การตรวจสอบอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ปรากฏการณ์การออกโรงต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของบรรดาคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในเมืองไทย โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการศึกษา คือ ตัวของอธิการบดี ซึ่งออกมาแสดงเหตุผลของการไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในแง่ของการไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเนื่องจากผลของพ.ร.บ.ฉบับเดียวกันนี้จะทำให้มีการปล่อยตัว “คนกระทำผิด” จากการคอรัปชั่นให้ลอยนวล โดยเฉพาะ “คนกระทำผิด” ซึ่งเป็นนักการเมือง  อาชีพที่โดนข้อกล่าวหาจากบรรดาอาจารย์ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยในเรื่องการคอรัปชั่นมากที่สุด

น่าสนใจว่าในอเมริกาเองก็มีการกฎหมายตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองอเมริกันเช่นเดียวกันกับกฎหมายของไทย มีการดำเนินการกันก่อนที่กฎหมายการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองในเมืองไทยจะเกิดเสียอีก โดยนักการเมืองอเมริกันจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน รายรับ รายจ่าย เพื่อรายงานให้สาธารณะทราบอย่างเปิดเผย

ไม่ต่างจากบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ในระดับสูง ที่ทำงานในหลายหน่วยงานของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ที่มีหน้าที่แจ้งทรัพย์สิน หรือไม่ก็บัญชีรายรับ-รายจ่ายให้รัฐและสาธารณะทราบเช่นกัน

รวมถึงองค์กรที่เรียกว่า มหาวิทยาลัย (University, College) ที่กฎหมายของรัฐกำหนดให้มีการเปิดเผยรายรับ-รายจ่าย ทั้งในส่วนของบุคคลที่เป็นผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถาบันการศึกษาและตัวสถาบันการศึกษาเอง

หมายความว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เช่น อธิการบดี  คณบดี รวมถึงลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ต้องรายงานหรือแจ้งบัญชีรายรับรายจ่ายต่อรัฐ นอกเหนือไปจากสถาบันหรือมหาวิทยาลัยเองที่จะต้องทำรายงานรายรับ-รายจ่ายเรื่องนี้เพื่อส่งให้กับรัฐ และกฎหมายบังคับด้วยว่า “ต้องรายงานต่อสาธารณะ”

ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย(UC- University of California) ซึ่งมีพนักงานและลูกจ้างมากกว่า 191,000  คน UC มีการจัดทำรายงานที่ เรียกว่า รายงานค่าใช้จ่ายประจำปี (Annual Report on Employee Compensation) โดยมหาวิทยาลัยต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใส (Annually discloses employee payroll information as part of its commitment to transparency and public accountability.)  เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา (ดูใน  : https://ucannualwage.ucop.edu/wage/)

ความโปร่งใสด้านการเงินของมหาวิทยาลัยในอเมริกา โยงไปถึงจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคจากผู้สนับสนุนมหาวิทยาลัยจากภายนอก คือ ยิ่งมหาวิทยาลัยมีความโปร่งใสมากเท่าใด ก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนมากขึ้นเท่านั้น

ความโปร่งใสดังกล่าว รวมถึงความโปร่งใสในการกำหนดรายได้ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย อย่างเช่น อธิการบดี คณบดี หรือตำแหน่งบริหารระดับสูงอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้มหาวิทยาลัยในอเมริกามีหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องดำเนินการจัดทำรายงานเสนอต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย(Public Sector Salary Disclosure Act.)

ทั้งนี้ การรายงานสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยต่อรัฐบาลท้องถิ่น กฎหมายของแต่ละรัฐกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน แต่มีวัตถุประสงค์และวิธีการที่คล้ายคลึงกัน เช่น ในรัฐโอเรกอน มหาวิทยาลัย ต้องเสนอรายงานรายได้ของพนักงานของมหาวิทยาลัย  เช่น ผู้บริหาร อาจารย์ และลูกจ้างต่อสำนักบริหารของรัฐโอเรกอน คือ DAS (Oregon Department of Administrative Services) โดยต้องรายงานแม้กระทั่งรายได้นอกเหนือจากที่พนักงานของมหาวิทยาลัยได้รับจากมหาวิทยาลัย โดยตรง ซึ่งก็คือ รายได้จากข้างนอก หรือรายได้เสริมของอาจารย์/พนักงานของมหาวิทยาลัย เช่น ไปรับงานสอนพิเศษ งานไปดูงาน หรืองานวิจัยที่อื่นๆ 

ขณะเดียวกันรัฐโอเรกอนยังกำหนดให้มีการนำเสนอรายงานด้านการเงิน (รายรับ-รายจ่าย) ดังกล่าวต่อสื่อสาธารณะ  เช่น ลงในเว็บไซต์ เป็นต้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้

ความจริงการทำรายงานเกี่ยวกับการเงินของมหาวิทยาลัย เช่น รายได้ของคณาจารย์ พนักงาน เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการปฏิบัติเป็นการทั่วไปในอเมริกาเหนือ เพราะเป็นแรงส่งต่อความนิยม หรือศรัทธาต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงการบริจาคและการสนับสนุนสถาบันการศึกษาจากองค์กร และบุคคลจากข้างนอกรั้วมหาวิทยาลัย

ที่แคนาดามหาวิทยาลัย New Brunswick ต้องรายงานและเปิดเผย รายได้ที่สถาบันต้องจ่ายให้กับอาจารย์และพนักงานของมหาวิทยาลัยอย่างเข้มงวด การเปิดเผยดังกล่าว อาจารย์และพนักงานที่มีรายได้เกิน 60,000 ดอลาร์ ต่อปี ต้องเปิดเผยรายได้ต่อสาธาณะ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่อาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยจ่ายในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ค่าการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร เป็นต้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของผู้บริหารระดับสูง (members of the university's senior staff) มหาวิทยาลัยต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ก่อนรายงานต่อสาธารณะ

การรายงานด้านการเงินต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใสของมหาวิทยาลัยในอเมริกา เชื่อมโยงกับระบบความโปร่งใสด้านบริหารจัดการ (Voluntary System of Accountability –VSA) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว  ซึ่งระบบดังกล่าวมีขึ้นเพื่อแสดงให้สาธารณะเห็นว่าประสิทธิภาพ (performing) ในการบริหาร จัดการด้านการศึกษาของในแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร แต่ละมหาวิทยาลัยได้ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง

ระบบที่ว่านี้ คือ ทางมหาวิทยาลัยจะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนต่อสาธารณะ เช่น วิธีปฏิบัติการเรียนการสอน ผลการเรียนการสอน การประเมินผลการเรียนการสอน  เพื่อให้ผู้ปกครองและประชาชนทั่วมีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกเรียนในสถาบันนั้นๆ นอกเหนือไปจากการแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของแต่ละสถาบันที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปิดเผยข้อมูลการเรียนการสอนดังกล่าว เพราะประชาชนสามารถเลือกตัดสินใจว่าจะเรียนกับสถาบันการศึกษาไหน ที่จะเหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ต้องการสถาบันที่มีคุณภาพ

ในส่วนของเมืองไทย ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาในรูปแบบ มาตรฐานสากลด้วยแล้ว นับว่าระบบการศึกษาโดยเฉพาะระบบการเรียนการสอนของไทยสมควรนำมาพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก่อนอื่นคงต้องยอมรับว่าเราต้องพัฒนาการศึกษาเพื่อให้เข้าสู่ระบบสากล หาไม่เช่นนั้นการขวนขวายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร?

บรรยากาศของการศึกษาของไทยเต็มไปด้วยความกลัว ขณะที่สิ่งที่ควรจะเป็นในการศึกษาในขั้นอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย อย่างเช่น ผู้เรียนควรเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ กล้าวิพากษ์อย่างสมเหตุสมผล กลับไม่ได้เป็นไปแบบนี้เท่าที่ควรจะเป็น, ผู้เรียนและผู้สอนต่างก็ถูกเงื่อนไขของความกลัวครอบงำปราศจากความกล้าหาญทางวิชาการอย่างน่าหดหู่ใจ

การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาของไทยโดยมาก จึงเป็นไปในลักษณะที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างมีความกลัวฝังหัว ไม่กล้าแสดงออกทางความคิดที่ตัวเองคิด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การนำเสนอข้อมูลทางวิชาการบางด้านบิดเบือนไปมากก็น้อย โดยเฉพาะวิชาการสายสังคมศาสตร์ ยิ่งสถาบันการศึกษาใดอยู่ในแนวทางจารีตนิยม ความกลัวในการแสดงออก เชิงการวิพากษ์และการเสนอความเห็น จนเกิดความอึมครึมในสถาบันย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น 

กรณีที่อาจารย์ผู้สอนมีความเชื่อทางการเมือง และประกาศตนอย่างชัดเจนว่ามีความเชื่อ ทางการเมืองอย่างนั้นๆ  เช่น ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การประกาศความเชื่อหรือความไม่เห็นด้วย ดังกล่าวอาจส่งผลถึงตัวนักศึกษาที่เรียนกับอาจารย์คนนั้น คือ นักศึกษาอาจต้องแสดงการเห็นด้วยกับ อาจารย์มากกว่าจะกล้านำเสนอความคิดที่เป็นอัตลักษณ์ของตน เช่น นักศึกษาอาจไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ แต่ต้องแสดงออกว่า เห็นด้วยกับอาจารย์ เพื่อเอาใจอาจารย์ผู้สอน หากไม่เช่นนั้น ก็อาจทำให้ได้คะแนนหรือเกรดในวิชาที่อาจารย์ผู้นั้นสอนออกมาไม่ดี

เป็นไปตามธรรมเนียมไทยๆ ที่ว่า จะเรียนให้ได้คะแนนหรือเกรดดีๆ นักศึกษาจะต้องเข้าใจและรู้จริตของอาจารย์ผู้สอน
นี่คือ การศึกษาแบบไทยๆ โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ ที่อาจารย์ส่วนหนึ่ง(น่าจะจำนวนมากด้วย) ไม่เปิดให้นักศึกษาวิพากษ์แสดงความเห็น

จะเห็นได้ว่า พอสาวลึกลงไปหลายปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาไทยก็โผล่ขึ้นมา ไล่ตั้งแต่ “การเปิดเผย” ข้อมูลด้านการเงินของผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัย  “การเปิดเผย”ทัศนคติส่วนตนเพื่อวิพากษ์ในวิชาเรียนของนักศึกษา  “การเปิดเผย” วิธีจัดการเรียนการสอน “การเปิดเผย” ผลการเรียนการสอน และ “การเปิดเผย” วิธีการประเมินและผลการประเมินการเรียนการสอน

จึงอาจถือได้ว่า ระบบการจัดการศึกษาไทย ยังคงเป็นระบบปิดอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก หากเทียบกับระบบสากล เมื่อเป็นอย่างนี้จะพูดเรื่องการคอรัปชั่นและด้านตรงกันข้ามคือ ความโปร่งใส ก็น่าจะลำบาก.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท