Skip to main content
sharethis
'พ่อน้องเฌอ'-'แม่น้องเกด' เสนอส.ส.เพื่อไทยใช้สถานะค้ำประกันเพื่อช่วยนักโทษการเมืองโดยเร็ว พร้อมทั้งเสนอตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้นมาใหม่โดยใช้ข้อมูลจากคอป.และศปช.รวมกัน 
 
19 พฤศจิกายน 2556 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) องค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ มีการจัดงานแถลงข่าวเรื่องการนิรโทษกรรมในประเทศไทย โดยแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงวัฒนธรรมการลอยนวลจากการรับผิดในประเทศไทยที่มีมานานต่อเนื่องตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ จนถึงเหตุการสลายการชุมนุมในปี 53 
 
อดัมส์กล่าวว่า การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยิ่งเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรมดังกล่าว และเป็นการทำผิดคำพูดของตนเองในฐานะผู้นำประเทศที่เคยให้สัญญาไว้ในช่วงหาเสียง และยังเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย
 
เขามองด้วยว่าการพยายามรวมนิรโทษกรรมให้กับพ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีคนสนใจเรื่องการนิรโทษกรรมทหารที่จะเกิดขึ้นจากการเหมาเข่งนี้ด้วย 
 
"สิ่งที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งกับรัฐบาลนี้ คือพวกเขากระตือรือล้นอย่างมากที่จะเอาผิดอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) และสุเทพ (เทือกสุบรรณ) แต่กลับไม่พยายามเอาผิดกับกองทัพในแบบเดียวกันนี้เลย" อดัมส์กล่าว
 
ทั้งนี้ อดัมส์ระบุว่า ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เคยได้ออก  "บันทึกทางเทคนิคเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติในการกำหนดระเบียบด้านการนิรโทษกรรม" สองฉบับต่อรัฐบาลไทย ซึ่งคัดค้านการนิรโทษกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และคัดค้านการพรากสิทธิของเหยื่อในการได้รับการเยียวยา แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยในเรื่องดังกล่าว
 
แม่น้องเกดย้ำต้องเปิดเผยความจริงก่อน
 
พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมลเกด อัคฮาด พยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ พ.ค. 53  กล่าวถึงพ.ร.บ. นิรโทษกรรมว่า เป็นร่างที่หักหลังประชาชน และเปรียบเสมือนว่ารัฐบาลทำตัวเหมือนขโมย จากการที่ลงมติในวาระสองสามที่ทำเสร็จอย่างรวดเร็ว เปรียบเหมือนขโมยที่เข้ามาขโมยของของเจ้าบ้านอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเจ้าของบ้านจับได้ ก็ถูกประท้วงคัดค้านอย่างหนักจากเจ้าของบ้าน 
 
เธอกล่าวว่า กลุ่มญาติเป็นกลุ่มแรกที่เดินขบวนคัดค้านร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่งดังกล่าว โดยเดินขบวนไปยื่นจดหมายต่อรัฐสภา แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลหยุดการผ่านร่างดังกล่าวแต่อย่างใด แต่พรรคเพื่อไทยกลับมาบอกว่าให้ญาติผู้สูญเสียมากลืนเลือดแล้วให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่ตนจะเป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอมแน่ๆ
 
"การที่เราจะให้เรามาให้อภัย ต้องย้อนไปถามก่อนว่า คนที่สั่งฆ่าประชาชน เคยอออกมาขอโทษประชาชนหรือสำนึกผิดไหม ไม่เคยเลย ดิฉันคิดว่าเป็นการเห็นแก่ตัวของรัฐบาลนี้อย่างมาก" พะเยาว์กล่าว
 
พะเยาว์ย้ำว่า จำเป็นต้องพิสูจน์ความจริงทั้งหมด ทั้งผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนและฝ่ายอื่นๆ ให้คดีทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเปิดเผยต่อสังคมให้รับรู้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ที่จริงแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้หาเสียงด้วย แต่พอได้เป็นรัฐบาลเข้ามาแล้วก็ลืมกันไปหมด
 
พะเยาว์ตั้งคำถามต่อร่างนี้ว่า แม้แต่อภิสิทธิ์ สุเทพ ก็บอกว่าไม่เอานิรโทษกรรมจากร่างนี้ เพราะเขาต้องการพิสูจน์คดีนี้ในศาล ในกระบวนการยุติธรรม หรือกองทัพเองก็บอกว่าต้องการพิสูจน์ความจริงเรื่องชายชุดดำ ทำให้ตนสงสัยว่าทำไมต้องให้นิรโทษกรรมพวกเขา ในเมื่อฝ่ายอื่นๆ ก็ไม่อยากได้ ทำให้สงสัยว่ารัฐบาลจงใจปิดบังความจริงอะไรจากเหตุการณ์ปี 53 หรือไม่ กลับเป็นการเอาประชาชนเป็นเหยื่อหรือเป็นเบี้ยทางการเมืองในการชุมนุมที่ลากยาวเพื่อให้เกิดการเสียชีวิต และไม่ใช่เพียงผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสองร้อยกว่าคนเท่านั้น แต่ตนเชื่อว่าบาดเจ็บจริงๆ เป็นหมื่นคน
 
"ตอนนี้รู้สึกไม่มีความไว้างใจในการให้รัฐบาลดำเนินการอะไรจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 อีก" เธอกล่าว โดยชี้ว่า เนื่องจากรัฐบาลก็เดินหน้าเต็มที่เพื่อ "เซ็ตซีโร่" และแสดงให้เห็นว่านายกฯ ก็เห็นชอบด้วย
 
พะเยาว์มองว่า รัฐบาลถอยร่างนี้เพราะการคัดค้านจากฝ่ายค้านที่เป่านกหวีด มากกว่าจากฝ่ายประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามาในอำนาจเอง นับเป็นการดูถูกประชาชนอย่างมาก เพราะเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยนั้นลุเสียงข้างมากแล้ว เธอยังมองว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ที่ยังอยู่ในเรือนจำและผู้ที่ยังติดหมายจากคดี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ. ความมั่นคง เสมือนกับเป็นเหมือนตัวประกันผูกกับทักษิณ
 
"ดิฉันเสียลูกสาวไปทั้งคนยังเสียสละไม่พออีกหรือ แต่ขณะเดียวกันคุณทักษิณก็ไม่ได้ทำะไรที่แสดงถึงการเสียสละเลย การกระทำแบบนี้แสดงให้เห็นว่าทักษิณไม่ได้รักประชาชนเหมือนที่ประชาชนรักคุณเลย" พะเยาว์กล่าว
 
พะเยาว์กล่าวส่งท้ายว่า ขอให้รัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาในตอนนี้ และเรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ออกมาขอโทษ รวมถึงคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรม และส.ส. ที่โหวตเห็นชอบร่างดังกล่าว ต้องออกมาความรับผิดชอบและแสดงการขอโทษต่อประชาชน
 
พ่อน้องเฌอร้องยิ่งลักษณ์ต้องขอโทษประชาชน
 
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของสมาพันธ์ ศรีเทพ เด็กชายอายุ 17 ปีที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณถนนราชปรารภ (วันที่ 15 พ.ค.53)  กล่าวว่าจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตนเองได้เรียกร้องทั้งอภิสิทธิ์และยิ่งลักษณ์ออกมาขอโทษประชาชน แต่ก็มีคนถามว่าเรียกร้องทำไม เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด อย่างไรก็ตาม คิดว่า การสมานฉันท์แบบในแอฟริกาใต้ ไม่น่าจะทำได้ในประเทศไทย เพราะคนไทยไม่สามารถสำนึกผิดและขอโทษซึ่งกันและกันได้
 
พันธ์ศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ได้ไปกล่าวปาฐกถาที่มองโกเลีย รวมถึงที่เจนีวา ที่สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยกล่าวว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตาม จากการแสดงความคิดเห็นที่ผ่านมา รวมถึงการแถลงข่าวว่าจะถอยการผลักดันร่างดังกล่าว จะเห็นว่า ยิ่งลักษณ์และฝ่ายบริหารมีอำนาจในการผ่านกฎหมายนี้อย่างเต็มที่
 
พันธ์ศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีดาราที่ใช้คำรุนแรงวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ยิ่งลักษณ์ แล้วก็มีแรงกดดันมากมายเรียกร้องให้ดาราคนนั้นต้องขอโทษนายกฯ  ขณะเดียวกันกรณี ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บก.บห. ของประชาไท เคยใช้เฮทสปีชกล่าวหาว่ากลุ่มญาติยิงซ้ำคนตายกลางรายการเวคอัพไทยแลนด์ แต่ไม่มีการเรียกร้องจากนักกิจกรรมทางสังคมให้ชูวัสขอโทษ แม้กระทั่งพนักงานประชาไทก็ทำงานปกติไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไร
 
นอกจากนี้ในพระราชกิจจานุเบกษายังปรากฏข้อความของ พล.ต.อ.ประชา พรมนอก รองนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ตอบกระทู้ของ นายนิยม วรปัญญา ส.ส. พรรคเพื่อไทย ระบุว่า การใช้กำลังสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค. 53 เป็นเรื่องปกติธรรมดา ดังนั้นจึงไม่ประหลาดใจเมื่อรัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง
 
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงจำเป็นต้องขอโทษคนไทยและประชาคมโลก ด้วยเหตุผลสามประการ คือ หนึ่ง ผลักดันนิรโทษกรรมเหมาเข่งโดยไม่สนใจหลักนิติรัฐ หรือหลักการของสหประชาชาติ สอง นายกฯ พูดบ่อยครั้งว่าพี่ชายถูกทำรัฐประหารและไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่สนใจจะทำอะไรเพื่อเอาผิดคณะรัฐประหาร กลับจับมือกับกองทัพเพื่อให้ผู้ทำรัฐประหารและผู้ที่สังหารประชาชน หลุดจากความรับผิดชอบทางการเมือง 
 
สาม ต้องขอโทษประชาคมโลกในฐานะที่ไปกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมของสหประชาชาติและเวทีต่างประเทศหลายครั้งว่าไทยเป็นประเทศที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิการแสดงออกทางการเมือง เนื่องจากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งเหตุการณ์สิบสี่ตุลา หรือหกตุลา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ไทยไม่เคยยึดหลักเรื่องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างเลย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่สมควรได้รับตำแหน่งประธานสภาสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น หรือในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างที่ได้เคยเสนอชื่อตนเองไป
 
ข้อเสนอกลุ่มญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 53
 
พะเยาว์ อัคฮาด ได้อ่านข้อเสนอของกลุ่มญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ปี 53 โดยเรียกร้องให้นายกฯ ต้องขอโทษประชาชนที่นำประเทศเข้าสู่ความขัดแย้งเช่นในขณะนี้ ด้วยการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง และขอโทษประชาคมโลกที่เคยได้กล่าวว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยและมีหลักสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐบาลไม่เคยสนใจจะเอาผิดกับทหารที่ออกมารัฐประหารในปี 49 เลย รวมถึงการที่ยังคงมีการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นเครื่องมือทางการเมืองตลอดเวลา
 
หนึ่ง รัฐบาลต้องผลักดันให้นักโทษการเมืองรวมถึงนักโทษคดี 112 ได้รับการประกันตัว โดยให้สส.เพื่อไทยใช้สถานะส.ส. เป็นหลักค้ำประกันเพื่อแสดงความจริงใจว่าต้องการให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองอย่างจริงใจมากกว่าใช้พวกเขาเป็นตัวประกันให้ทักษิณ
 
สาม ให้ใช้มาตรการทางการบริหารรวมศูนย์การสอบสวนไว้ด้วยกัน ทั้งดีเอสไอ ตำรวจ นิติเวชศาสตร์ แพทย์ อัยการ เพื่อเร่งรัดคดีให้มีประสิทธิภาพ ในคดีที่ตัดสินแล้วว่าทหารมีส่วนในการเสียชีวิต ต้องให้ญาติเป็นโจทก์ร่วมในคดี นอกจากนี้ ยังให้ย้ายธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกจากตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอเพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์ปี 53
 
สี่ ให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่โดยใช้รายงานของคอป. และศปช. มาตรวจสอบข้อมูล หากว่าข้อมูลจากรายงานทั้งสองเล่มตรงกัน ให้อนุโลมว่าจริง และนอกนั้นให้รื้อการตรวจสอบใหม่ทั้งหมด
 
หากมีการพิจารณาร่างนิรโทษกรรมใหม่ในอนาคต ให้หยิบร่างญาติมาร่วมพิจารณา และให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่ควรให้ให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาแต่เพียงผู้เดียว
 
 
หมายเหตุ 
 
กรณีที่นายพันธ์ศักดิ์เรียกร้องให้นายชูวัสขอโทษนั้น สืบเนื่องวันที่ 17 ก.ค. 2556 ชูวัสได้พูดผ่านรายการเวคอัพไทยแลนด์ ทางช่องวอยซ์ทีวีวิจารณ์ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของญาติผู้เสียชีวิตว่า สาระสำคัญของร่างญาติ (ก่อนจะมีการปรับแก้อีกครั้ง) มีปัญหาที่มุ่งเอาผิดผู้กระทำผิด แต่ไม่ได้นิรโทษผู้ที่ต้องคดีอยู่ในเรือนจำโดยเฉพาะคดีเผาทำลายทรัพย์สิน และคดีอาญาร้ายแรงต่างๆ  
 
“ร่างกฎหมายนี้ราวกับยิงคนซ้ำอีกรอบ คือคุณจะเจอแกนนำเสื้อแดงติดคุก คนที่ติดคุกก็ไม่ได้รับการปล่อย คดี 112 ก็ยังคงไม่มีใครแตะ และทหารก็ยังอยู่รอดเหมือนเดิม ไม่รู้จะนิรโทษไปทำไม” ส่วนหนึ่งของการกล่าวในรายการ หลังจากนั้นพันธ์ศักดิ์เรียกร้องให้มีการขอโทษ โดยระบุว่าข้อความเช่นนั้นเป็น Hate Speech ขณะเดียวกันนั้นเองก็มีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าร่างญาติครอบคลุมผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ชูวัสได้กล่าวขอโทษในทางส่วนตัวที่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ไม่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของญาติฯ ในขณะที่พันธ์ศักดิ์เรียกร้องต่อมาว่าให้ขอโทษออกอากาศ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net