Skip to main content
sharethis

ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ชี้แนวโน้มการสอดส่องโดยรัฐ ความเป็นส่วนตัว และการเข้าถึงความจริงเพื่อความยุติธรรม เป็นประเด็นที่น่ากังวลและยังผลักดันให้เป็นวาระที่มีความสำคัญในเวทีนานาชาติ

<--break- />

เมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก เดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ ในการประชุมหารือเรื่องเสรีภาพการแสดงออกในเอเชีย กับองค์กรที่ทำงานด้านเสรีภาพสื่อและการแสดงออกกว่า 40 องค์กรทั่วเอเชีย เพื่อเก็บข้อมูลด้านเสรีภาพการแสดงออกไปนำเสนอในเวทีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่สำหรับลา รู ที่ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย เขาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทยชัดเจนมาตลอด โดยชี้ว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพของประชาชน และเสนอให้แก้ไขโดยจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ

สำหรับในปีนี้ เนื่องจากปาฐกถาของลา รู (22 พ.ย. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) จัดขึ้นใกล้เคียงกับวันยุติการงดเว้นโทษสากล ซึ่งเป็นวันที่ 23 พ.ย. ของทุกปี เขาจึงย้ำถึงการเข้าถึงความจริง เพื่อยุติวัฒนธรรมงดเว้นโทษ รวมถึงประเด็นเรื่องการสอดส่องของรัฐ และความเป็นส่วนตัว

ลา รู ออกตัวในการปาฐกถา โดยกล่าวว่าเขาเข้าใจว่า ความมั่นคงของชาติ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความชอบธรรม เพราะบ่อยครั้ง รัฐมักจะใช้ข้ออ้างนี้ปิดกั้นการวิจารณ์ของประชาชนและทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ อย่างไรก็ตาม มีข้อท้าทายที่เป็นภัยความมั่นคงของชาติจริงๆ ไม่ว่าจะเรื่องการค้ามนุษย์ หรือขบวนการค้ายาในละตินอเมริกา หรือการก่อการร้ายที่กำลังเกิดอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ เขาจึงยอมรับในเรื่องนี้ เพื่อที่จะบอกรัฐว่า ไม่ได้ปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐในการยึดถือเรื่องความมั่นคงของชาติ

อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่า การเอาข้ออ้างดังกล่าวมาใช้เพื่อสอดส่องการสื่อสาร ละเมิดความเป็นส่วนตัว รวมถึงจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในนามของความมั่นคงของชาติเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมแบบอำนาจนิยม ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองนำไปใช้แบบผิดๆ ได้ รวมถึงนำไปสู่การสอดส่องพลเมืองที่ไม่รับผิดชอบ

เมื่อพูดถึงความเป็นส่วนตัว เขากล่าวว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของปัจเจกเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องพิทักษ์คือสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐ การสอดส่องพลเมืองในรูปแบบใดๆ จึงต้องมีฝ่ายรัฐสภาเข้ามาควบคุมและกำกับดูแลด้วย รวมถึงประชาชนเอง ควรได้รับการแจ้งว่าตนเองถูกสอดส่อง ซึ่งอาจมาในรูปแบบของหมายศาล ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถท้าทายกฎหมายดังกล่าวด้วยกระบวนการตรวจสอบต่างๆ

นอกจากนี้ ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ยังกล่าวถึงเรื่องสิทธิของการเข้าถึงความจริงของเหยื่อความรุนแรงทางการเมือง เขาในฐานะชาวกัวเตมาลา กล่าวถึงอาชญากรรมการอุ้มหายของประชาชนในละตินอเมริกา ซึ่งการเข้าถึงความจริงสำหรับครอบครัวและญาติของเหยื่อ รวมถึงสาธารณชน นับเป็นขั้นแรกของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

เขาย้ำว่า มันเป็นขั้นแรกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแม้ไม่มีกระบวนการทางกฎหมายที่รองรับ เพราะความจริงเป็นพลังในตัวของมันเอง และมีความแข็งแกร่งที่จะสู้กับวัฒนธรรมการลอยนวล (impunity) ได้ อย่างในกัวเตมาลา รัฐบาลไม่เปิดช่องทางเรื่องการเอาผิดในคดีต่างๆ ได้แล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังต้องการให้รัฐเปิดเผยความจริง แต่ในที่สุดศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอเมริกา (Inter-American Court of Human Rights)  ตัดสินว่าชุมชนยังต้องมีสิทธิขอให้รัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับคดีต่างๆ

“สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะเหยื่อ หรือในการดำเนินคดีเท่านั้น แต่ควรจะเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงในฐานะหอจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์โดยประชาชนทุกคนได้” เขากล่าว

ลา รูย้ำว่า ในขณะที่สำหรับเอกสารที่ถูกปล่อย หรือ leak ยังเป็นที่ถกเถียงว่าจะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่ แต่ตราบใดที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ควรถือว่าเป็นเช่นนั้นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องเปิดเผยกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ตนเองรับรู้โดยที่ไม่จำเป็นต้องรับความผิด

อย่างไรก็ตาม หากเอกสารนั้นเผยแพร่ออกมาแล้วทำให้ผู้อื่นอยู่ในอันตรายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นตราบใดที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ทุกคนจะต้องสามารถเปิดเผยข้อมูลนั้นๆ ได้ เช่นเดียวกับนักข่าวที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิก็ไม่ถือว่าต้องรับความผิดเช่นเดียวกัน และรัฐก็ไม่ควรจะปิดบังด้วย นอกเสียจากว่าอยากจะให้วัฒนธรรมการลอยนวลดำเนินอยู่ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net