เสวนา สื่อไทย: วาทกรรมได้ดินแดน เสียดินแดน

บ.ก.ข่าวต่างประเทศ เดอะเนชั่น ยืนยันสาระสำคัญของคำตัดสินศาลโลกคือตัวปราสาทและผืนดินใต้ปราสาทเป็นของกัมพูชา เหลือให้ไปเจรจากันเอาเอง สุเจน กรรพฤทธิ์ กองบ.ก.สารคดีชี้ หากคนไทยไม่ทะเลาะกันเอง อาจจะได้เปรียบมากกว่านี้ แยม-ฐปนีย์ บอกคลั่งชาติได้แต่อย่ากระหายสงคราม

เสวนาหัวข้อ สื่อไทย: วาทกรรมได้ดินแดน เสียดินแดน โดย Media Inside Out เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2556

 

15 พ.ย. 2556 Media Inside Out จัดเสวนาหัวข้อ สื่อไทย: วาทกรรมได้ดินแดน เสียดินแดน โดยมีสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น, ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการสามมิติ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และสุเจน กรรพฤทธิ์ กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ เดอะเนชั่น กล่าวว่าสองประเด็นใหญ่ๆ เรื่องแรกคือ คำพิพากษาสร้างความงุนงง ทั้งที่จริงๆ ไม่มีอะไรให้งง เหตุที่งงเพราะมีอคติครอบงำอยู่ ถ้าอ่านโดยปราศจากอคติใดๆ หรือไม่มีความกลัว ตื่นเต้นว่าจะออกมาอย่างไร วิตกจริตว่าจะได้หรือเสียอะไร และกลัวผลของมัน แต่ตามจริงคำพิพากษาก็เห็นอยู่ทนโท่แล้ว โดยศาลบอกว่าปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใต้ปราสาทอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา

ประเด็นต่อมา ปีนี้ศาลให้คำใหม่มาถกเถียงหลังจากคำว่า vicinity ซึ่งก็เถียงกันมาห้าสิบปีแล้ว แต่ปีนี้ศาลให้คำใหม่ คือคำว่า promontory

เขาเล่าเกร็ดเพิ่มเติมว่าศาลโลกเป็นศาลที่ให้บริการดีมาก หลังอ่านคำพิพากษาเจ้าหน้าที่ก็แจกเอกสารทันที และเจ้าหน้าที่จะคอยบอกว่าศาลจะอ่านครึ่งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศส ยี่สิบนาที ภาษาอังกฤษ 40 นาที ส่วนสำคัญที่สุดศาลจะอ่านเพียงสี่สิบวินาที เมื่อถึงจุดที่สำคัญ เจ้าหน้าที่จะมาบอกนักข่าว ซึ่งจุดสำคัญนั้นก็คือย่อหน้าที่ 98 ซึ่งศาลกำหนดคำว่า promontory ซึ่งเขาเปิดพจนานุกรมของออกฟอร์ดแปลว่าสิ่งที่ยื่นไปในทะเล

จากนั้นเขาเขียนเป็นภาษาไทย แปลว่าชะง่อนผา แต่รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายณัฐวุฒิ โพธิสาโร ทักท้วงว่าน่าจะแปลว่าจะงอย หรือจะเป็นชะโงก แต่ทูตวีรชัย พลาศรัยอกว่าผิดทั้งคู่ ต้องแปลว่ายอดเขา เป็นการแปลจากภาษาฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเส้นเขตแดนเส้นไหนที่จะเอามาใช้อ้าง เพราะมีแผนที่ที่จะมาใช้อ้างอิงอีกหลายฉบับซึ่งไม่ตรงกันเลยสักฉบับ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้อีกยาวบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ เครือเนชั่นกล่าวว่า สาระสำคัญนอกจากย่อหน้า 98 ที่กำหนดเขตที่ใช้คำใหม่คือ promontory ซึ่งแปลตามภาษาฝรั่งเศสว่ายอดเขาซึ่งยังมีปัญหาว่าจะกินอาณาบริเวณเท่าไหร่

อีกย่อหน้าที่สำคัญมากคือ ย่อหน้า 99 ที่ระบุว่า ศาลยอมรับว่าการขีดเส้นเขตแดนตามคำพิพากษาศาลโลกปี พ.ศ. 2505 ตามที่ไทยยกขึ้นมาว่าทำได้ยากในภูมิประเทศจริงนั้น ศาลยอมรับว่ายากจริงๆ และได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมว่า ให้สองฝ่ายไปหาทางออกร่วมกัน 'In good faith' คือให้มีเจตนาดีต่อกันอย่างประนีประนอม และที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามฝ่ายใดฝ่ายใดหนึ่งทำคนเดียวซึ่งคำพิพากษาปี 2505 ไม่มีวรรคนี้อยู่

ย่อหน้า 99.The Court notes Thailand’s argument about the difficulty of transposing the Annex I map and thus of ascertaining the precise location on the ground of the Annex I map line in the area described in the preceding paragraph. The 1962 Judgment did not, however, address thatquestion and the Court cannot now, in the exercise of its jurisdiction under Article 60 to interpret the 1962 Judgment, deal with a matter which was not addressed by that Judgment. Nevertheless, the parties to a case before the Court have an obligation  to implement  the judgment of the Court in good faith. It is of the  essence  of  that obligation that it does not permit either party to impose a unilateral solution.

บรรณาธิการโต๊ะข่าวต่างประเทศกล่าวว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง สื่อทำหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ สื่อเป็นผู้ผลิตซ้ำวาทกรรมซึ่งชนชั้นนำในสังคมนั้นต้องการสื่อ “ยิ่งมาพิจารณาในแง่มุมระดับชาติ ที่ไทยจะต้องทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้าน ผมไม่คิดว่าสื่อไทยจะหลุดจากกรอบนี้ได้ ต้องรายงานบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของชาติไทยคืออะไร แต่เขานิยมผลประโยชน์ของชาติบนความเข้าใจที่แตกต่างกันมาตั้งแต่ต้น ประเด็นพระวิหารถูกใช้เป็นเครื่องมืออันหนึ่งเพื่อห้ำหั่นอีกฝ่ายหนึ่ง เป้าหมายวาทกรรมไม่ใช่เพื่อทะเลาะกัมพูชาแต่เพื่อทะเลาะกันเอง

ฐปนีย์ เอียดศรีไชย แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำข่าวในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่หวาดกลัวเรื่องการสู้รบ อยากเห็นปราสาทพระวิหารได้กลับมาเปิดเพื่อการท่องเที่ยว ไม่อยากอยู่แบบเตรียมกระเป๋าใบหนึ่งแล้ววิ่งเข้าหลุมหลบภัย

สำหรับประเด็นการเท่าทันสื่อในการรายงานข่าวเรื่องข้อพิพาทเขาพระวิหารนั้น ฐปนีย์มองว่าแม้แต่คนทำสื่อเองก็ยังรู้สึกเหมือนประชาชนว่า ที่เขาทำข่าวไปนั้นถูกหรือผิด เพราะสื่อก็เลือกอธิบายในสิ่งที่เขาคิด แต่ส่วนตัวเธอเป็นสื่อเรามองว่าขอแค่ในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ สื่อต้องให้ข้อมูลกับสังคมในทางที่ถูกต้อง สำหรับเรื่องนี้ทุกครั้งที่ไปทำข่าว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชายแดนก็จะศึกษา ถ้าไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เราก็จะหลงไปกับวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมา

ฐปนีย์ยอมรับว่าช่วงแรกก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนแรกที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็ยังลุ่มหลงไปกับวาทกรรมรักชาติ  แต่พอได้มาศึกษาและวิเคราะห์พิจารณาได้ว่าบางเรื่องสื่อก็มีความสำคัญในการปลุกระดมหรือปลุกปั่นวาทกรรมเหล่านั้น เมื่อเริ่มมีการต่อสู้คดี เราก็จะเริ่มพูดกันว่าเราจะต้องไม่สูญเสีย 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นสิ่งที่คนในเมืองพูดกัน แต่คนที่ชายแดนเขาจะพูดว่าเขาไม่อยากสู้รบ ดังนั้นในฐานะทีเป็นสื่อ เธอเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการนำเสนอความเห็น เน้นเรื่องข้อเท็จจริงและคำอธิบายมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก พยายามให้ข้อมูลสิ่งที่คนต้นทางให้มา

ฐปนีย์กล่าวทิ้งท้ายว่า สังคมไทยบาดเจ็บมาเยอะแล้ว วันนี้เราเห็นความสัมพันธ์ของรัฐบาลสองประเทศสามารถพูดคุยกันได้ ปีหน้าไม่รู้จะเป็นอย่างไร อาจจะมีการฟ้องร้องกันใหม่ ก็ขอให้ติดตามและพยายามดูข้อเท็จจริง รักชาติได้ คลั่งชาติได้ แต่ทำไมต้องกระหายสงคราม เพราะสุดท้ายแล้วคนที่เดือดร้อนไม่ใช่พวกคุณ คนที่เดือดร้อนอยู่ที่ชายแดน

สุเจน กรรพฤทธิ์ กองบรรณาธิการสารคดี วิพากษ์ว่านักข่าวอ่อนแอมากในแง่องค์ความรู้ ถ้าจะพูดไปเรื่องการได้หรือเสียดินแดน ปัญหาลักษณะนี้ไม่ได้มีพื้นที่เดียว ฝั่งพม่าก็มี อีกกรณีที่ใหญ่มากๆ ก็คือที่เชียงราย กองกำลังทหารไทยวางกำลังนอกประเทศอยู่ลึกไปเกือบสิบกิโล ขณะที่พม่าก็ล้ำเข้าในเขตไทยอีกสิบกว่ากิโลเมตร

เขาตั้งข้อสังเกตว่าคำพิพากษาศาลโลกปี พ.ศ. 2505 ศาลลงมติ 9 ต่อ 3 ปีนี้ศาลโลกลงมติ 15+2 ต่อ 0 และผู้พิพากษาคนหนึ่งที่ไทยเลือกเข้าไป ก็ยังโหวตไปในทิศทางเดียวกัน มติเช่นนี้มีความหมายมาก แต่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึง

สุเจนกล่าวว่า หากย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ช่วงที่มีการพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ก็เหมือนนักเลงท้องถิ่นอย่างสยามมาเจอนักเลงระดับโลก คือฝรั่งเศสซึ่งใครมีปืนมากกว่าก็ชนะ ถ้ามองในมุมนี้ไทยก็ได้ภาคอิสานมา ฝรั่งเศสเขาก็ได้ของเขาในส่วนที่เป็นลาว

“ไม่ต้องเท้าความว่ากลุ่มการเมืองไหนที่ทำให้การตีความกลับไปที่ศาลโลก พูดอย่างน่าเกลียดหน่อย จริงๆ ไทยอาจจะได้เปรียบด้วยซ้ำถ้าไม่ยกเรื่องนี้ขึ้น”

สุเจนกล่าวว่าลาวเองก็จับตาคดีนี้อยู่ เพราะแผนที่ 1: 200,000 นั้นเกี่ยวพันกันหมด 11 ระวางซึ่งใช้ในการแบ่งเส้นเขตแดนไทย-ลาวด้วย

สุเจนตั้งข้อสังเกตต่อไปถึงบทบาทของอาเซียน ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเข้ามาทำหน้าไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่ทั้งไทยและกัมพูชาล้วนมองข้ามอาเซียนไป กัมพูชาเองก็ไปที่คณะมนตีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก่อนจะมาสู่ศาลโลก ในส่วนของวาทกรรมเสียดินแดนเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในหัวของนักข่าว ปัญหานี้ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท