‘ปกป้อง จันวิทย์’ เสนอ 4 สร้างพัฒนานักเรียนนักศึกษาไทย

ทีดีอาร์ไอเสนอสร้างทักษะแห่งอนาคต ทางเลือกคุณภาพ ระบบข้อมูลและการมีส่วนร่วมพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิตภาพ ‘จาตุรนต์’ ฝันอยากมีสถาบันวิจัยพัฒนาหลักสูตรการศึกษา ชี้สร้างสมดุลส่วนกลางกับโรงเรียนสำคัญ

28 พ.ย.2556 ในงานสัมนาวิชาการประจำปี 2556 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา ผศ.ปกป้อง  จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอในหัวข้อ “การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิตภาพ” ซึ่งเป็นหัวข้อที่เป็นองค์ประกอบหลักของ  “โมเดลใหม่ในการพัฒนา : สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลิตภาพ” โดยมี จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมอภิปราย ดังนี้

0000

ปกป้อง จันวิทย์ เริ่มต้นการนำเสนอด้วยการอ้างถึงอ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีอยู่ในตนเอง การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความสำคัญของนักเรียนและจบลงด้วยความสำคัญของนักเรียน นักเรียนนักเรียนไม่จำเป็นต้องเล่าเรียนเพื่อเห็นแก่ครูหรือแก่โรงเรียน ไม่ใช่หมั่นเรียนเพื่อชาติ แต่ทำตัวเองให้เก่งที่สุดในทางที่ตนเองเลือกก็โอเคแล้วครับ

อ.ป๋วย ได้ฝากข้อคิดไว้กับนักเศรษฐศาสตร์และนักวางแผนการพัฒนาด้วยว่า สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ชอบอ้างและวางแผนการศึกษาให้เป็นเนื้อเดียวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ยังเข้าใจไม่ถูก เพราะเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่เป็นนักเรียนแต่ละคนมากเพียงพอ ในเรื่องการศึกษานั้นผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นเนื้อเดียวกับผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นเนื้อเดียวกับผลประโยชน์ของประเทศ ถ้านักเรียนมีคุณภาพดี สังคมเศรษฐกิจเราก็จะดีตามไปด้วย เมื่อไหร่ที่เราหลงผิดเห็นประโยชน์ของประชาคมหรือของประเทศเป็นเรื่องแรก คิดถึงตัวนักเรียนน้อยไปเราอาจดำเนินนโยบายที่ผิดทางก็ได้

เราพูดถึงเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ ยังยืน เป็นธรรม มีนวัตกรรม สีเขียว สร้างชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคม การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนสังคมไทยไปสู่สังคมเศรษฐกิจใหม่ จึงไม่ควรมองว่าเป็นแค่เครื่องมือในการพัฒนาแรงงานที่เป็นปัจจัยการผลิตหรือมองเศรษฐกิจในเชิงปริมาณเท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องผลิตคนเพื่อไปเป็นแรงงานตามสั่งราคาถูกตลอดชีวิต จากโครงสร้างการกระจายผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นการศึกษาจึงมีความหมาย คุณค่า และเป้าหมายตัวเอง ไม่ใช่แค่เครื่องมือ การศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนามนุษย์สังคม เป็นหัวใจของการเติบโตในเชิงคุณภาพ

ในงานวิจัยเราเชื่อว่าการศึกษาควรมีจุดหมายปลายทางเพื่อเสริมความสามารถของนักเรียนให้เขาสามารถบรรลุศักยภาพตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง คลายกับที่ อ.ป๋วยได้ว่าไว้ว่าทุกคนควรได้รับการศึกษาตามความสามารถของตนให้สุดความสามารถ เมื่อนักเรียนได้รับการเติมเต็มศักยภาพของตนให้สุดทางที่ตนเองได้เลือกแล้ว คนคุณภาพนั้นก็จะมีผลิตภาพสูงขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเติบโตอย่างมีคุณภาพ เศรษฐกิจที่มีคุณภาพก็จะตามมา

การเติมเต็มศักยภาพของคนเพื่อเพิ่มผลิตภาพนั้น ต้องอยู่ในงานที่ดีมีค่า งานที่ชอบ ผลตอบแทนที่เป็นธรรม มีโอกาสในการพัฒนาตัวเอง มีเวลาว่างดูแลร่างการและจิตใจของตัวเอง มีทางเลือกและอำนาจต่อรองในตลาดแรงงาน สามารถเปลี่ยนจากลูกจ้างเป็นผู้ประกอบการเสียเองได้

ถ้าโจทย์ของการศึกษาอยู่ที่การเติมเต็มศักยภาพของมนุษย์ เราจำเป็นต้อลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา 4 อย่าง

1.     สร้างทักษะแห่งอนาคต ปฏิรุปหลักสูตรให้นักเรียนสามารถหัดคิดเป็น อ่านเป็น รู้จักโลก รู้จักตัวเอง

2.     สร้างทางเลือกคุณภาพ ปฏิรูปการสอน การพัฒนาครู การพัฒนาโรงเรียน ให้รับผิดชอบต่อนักเรียน ยกระดับอาชีวะศึกษา

3.     สร้างระบบข้อมูล พัฒนาระบบข้อมูล ระบบสื่อสารข้อมูลและระบบแนะแนวที่ดีเป็นพื้นฐานให้นักเรียนตัดสินใจ เลือกอย่างมีคุณภาพ

4.     สร้างการมีส่วนร่วม ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมพัฒนาศักยภาพนักเรียนตลอดกระบวนการเรียนรู้

สร้างคนให้มีทักษะศตวรรษใหม่

ปกป้อง กล่าวว่า ศตวรรษใหม่สร้างความท้าทายให้กับเราโลกเข้าสู่สังคมความรู้ เราไม่จำเป็นต้องท่องจำต่อไป ทักษะที่จำเป็ฯคือทักษะในการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการเลือกสรรข้อมูล ประมวลข้อมูลข่าวสารที่มีอย่างท่วมท้น คุณ โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการนิตยสารจีเอ็ม เคยกล่าวไว้ว่า “Google อาจตอบคำถามเราทุกคำถาม แต่ Google ไม่ได้สอนเราว่าจะถามคำถามอะไร” 

เทคโนโลยี่แทนที่งานซ้ำซากจำเจ ทักษะที่สำคัญคือทักษะทีคอมพิวเตอร์ทำแทนไม่ได้ เช่น ทักษะในการคิดในเชิงซับซ้อน การทำงานเป็นทีมและการสื่อสารต้องใช้คนต่อคน โครงสร้างองค์กรเปลี่ยนไปจากแนวดิ่งสู่แนวราบ กระจายอำนาจมากขึ้น เพราะฉะนั้นทักษะที่จำเป็นคือการที่แต่ละคนสามารถคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง ตลาดแรงงานเชื่อมกันในตลาดโลก การเรียกนรู้แบบเก่าที่ท่องจำยัดเยียดถึงทางตัน ความรู้มีชีวิตแค่ครึ่งเดียว จึงต้องสร้างทักษะในศตวรรษใหม่หรือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 

นักเรียนในศตวรรษที่ 21 นั้น เนื้อหาในหลังสูตรมีความสำคัญอยู่ แต่ต้องเรียนรู้ในหลักสูตรที่กระชับ เน้นแนวคิดหลักและคำถามสำคัญ ไม่ยัดเยียด ต้องเป็นหลักสูตรที่ช่างคิด เนื้อหาเป็นเครื่องมือที่พาไปสู่ทักษะการคิดวิเคราะห์ เป็นหลักสูตรที่บูรณาการความรู้แต่ละสาขาเพื่อมองเห็นเป็นองค์รวม ออกจากการนั่งฟังบรรยายในห้องเรียนไปสู่การเรียนรู้ด้วยโครงงาน ทำงานเป็นทีม แก้ปัญหาในโลกจริง ทักษะในการเรียนรู้นวัตกรรม ชีวิต การทำงาน ทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งหมดเพื่อสร้างเด็กรู้จักคิด รักการเรียนรู้มีสำนึกพลเมือง มีความกล้าหาญทางจริยธรรม แก้ปัญหาในชีวิตจริงเป็นปรับตัวเก่ง สื่อสารและทำงานกับผู้อื่นได้ดี 

หลักสูตรของไทย

ปกป้อง กล่าวว่า เด็กไทยเราเรียนเยอะแต่รู้น้อย ทำงานไม่เป็น หลักสูตรของไทยยังห่างไกลที่จะสร้างทักษะแห่ง ศ.21 แกนกลางตังชีวัดในหลักสูตรยังสนจแต่เนื้อหา ยังไม่เน้นการสร้างทักษะ และเด็กไทยก็เรียนมากเกินไป เด็กประถมของเราเรียนอย่างต่ำ 1,000 ชม. ต่อปี ถ้าเป็นเด็กมัธยมประมาณ 1,200 ชม. ต่อปี แต่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเด็กประถมเรียน 800 ชม.ต่อปี เด็กมัธยมเรียนประมาณ 900 ชม. ต่อปี เขามีระบบการเรียนที่ดีกว่าไทยมาก หลักสูตรจของไทยก็ไม่กระชับ ไม่ช่างคิดไม่บูรณาการ ต้องมีการประโครงสร้างหลักสูตรให้ยืดหยุ่นขึ้น

งานวิจัยดูทั้งหลักสูตรสายสามัญและอาชีวะ ด้านอาชีวะแม้หลักสูตรใหม่ที่ออกในปีนี้จะเน้นการปฏิบัติจริงมากขึ้น แต่คนเรียนก็ยังรู้เป็นส่วนๆอยู่ ยังเน้นทักษะ ฝึกคนเป็นแรงงานตามสั่งอยู่ ฝึกทักษะเป็นงานๆ คิดว่าเราต้องไปไกลกว่านั้น ให้แรงงานแต่ละคนสามารถก้าวหน้าในชีวิตการงานได้ เข้าใจภาพรวมของอาชีพได้

มีการเปิดให้สถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรมากขึ้น แต่เราก็พบว่ายังเข้ามามีส่วนร่วมอยู่ค่อนข้างน้อย การจัดการศึกษาด้านอาชีวะที่คำนึงถึงภาคธุรกิจนั้นสำคัญ แต่จะยึดประโยชน์ผู้ประกอบการอย่างเดียวก็ไม่ได้ต้องมีกลไกในการปกป้องไม่ให้นักเรียนไปเป็นแต่แรงงานราคาถูกของภาคธุรกิจ

เราต้องสร้างคุณภาพที่หลากหลายให้เขาได้เลือกด้วย ถ้านักเรียนต้องการเรียนสายอาชีพต้องมีระบบอาชีวะที่ดี ทีดาร์ไอวิจัยระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องมีการทำมาก่อนที่ตนเองจะมาทำ พบว่าการศึกษาไทยมีปัญหาในการสร้างทางเลือกที่มีคุณภาพอยู่มาก ทั้งสายสามัญและสายอาชีวะ โดยเฉพาะสายอาชีวะยังไม่เป็นทางเลือกที่แท้จริงในการเรียน

ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยเกิดจากอะไร? ไม่ใช่เรื่องเงินเดือนครู เป็นเพราะงบประมาณน้อยเกอนไปไหม ไม่ใช่ครับ งบประมาณกระทรวงศึกษานั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่งบที่สูงขึ้นส่วนมากเป็นงบในเงินเดือนครูอยู่ที่ประมาณ 70% ของงบทั้งหมด

หรือว่าครูเงินเดือนน้อยทำให้การศึกษาไทยไม่มีคุณภาพ เมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไป เงินเดือนครูถูกปรับขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากแยกบัญชีเงินเดือนครูเมื่อปี 2548 ครูที่จบปริญญาตรีมีรายได้ไม่น้อยกว่าอาชีพอื่นอีกต่อไป

ระบบประเมินคุณภาพการศึกษาโดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ซึ่งทำมา 3 รอบแล้ว รอบแรกผ่านการประเมินไม่มาก แต่ 12 ปีผ่านไป โรงเรียนไทยมีคุณภาพมากขึ้นจริงไหมต้องตั้งคำถาม เพราะเราผ่านคุณภาพจริงๆหรือเราขาดการประเมินคุณภาพ เพราะเราเล่นเกมส์ในการตกแต่งตัวเลข 

แต่เด็กสอบตกครับ เพราะคะแนนสอบมาตรฐานนานาชาติของเด็กไทยตกลงไม่ว่าจะสอบ TIMMS หรือ PISA เด็กไทยยังทำงานไม่เป็นด้วย ตอนไปสัมภาษณ์ภาคธุรกิจหลายแห่ง แม้เขาต้องการสายอาชีพมาทำงาน แต่เขาก็มรับอาชีวะเพราะแพงกว่าสายสามัญเนื่องจากไม่ว่าจะรับแบบไหนก็ต้องเทรนใหม่อยู่ดี ดังนั้นเอาถูกไว้ก่อน

ใจกลางของปัญหาการศึกษาไทยอยู่ที่การขาดความรับผิดชอบตลอดทั้งกระบวนการการศึกษา

ปกป้อง กล่าวว่า ทั้งหมดจะเห็นว่าปัญระบบการศึกษาไทยไม่ใช่การขาดแคลนทรัพยากรอีกต่อไป แต่เป็นประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร งานวิจัยในช่วง 2 ปีหลัง ทีดีอาร์ไอตีโจทย์เรื่องการศึกษาว่าใจกลางของปัญหาการศึกษาไทยอยู่ที่การขาดความรับผิดชอบตลอดทั้งกระบวนการการศึกษา ถ้าระบบความรับผิดชอบทำงานดีโรงเรียนต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อเด็กและพ่อแม่ เมื่อเด็กมีคะแนนตกต่ำครูในโรงเรียนต้องเดือดร้อนแล้ว เพราะเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาไม่เช่นอยู่ไม่ได้

ในไทยระบบความรับผิดชอบสายตรงระหว่างครูกับเด็กนั้นไม่ค่อยทำงาน ความสำเร็จของเด็กไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการประเมินผล เพราะฉะนั้นตัวโครงสร้างของระบบมันทำให้ครูไม่มีแรงจูงใจในการทำเพื่อเด็ก แม้ครูดีๆจะมีมาก แต่ระบบมันไม่เอื้อ เพราะอยากทำเพื่อ ผอ.โรงเรียนมากกว่า ผอ.โรงเรียนก็ไม่ได้ใส่ใจนักเรียนมากเท่ากับเอาใจ ผอ.เขตพื้นที่ ผอ.เขตพื้นที่ก็เอาใจเลขา สพฐ.(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เลขา สพฐ. ก็เอาใจรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็รับผิดชอบต่อนายก แล้วเราก็คาดหวังว่านายกจะรับผิดชอบต่อพ่อแม่ผ่านระบบการเมือง เราจะเห็นสายความรับผิดชอบที่มันยาวมาก และยากเสียจนไม่มีใครเป็นเจ้าภาพที่จะเข้าไปดูแล เวลาที่เกิดปัญหา

เป้าหมายปลายทางต้องสร้างเด็กเติมเต็มศักยภาพของนักเรียนต้องมีการปฏิรูประบบการออกข้อสอบ ระบบโรงเรียน ระบบครูให้มีคุณภาพเรียนรู้ในโลศตวรรษใหม่ได้ ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบและความมีอิสระในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเบื้อต้นคืออิสระในการเลือกรับครูและเอาครูออก โรงเรียนต่างจังหวัที่ไปสัมภาษณ์ได้แต่ครูพละเพราะรับบการรับครูเป็นระบบที่ครูเลือกโรงเรียน โรงเรียนไม่ได้เลือกรับครู เพราะรับผ่านเขตอีกที นี่ก็เป็นปัญหา ผู้ปกครองเองก็ควรมีสิทธิเลือกโรงเรียน 

การทำธนาคารข้อสอบ

ปกป้อง กล่าวด้วยว่า สำรวจสภาพปัญหา 3 ระบบสำคัญคือระบบการพัฒนาครู ระบบการพัฒนาโรงเรียนและระบบการทดสอบ สำหรับสายสามัญข้อสอบ O-Net ยังเน้นท่องจำ มีปัญหาเรื่องคุณภาพ เรายังไม่มีการทำธนาคารข้อสอบ ไม่มีระบบจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลสอบ ไม่มีการใช้ผลสอบไปประเมินคุณภาพครูและโรงเรียน ส่วนเรื่องการเอาระบบซ้ำชั้นมาใช้นั้นมันมีระบบที่ผสมกันได้ เช่น เด็กตกวิชาใดก็ไปเรียนซ้ำในวิชานั้นได้ ไม่จำเป็นต้องซ้ำทั้งชั้น 

ด้านอาชีวะมี 3 ระบบทดสอบซึ่งยังมีความซ้ำซ้อน การทดสอบมาตรฐานวิชาชีพ ตอนนี้มาตรฐานวิชาชีพนั้นมีแต่สมาคมโรงแรมไทยที่ออกมามาตรฐานมาแล้ว และการสอบมาตรฐานวิชาชีพพึ่งมีผลต่อการเรียนจบเมื่อปี 56 นี้ จากแต่ก่อนใช้ความสมัครใจ 

ระบบการวัดผลนักเรียนทีดีอาร์ไอเสนอให้ O-net ต้องปฏิรูปใหญ่ เปลี่ยนจากข้อสอบแนวท่องจำ เป็นการวัดความรู้ความเข้าใจ แล้วใช้ผลการสอบเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานครู แต่ไม่เน้นการประเมินเพื่อลงโทษ แต่ประเมินเพื่อเน้นการเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ถ้าไม่สามารถเปรียบเทียบระดับประเทศได้เราก็ไม่สามารถพัฒนานโยบายได้ ส่วนการทดสอบนักเรียนอาชีวะนั้นต้องลดความซ้ำซ้อน แยกความรู้อันหนึ่ง ด้านทักษะและการปฏิบัติอีกหนึ่ง และให้มีตัวแทนสถานประกอบการหรือวิชาชีพเข้าร่วมทดสอบ ข้อสอบเน้นการแก้ปัญหาจริง

ระบบฝึกอบรมครูนั้นสายสามัญรัฐเป็นผู้ดำเนินการ เป็นคนจัดหาผู้ฝึกอบรมให้ ไม่มีมาตรการอะไรรับรองว่าอบรมแล้วสอนเก่งขึ้นจริงไหม ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอในระบบการฝึกอบรมครูคือให้โรงเรียนมีบทบาทหลัก รัฐเพียงกำกับคุณภาพ ประเมินสมรรถนะครูหลังฝึกอบรม เน้นการนำไปปฏิบัติจริง มีชุมชนการเรียนรู้ของครู ให้ครูวิทยฐานะสูงมีบทบาทภาระกิจในการช่วยสร้างครูใหม่ๆ ลดภาระงานของครูโดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับงานเอกสาร 

ระบบการประเมินผลงานครู ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในปัจจุบันมีบทบาทไม่มากในการประเมิน การเลื่อนขั้นเงินเดือนและวิทยฐานะครู การเลื่อนขั้นครูไม่คำนึกถึงผลการเรียนของเด็ก น้ำหนังส่วนใหญ่ไปประเมินด้านจริยธรรมการทำงานด้านอื่นๆ อีก 30% เป็นทักษะการสอน การประเมินต่างๆขึ้นอยู่กับ ผอ.และกรรมการที่ ผอ.เป็นคนตั้ง การเลื่อนวิทยฐานะของครูนั้นคะแนนสอบมีสัดส่วนเพียงแค่ 3% ของคะแนนทั้งหมด

ข้อเสนอของเราคือเพิ่มน้ำหนังผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนให้มากขึ้น โดยดูพัฒนาการขอนักเรียนเป็นสำคัญ 

ระบบประเมินสถานศึกษาที่ผ่านมาภาครัฐเป็นพระเอกตลอด ระบบประเมินผู้ประเมินเน้นดูเอกสารทำให้ผู้ถูกประเมินใช้วิธีการตกแต่งเอกสารให้ดูดี แล้วผู้ประเมินก็ไปเขียนเอกสารการประเมินเสนอ ผลการวิจัยก็เห็นว่ามีการตัดแปะจากโรงเรียนหนึ่งไปยังอีกโรงเรียนหนึ่ง มีข้อเสนอแนะให้โรงเรียนแบบกว้างๆ เป็นนามธรรม เรื่องการประเมินจริยธรรมนั้นจากที่สัมภาษณ์ผู้ประเมินว่าทำอย่างไร ก็ใช้วิธีการไปดูว่าเด็กเข้ามาในโรงเรียนแล้วไหว้หรือไม่ หรือสุทรียศาสตร์นั้นก็ด็ว่าในโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมที่มีคำว่าสุทรียศาสตร์หรือไม่ และการประเมินก็ให้ผลการเรียนของเด็กน้อยอยู่เพียง 20% เท่านั้น

ทางออกเรื่องนี้ต้องเหลี่ยนจากการเประเมินจากภายนอกที่รัฐเป็นพระเอกให้โรงเรียนเป็นพระเอกแทน สามารถประเมินกระบวนการเรียนการสอนได้ ให้ผู้ปกครองมาร่วมประเมินด้วย รัฐเน้นการทำวิจัยเรื่องระบบการประเมิน และคอยช่วยเหลือโรงเรียนที่มีปัญหา หรือเปนการประเมินเฉพาะเรื่องเช่นการแจกแทปเล็ตไปก็ประเมินเรื่องนี้

การเพิ่มสัดส่วนอาชีวะมากขึ้นนั้นถือเป้นทางออกที่ดี รัฐประเมินว่าต้องการเด็กช่างมาช่วยสร้างชาติประมา 4 แสนคน แต่มีผู้มาเรียนจริง 280,000 คน กระทรวงศึกษามีเป้าหมายที่จะเพิ่ทมจำนวนเด็กอาชีวะให้มากขึ้นในอีก 2 ปีการศึกษาให้สัดส่วนเท่าๆกันระหว่างสายอาชีวะกับสามัญ

สัดส่วนนักเรียนอาชีวะนั้นลดลงเรื่อยๆ คนเรียนอาชีวะน้อยลงในขณะที่มีความต้องการจากภาคธุรกิจ งบตัวหัวที่อาชีวะได้นั้นต่ำกว่าสายสามัญ ทั้งที่มีต้นทุนด้านการศึกษาสูงกว่า งบบุคลาการก็น้อยมาก และมีปัญหาการขาดแคลนครู 10 ปีที่ผ่านมางบครุภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ ไม่ได้เพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีเครื่องมือดีจะเรียนอย่างไร ครูอาชีวะขาดแคลนมาก และมีครูอัตราจ้างที่ไม่มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพทำให้จิตใจในการพัฒนาในอาชีพน้อย ต้องทำอย่างไรให้อาชีวะสามารถดึงดูคนมาเรียนได้จริง ต้องเพิ่มเงบประมาณงบอุดหนุน งบครุภัณฑ์ด้านการศึกษา และที่สำคัญต้องเพิ่มครูด้วยจึงสามารถทำให้อาชีวะเป็นทางเลือกได้ 

การสร้างทางเลือกที่มีคุณภาพเราต้องสร้างระบบข้อมูลและรับบแนะแนวที่มีคุณภาพด้วย เพื่อให้เด็กนักเรียนตัดสนใจเลือกได้มีคุณภาพด้วย ระบบการศึกษาไทยขาดระบบข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่มีคุณภาพ งานไม่สอดคล้องกับผู้เรียน ถ้าระบบข้อมูลดีตลาดแรงงานก็จะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานน้อย ปัจจุบันครูที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุดคือครูพละและครูสุขศึกษา 

ระบบแนะแนวนั้นโรงเรียนไทยส่วนใหญ่ยังใช้ครูในโรงเรียนเป็นครูแนะแนว ต่างจากโรงเรียนในประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้ครูแนะแนวและคนข้างนอก เด็กไทยขาดโอกาสพบคนที่หลากหลาย ระบบข้อมูลและตลาดแรงงานมีปัญหา

ระบบทวิภาคี

ปกป้อง กล่าวว่า การสร้างการมีส่วนร่วม ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนมาร่วมพัฒนาศักยภาพ ระบบทวิภาคี คือระบบความร่วมมือของสถาบันการศึกษากับผู้ประกอบการ พึ่งได้รับการยอมรับเมื่อปี 2551 นี้เอง เรามีมาตราการสถาบันที่มาลงทุนในการศึกษาได้รับการลดหย่อนภาษี แต่เนื่องจากเกิดความยุงยาก ขั้นตอนมาก รวมทั้งครูบางคนก็จะไม่ร่วมเพราะค่าสอนล่วงเวลาจะลดลง ไม่มีการถอดบทเรียน

สรุป แนวทางการปฏิรูประบบการศึกษาควรตั้งไปไปที่สังคมเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและมีการกำหนดเป้าหมายให้นักเรียมมีเส้นทางสูงสุดตามศักยภาพที่จะไป ระบบการศึกษานั้นคุณภาพขั้นต่ำของนักเรียนต้องสูง แต่ไม่มีเพดาลที่ที่จำกัดไม่ให้นักเรียนได้บรรลุศักยภาพสูงสุด สร้างทางเลือกคุณภาพ ระบบที่คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน

ปกป้อง กล่าวว่า เราต้องสร้างการมีส่วนร่วม เพราะการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาเท่านั้น ทุกภาคส่วนต้องมาเข้าร่วมกัน ในปีหน้าทีดีอาร์ไอจะจัดตั้งสถาบันวิจัยการเรียนรู้ขึ้นเพื่อทำงานวิจัยเชิงระบบารเรียนการสอน 

15 ปีที่ผ่านมาเรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ 16 คน ทำงานเฉลี่ยคนละ 10 เดือน สูงสุด 1 ปี 8 เดือน รัฐบาลนี้มีมาแล้ว 4 คน ขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย 

 

ฝันตั้งสถาบันวิจัยพัฒนาหลักสูตรการศึกษา

จาตุรนต์  ฉายแสง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อภิปรายข้อเสนอของปกป้อง ด้วยว่า เรื่องหนึ่งทีจะจัดการศึกษาเพื่อให้ความสนใจเรื่องความเป็นมนุษย์การคำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งหลักการร่วมมือและแข่งขันในการพัฒนาประเทศ ต้องปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน สอนให้เด็กมีความรู้อย่างเหมาะสมกับโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปข้างหน้า ทั้งนี้ปัญหาการปรับหลักสูตรของประเทศไทยนั้นขาดการวิจัยและพัฒนาพื้นฐานมาก จึงอยากตั้ง สถาบันวิจัยพัฒนาหลักสูตรการศึกษา

ย้ำต้องมีมาตรฐานกลางการประเมิน แม้ให้บทบาทโรงเรียนมากขึ้น

จาตุรนต์ กล่าวว่า ประเทศไทยใช้เกรด หน่วยกิต ในชั้นประถม มัธยม โดยให้ครูในโรงเรียนเป็นผู้วัดผลนักเรียนมาตั้งแต่ปี 21 ทำให้เราจัดการศึกษาโดยไม่รู้ว่าประเทศนี้ผลการเรียนของนักเรียนที่แท้จริงทั้งประเทศเป็นอย่างไร ภายใต้การวัดผลจากครูที่โรงเรียนนั้น จึงคิดว่าจะมีการวัดการศึกษากลางให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสอบวัดผลกลางนั้นต้องมี ซึ่งในหลายประเทศก็ให้น้ำหนักตรงนี้ อย่างไรก็ตามการให้โรงเรียนรับผิดรับชอบมากขึ้นนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมโดยเฉพาะวิธีการเรียนการสอนก็ต้องให้โรเรียนเข้ามาจัดมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีมาตรฐานกลาง

สำหรับวิชาภาษาไทยนั้น ถือเป็นตัวอย่างที่ง่ายมากในการประเมิน ที่ผ่านมาการสอนวิชานี้ ครูจำนวนมากให้เด็กจำเป็นคำ สุดท้ายเด็กสะกดไม่เป็น ผลมาจากการที่นักการศึกษายุคหนึ่งเชื่อว่าเด็กมีความสามารถในการจำ จึงไม่เน้นการสะกดคำ นอกจากนี้ผลการปรเมินในส่วนการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนที่ผ่านมาพบว่ายังอ่อน แต่ในการประเมินผลมาก็ไม่พบว่าการสื่อสารแลกเปลี่ยนว่าครูจะสื่อสารอย่างไรเพื่อให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ได้ดีด้วย อีกทั้งการประเมินโรงเรียนก็ไม่ได้ไปส่งผลต่อการพัฒนาโรงเรียนมากเท่าที่ควร เพราะใช้วิธีแก้กรณีวัดผลไม่ได้มาตรฐาน คือแทนที่จะได้ให้เกรดนักเรียน 0 ก็ให้ 1

ส่วนระบบการรับครูนั้นควรมีมาตรฐานกลางในการรับ ไม่ใช่เปิดให้โรงเรียนรับอย่างอิสระ เพื่อทำให้ครูมีคุณภาพ ขณะที่เรื่องความรับผิดรับชอบเรื่องผลสัมฤทธิ้ โดยเฉพาะการใช้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนมาเป็นเงื่อนไขในการเลื่อนขั้นของครูนั้น บางประเทศก็จะเจอปัญหาว่าไม่สามารถแยกว่าเป็นผลของครูคนไหน เพราะเด็กไม่ได้เรียนแค่ครูคนเดียวในรายวิชานั้นๆ เป็นต้น

จาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า แต่โดยทิศทางนั้นก็เห็นด้วยกับข้อเสนอจากทีดีอาร์ไอ และผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวง รวมถึงหาแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกันและนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาการเรียนการสอน ขณะเดียวกัน ยังเน้นการเพิ่มโอกาสและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนทุกเพศวัยอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะเป็นอีกแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยอันจะนำสู่การสร้างคนให้มีทักษะรองรับการขยายตัวของประเทศในทุกภาคส่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท