Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ณ เวทีปราศรัยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ประกาศจะต่อสู้กับอำนาจรัฐแบบอหิงสาและเรียกร้องให้ประชาชนทำอารยะขัดขืนต่อการใช้อำนาจรัฐบาลเพื่อล้มระบอบทักษิณให้จงได้ จากเดิมที่ชุมนุมเพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาถึงวันนี้การชุมนุมทางการเมืองที่นำโดยคุณสุเทพ และพลพรรคประชาธิปัตย์ได้ยกระดับการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้นายกลาออก ให้ยุบสภา และล้มระบอบทักษิณ โดยได้ปิดถนนหลายสาย เคลื่อนมวลชนเข้ายึดหน่วยงานราชการ และกดดันหน่วยงานสื่อมวลชน

ซึ่งก่อนเหตุการณ์นี้ มีสองเหตุการณ์สำคัญได้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันระหว่างการชิงโหวตผ่าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระสองและสามรวดเดียวในยามวิกาล เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 จนมีประชาชนออกมาชุมนุมในที่สาธารณะอย่างมหาศาลต่อต้านการกระทำดังกล่าวจนพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลยอมถอยถอดร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่คั่งค้างอยู่ในสภาทั้งหมดออกไป คงเหลือแต่เพียงฉบับของคุณวรชัย เหมะ ที่ที่ประชุมวุฒิสภาโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ. ทำให้ถูกแช่แข็งไป 180 วัน และเหตุการณ์การอ่านคำวินิจฉัยพิจารณาคำร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลออกมาแถลงไม่ยอมรับอำนาจและไม่ยอมผูกพันตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นดั่งการโต้ตอบกันทางการเมืองแบบหมัดต่อหมัดไม่มีใครยอมใคร หากจะสรุปการกระทำของกลุ่มต่างๆ ข้างต้น คงเปรียบได้กับการ โต้ตอบความชั่วด้วยความชั่ว

ความชั่วประการแรก

การหลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ฉบับสุดซอย หรือฉบับลักหลับ แล้วแต่จะสรรหามาเรียกกัน (ในทางวิชาการเรียกว่า การนิรโทษกรรมแบบครอบคลุม หรือ Blanket Amnesty) ในคืนวันที่ 31 ตุลาคม ต่อเนื่องมาเช้ามืดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 สื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการกระทำของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ต้องการนิรโทษกรรมประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่เป็นผู้บริสุทธิ์เท่านั้น แต่ต้องการให้มีการลบล้างความผิดของคุณทักษิณที่คั่งค้างอยู่ในสาระบบกระบวนการยุติธรรมทางศาลทั้งหมดด้วย

ข้อกล่าวหาต่างๆ ของคุณทักษิณไม่ว่าจะเป็นกรณีนโยบายสงครามยาเสพติด กรณีเหตุการณ์ตากใบ ตลอดจนคดีทุจริตต่างๆ โดยแลกกับการเหมาเข่งนิรโทษกรรมคดีสั่งการสลายการชุมนุมอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคนและผู้บาดเจ็บนับพัน ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะทำให้คุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและผู้อำนวยการ ศอฉ. ตลอดจนทหารตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการพ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ยิ่งกว่านั้นผลพวงจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะกระทบโดยตรงต่อหลักนิติธรรมที่ผู้กระทำความผิดจะต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมทางศาลอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม ทำลายการคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ทำลายหลักประกันว่าหากมีการชุมนุมทางการเมืองในอนาคตและมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามการชุมนุมอีก เช่นนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารก็จะมีความสะดวกใจมากขึ้นที่จะใช้อาวุธสังหารประชาชนที่เห็นต่าง เพราะการกระทำแม้เป็นความผิดก็ย่อมสามารถนิรโทษกรรมได้อีกในอนาคต เท่ากับว่าประชาชนที่จะออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมไร้หลักประกันในชีวิตและทรัพย์สินจากการบังคับใช้กฎหมายโดยอำนาจรัฐอย่างสิ้นเชิง ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยและเรียกร้องความเป็นธรรมทำได้ยากขึ้น สรุปคือ พรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณก็ไม่ได้ศรัทธากับหลักนิติธรรมอยู่แล้ว กอปรกับการที่คุณทักษิณชอบอ้างว่าตนเองเป็นผู้รู้เพราะทำวิทยานิพนธ์เรื่องหลักนิติธรรมอยู่บ่อยๆ แต่ก็ยอมทำลายหลักการนี้ด้วยมือของตนเอง จึงไม่มีข้อแก้ตัวใดเลย

สิ่งที่คุณทักษิณได้ก่อไว้ในอดีตที่ทำให้ประชาชนระแวงต่อความฉ้อฉลของคุณทักษิณกลับยิ่งทำให้ไม่ไว้ใจต่อการทำงานของน้องสาวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยิ่งขึ้นไปอีก และคำมั่นสัญญาเรื่องการช่วยนักโทษคดีการเมือง การเอาคนผิดคนสั่งฆ่ามาลงโทษ นี่ยังไม่รวมถึงความขลาดกลัวที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่กล้าที่จะแตะคดีที่เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าคนเหล่านั้นเป็นนักโทษทางการเมือง และยังเห็นดีเห็นงามกับการละเว้นที่จะนิรโทษกรรมคนเหล่านี้ด้วย ทั้งสิ้นที่กล่าวมาล้วนเป็นความชั่วร้ายอย่างยิ่งของคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยในฐานะตัวแทนประชาชนเสียงส่วนใหญ่ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา สิ่งนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยหมดความชอบธรรมที่จะอ้างการเป็นตัวแทนเสียงส่วนใหญ่อีกต่อไป

ความชั่วประการที่สอง

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่ยื่นโดยกลุ่ม 40 สว. และพลพรรคประชาธิปัตย์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา สว. นั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้น ศาลได้ยกหลักนิติธรรมนิติรัฐมาอธิบายและได้มีคำวินิจฉัยโดยสรุปคือ (1) ศาลชี้ว่าผู้ร้องใช้อำนาจพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ศาลจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ (2) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยื่นให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ตรงกับฉบับที่รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ถือว่ามีเจตนาปกปิดสมาชิกรัฐสภา เป็นการเสนอร่างแก้ไขโดยไม่ชอบ (3) การตัดสิทธิ์ผู้อภิปรายและแปรญัตติเป็นการรวบรัดเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบขัดกับหลักนิติธรรม มีการเสียบบัตรแทนกันขัดต่อหลักการซื่อสัตย์สุจริตตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา  และ (4) การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหารัฐธรรมนูญขัดกับหลักตรวจสอบถ่วงดุล เป็นการสร้างสภาผัวเมียที่นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สูญเสียการตรวจสอบ ทำให้ฝ่ายการเมืองคุมอำนาจเด็ดขาดกระทบต่อการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และมติ 5 ต่อ 4 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แต่ยังไม่มีเหตุยุบพรรค (กล่าวคือผิดตามมาตรา 68 แต่ศาลเลือกที่ไม่ยุบพรรคทั้งที่กฎหมายบัญญัติให้สามารถยุบพรรคได้)

ผู้เขียนคงไม่สามารถจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อโต้แย้งทั้งหมดในที่นี้ แม้เข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญคงมีเจตนาดีเพื่อ "ลดความตึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาลและรัฐสภา" ดังที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เคยให้สัมภาษณ์เป็นแนวทางการใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 คำวินิจฉัยครั้งนี้จึงมีเป้าหมายให้เป็นคำวินิจฉัยที่เป็นกลางถูกใจทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ไม่ให้แก้เรื่องที่มา สว. และไม่ยุบพรรคเพื่อไทย แต่ท่านคงลืมว่า ต้องวินิฉัยตามหลักกฎหมายที่เป็นธรรมด้วย

ประการแรก ศาลยังคงยืนยันว่าศาลมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาตามมาตรา 68 ตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 ซึ่งกล่าวถึงสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยต่อการทำหน้าที่ของรัฐสภาตามหมวด 6 ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ประการที่สอง ศาลได้เข้ามาก้าวก่ายระเบียบการประชุมสภาตลอดจนกระบวนการในสภาซึ่งไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจไว้ซึ่งอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจเด็ดขาดของสภาที่จะมีมติร่วมกันเท่านั้น

ประการสำคัญ ศาลรัฐธรรมนูญได้ก้าวล่วงเข้ามาแทรกแซงการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภาในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทย ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการใช้ "อำนาจสถาปนา" ไม่ใช่การใช้อำนาจนิติบัญญัติที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างสถานะการเป็นองค์กรตุลาการที่จะตรวจสอบถ่วงดุลได้หรือแม้แต่การอ้างกระทำในพระปรมาภิไธยและอ้างอำนาจทั่วไปเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างจากการตรา/แก้ไขกฎหมายทั่วไป และการทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามมาตรา 291

กรณีทำนองเดียวกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเป็นคำสั่งในปี 2554 (คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ 4/2554) โดยเมื่อครั้งพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลศาลปฏิเสธไม่รับคำร้องของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะและคณะ ไว้พิจารณาโดยชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเฉพาะตามมาตรา 291 ซึ่งต่างจากการแก้ไขกฎหมายทั่วไป  แต่ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลกลับแก้ไขไม่ได้ มีการแนะนำให้จัดการออกเสียงประชามติบ้างแก้เป็นรายมาตราบ้าง แม้บทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขที่ห้ามแก้ไขตามมาตรา 291 กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ แต่บทบัญญัติดังกล่าวกลายเป็นบทบัญญัติที่ถูกคำพิพากษาระบุไม่ให้แก้ไขไปเสียแล้ว

ผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนืออำนาจของปวงชนคนไทยทั้งประเทศในทันที ศาลรัฐธรรมนูญขยายขอบเขตอำนาจตนเองให้สามารถกำกับการใช้อำนาจรัฐสภาได้ การแทรกแซงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตามกลไกระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนการแสดงเจตจำนงและใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลจากคำวินิจฉัยทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญได้เพิ่มเงื่อนไขบทบัญญัติที่ห้ามแก้ไขตามมาตรา 291 จากเดิมที่มีเพียงสองประการ ซึ่งอำนาจดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศไม่มีอำนาจทำได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญทำได้

บ่อยครั้งมีการอ้างว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์และพระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจผ่านสามเสาหลัก นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่เฉพาะตุลาการเท่านั้นที่กระทำในพระปรมาภิไธย ดังนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจทั่วไปโดยเฉพาะอำนาจพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะตามหลักแล้วสมการควรจะเป็น ประชาชน --> พระมหากษัตริย์ --> สามเสาหลัก และเจตจำนงของประชาชนในการสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งรวมถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยนั้น ประชาชนสามารถกระทำได้ผ่านทางการทำหน้าที่ของรัฐสภาและมีพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองการใช้อำนาจในฐานะประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยตรง (รธน. มาตรา 3) แต่หากมีกรณีขัดแย้งกันระหว่างประมุขและประชาชน รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้เจตจำนงของประชาชนอยู่เหนือกว่า (รธน. มาตรา 151)

การมีคำวินิจฉัยเช่นนี้จึงเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยเอง หรือหลักนิติรัฐที่ศาลรัฐธรรมนูญมักอ้างถึงบ่อยๆ คือการวินิจฉัยเพื่อบรรลุเจตจำนงทางการเมืองของตนโดยไม่คำนึงถึงหลักการและบทบัญญัติกฎหมาย เปรียบได้กับการชิงสุกก่อนห่าม เป็นความชั่วร้ายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการโหวต พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเลย

ความชั่วประการที่สาม

การชุมนุมของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และพลพรรคประชาธิปัตย์ที่ปิดถนน บุกสถานที่ราชการ และชุมนุมกดดันสื่อมวลชนนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายไร้ความเป็นอหิงสา ไม่ใช่การชุมนุมอย่างสันติตามที่ได้ประกาศไว้ ยิ่งประเมินจากการเป็นผู้นำมวลชนของคุณสุเทพ และภาพลักษณ์อดีตผู้อำนวยการ ศอฉ. ในปี 2553 ที่ออกคำสั่งให้มีการใช้อาวุธของทหารจนมีการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก การนำมวลชนโดยคุณสุเทพและการเคลื่อนไหวแบบอหิงสาจึงเป็นภาพที่ขัดแย้งกันอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะการปราศัย เมื่อช่วงค่ำวันที่ 23 พ.ย.2556 ณ เวทีเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. ที่สี่แยกนางเลิ้ง โดยมีคำปราศัยตอนหนึ่งที่สำคัญ ว่า

“ข้อที่ 1 เราต้องร่วมใจกันขจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซากพ้นแผ่นดินไทย และข้อที่ 2 เราจะหลอมหัวใจด้วยกันเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประเทศไทยที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง นั่นคือปณิธานของเราของคนไทยทุกคนที่หลอมดวงใจต่อสู้ในคราวนี้”

กรณีดังกล่าวถือได้ว่าคุณสุเทพ ประกาศจะเปลี่ยนประเทศให้มี "การปกครองโดยพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง" หรือตีความได้ว่า "การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช" ตามระบอบเดิมก่อนปี 2475 ซึ่งต่างกับ "การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา" ซึ่งผิด รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1 "เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อย่างชัดแจ้ง มีโทษยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี

แต่เนื่องจากคุณสุเทพลาออกแล้ว พรรคประชาธิปัตย์อาจจะรอดพ้นจากการถูกยุบพรรค เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนรู้เห็น ซึ่งอาจส่งผลให้คุณอภิสิทธิ์ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ส่วนคุณสุเทพมีความผิดอาญาฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 114-118 ต้องระวางโทษสูงสุด 15 ปี ขึ้นอยู่กับว่ามีการยกระดับความรุนแรงระดับไหน ส่วนผู้ชุมนุมอาจเจอความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนระวางโทษสองในสาม แต่อาจมีข้อยกเว้นคือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถถูกยุบได้ สส.ประชาธิปัตย์ไม่อาจถูกตัดสิทธิทางการเมือง ผู้ชุมนุมก็ไม่ต้องรับโทษ เพราะท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยว่าคุณสุเทพ ไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น ซึ่งเป็นหลักนิติธรรมความเสมอภาคตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมักอ้างอยู่เสมอ นี่ก็เป็นความชั่วร้ายที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเปรียบได้กับการโต้ตอบกันไปมาแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

"ตาต่อตาฟันต่อฟัน" สู่การต่อสู้แบบ "อหิงสา"

ตาต่อตาฟันต่อฟัน ได้ถูกบันทึกไว้ว่า เจ้าผู้ครองจักรวรรดิบาบิโลนชื่อกษัตริย์ฮัมมูราบี (Hammurabi) โดยในราวปี 1780BC ได้ตรากฎหมายอาญาปกครองบ้านเมืองหรือเป็นที่รู้จักกันว่า "Eye for an eye" โดยกำหนดให้การลงโทษต่อความเสียหายใดที่เกิดจากการกระทำผิดต่อผู้กระทำผิดในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ หากผู้ใดทำให้ผู้อื่นตาบอดก็จะต้องควักลูกตาผู้นั้นออกมา หากผู้ใดทำให้ผู้อื่นเสียแขนก็จะต้องตัดแขนผู้นั้น หรือหากผู้ใดทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตก็จักต้องประหารชีวิตผู้นั้นเสีย ในภาษาลาตินคือ "lex talionis" หรือในภาษาอังกฤษ Reciprocal Justice หรือ ความยุติธรรมต่างตอบแทน

บทบัญญัติเก่าแก่นี้ยังได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือโบราณพระคัมภีร์ใบเบิ้ลในหนังสือ อพยพ บทที่ 21 ข้อ 23-25 "ถ้าหากเป็นเหตุให้เกิดอันตรายประการใดก็ให้วินิจฉัยดังนี้ คือชีวิตแทนชีวิต ตาแทนตา ฟันแทนฟัน มือแทนมือ เท้าแทนเท้า รอยใหม้แทนรอยใหม้ แผลแทนแผล รอยช้ำแทนรอยช้ำ" และในหนังสือ เฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ 19 ข้อที่ 21 "อย่าให้นัยน์ตาของท่านเมตตาสงสาร ควรให้ชีวิตแทนชีวิต ตาแทนตา ฟันแทนฟัน มือแทนมือ เท้าแทนเท้า" เป็นการคืนความยุติธรรมในสถานะเดียวกับที่ถูกกระทำ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการแก้แค้น

บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกท้าทายด้วยคำสอนของพระเยซูคริสต์ ปรากฏในหนังสือ ลูกา 6:29-30 และ มัธธิว 5:38-42 "ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวว่า 'ตาแทนตา และฟันแทนฟัน' ฝ่ายเราบอกท่านว่า อย่าต่อสู้คนชั่ว ถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน ก็จงหันแก้มซ้ายให้เขาตบด้วย" และในพระคัมภีร์เล่มเดียวกันนี้ยังได้กล่าวว่า "อย่าให้ความชั่วชนะเราได้ แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี" (หนังสือ โรม 12:21) ซึ่งหลักนี้กล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบหลักคำสอนหรือแนวทางการต่อสู้แบบ "อหิงสา" คือการต่อสู้อย่างสันติวิธีต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม การหลีกเลี่ยงการใช้กำลังประทุษร้าย เป็นการยินยอมให้ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมโดยไม่โต้ตอบ ไม่กระทำความผิดเพื่อตอบแทนความผิดที่ถูกกระทำ

แต่ในปัจจุบันต่างฝ่ายต่างต้องการเอาชนะกันทางการเมืองแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เหตุการณ์ยากที่จะสรุปว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลของการกระทำต่อมา กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นผลจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมผ่านทางรัฐสภาของรัฐบาลและท่านตุลาการอาจได้ล่วงรู้มาว่ารัฐบาลจะผูกขาดรวบอำนาจเป็นเผด็จการโดยประการใดๆ หรือรัฐบาลทราบว่าจะมีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตลอดจนการชุมนุมเพื่อล้มรัฐบาล รัฐบาลจึงต้องชิงโหวตผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ที่ทราบคือไม่ว่าสิ่งที่รัฐบาลเพื่อไทย ศาลรัฐธรรมนูญ หรือการชุมนุมของคุณสุเทพทำอยู่ในขณะนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปอีก เป็นการทำความผิดเพื่อความผิด ผลลัพธ์คือ ไม่มีฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะ แต่เป็น lost-lost situation คือมีแต่ผู้แพ้ และผลพวงจากการต่อสู้ในครั้งนี้จะตกแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น ประชาชนผู้รอเวลาที่จะใช้ชีวิตในสังคมอย่างสงบสุขสันติ ประชาชนที่รอเวลาออกไปประกอบอาชีพเพื่อนำรายได้มาจุนเจือหาเลี้ยงครอบครัวและการก้าวให้ทันประชาคมโลก

จะดีกว่าไหมหากต่างฝ่ายจะยึดหลักเกณฑ์ที่เป็นสากล กฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับเป็นการทั่วไป ไม่คิดเดาเอาเอง ไม่คาดคะเนเอาเอง ไม่ตีความเข้าข้างตนเอง แต่ปล่อยให้กลไกตรวจสอบถ่วงดุลในวิถีทางประชาธิปไตยทำงานไปตามระบบกลไกของมัน เพราะถ้าเปรียบรัฐบาลเป็นเครื่องยนต์ดีเซลที่ขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า มันเดินไม่เรียบสะดุดไม่ถูกใจ การที่ศาลรัฐธรรมนูญและม็อบคุณสุเทพเอาน้ำมันเบนซินไปใส่แทนคงรังแต่จะทำให้เครื่องพัง ไปกันต่อไม่ได้

การโต้ตอบจากทั้งทางพรรคเพื่อไทย ศาลรัฐธรรมนูญ และคุณสุเทพจึงไม่ใช่การตอบโต้อย่างสันติวิธี ไม่ใช่หลักอหิงสา ไม่ใช่การเอาชนะความชั่วด้วยความดี อันอาจจะนำพาประเทศไปสู่สันติภาพและความสงบสุขอย่างยั่งยืนได้ แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายกำลังทำนั้นขัดกับหลักการอย่างร้ายแรง กระทำความผิดฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายอย่างร้ายแรง จึงเปรียบได้กับการโต้ตอบแบบ "ตาต่อตาฟันต่อฟัน" ซึ่งล้าสมัยมาก เป็นการ "ทำชั่วตอบแทนการชั่ว" หรือการพยายาม "เอาชนะความชั่วด้วยความชั่วกว่า"

จากเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะไม่มีจุดบรรจบเช่นนี้ ผู้เขียนอยากขอเสนอแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. ให้นายกยิ่งลักษณ์ แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่พรรคเพื่อไทยผลักดันให้มีการลงมติรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย โดยการขอโทษประชาชนและลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากจะได้รับเลือกเข้ามาใหม่นั้นก็สุดวิสัย เพราะนายอภิสิทธิ์ก็เคยทำเป็นแนวทางไว้แล้วเมื่อครั้งที่แพ้การเลือกตั้ง และสภาผู้แทนราษฎรจะต้องไม่ลงมติยืนยันร่างเดิมเมื่อผ่านพ้น 180 วันแล้วและปล่อยให้ตกไป

2. ศาลรัฐธรรมนูญต้องยึดถือหลักนิติธรรมในการวินิจฉัยอรรถคดีอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ 1) วินิจฉัยตามที่มีบทบัญญัติระบุไว้แล้วอย่างชัดเจน 2) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ได้ถูกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันแล้ว 3) วินิฉัยต่อคู่กรณีอย่างเท่าเทียมโดยไม่เอนเอียงตามรสนิยมทางการเมืองส่วนตน  4) มีความอิสระในการทำคำวินิจฉัยโดยไม่เกรงกลัวอำนาจใดๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจตำรวจทหาร หรืออำนาจรัฐบาล โดยเฉพาะอำนาจหรือแรงกดดันจากกลุ่มนิยมเจ้าซึ่งดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุด และ 5) วินิจฉัยตามหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมสอดคล้องกับหลักสากลด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกแยะระหว่างสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ตามกฎหมายให้ชัดเจน

3. ให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเรื่อง ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ทั้งฉบับ และระบุให้ชัดเจนว่าจะมีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ  เนื่องจากการที่ศาลได้วางหลักตามคำวินิจฉัยตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาการตีความและความขัดแย้งกับหลัการอื่นๆ  จึงจำเป็นต้องล้างออกไปก่อนเพื่อไม่ให้มีการใช้อ้างอิงอีกต่อไป และระบุว่าจะแก้ไขที่มา สว. ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา สว. ที่นายกยื่นทูลเกล้าพระมหากษัตริย์ลงประปรมาภิไธยไปแล้วนั้น ให้รอจนครบ 90 วัน หากเสร็จสิ้นการจัดออกเสียงประชามติแล้วและผลคือให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ก็ให้โหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ 3 เพื่อตั้ง สสร. ให้ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับทันที

4. ให้รัฐบาลประกาศคำมั่นแก่ประชาชนว่าจะยุบสภาเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันทีหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

5. ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายทุกฝ่ายบังคับใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) ตามข้อเสนอ คอป. และละเว้นการสร้างเงื่อนไขที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก

6. ให้กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหลายชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มีความอดทนอดกลั้น และยึดหลักการต่อสู้อย่างอหิงสา หลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมาย โดยมุ่ง "เอาชนะความชั่วด้วยความดี"

การต่อสู้อย่างอหิงสา หรือการทำอารยะขัดขืน มหาตมะ คานธี เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ และได้กล่าวไว้ว่า "ตาต่อตา มีแต่จะจบลงด้วยการทำให้โลกทั้งใบมืดบอด" (An eye for an eye only ends up making the whole world blind)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net