Skip to main content
sharethis

27 พ.ย.2556 เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการที่สาม ของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งดูแลปัญหาด้านสังคม มนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชน รับรองมติเรื่อง สิทธิในความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิตอล หลังจากนี้จะมีการลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 193 ประเทศ ในเดือนหน้า (ธ.ค.)

ร่างดังกล่าวเสนอโดยบราซิลและเยอรมนี และแม้ว่าจะไม่ได้ระบุถึงประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ก็ออกมาหลังมีการเปิดโปงว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSA) ดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำบราซิลและเยอรมนี

ร่างข้อมตินี้มีเนื้อหาระบุให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทบทวนกระบวนการ การปฏิบัติ และการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสอดแนมการสื่อสาร การดักฟัง และการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงการสอดแนมประชาชน การดักฟัง และการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้มุมมองในการส่งเสริมสิทธิในความเป็นส่วนตัว เพื่อทำให้แน่ใจว่า ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพตามพันธกรณีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

ร่างดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเพิ่มความสามารถในการสอดแนม ดักฟัง และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยรัฐบาล บริษัทและปัจเจกบุคคล อาจเป็นการฝ่าฝืนและละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในความเป็นส่วนตัว

เดิมร่างนี้มีการระบุถึงความกังวลต่อการฝ่าฝืนและละเมิดสิทธิมนุษยชนอันอาจเกิดจากการสอดแนมประชาชน การดักฟังและการเก็บรวบรวมข้อมูล แต่ในมีการเจรจาต่อรอง เพื่อลดความเข้มข้นของภาษาลง โดยมีสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย เป็นโต้โผ

Katitza Rodriguez ผู้อำนวยการด้านสิทธิระหว่างประเทศของ Electronic Frontier Foundation (EFF) องค์กรระหว่างประเทศซึ่งส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ ระบุผ่านแถลงการณ์ว่า แม้ข้อมติที่ผ่านจะไม่ได้เข้มข้นเท่าต้นฉบับ แต่มันก็มีความหมายและเป็นก้าวที่สำคัญมากต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของปัจเจก โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นพลเมืองประเทศใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net