Time: สงครามระหว่างสี: ทำไมแดงถึงเกลียดเหลือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
รักชาติ วงศ์อธิชาติ แปลบทความ Thailand's Color War: Why Red Hates Yellow จากนิตยสารไทม์ ที่อธิบายแรงจูงใจของการต่อสู้ของกลุ่มเสื้อเหลืองและแดง และมุมมองของนักข่าวต่างชาติที่มีต่อความขัดแย้งทางการเมืองในไทย
 
ทักษิณ ชินวัตร : คนรักหรือคนเกลียด
 
ถ้าจะกล่าวถึงประเทศไทย สำหรับคนภายนอกแล้ว คงจะหนีไม่พ้น หาดทรายที่สวยงาม อาหารรสเลิศ แหล่งช๊อปปิ้งราคาถูก และ ชีวิตยามราตรีที่สุดเหวี่ยง แต่ว่าทำไมหนอบนท้องถนนเกือบทุกๆปี ถึงเต็มไปด้วยผู้ประท้วงด้วยสัญญะของสีต่างๆ พวกเขาต้องการจะโค่นล้มรัฐอย่างนั้นหรือ?
 
หากจะทำความเข้าใจขั้วการเมืองของทั้งสองฝ่ายในไทย ก็ไม่ต้องไปไหนไกล หากแต่มองไปที่บุคคลคนหนึ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หลี้ภัยอยู่ในต่างแดน อดีตนายตำรวจ เจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ และ นักการเมืองผู้มากความสามารถที่สามารถครองใจคนชนบทได้อย่างมากมาย ทักษิณ ชินวัตร ด้วยเอกลักษณ์ในความเป็นผู้นำที่กล้าท้าชนของเขาก่อให้เกิดศัตรูทางการเมืองอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนในกรุงเทพฐานเสียงที่สนับสนุนกลุ่มชนชั้นนำ หรือฝ่ายเสื้อสีเหลือง และการที่ทักษิณถูกขับออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยการรัฐประหารในปี 2549 ก็ทำให้เกิดกลุ่มที่สนับสนุนเขาขึ้นมาเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือฝ่ายเสื้อสีแดงนั่นเอง 
 
สยามเมืองยิ้ม หรือน่าจะเป็น สยาม เมืองแห่งการรัฐประหาร มากกว่า
 
ประเทศไทย เริ่มมีการใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชีย และมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี 2476 หลังจากที่ระบอบกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกโค่นล้มลง แต่อย่าเพิ่งหลงดีใจไป "สยามเมืองยิ้ม" แห่งนี้ ผ่านการรัฐประหารและถูกปกครองโดยทหารมากกว่าการเลือกตั้งเสียอีก อำนาจของทหารที่ทรงพลังบวกกับองค์ประกอบภายในและโดยรอบสถาบันกษัตริย์ ยังคงเป็นอำนาจหลักที่แข็งแกร่งคงทนอย่างมาก
 
จากสถิติข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์  ภายหลังจากการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 ประเทศไทยมีการรัฐประหารถึง 18 ครั้ง มีรัฐบาลทหารปกครองถึง 23 รัฐบาล และมีรัฐบาลที่ถูกครอบงำโดยทหารอีกถึง 9 รัฐบาล
 
โดดเด่น แต่อำมหิต
 
ในปี 2544 จุดเปลี่ยนสำคัญของสังคมการเมืองไทยได้เกิดขึ้น เมื่อทักษิณ ชินวัตร ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ความสำเร็จของรัฐบาลที่เกี่ยวพันกับทหารได้สิ้นสุดลง ชัยชนะของทักษิณ ได้สั่นคลอนกลุ่มผู้ทรงอำนาจในกรุงเทพฯ ทักษิณ ชินวัตร นายตำรวจผู้มาจากเมืองเชียงใหม่ เจ้าของธุรกิจโทรคมนาคม ได้พิสูจน์ตัวเองโดยใช้ความชาญฉลาดทางการเมืองครองใจมหาชนทั้งในตอนที่เป็นผู้สมัครและในตอนที่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
 
ในการเป็นนายกรัฐมนตรีปีที่ 5 ของเขา ทักษิณได้ออกนโยบายทางสังคมที่เป็นที่ชื่นชมอย่างมาก เช่นนโยบายสาธารณสุข โครงการเงินช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งโครงการสวัสดิการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของคนชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างฐานเสียงให้ตัวเขาเองด้วย
 
อย่างไรก็ดี ทักษิณนั้นก็มีชื่อเสียงในด้านความโหดร้ายไม่แพ้กัน ในปี 2546 "สงครามยาเสพติด" ของเขานั้น กลายเป็นการฆ่าตัดตอนอย่างรวดเร็ว กว่า 2,500 คนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดสูญเสียชีวิตจากนโยบายนี้ โดยที่ไม่มีการสอบสวนใดๆ อีกทั้งเขายังเป็นคนจุดเชื้อไฟความรุนแรงต่อชาวมุสลิมในภาคใต้อีกด้วยในกรณีตากใบ ที่เขาได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
 
ภายหลังจากชัยชนะอย่างท่วมท้นในปี 2548 ทักษิณก็ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต หลังจากที่ลูกของเขาได้ขายหุ้นในบริษัทที่เขาเคยเป็นเจ้าของถึง 49% ให้กับบริษัทเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ การขายหุ้นครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองของเขา หลายคนกล่าวหาเขาหลังจากมีการเปิดเผยสินทรัพย์จากการขายครั้งนี้ว่าเป็นการส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ และยังเป็นการเปิดช่องโหว่ในการหลบเลี่ยงภาษีโดยอาศัยลูกๆอีกด้วย 
 
กลุ่มคนเสื้อเหลือง (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย)
 
ในขณะที่ทักษิณกำลังสร้างกลุ่มอำนาจของตัวเอง ได้มีการรวมตัวโดย กลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง กลุ่มกษัตริย์นิยม นักธุรกิจชั้นนำ และกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง โดยใช้ชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีเป้าหมายที่จะถอดนายกรัฐมนตรีคนนี้ออกจากตำแหน่ง
 
กลุ่มพันธมิตรฯ นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล และ จำลอง ศรีเมือง  อดีตนายทหารได้ใช้สัญลักษณ์เสื้อสีเหลือง ซึ่งเป็นสีอันเป็นสัญลักษณ์ของความสูงส่งและศักดิ์สิทธ์ และเป็นสีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผู้เป็นที่รักของคนในชาติ เพื่อสื่อถึงความจงรักภักดีต่อประเทศ และราชวงศ์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าทักษิณกำลังพยายามจะบ่อนทำลาย
 
การรัฐประหาร ก่อกำเนิดคนเสื้อแดง
 
ในวันที่ 19 กันยายน ปี 2549 ในขณะที่ทักษิณอยู่นิวยอร์คเพื่อไปประชุมผู้นำของยูเอ็น ทหารได้กระทำการรัฐประหารและล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ผู้บัญชาการผู้รับผิดชอบในการรัฐประหารครั้งนี้ให้เหตุผลว่าที่เขาต้องทำการล้มอำนาจของทักษิณนั้นเพื่อสร้างความสามัคคีในชาติและขัดขวางการทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นมากมาย
 
ในการยึดอำนาจโดยทหารนั้น กระทำได้โดยอาศัยเพียงแค่การตอบรับจากในวัง ซึ่งทำให้มวลชนคนชนบทและชนชั้นผู้ใช้แรงงานในเมืองที่สนับสนุนทักษิณ เกิดความไม่พอใจ พวกเขาถูกพรากสิทธิ์อันชอบธรรมในคนที่เขาเลือก กลุ่มคนที่สนับสนุนทักษิณได้ตั้งกลุ่มขึ้นมา ชื่อว่ากลุ่ม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  หรือกลุ่มคนเสื้อแดง และเริ่มต้นเดินขบวนประท้วง
 
มองดูคนเสื้อแดง
 
ถึงแม้ว่าทักษิณจะถูกปลดออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ความศรัทธาในตัวเขาโดยคนต่างจังหวัดนั้นไม่เสื่อมลงตาม หลังจากที่ทหารยึดอำนาจเป็นเวลาเกือบปี การเลือกตั้งในปี 2550 ก็ยังเป็นผลให้กลุ่มของทักษิณขึ้นมาเป็นรัฐบาลใหม่เหมือนเดิม
 
การนำคนในกลุ่มของทักษิณขึ้นมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เป็นเหตุให้กลุ่มคนเสื้อเหลืองไม่พอใจ และเริ่มต้นเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนในปี 2551 ในเดือนตุลาคม ศาลฎีกาซึ่งเชื่อกันว่ามีผลประโยชน์อิงกับฝ่ายทหารและสถาบันฯ ตัดสินให้ทักษิณ ชินวัตร รับโทษจำคุก 2 ปี ในข้อหาทุจริตคอรัปชั่น และทักษิณ ก็ใช้ชีวิตโดยการลี้ภัยตั้งแต่นั้นมา
 
การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ
 
กลุ่มคนเสื้อเหลืองได้เริ่มทำการประท้วงรัฐบาลเครือข่ายทักษิณ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี2551 ตั้งแต่นั้นจนถึงสิ้นปี ในช่วงเวลานั้น กลุ่มผู้ประท้วงได้เกิดการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อแดงประปรายทั้งในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และในบางแห่งก็มีเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก
 
ในวันที่ 25 พฤศจิกายน กลุ่มคนเสื้อเหลือง ได้ทำการประท้วงในแนวทางที่สุดโต่งที่สุด โดยการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร และตามมาด้วยการยึดสนามบินดอนเมือง ทำให้ในวันถัดมา การบินในสนามบินอันเป็นที่เชื่อมต่อของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ได้หยุดชะงักลง และส่งผลร้ายแรงต่อเนื่องไปทั่วทั้งประเทศ กลุ่มคนเสื้อเหลืองตกเป็นเป้าโจมตีอย่างร้ายแรง จนถึงขนาดที่ต้องมีการกู้ระเบิดที่สนามบินดอนเมืองเลยทีเดียว
 
ในวันที่ 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตัดสิทธิ์รัฐบาลของเครือข่ายทักษิณอีกครั้ง และดันให้พรรคคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะเดียวกันกลุ่มคนเสื้อเหลืองก็ทำการฉลองชัยชนะในการขับไล่กลุ่มอำนาจของทักษิณออกไปจากบทบาททางการเมือง อย่างไรก็ดี การยึดสนามบินอันเป็นหัวใจของประเทศนั้นเป็นการกระทำที่หน้าอับอายมากในทางสาธารณะ และเป็นหนึ่งในการกระทำที่พวกเขาไม่อาจแก้คืนมาได้
 
นองเลือดในกรุงเทพ
 
จากความโกรธแค้นในการรัฐประหาร และการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมาตามระบอบประชาธิปไตย กลุ่มคนเสื้อแดง ได้ออกมาประท้วงบ้างโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2552 ถึงแม้ว่าทักษิณจะลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ เขาก็ยังคงมีบทบาทในการโจมตีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและกลุ่มชนชั้นนำในประเทศไทย รวมทั้งยังปลุกระดมกลุ่มที่สนับสนุนเขาให้ออกมาแสดงพลังอีกด้วย การปะทะกันเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2552 ระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ถูกมองว่าเข้าข้างรัฐบาลฝ่ายเสื้อเหลือง การปะทะกันครั้งนี้ทำให้มีคนตายจำนวนหนึ่ง และบาดเจ็บหลายร้อยคน ซึ่งส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งในปีถัดมา
 
ในเดือนมีนาคม ปี 2553 การประท้วงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และในเดือนเมษายนความรุนแรงก็เริ่มก่อตัวขึ้น เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง พลแม่นปืน(สไนเปอร์)ถูกสั่งให้ยิงอย่างอิสระ และหน่วยรักษาความปลอดภัยก็มุ่งเป้าไปที่นักข่าว ในวันที่ 19 พฤษภาคม ทหารได้ทำการถอนรากถอนโคนกลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนที่พยายามตั้งฐานกำลังในเขตใจกลางเมืองหลวง ก่อให้เกิดการบาดเจ็บกว่าสองพันคน และเสียชีวิตกว่า80 คน ความโกลาหลที่ถูกปล่อยให้เกิดขึ้น และระดับความรุนแรงของการสั่งการการสลายการชุมนุมครั้งนี้ ส่งผลสะเทือนอย่างร้ายแรงต่อสาธารณะชน แกนนำคนเสื้อแดงยอมแพ้และมอบตัวเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น
 
นิรโทษกรรมเพื่อทุกคน?
 
ในปี 2554 เมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะอีกครั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ถึงแม้ว่ายิ่งลักษณ์จะอ้างว่าเธอเป็นผู้นำพรรค แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าคนที่มีอำนาจในการควบคุมพรรคแท้ที่จริงคือทักษิณนั่นเอง
 
ในไม่กี่วันที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ได้เสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมาก กฎหมายนี้จะทำการคุ้มครองทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ปกป้องรัฐบาลและทหาร จากความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมา และมันยังเป็นการปูทางให้ทักษิณกลับมายังประเทศอย่างไร้มลทินได้อีกด้วย  
 
ถึงแม้ว่าจะเป็นคู่แค้นกัน แต่ทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ก็มีจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านพระราชบัญญัติฯนี้ ฝ่ายเสื้อเหลือง ไม่พอใจอย่างแน่นอนที่มันจะทำให้ทักษิณกลับมาได้ และฝ่ายเสื้อแดงก็ไม่พอใจที่พระราชบัญญัติฯนี้จะนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายทหารและรัฐบาลที่ทำการสลายการชุมนุมของพวกเขาอย่างรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียชีวิต ในขณะนั้น 
 
 
 
หมายเหตุ: 
 
ความประสงค์ของผู้แปลคือเพื่อต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความเป็นมาของกลุ่มคนเสื้อสีเหลืองและแดง มูลเหตุและแรงจูงใจในการต่อสู้ของพวกเขา และมุมมองของนักข่าวต่างชาติที่มีต่อความขัดแย้งทางการเมืองในไทย
 
ทั้งนี้ บทความนี้เขียนก่อนที่จะมีการตัดสินถอนร่าง พรบ และก่อนการออกมาประท้วงของม๊อบนกหวีดในตอนนี้ อาจจะเก่าไปแล้ว แต่คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับคนที่เพิ่งกระตือรือร้นเข้ามามีส่วนร่วมและสนใจการเมืองในตอนนี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท