Skip to main content
sharethis

28 พ.ย.2556  กระแสข่าวเกี่ยวกับภาพยนตร์ OMG โอ้! มายโกสต์ คุณผีช่วย ในเครือสหมงคลฟิล์ม ที่กำลังจะเปิดตัวฉายในจอใหญ่เร็วๆ นี้ ได้มีฉากที่ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากนักเคลื่อนไหวประเด็นวัฒนธรรมนั่นคือการให้ดารานำแสดงหญิงสองคน คริส หอวัง และปุ๊กกี้ นำชุดชั้นในทั้งท่อนบนและท่อนล่าง มาผูกห้อยแขวนติดกับโคมลอยแล้วปล่อยไป ประเด็นนี้หลังจากที่ได้กลายเป็น Talk of the Town ชั่วข้ามคืนที่ผ่านมา ได้สร้างแรงกดดันให้ทีมผู้กำกับหนังออกมายอมรับว่า "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" และจะทำการตัดฉากอันไม่สมควรดังกล่าวออกอย่างแน่นอนก่อนที่ภาพยนตร์จะเข้าโรงฉายเร็วๆ นี้

เพชร พุฒิพงศ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้กำกับที่ก่อนหน้านี้ยืนยันว่าจะไม่ตัดฉากดังกล่าว กล่าวอีกครั้งว่า "ไม่ใช่ไม่ตัดออก แค่อยากให้จะให้ทางต้นสังกัดเวิร์คพอยท์และทางสหมงคลฟิล์มเป็นคนพิจารณา เพราะเขาเป็นเจ้าของหนังตัวจริงเป็นนายทุน ซึ่งหลังจากที่เราได้พิจารณากันแล้ว ก็จะมีการตัดฉากนี้ออก จะมีการเก็บก๊อบปี้ฟิล์มมาทยอยตัดออกให้หมดจนครบถ้วน"

ส่วนทางสหมงคลฟิล์มได้ออกจดหมายแสดงความเสียใจที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีเจตนาจะลบหลู่ความเชื่อหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่อย่างใด

“ตามที่ได้เกิดกระแสความคิดเห็นต่างๆ ต่อภาพฉากหนึ่งที่ปรากฏในภาพข่าวและตัวอย่างของภาพยนตร์ไทยเรื่อง OMG โอ้! มายโกสต์ คุณผีช่วย ในฉากการลอยโคมโดยติดชุดชั้นในอยู่ด้านล่างโคม อันมีภาพที่กระทบต่อความรู้สึกของผู้ที่ได้ชม

ทาง บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ​และ บริษัท เวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส จำกัด รวมถึง ผู้กำกับ, นักแสดง และทีมงานทุกคน ต้องขออภัยและแสดงความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างสูงในความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่ทำให้มีฉากดังกล่าวเกิดขึ้น และขอเรียนชี้แจงว่าทางผู้สร้างฯไม่มีเจตนาที่จะลบหลู่ความเชื่อ หรือแสดงความไม่เคารพต่อประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของแต่ละท้องถิ่นแต่อย่างใด ทั้งนี้ทางบริษัทฯขอแสดงความรับผิดชอบในการตัดภาพดังกล่าวในภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายออก โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป แต่เนื่องด้วยโปรแกรมการฉายที่กระชั้น ทางบริษัทฯ จำเป็นต้องทยอยแก้ไข ซึ่งอาจจะทำให้ปรากฏภาพดังกล่าวในบางโรงภาพยนตร์ แต่ขอให้มั่นใจว่าทางบริษัทฯ จะกระทำการแก้ไขเรื่องดังกล่าวจนเสร็จสมบูรณ์​ ทางบริษัทฯขออภัยเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ และขอขอบคุณในความคิดเห็นต่างๆ”จดหมายระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้นักขับเคลื่อนทางด้านวัฒนธรรมได้ออกมาเรียกร้องให้ ดร.ปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ตรวจสอบเบื้องลึกเบื้องหลังของสคริปต์บทภาพยนตร์ดังกล่าว ว่าสามารถผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหา (กองเซ็นเซอร์) หลุดออกมาได้อย่างไร

 

ความเป็นมาประเพณีจุดโคมลอย

อันที่จริงปราชญ์ล้านนาหลายคนไม่นิยมเรียกกระบะเครื่องบูชาไฟบนฟ้านั้นว่า "โคมลอย" เนื่องจากเคยเรียกกันมาว่า "ว่าวลม" "ว่าวควัน"  บ้างเรียก "ว่าวไฟ"

เหตุที่เรียก "ว่าว" ก็เพราะเมื่อแหงนมองไกลๆ ขณะที่ล่องลอยอยู่บนฟ้า คนล้านนารู้สึกว่ามันมีความสว่างไสวเคลื่อนไหวกระพริบได้คล้ายดั่งว่าวที่แทรกตัวไปมาท่ามกลางกลุ่มดาว มิได้เห็นเป็นดวงโคม

ในอดีตคนล้านนาประดิษฐ์ว่าวไฟจากกระดาษสาแผ่นใหญ่ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นกระดาษว่าว เดิมนั้นขนาดสีสันและรูปทรงจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่หามาได้ในแต่ละท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ต้องเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ว่าวลอยได้โดยมีแสงไฟ

คนโบราณจึงใช้ "ควัน" ที่เกิดจากการเผาไส้ผ้าชุบน้ำมันที่แขวนไว้ที่ปากโครงไม้ของว่าว เป็นเชื้อเพลิงเครื่องพยุงว่าวให้ลอยสูงขึ้น วัดของแต่ละหมู่บ้านเกิดการแข่งขันกันระหว่างสามเณร ที่เฝ้ารอเทศกาลยี่เป็งปีละหนอย่างใจจดใจจ่อ ด้วยจะได้มีโอกาสฝึกประลองความรู้ด้านกลศาสตร์พื้นบ้าน จุดจินตนาการฝันเฟื่องว่าว่าวไฟของใครจะลอยสูงกว่ากันหรือทรงตัวอยู่บนฟ้าได้นานกว่ากัน อีกทั้งพวกชาวบ้านชาวช่องที่ประดิษฐ์ว่าวไฟเองไม่เป็นก็จะใช้วิธีฉีกกระดาษสาเป็นเส้นยาวระย้าแบบสายรุ้ง เขียนชื่อของตนและบรรพบุรุษนำมาขอต่อพ่วงห้อยย้อยระโยงระยางกับว่าวไฟของพระเณรจนเกิดสีสันสวยงาม พลางอธิษฐานจิตว่าอานิสงส์แห่งการจุดว่าวไฟบูชาพระบรมสารีริกธาตุนี้ ขอให้ตนได้รับแสงสว่างแห่งดวงปัญญาในทุกภพทุกชาติ

เหตุที่ "ว่าวฮม-ว่าวควัน-ว่าวไฟ" ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น "โคมลอย" ก็เนื่องมาจากเหตุการณ์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารไทยถูกส่งมาประจำการในดินแดนล้านนา แล้วได้เห็นการจุด "ว่าวไฟ" ในเทศกาลยี่เป็งลอยขึ้นสู่ฟ้า ต่างเรียกกันว่า "โคมลอย" (ตามความหมายที่คนกรุงเทพแปลว่า Balloon) ส่งอิทธิพลมาถึงชาวบ้านร้านตลาดกลางเวียงซึ่งส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ขายมักเป็นชาวกรุงเทพเชื้อสายจีนที่เพิ่งอพยพมาตั้งรกรากได้ไม่นาน ย่อมไม่ค่อยคุ้นเคยกับวิถีชีวิตประเพณีของชาวล้านนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ชื่อเรียกเดิมของ "ว่าวฮม-ว่าวไฟ-ว่าวควัน" ลบเลือนหายไปจากการรับรู้ของคนล้านนายุคหลังๆ อย่างรวดเร็ว

 

ที่มา: เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ นักวิชาการด้านวัฒนธรรมล้านนาศึกษา คอลัมน์ "ปริศนาโบราณคดี" นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ โดยเป็นบทความที่เขียนไว้ตั้งแต่ช่วงลอยกระทงปี 2553

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net