Skip to main content
sharethis
103 องค์กรภาคประชาชนร่วมลงนามเรียกร้องรัฐบาลไทย ยับยั้ง ‘เขื่อนดอนสะโฮง’ ในลาว พร้อมตรวจสอบกระบวนการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงสายหลักทั้งหมด เอ็นจีโอห่วงลาวบิดเบือนว่าเขื่อนอยู่บนลำน้ำสาขา ไม่รักษากติกาทำกระบวนการเพี้ยน
 
 
18 พ.ย.2556 ตัวแทนชาวบ้านแม่น้ำโขงร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน จัดแถลงข่าว กรณี 103 องค์กรภาคประชาชนร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ยับยั้งกระบวนการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ในพื้นที่สีพันดอน ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อมระบุเขื่อนแม่น้ำโขงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไทย
 
อีกทั้งยังเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแสวงหาข้อมูลและแก้ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้าโขง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
 
 
มนตรี จันทวงศ์ จากโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) กล่าวว่า เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนบนลำน้ำโขงสายหลักซึ่งตามกระบวนการในข้อตกลงการใช้แม่น้าโขงอย่างยั่งยืนปี 2538 หากจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักจะต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าแบบเดียวกับเขื่อนไซยะบุรี แต่ตอนนี้ทางการลาวบิดเบือนว่าเขื่อนนี้อยู่บนลำน้ำสาขาจึงไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือ เพียงแค่แจ้งให้ทราบ สิ่งที่ห่วงคือหากเอ็มอาร์ซีไม่ดำเนินการใดๆ เขื่อนดังกล่าวก็จะสามารถสร้างได้เลย
 
“เอกสารรายงานสิบกว่าปีที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ต่างเข้าใจร่วมกันเสมอมาว่า เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก และมันได้แสดงอยู่ในเอกสารของเอ็มอาร์ซีมาโดยตลอดด้วย การที่ลาวบอกว่าเป็นเพียงน้ำสาขาเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง” มนตรีระบุ
 
มนตรี กล่าวว่าการแถลงข่าวในวันนี้ต้องการให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นกรรมการแม่น้ำโขงฝ่ายไทยได้ใช้สิทธิในการทักท้วงว่าเพียงกระบวนการแจ้งให้ทราบไม่ถูกต้อง ต้องใช้กระบวนการปรึกษาหารือ และต้องให้ประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนามได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาเขื่อนนี้ร่วมกันด้วย
 
อีกทั้ง ในแต่ละประเทศลุ่มน้ำโขงก็มีการกดดันและเรียกร้องไปยังตัวแทนรัฐบาลในแต่ละประเทศให้ทำหน้าที่ตรงนี้เช่นเดียวกัน อาทิในกัมพูชาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนเวียดนามซึ่งมีทีท่าห่วงใยในเรื่องนี้มากก็กำลังจับตาว่าจะมีจุดยืนอย่างไร นอกจากนี้ประเทศลุ่มน้ำโขงยังมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง เป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคที่จะเรียกร้องโดยตรงกับทางเอ็มอาร์ซีให้ทบทวนเรื่องการแจ้งของทางการลาวในขณะนี้ด้วย
 
ในด้านผลกระทบของเขื่อนดังกล่าว มนตรี กล่าวว่าแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.การประมง เพราะปลาที่อพยพมาจากกัมพูชาจะถูกปิดกั้นโดยเขื่อนดังกล่าว ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหารและต่อรายได้จากการประมงของชาวบ้านในพื้นที่ และ 2.การรักษาไว้ซึ่งกติกาการใช้แม่น้ำโขงระหว่างประเทศ หากปล่อยละเลยเรื่องนี้ไป ในอนาคตการใช้ปะโยชน์ในแม่น้ำโขงก็จะบิดเบือนกันไปได้เรื่อยๆ เราต้องการเห็นการรักษากติกาที่รัฐบาลไปลงนามร่วมกันไว้
 
“ความเชื่อมั่นจากเดิมไม่ค่อยมีอยู่แล้วสักเท่าไหร่ มากรณีเขื่อนดอนสะโฮงหากเอ็มอาร์ซีไม่ทำอะไรเลย ความเชื่อมั่นก็จะยิ่งไม่มี” มนตรีกล่าว
 
ส่วนการเคลื่อนไหวต่อไป มนตรียืนยันว่าภาคประชาชนยังคงยืนยันที่จะขอพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อที่จะพูดคุยเรื่องนี้โดยตรง เพราะเอ็มอาร์ซีจะมีการประชุมในเดือนมกราคมปีหน้า ยังมีเวลาที่จะผลักดันเรื่องนี้
 
ทั้งนี้ จากการประสานงานของภาคประชาชนเพื่อเข้าพบพูดคุยในประเด็นเขื่อนดอนสะโฮงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ ได้เลื่อนออกไปจากวันที่ 20 พ.ย.2556 และกำหนดการใหม่ที่เป็นไปได้ในขณะนี้คือต้นเดือนธันวาคม
 
ขณะที่ อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบล ภายใต้เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) กล่าวถึงการศึกษาของชุมชนริมโขงในภาคอีสานของไทยซึ่งชี้ให้เห็นถึงการพึ่งพาแม่น้ำโขงของประชาชนและผลกระทบของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำซึ่งเกิดขึ้นแล้วในกรณีของเขื่อนจีน พร้อมระบุว่าประชาชนในพื้นที่เริ่มตื่นตัวกับกรณีเขื่อนดอนสะโฮงแล้ว และจะมีการรณรงค์เพื่อคัดค้านเรื่องนี้ร่วมกัน โดยในส่วนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนฯ จะมีการจัดเสวนาในเรื่องนี้เพื่อสะท้อนปัญหาและข้อกังวล ในวันที่ 13-14 ธ.ค.ที่จังหวัดอุบลราชธานี
 
นอกจากนี้ จะมีการรณรงค์ใหญ่ร่วมกันในระดับสายน้ำของภาคประชาชนกัมพูชา เวียดนาม และไทย ก่อนการประชุมเอ็มอาร์ซีที่เชียงใหม่ในเดือนมกราคมนี้
  
“เราไม่ใช่เพียงแค่จับปลา เรายังพึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งในเรื่องการเกษตร ปลูกผักริมโขงโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย ผลกระทบที่จะเกิดตามมามีมากมาย ทั้งเรื่องตลิ่งพัง และผลผลิตปลาที่จะลดลง ผลกระทบจากเขื่อนกลายเป็นชะตากรรมของประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ต้องเผชิญ ซึ่งรัฐบาลลาวต้องคำนึงถึง และรัฐบาลไทยต้องทำหน้าที่ทักท้วง” อ้อมบุญกล่าว
 
“เราเห็นว่าตอนนี้ทุกรัฐบาลกำลังทำสิ่งที่เรียกว่าลูบหน้าปะจมูกเพราะต่างก็อยากสร้างเขื่อนของตัวเอง ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ต่างพากันสนใจเรื่องความมั่นคงทางพลังงานมากกว่าความมั่นคงทางอาหาร และอย่าลืมว่า การสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วย เมื่อลาวอยากเป็นแบตเตอรี่เอเชียแต่กลับทำลายแหล่งอาหารของประชาชนในภูมิภาค พวกเราพี่น้องลุ่มแม่น้ำโขง ขอยืนยันว่า พวกเราจะต่อสู้จนถึงที่สุด และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนในลุ่มแม่น้ำโขงด้วย” 
 
ต่อคำถามถึงความแตกต่างของการเคลื่อนไหวคัดค้านกรณีเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง อ้อมบุญชี้แจงว่า เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่รับรู้กันว่าเป็นเขื่อนสัญชาติไทยแต่ไปสร้างในลาว เมื่อภาคประชาชนเคลื่อนไหวคัดค้านหรือยื่นข้อเสนอไปในเวทีปรึกษาหารือล่วงหน้า ไม่เคยได้รับคำตอบใดๆ จากรัฐบาลไทย เมื่อมาถึงกรณีเขื่อนดอนสะโฮงภาคประชาชนคาดหวังจากรัฐบาลว่าเขื่อนที่สร้างโดยบริษัทสัญชาติมาเลเซียนี้ หากมีการทักท้วงไปคาดว่าเสียงของไทยจะมีน้ำหนักมากในเวทีของเอ็มอาร์ซี
 
อ้อมบุญ กล่าวด้วยว่า กรณีเขื่อนไซยะบุรีที่กำลังมีการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ทางเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนฯ ได้ทำการเก็บข้อมูลผลกระทบและนำเสนอภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เรื่องนี้เงียบหายไป โดยคาดว่าในปี 2561 เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จผลกระทบตรงนี้จะชัดเจน เมื่อถึงเวลานั้นรายงานการวิจัยของชาวบ้านจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แล้วรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลลาวจะเป็นคนที่ต้องมาเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมด
 
นอกจากนั้นการรวมรวมข้อมูลตรงนี้ยังหวังผลในการนำไปฟ้องศาลปกครอง และการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน
 
 
ด้านสุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพอิสระผู้ผลิตผลงานในประเด็นแม่น้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง ผลงานสารคดีแม่น้ำโขงล่าสุดชุด “อวสานแม่น้ำโขง: จากไซยบุรีถึงสี่พันดอน เมื่อเขื่อนใหญ่สยบมหานที” ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าวถึงข้อสังเกตจากการทำงานระยะเวลา 3 ปีในพื้นที่สีพันดอนว่า ปลาเป็นรายได้หลักของประชาชนในพื้นที่ แม้ว่าชาวบ้านจะยังทำนาเป็นหลัก โดยฮู (รูหรือช่องทางน้ำผ่าน) สะโฮงเป็นที่ๆ กว้างและความลาดชันน้อย เป็นทางผ่านของทั้งปลาทุกชนิดทั้งปลาเล็กและปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาบึก และปลากระโห้ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกจับได้ที่นี่เพราะฮูอื่นๆ เป็นหน้าผาชันและน้ำแรงมาก แม้ฮูสะดำก็ไม่ค่อยมีปลาใหญ่ผ่าน
 
“ลาวเองก็บอกว่าพื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญ และเมื่อเร็วๆ นี้ มีการห้ามไม่ให้ประชาชนจับปลา โดยให้เหตุผลว่าต้องการอนุรักษ์พันธุ์ปลา ผมก็เห็นด้วยว่าต้องมีการจัดการที่เหมาะสม แต่สงสัยว่าทำไมจึงมีแผนจะปิดฮูสะโฮงซึ่งมีความสำคัญเช่นนี้” สุเทพ กล่าว
 
เจ้าของผลงานสารคดีแม่น้ำโขง ยังแสดงความห่วงใยต่อการท่องเที่ยวในบริเวณสี่พันดอนด้วยว่า ปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ฮูสะโฮงจะทำให้ปริมาณน้ำในบริเวณโดยรอบลดลง รวมทั้งที่คอนพะเพ็งด้วย ซึ่งหากน้ำลดลงถึงครึ่งหนึ่งในฤดูแล้งอาจกระทบกับการท่องเที่ยว
 
ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แสดงจุดยืนเพื่อคัดค้านโครงการเขื่อนดอนสะโฮงของลาว และตรวจสอบกระบวนการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงสายหลักทั้งหมด ลงวันที่ 18 พ.ย.2556 ระบุเหตุผลคัดค้านโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักแห่งที่ 2 ใน ลาว 2 ข้อ คือ
 
1.ผลกระทบที่มหาศาลและผลประโยชน์อันน้อยนิด เขื่อนดอนสะโฮงมีกำลังผลิตติดตั้ง 260 เมกะวัตต์ หรือใหญ่กว่าเขื่อนปากมูนของไทยประมาณ 1 เท่า และใช้ระบบเดียวกันคือเป็นเขื่อนที่ใช้ตัวลำน้ำเป็นอ่างเก็บน้ำและทำการปันไฟจากกระแสน้ำที่ไหลผ่าน ทั้งนี้ ในท้ายที่สุดไฟฟ้าที่ใช้ได้จริงอาจเป็นเพียง 1 ใน 3 ของกำลังผลิตติดตั้งเท่านั้น เช่นเดียวกับเขื่อนปากมูน แต่ทว่า เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนที่ถูกเสนอให้สร้างในช่องทางน้ำช่องทางเดียวของพื้นที่สีพันดอนที่ปลาสามารถว่ายผ่านขึ้นลงได้ตลอดปีเพื่อวางไข่และขยายพันธุ์
 
สีพันดอน คือ พื้นที่สำคัญที่สุดในลุ่มแม่น้ำโขงสำหรับการขยายพันธุ์ของปลา โดยปลาที่ผ่านทางฮูสะโฮง คือปลาจากทะเลสาบเขมรของกัมพูชา ปลาจากลำน้ำสาขาที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งเซกอง เซซาน และ สเรป็อกของกัมพูชา รวมไปถึงจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง นั่นหมายถึงว่า หากปิดกั้นฮูสะโฮงเพื่อสร้างเขื่อน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือลาวและบริษัทผู้สร้างสัญชาติมาเลเซีย แต่ประเทศอื่นๆ ในลุ่มน้ำจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดและโดยทันที เนื่องจากระบบที่สัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งและแยกออกจากกันไม่ได้ของลำน้ำโขงและลุ่มน้ำเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องการประมงในพื้นที่ลำน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งประชาชนในจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยย่อมจะได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย
 
ทั้งนี้ ผลกระทบในเรื่องการประมงในลุ่มแม่น้าโขง ได้ถูกศึกษาและนำเสนอมาโดย ต่อเนื่องโดยนักวิชาการจากนานาประเทศ โดยในปี 2551 เมื่อลาวเสนอสร้างเขื่อนดอนสะโฮงใน ช่วงแรก กลุ่มนักวิชาการทั่วโลกได้เขียนจดหมายคัดค้านโดยทันที (เอกสารแนบ) โดยแสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งกับประเด็นผลกระทบทางการประมง
 
2.กระบวนการที่บิดเบือนและถือเป็นการละเมิดข้อตกลงแม่น้าโขงปี 2538 ของลาว โดยลาว อ้างว่าเขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนที่สร้างในลำน้ำสาขา ไม่ใช่บนลำน้ำโขงสายหลัก ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจากดอนสะโฮงเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขงสายหลักที่แตกตัวออกเนื่องจากเกาะแก่งในเขตสีพันดอน ก่อนที่จะมารวมตัวกันอีกครั้งในทางตอนล่างและไหลต่อไปยังประเทศกัมพูชา อีกทั้ง เขื่อนดอนสะโฮงถูกบรรจุไว้ในชุดของเขื่อนแม่น้าโขงสายหลัก 12 เขื่อนที่มีการเสนอไว้ก่อนหน้านี้ เป็นที่รับรู้โดยประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้าโขง
 
ดังนั้น การบิดเบือนเพื่อการเร่งกระบวนการการสร้างเขื่อน โดยอาศัยกลไกของคณะกรรมาธิการแม่น้าโขงด้วยการยื่น แจ้งล่วงหน้า (Prior Notification) แทนที่จะเป็นปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) กับประเทศสมาชิกอื่นๆ จึงเป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ จะต้องแสดงจุดยืนและคัดค้านในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลาวยื่นการแจ้งล่วงหน้าเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาและแจ้งว่าจะทำการก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net