกรณ์เสนอก่อนหน้านี้เรื่องปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นเกมระยะยาว ที่จริงๆ ฝั่งเสื้อเหลืองทั้งหมดและฝั่งต่อต้านทักษิณควรไปช่วยคุณอลงกรณ์ เพราะการชุมนุมไม่ว่าที่ไหนก็ตาม อุรุพงษ์ สามเสน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึงที่สุดมันก็อาจสั่นคลอนรัฐบาลได้ชั่วคราว หรือกระทั่งล้มรัฐบาลได้ตอนนี้ แต่แล้วยังไง ทุกคนก็รู้ว่ายุบสภาตอนนี้ เพื่อไทยก็กลับมาได้อีกในเกมการเลือกตั้ง แล้วก็ต้องม็อบกันใหม่ไล่รัฐบาล เป็นเกมการเมืองแบบนี้ แต่คุณไม่ได้ปฏิรูปตัวเองให้สามารถชนะในระบบได้ นี่คือการเมืองแบบน้ำเน่าในแง่นี้ ทุกคนรู้ว่าจะลงเอยตรงไหน ขนาดรัฐประหารไปแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญช่วยเหลือตัวเองขึ้น ล่าสุดตัวเองเป็นรัฐบาลทำทุกวิถีทางแล้วก็ยังแพ้เลือกตั้งอีกคราวนี้ก็จะจบแบบเดิมอีก ถึงแม้ถ้าใช้ตุลาการภิวัตน์ ตัดสิทธิยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ได้ เพื่อไทยก็หาคนมาแทนได้ ช่วงที่ผ่านมา 2 ปี ประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ทำอะไรเลยในฐานะพรรคการเมืองที่จะทำให้มีนโยบายที่ดีขึ้น หรือมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนขึ้น

มันกลับหัวกลับหาง สิ่งที่คุณอลงกรณ์ เสนอให้ปฏิรูประชาธิปัตย์ จริงๆ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่เพื่อไทยก็ควรเอาไปทำด้วย คงจำได้ที่คุณอลงกรณ์เสนอเรื่องให้คัดเลือก ส.ส.ที่มีคุณภาพมากกว่านี้ จริงๆ เป็นปัญหาของเพื่อไทยมากกว่าประชาธิปัตย์ โดยตัวผู้สมัครของประชาธิปัตย์นั้นไม่ได้เลวร้าย แต่โจทย์ใหญ่ของประชาธิปัตย์คืออุดมการณ์ที่ผิดทิศผิดทาง เพื่อไทยเสียอีกมีปัญหาเรื่องคุณภาพส.ส. ดังนั้น การที่มีคนเสนอใช้ระบบ primary กับเพื่อไทยนั้นเป็นทิศทางที่ถูกต้องสำหรับเพื่อไทย
ถ้าเมืองไทยหลุดจากการเมืองสองชั้น การปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้ผล

มันเป็นคีย์อีกอันหนึ่ง ถ้าฝ่ายต่อต้านทักษิณเชื่อว่าตัวเองจะชนะในระบบได้ มันก็ไม่ต้องใช้เครื่องมือนอกระบบ แต่ตอนนี้ฝ่ายนี้รู้สึกจนตรอก เลือกตั้งกี่ทีก็แพ้ ไม่สามารถพึ่งพาประชาธิปัตย์ได้ ทุกคนเลยฝากความหวังไว้ที่ตุลาการภิวัตน์และการยึดอำนาจ เล่นนอกเกมตลอดเพราะรู้ว่าเล่นในเกมเล่นยังไงก็แพ้ ถ้าประชาธิปัตย์สามารถปฏิรูปตัวเองจนมีศักยภาพมากขึ้น แข่งได้สูสีกว่านี้ เป็นทางเลือกให้ประชาชนได้มากกว่านี้ ทางเลือกนอกระบบจะค่อยๆ ถูกตัดออกไป เพราะถึงที่สุดชนะในระบบมันชอบธรรมกว่า คุณก็อยู่ในอำนาจได้ คนก็ไม่ต่อต้าน ถ้าปฏิรูปสำเร็จมันก็บีบให้เพื่อไทยต้องปฏิรูปด้วย จะนิ่งนอนใจไม่ได้แล้วว่าจะชนะตลอดกาล ถ้าถึงจุดนั้นจริงๆ แล้วเป็นผลดีกับเสื้อแดงเองด้วย

พูดตรงๆ สภาวะตอนนี้เพื่อไทยก็รู้สึกว่าไม่ต้องแคร์มาก เสื้อแดงยังไงก็เป็นของตายของพรรคเพื่อไทย ต่อให้ตัวเองห่วยขนาดไหน ผลักดันเหมาเข่ง แต่เขาก็รู้ว่าถึงเวลาเลือกตั้งเสื้อแดงจะไม่หันไปเลือกพรรคอื่นหรืออย่างมากก็ไม่เลือกใคร ซึ่งทำอย่างนั้นเพื่อไทยก็ยังชนะอยู่ดี ที่คุณหนูหริ่งหรือบก.ลายจุดวิเคราะห์ว่าเลือกตั้งครั้งหน้าเพื่อไทยจะแพ้ ผมไม่เห็นอย่างนั้น ไม่เห็นเค้าลางว่าเพื่อไทยจะแพ้ได้ยังไง  เพราะเสื้อแดงที่จะไปโหวตพรรคอื่นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ส่วนที่จะโนโหวตก็ยังไม่มากพอจะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งให้เพื่อไทยแพ้ ฉะนั้น ภาวะแบบนี้เพื่อไทยก็รู้ ถึงจุดหนึ่งเสื้อแดงก็เลยถูกมองเป็นของตายของเพื่อไทย

ถ้าให้คนที่อยู่ในพรรคการเมือง คนที่เป็นนักการเมืองอยู่แล้ว ออกมาทำเอง กล้าๆ หน่อยทั้งสองพรรค เพราะมีโอกาสความเป็นไปได้มากกว่า

ใช่ เพราะคนเหล่านี้มีทักษะอยู่แล้วในการทำพรรค มีระบบหัวคะแนน มีฐานเสียงอยู่ แต่มันมีเหรอในสองพรรคที่ดูก้าวหน้า จะเสนอใคร

จริงๆ อีกอันที่ทำได้คือ โมเดลแบบมาเลเซีย เป็นสิ่งที่เรียกว่า coalition หรือแนวร่วม ในมาเลเซียตอนนี้มี 2 ขั้วคือ อัมโนกับฝ่ายค้านที่เสนอการปฏิรูป สู้กันดุเดือด การเมืองมาเลเซียกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญเหมือนกัน และขั้วอำนาจเดิมที่เคยผูกขาดมาตลอด 30-40 ปี เริ่มเสื่อมลง ฝ่ายค้านกำลังขึ้นมา แต่ที่น่าสนใจเป็นบทเรียนประยุกต์ให้กับการเมืองไทย คือ ทั้ง 2 ขั้วมีหลายพรรคประกอบกันในขั้ว ไม่ใช่ฝ่ายค้านมีพรรคเดียว ฝ่ายรัฐบาลมีพรรคเดียว ในอัมโนก็มีหลายพรรคจับมือกันปกป้องผลประโยชน์ของอำนาจเก่า ฝ่ายค้านกี 3 พรรคหลัก ซึ่งมีนโยบายแตกต่างกันเลยในรายละเอียด มีพรรคมุสลิม มีพรรคคนจีน แล้วก็มีพรรคแบบหัวหน้าชูนโยบายเสรีนิยม ชูสิทธิมนุษยชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม พวกนี้เกาะกันเพื่อจะสู้กับอีกฝั่งหนึ่ง เพราะรู้ว่าการเป็นพรรคเล็กสู้เป็นเบี้ยหัวแตกสู้ไม่ได้ เป็นพันธมิตรกันในการเลือกตั้ง ในการหาเสียง บอก voter แต่แรกว่าถ้าเลือกปีกนี้เขาจะจับมือกันตอนเป็นรัฐบาล นี่ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ฉลาดตรงที่ 3 พรรคก็นำเสนอนโยบายที่แตกต่างกัน กลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน ทำให้จับกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย

เสื้อแดงก็อาจต้องคิดถึงโมเดลนี้เพื่อให้ voter ไม่ลำบากใจมาก โอเค เราเห็นว่านโยบายของเพื่อไทยมีข้อจำกัดบางอย่าง เราต้องการเสนอนโยบายบางอย่างที่เพื่อไทยไม่กล้าเสนอหรือถูกละเลยไป เช่น เรื่องปฏิรูป 112แต่ในทางการเมืองเราก็ยังอยู่ในขั้วเดียวกับเพื่อไทย ยังยินดีจะร่วมรัฐบาล ร่วมทำงานด้วยกัน เพราะอย่างน้อยยังคุยกันได้รู้เรื่อง มันก็จะกลายเป็นการเมืองแบบสองขั้วเหมือนเดิม แต่ในแต่ละขั้วมีพรรคการเมืองแตกออกมาและมีทางเลือกให้กับประชาชนมากขึ้น

โมเดลแบบนี้เมืองไทยยังไม่มี แต่พรรคเล็กที่แตกออกมาส่วนใหญ่พร้อมเป็นแนวร่วมกับใครก็ได้มากกว่า

อันนี้เป็นแบบปลาไหล มันไม่ใช่ขั้วทางอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ นี่เป็นการเมืองแบบยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ มี ส.ส.สัก 5 คนเพื่อต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีได้ 1 ตำแหน่ง ซึ่งมันควรจะหมดไปได้แล้ว เพราะตอนนี้ผู้เลือกตั้งของทั้งสองฝั่งมีคุณภาพมากขึ้น เลือกในเชิงอุดมการณ์กับนโยบายมากขึ้น โมเดลพรรคแบบเจ้าพ่อเลยตาย คนไม่ได้ต้องการการอุปถัมภ์แบบเจ้าพ่อแล้วเพราะเขาได้รับการอุปถัมภ์จากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งไปเป็นรัฐบาล มันเป็นรูปธรรมมากกว่าเยอะ พรรคในเชิงนโยบายและอุดมการณ์มีโอกาสเกิดมากกว่าพรรคแบบเจ้าพ่ออีก แต่คุณจะทำอย่างไร ที่เสนอโมเดลแบบมาเลเซียเพราะว่าถ้าไม่ทำแบบนี้คนจะลำบากใจ เหมือนมาทะเลาะกันเอง จะเข้าทางฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า

ฝ่ายเสื้อเหลืองจำนวนหนึ่ง หลายคนในพันธมิตรฯ ก็ไม่กล้าทำพรรคขึ้นมาจริงจังเพราะกลัวว่าจะไปทำให้ประชาธิปัตย์อ่อนแอ เหมือนแย่งเสียงกันเอง แต่ถ้าทำเป็นพรรคที่เป็นพันธมิตรกัน จับขั้วกันแบบนี้ก็น่าสนใจ ต่อไปถ้าเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งอยากปฏิรูป 112   ก็ผลักดันผ่านพรรคแดงก้าวหน้า สมมติ แล้วพรรคแดงก้าวหน้าถ้าได้เสียงมากพอก็อยู่ร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ก็ต่อรองในเรื่องจะโหวตกฎหมายต่างๆ ให้ แต่ก็ต้องรับอาเจนดาของพรรคคุณไป มันก็เป็นโมเดลที่ขยับไปอีกขั้น จากการเป็นแค่กลุ่มเสื้อแดงอยู่นอกสภา กับโมเดลที่จะปฏิรูปเพื่อไทยจากภายใน ถ้ามองว่ายากเกินไป ก็ตั้งตัวขึ้นมาใหม่ ยังเป็นแนวร่วมอยู่แต่เราอยากตั้งพรรคเล็กๆ ของเราเอง 

แต่ก็ไม่แน่ใจว่า ส.ส.เพื่อไทยเอง แม้กระทั่ง ส.ส.ที่โตมาจากเสื้อแดงหรือ นปช.เองจะกล้าแตกตัวออกมาหรือเปล่า อันนี้ก็ต้องถามใจกัน คุณณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) คุณจตุพร (พรหมพันธ์) หมอเหวง (โตจิราการ) กล้าออกมาแล้วตั้งพรรคการเมืองของตัวเองไหม ถ้า 3-4 คนนี้มาตั้งพรรค ก็มีเปอร์เซ็นต์ ต้องได้ 7-8 ที่นั่ง หรืออย่างบก.ลายจุด ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่อย่าไปแตกมากเป็นหลายพรรคเล็กพรรคน้อยถ้านโยบายมันใกล้กัน ก็ควรจะกรุ๊ปกันเป็นอีกพรรคหนึ่ง คำถามคือ กล้าจะแยกตัวเองออกมาเลยไหม เพราะการอยู่กับเพื่อไทยก็มีอะไรที่หอมหวานเยอะ ออกมาก็ไม่รู้ชะตากรรมจะเป็นยังไง แต่ถ้าส.ส.เสื้อแดงออกมาซัก 10 กว่าคนบวกกับแอคติวิสต์อีกจำนวนหนึ่ง อันนี้มีโอกาสเกิด แต่ก็อย่าลืมว่าหลายคนเป็นส.ส.เพราะระบบปาร์ตี้ลิสต์ ไปลงเขตก็อาจจะแพ้ หลายคนมาจากภาคใต้ มันไม่ใช่ง่ายๆ แต่ถ้าลงปาร์ตี้ลิสต์จากแดงต่างๆ ที่ชอบสองคนนี้ แต่ชอบนโยบายของพรรคนี้ ส.ส.เขตเขาก็เลือกเพื่อไทยไป แล้วปาร์ตี้ลิสต์ก็มาเลือกณัฐวุฒิ จตุพร ก็อาจจะเป็นไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท