ให้โอกาสประชาธิปไตยไทยสักครั้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แนวทางการต่อสู้ของผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อรัฐบาลคือ การรอคอยเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินผ่านการเลือกตั้งโดยไม่พยายามล้มรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ

 

หลังจากเกิดความพยายามในการเสนอ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหม่าเข่งซึ่งได้รับการประท้วงจากหลายภาคส่วน การเมืองระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งในสภาได้เผชิญหน้ากับความท้าทายอีกครั้งเมื่อ “กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ”  (กปท) ได้ยกระดับการประท้วงจากการต่อต้าน พ.ร.บ. ไปสู่ความพยายามโค่นล้มรัฐบาล

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ดังกล่าว กอปรกับการที่ผู้เขียนได้เปิดอ่านบทความของ Ian Baruma ที่ชื่อว่า “Give Democracy a Chance in Egypt” อีกครั้ง ผู้เขียนจึงเกิดข้อคิดอันเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ของกลุ่มพลังที่คอยออกมาขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถามวิถีประชาธิปไตย บทความชิ้นนี้มุ่งในการวิเคราะห์ถึงผลกระทบอันเกิดจากพฤติกรรมของกลุ่มพลังที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยบทความชิ้นนี้เสนอว่ากลุ่มพลังดังกล่าวนั้นได้สร้างวงจรอุบาทว์ที่ตนเองพยายามต่อต้านขึ้นมาซึ่งส่งผลให้ประชาธิปไตยไทยวนเวียนอยู่กับการเมืองแบบที่เป็น “ตัวแทนประชาธิปไตย ปะทะ ตัวแทนเผด็จการ”  ไม่เป็นที่สิ้นสุด

ก่อนหน้าที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะถูกรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 นั้น กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมได้รวมพลังกันเพื่อประท้วงรัฐบาลที่มีแนวโน้มไปในทางอำนาจนิยมในสมัยทักษิณ กลุ่มพลังดังกล่าวที่รู้จักกันในนาม “พันธมิตรประชาคมเพื่อประชาธิปไตย” นั้นได้ปลุกมวลชนหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักกิจกรรม ผู้นำสหภาพ หรือไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา เพื่อแสดงพลังประชาชนต่อต้านรัฐบาลทักษิณ

อย่างไรก็ดี การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 นั้นได้สร้างวิกฤติการความชอบธรรมทางการเมืองขึ้นมา กล่าวคือ ปัญญาชน นักวิชาการ นักศึกษา หรือผู้นำองค์กรต่างๆหลายกลุ่มที่เคยเข้าร่วมกับพันธมิตรฯนั้นได้ถูกผลักออกมาเพื่อแสดงออกคัดค้านถึงวิถีทางการแก้ไขความขัดแย้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยผ่านการใช้กลไกรัฐประหาร

มวลชนหลายกลุ่มได้เริ่มมองปัญหาทางการเมืองอันเกิดจากวิกฤติการณ์ความชอบธรรมผ่านกรอบแว่นแบบ “ประชาธิปไตย ปะทะ เผด็จการ” ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวนั้น กลุ่มคนที่นิยมประชาธิปไตยได้ให้ความสำคัญต่อวิธีการมากกว่าเป้าหมาย ซึ่งหมายความว่าพวกเขาให้ความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยมากกว่าระบอบเผด็จการ กล่าวคือ จากพรรคไทยรักไทยที่ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นพรรคพลังประชาชนนั้นได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นตัวแทนของพลังประชาธิปไตยที่ต่อสู้กับระบอบเผด็จการ

ด้วยเหตุนี้ การที่พรรคที่มีภาพลักษณ์ตัวแทนของประชาธิปไตยอย่างเช่นพรรคพลังประชาชนจะได้รับการเลือกตั้งเสียงข้างมากนั้น จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเท่าใดนัก ด้วยเหตุที่ผู้ที่รักในประชาธิปไตยย่อมให้ความสำคัญต่อตัวระบอบมาเป็นอันดับแรก ซึ่งภาพลักษณ์ของพรรคพลังประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นไปในลักษณะภาพลักษณ์ตัวแทนของประชาธิปไตยตามที่มวลชนคาดหวัง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมีภาพลักษณ์ในฐานะตัวแทนประชาธิปไตยเหล่านั้นได้ถูกประท้วงจากกลุ่มพลังที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังมีความพยายามการใช้กลไกต่างๆที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยโจมตีและริดรอดความชอบธรรมของพรรคการเมืองอาทิเช่น พรรคพลังประชาชนหรือพรรคเพื่อไทยอยู่ตลอดเวลา

แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองในลักษณะดังกล่าวนั้นได้ส่งผลกระทบทางความคิดและมุมมองต่อกลุ่มคนที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย พวกเขาเหล่านั้นกลับยิ่งมองว่าการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นบนเวทีนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ตัวแทนประชาธิปไตย ปะทะ ตัวแทนเผด็จการ” มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ การใช้แนวทางต่างๆในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยปราศจากการหยิบยื่นโอกาสให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบธรรมได้เดินหน้าไปต่อนั้นส่งผลต่อกลไกของการเลือกตั้งประชาธิปไตยในด้านความต่อเนื่องของระบบการเลือกตั้ง อีกทั้งแนวทางดังกล่าวยังสร้างวงจรอุบาทว์ของประชาธิปไตยขึ้นมาเองอีกเช่นกัน

โดยปกตินั้น ในการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแต่ละครั้ง พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองมักจะชนะพรรคคู่แข่งด้วยเหตุผลที่พรรคคู่แข่งดังกล่าวนั้นไม่สามารถดำเนินนโยบายตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เท่าที่ควร เมื่อเป็นเช่นนั้น กลไกพื้นฐานที่นักเรียนชั้นประถมสามารถเข้าใจได้ก็คือการที่พรรคที่ไม่สามารถครองใจผู้คนด้วยนโยบายต่างๆนั้นก็จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งตามผลงาน

ในกรณีของไทยนั้น ประชาธิปไตยไม่ได้รับโอกาสดังกล่าวอย่างเพียงพอ เมื่อพรรคที่ได้ถูกมองว่าเป็นพรรคตัวแทนของประชาธิปไตยอาทิเช่น พรรคพลังประชาชนหรือพรรคเพื่อไทยถูกขัดขวางการทำงานผ่านความพยายามโค่นล้มรัฐบาลโดยวิถีทางที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย มวลชนผู้นิยมประชาธิปไตยทั้งหลายก็จะมองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ ซึ่งกลุ่มมวลชนผู้รักประชาธิปไตยเหล่านั้นย่อมไม่ลังเลที่จะให้ความสำคัญต่อการต่อสู้เพื่อนำมาซึ่งประชาธิปไตยมากกว่า ด้วยเหตุนี้เอง แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่พรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกล้มโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นกี่ครั้งก็ตาม แต่ทว่าตัวแทนพรรคหรือรัฐบาลที่ถูกล้มดังกล่าวนั้นก็จะได้รับเลือกกลับเข้ามาทุกครั้งอันเนื่องมาจากมุมมอง "ประชาธิปไตย ปะทะ เผด็จการ”

และเมื่อเป็นเช่นนี้เอง กลไกของการปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าพรรคใดคู่ควรเป็นพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งในแต่ละสมัยจึงจะไม่มีทางเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลจะคอยถูกล้มและประชาชนผู้ศรัทธาในประชาธิปไตยก็จะเลือกตัวแทนจากรัฐบาลที่ถูกล้มเข้ามาครองอำนาจอีกครั้ง และกลไกดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่ยังมีกลุ่มพลังที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ด้วยเงื่อนไขทั้งหลายนี้เอง ระบอบประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายถวิลหานั้นก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น

กล่าวโดยรวบรัดก็คือ กลุ่มพลังที่คอยโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งผ่านเครื่องมือที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ว่าจะด้วยเหตุผลรองรับใดๆก็ตามนั้น เป็นกลุ่มพลังซึ่งสร้างวงจรอุบาทว์ของระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาเองนั่นเอง

เมื่อเข้าใจปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ดังที่ผู้เขียนได้อภิปรายข้างต้นแล้วนั้น แนวทางการต่อสู้ที่ควรดำเนินของผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็คือการรอคอยเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินผู้ครองอำนาจผ่านการเลือกตั้งในสมัยต่อไปโดยไม่พยายามล้มรัฐบาลดังกล่าวด้วยวิธีการพิสดารต่างๆนาๆ มิฉะนั้นแล้ว วงจรอุบาทว์ของประชาธิปไตยก็จะไม่มีวันจบสิ้น

ย้อนกลับมาพิจารณาสถานการณ์การประท้วงขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในยุคปัจจุบันอันเป็นผลพวงมาจากความพยายามในการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง มวลชนของกลุ่ม กปท. ได้พยายามใช้สารพัดวิธีเพื่อพยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งอันที่จริง ถ้าหากว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์สามารถอยู่รอดจนครบสมัยและดำเนินตามกลไกการเลือกตั้งนั้น คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยก็คงจะลดลงไปพอสมควรอันเนื่องมาจากการเสียความเชื่อมั่นจากหลายฝ่ายรวมถึงมวลชนคนเสื้อแดงบางกลุ่มสืบเนื่องมาจากข้อเสนอ พ.ร.บ. เหมาเข่ง อย่างไรก็ดี ถ้าหากว่ารัฐบาลชุดนี้ล้มลงจากวิถีทางอันไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น วงจรอุบาทว์ที่สร้างโดยนักล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็คงจะหมุนเวียนต่อไปเป็นแน่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท