Skip to main content
sharethis

"สปส." เปิดทางเลือกที่ 3 รับ "แรงงานนอกระบบ"

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดตัวการขยายความคุ้มครอง มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ.นนทบุรี

นายจีรศักดิ์เปิดเผยว่า ประกันสังคมทางเลือกที่ 3 จะให้สิทธิประโยชน์เฉพาะกรณีชราภาพเท่านั้น โดยผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐบาลสมทบ 100 บาท รวมเป็นเดือนละ 200 บาท และสามารถส่งเงินออมเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน หากจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 420 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ แต่หากจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 420 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จพร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่ สปส.ประกาศในแต่ละปี

"สำหรับเงินกรณีชราภาพนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ และไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนอีกต่อไป ซึ่ง สปส.จะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมนี้ โดยขณะนี้ สปส.ได้เตรียมระบบคอมพิวเตอร์สำหรับการขึ้นทะเบียน รับชำระเงินสมทบ และจ่ายประโยชน์ทดแทนไว้เรียบร้อยแล้ว และจะให้สำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีสาขาจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ และจะจัดรถโมบายลงไปให้ความรู้ตามชุมชน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ของ สปส. ด้วย ซึ่ง สปส.จะขยายจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 40 จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณกว่า 1.5 ล้านคน ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบให้มากที่สุด โดยคาดว่าปี 2557 จะขยายความคุ้มครองประกันสังคม มาตรา 40 ทุกทางเลือกได้ทั้งหมด 2 ล้านคน" นายจีรศักดิ์กล่าว และว่า สปส.จะรับสมัครผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลบังคับใช้ คือ ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2557

นายจีรศักดิ์กล่าวอีกว่า ในระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ เปิดให้แรงงานนอกระบบที่อายุระหว่าง 15-65 ปี สมัครได้ทุกทางเลือก โดยทางเลือกที่ 1 จ่ายเดือนละ 100 บาท ผู้ประกันตนจ่ายเอง 70 บาท และรัฐบาทสมทบ 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ คือ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ค่าทำศพ ทางเลือกที่ 2 จ่ายเดือนละ 150 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐบาลสมทบ 50 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 3 กรณี และเพิ่มกรณีเงินชราภาพ แต่สำหรับผู้ที่อายุเกิน 65 ปี จะสมัครได้เฉพาะทางเลือกที่ 3 เท่านั้น หลังจากนั้น นับจากวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป จะรับสมัครเฉพาะผู้ที่มีอายุ 15-60 ปีเท่านั้น โดยคาดว่าจะมีผู้สมัครเข้าประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ประมาณ 600,000 คน

ด้านนายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สปส.เตรียมเสนอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และรัฐบาล เปิดช่องให้ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุจากการทำงาน และมีอายุ 60 ปี ซึ่งได้รับเงินบำนาญจาก สปส.แล้วส่วนหนึ่ง ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีกทางหนึ่งด้วย เบื้องต้นได้หารือกับคณะอนุกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ต่างเห็นด้วยกับข้อเสนอของ สปส. แต่ยังมีความกังวลว่าจะขัดต่อระเบียบ มท.ว่าด้วยการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ หากไม่ขัดระเบียบจะทำให้ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุมีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำ วันมากขึ้น เนื่องจากเงินบำนาญที่ สปส.จ่ายให้ผู้ประกันตน คือ ต่ำสุดเดือนละ 720 บาท สูงสุดเดือนละ 3,000 บาท และได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มอีกเดือนละ 600 บาท

(ประชาชาติธุรกิจ, 26-11-2556)

เคาะบรรจุลูกจ้าง สธ.เป็น ขรก.ปี 57 ได้ 8.9 พันราย

(26 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ 25 สายงาน จำนวนประมาณ 500 คน นำโดย นายวัฒนะชัย นามตะ ประธานชมรมสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินทางมาเรียกร้องให้ผู้บริหาร สธ.จัดสรรตำแหน่งการบรรจุข้าราชการอย่างเป็นธรรม โดยมีการกำหนดสัดส่วนในแต่ละวิชาชีพอย่างเท่าเทียม ระหว่างก่อนเริ่มการประชุมพิจารณากรอบอัตรากำลังการบรรจุข้าราชการ
      
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.กล่าวภายหลังการประชุมว่า ผลการหารือมีข้อตกลงร่วมกัน 3 ประเด็น คือ 1.การจัดทำกรอบอัตรากำลังบุคลากรภาพรวมทั้งหมดเพื่อนำเสนอที่ประชุม ครม.ในการกำหนดตำแหน่งเพิ่มใหม่ในปีงบประมาณ 2557 โดยขอให้คิดจากภาระงานของแต่ละวิชาชีพ ตามแผนพัฒนาระบบบริการและฐานประชากรร่วมด้วยเป็นหลัก 2.การคัดเลือกบรรจุ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนด โดยให้พิจารณาตามอายุงานของการจ้างงานตั้งแต่ปี 2553 ลงมา โดยในปีงบประมาณ 2557 จะสามารถบรรจุลงตำแหน่งข้าราชการได้ทั้งหมด 8,908 คน ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เสร็จก่อนสิ้นปี 2556 เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับเจ้าหน้าที่ และ 3.การเตรียมการเพื่อจัดสรรตำแหน่งและการบรรจุเข้ารับราชการในปีงบประมาณ 2558 โดยกำหนดให้มีตัวแทนวิชาชีพๆละ 2 คน เข้าร่วมพิจารณาหลักเกณฑ์ด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความโปร่งใส
      
นายวัฒนะชัย กล่าวว่า ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจ โดย สธ.รับปากจะดูแลจนถึงปี 2553 อย่างไรก็ตาม ในการเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชมรมแพทย์ชนบท หรือการชุมนุมเวทีใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการเรียกร้องในส่วนของบุคลากร สธ.เท่านั้น

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-11-2556)

กพร.ลงนามร่วม มสธ. สอนภาษาผ่านดาวเทียมให้แรงงานไทย

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงานมีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง กพร.กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในการจัดอบรมฝึกทักษะภาษาทางไกลผ่านระบบดาวเทียมในหลักสูตรภาษาต่างประเทศ

นายนคร ศิลปะอาชา อธิบดี กพร. กล่าวภายหลังการลงนามว่า กพร.ได้ร่วมกับ มสธ.จัดอบรมทักษะภาษาอังกฤษและภาษาจีนผ่านระบบการเรียนการสอนทางไกล เพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งหลักสูตรภาษาอังกฤษที่จัดอบรมมีทั้งหมด 10 สาขาอาชีพ อาทิ การท่องเที่ยวและโรงแรม พยาบาล เกษตร เป็นต้น โดยจะเริ่มเปิดอบรมทางไกลทั้ง 2 ภาษาช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้

"หลังจากอบรมไปแล้ว หากพบว่าแรงงานมีปัญหาในเรื่องของทักษะภาษาอังกฤษ ก็จะเชิญอาจารย์จาก มสธ.มาอบรมเพิ่มเติมให้แก่แรงงานเพื่อให้มีทักษะที่ดีขึ้น รวมทั้งจะรวบรวมความต้องการของแรงงานในการเรียนรู้เพิ่มเติมด้านภาษา เพื่อให้ มสธ.จัดทำหลักสูตรและอบรมให้แก่แรงงาน" นายนครกล่าว

รศ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดี มสธ. กล่าวว่า มสธ.จะจัดการเรียนการสอนฝึกอบรมภาษาอังกฤษและภาษาจีนผ่านระบบการเรียนการสอน ทางไกล โดยผ่านสถานีโทรทัศน์ Stou Channal และ www.stou.ac.th รวมทั้งสามารถเรียนรู้ผ่านสื่อการเรียนการสอนอื่นๆ เช่น เอกสารการเรียนการสอน วีดิทัศน์ของ มสธ. ซึ่งแรงงานไทยสามารถนำความรู้จากการอบรมไปสมัครสอบที่ศูนย์การศึกษาทางไกล ของ มสธ.ในจังหวัดต่างๆ ได้ และจะได้รับใบสัมฤทธิ์บัตรจากการเรียนและหากเรียนครบ 24 ชุดวิชา ก็สามารถนำมาใช้เป็นหน่วยกิตสะสม เพื่อเรียนต่อปริญญาตรีในสาขาต่างๆ ของ มสธ.ได้

(มติชนออนไลน์, 26-11-2556)

รถเมล์-รถไฟ ประกาศไม่หยุดงาน - บริการประชาชนตามปกติ

นายวีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารสหภาพ ขสมก. มีมติว่า จะไม่เข้าร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ขอให้หยุดงานระหว่างวันที่ 28-29 พ.ย. นี้ เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมครั้งนี้ มีการปิดสถานที่ราชการ ซึ่งวัตถุประสงค์เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

 นายอำพน ทองรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าว สหภาพ รฟท.จะไม่นัดหยุดงานประท้วงในวันที่ 28-29 พ.ย. นี้ โดยรถไฟยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ขอให้ประชาชนผู้ใช้บริการสบายใจได้ ส่วนเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองถือว่าทำได้ในฐานะส่วนบุคคล ไม่ได้ปิดกั้น

(ข่าวสด, 28-11-2556)

ชัชชาติยันมติ สรส.นัดหยุดงานไม่กระทบ ปชช.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า จากมติสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. ที่ให้สมาชิกใช้สิทธิ์ลาหยุดงาน ในวันที่ 28-29 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเข้าร่วมการชุมนุมต่อสู้ทางการเมืองนั้น ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่พนักงานสามารถกระทำได้ แต่ขอให้ทำในนอกเวลางาน ทั้งนี้ขอยืนยันว่าการให้บริการกับประชาชนยังเป็นไปด้วยความปกติ โดยได้มีการหารือกับหัวหน้าหน่วยงานและปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่า จะไม่ส่งผลกระทบกับการให้บริการอย่างแน่นอน นอกจากนี้จากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดหน้ากระทรวง เพื่อไม่ให้ข้าราชการเข้าทำงานได้นั้น ขณะนี้ได้ให้ข้าราชการย้ายไปทำงานที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานและงานของกระทรวงสามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ภารกิจของกระทรวงคมนาคม ที่ส่วนตัวมองว่าจะต้องปรับปรุงคือเรื่องการบริการ ทั้งนี้จะต้องทำควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วย

ขณะที่ นายคมสัน ทองศิริ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า จากมติ สรส. ที่ให้สมาชิกใช้สิทธิ์ลาหยุดงานนั้น ถือเป็นการยกระดับอีกขึ้นหนึ่ง และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการใช้ความรุนแรงกับผู้เข้าร่วมชุมนุม ทางพนักงานรัฐวิสาหกิจจะดำเนินการยกระดับทันที พร้อมยืนยันว่าการลาหยุดงานของรัฐวิสาหกิจในวันนี้ จะไม่ส่งผลกระทบกับการให้บริการประชาชน นอกจากนี้ สรส. อยู่ระหว่างการพิจารณาตัดน้ำตัดไฟหน่วยงานราชการค้างจ่าย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกับประชาชน

(ไอเอ็นเอ็น, 28-11-2556)

กสร.เตรียมเยียวยาแรงงานภาคใต้ถูกน้ำท่วม

(29 พ.ย.) นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ในหลายจังหวัด ขณะนี้ได้ส่งผลให้ประชาชน นายจ้าง และลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ตนจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดเฝ้าระวัง สถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าน้ำท่วมในสถานประกอบการ แต่มีน้ำท่วมบ้าน หรือที่พักของลูกจ้างทำให้ไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ และยังไม่มีการร้องเรียนเรื่องการจ่ายค่าจ้างเเต่อย่างใด ซึ่ง กสร.ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นสองระยะ คือ ระหว่างน้ำท่วม รณรงค์ให้นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการดูแลลูกจ้างในระหว่างประสบอุทกภัยให้คำแนะนำนาย จ้าง ลูกจ้าง และได้ทำหนังสือเพื่อขอความร่วมมือจากนายจ้าง สถานประกอบกิจการให้ลูกจ้างกรณีที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมเป็นเหตุให้เดินทางไป ทำงานไม่ได้ หยุดงานหรือมาทำงานสายได้โดยไม่ถือเป็นวันลา ส่วนมาตรการฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด โดยการให้คำปรึกษา ทุกปัญหาด้านคุ้มครองแรงงาน และช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้รับเงินค่าชดเชยการทำงานจากนายจ้าง ครบตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
      
นอกจากนี้ยังให้บริการเงินกู้ กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานให้เกิดความปลอดภัย สำหรับ สถานประกอบการอีกด้วย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-11-2556)

PIAAC ชี้แรงงานไทยคุณภาพต่ำ อ่อนภาษา

นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงการสำรวจทักษะความสามารถของผู้ใหญ่ ว่า องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี วัดทักษะการทำงานของผู้ที่ประกอบอาชีพ หรือ Programme for the International Assessment of Competencies (PIAAC) เพื่อเป็นเครื่องมือสะท้อนมาตรฐานคุณภาพวัยแรงงาน สำรวจในช่วงอายุ 16-65 ปี หลังจากจบการศึกษาและทำงานแล้วแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ม.6 และ ป.ตรี จำนวน 166,000 คน จาก 724 ล้านคน ในกลุ่ม 24 ประเทศสมาชิก จาก 34 ประเทศ เพื่อวัดทักษะ 3 ด้าน คือ 1.อ่านออกเขียนได้ 2.คิดคำนวณ และ 3.การแก้ปัญหาจากการใช้เทคโนโลยี
      
ทั้งนี้ ผลสำรวจปี 2556 พบว่า ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยการสอบสูงสุดคือ ญี่ปุ่น และฟินแลนด์ โดยทักษะการอ่านออกเขียนได้ หมายถึงคนญี่ปุ่นมีคุณภาพการทำงานมากที่สุดในโลก โดยพบว่า ชาวญี่ปุ่นทุกๆ 5 คน มีคะแนนการอ่านตีความ และสังเคราะห์ข้อมูลมากกว่าบุคคลทั่วไป และทักษะคิดคำนวณญี่ปุ่นก็ทำคะแนนได้สูงที่สุด รองลงมาคือ ฟินแลนด์ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ ขณะที่การแก้ปัญหาที่เกิดจากเทคโนโลยีพบว่า สวีเดนเก่งการใช้คอมพิวเตอร์ ตามด้วย ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ส่วนประเทศอื่นๆ พบว่าร้อยละ 10 ของคนทุกประเทศขาดทักษะคอมพิวเตอร์
      
“แม้ไทยไม่ได้เข้าร่วม แต่วันนี้เรามีแรงงาน 35-40 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 70 จบชั้นประถมหรือต่ำกว่า เมื่อเทียบแรงงานไทยกับอาเซียนพบว่า แรงงานไทยอายุ 25-46 ปี มีการศึกษาเฉลี่ยต่ำกว่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โดยแบ่งตามระดับการศึกษาสูงสุดที่สำเร็จการศึกษา ปี 2548 ของยูไอเอส พบว่า วัยแรงงานไทย เรียนต่ำกว่าประถม สูงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ จบประถมฯ 22 เปอร์เซ็นต์ ม.ต้น 10 เปอร์เซ็นต์ ม.ปลาย 10 เปอร์เซ็นต์ และอุดมศึกษา 14 เปอร์เซ็นต์ การใช้ภาษาอังกฤษพบว่า ไทยได้คะแนนต่ำสุด เราจึงไม่สามารถแข่งกับกัมพูชา หรือลาวที่มีค่าแรงต่ำกว่าได้” ที่ปรึกษา สสค. กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-12-2556)

กระทรวงแรงงานเปิดให้บริการปกติ

เวลา 07.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน ข้าราชการกระทรวงแรงงานได้ทยอยเดินทางมาทำงานตามปกติและไม่พบว่าไม่มีกลุ่ม ผู้ชุมนุมอยู่แล้ว โดยกระทรวงแรงงานเปิดให้เข้าบริเวณด้านข้างเฉพาะประตู 3 เพียงด้านเดียวและได้จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยยืนตรวจบัตรประจำตัว ข้าราชการ ส่วนรถยนต์ของข้าราชการให้จอดอยู่ด้านนอกกระทรวงแรงงาน

เวลา 08.30 น. มีการเปิดประตูด้านหน้าและด้านข้างทุกด้านออกทั้งหมด และปล่อยให้จอดเข้ามาจอดภายในกระทรวงได้ตามปกติ หลังจากนั้น 09.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกระทรวงปิดประตู ทุกด้านและให้ข้าราชการเข้า-ออกเพียงบริเวณด้านข้างเฉพาะประตู 3 เพียงด้านเดียว เนื่องจากมีกระแสข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเคลื่อนไหวไปปิดล้อมสถานราชการ ต่างๆอีกครั้ง

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) กล่าวภายหลังหารือร่วมกับผู้บริหารระดับ สูงของกระทรวงแรงงานและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลพื้นที่เพื่อประเมิน สถานการณ์การชุมนุมว่า การดูแลกระทรวงแรงงานแบ่งเป็น 2 ส่วน คือในส่วนของความมั่นคงมีกำลังตำรวจดูแล 2 กองร้อยหรือประมาณ 300 นายและในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้นายพานิช จิตต์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เป็นผู้เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อรับข้อเสนอมาพิจารณาร่วมกันด้วยความอะลุ่มอะลวย โดยยึดหลักความปลอดภัยของข้าราชการและประชาชนที่มาติดต่อราชการ รวมทั้งสถานที่ในกระทรวงแรงงานไม่ให้เสียหาย

"ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงานเป็นห่วงได้กำชับให้ข้าราชการกระทรวงแรงงานทำงานตามปกติเพื่อไม่ ให้ประชาชนเดือดร้อนและดูแลไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกเข้ามาในกระทรวงแรงงานเพื่อ ไม่ให้งานของกระทรวงสะดุด ผมก็เชื่อว่าผู้ชุมนุมคงเข้าใจภารกิจของกระทรวงแรงงานที่จะต้องให้บริการ ประชาชน" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 2-12-2556)

สศช.เปิดผลสำรวจ แรงงานนอกระบบ เพิ่มกว่า 25.1 ล้านคน

รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลสำรวจจำนวนแรงงานนอกระบบ ในปี 2556 จากจำนวนผู้ที่มีงานทำทั้งหมด 39.1 ล้านคน พบว่า มีผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง และไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน หรือเป็นแรงงานนอกระบบมากถึง 25.1 ล้านคน คิดเป็น 64% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 62% ที่เหลือเป็นแรงงานในระบบที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งแรงงานนอกระบบดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร

โดยจากการสำรวจพบว่าส่วนแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ เรื่องค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลมากที่สุด รองลงมาเป็นปัญหาของการทำงานหนัก และงานที่ทำไม่ได้รับการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ที่เหลือเป็นปัญหาเกี่ยวกับการไม่มีสวัสดิการจากภาครัฐเข้ามารองรับที่ ชัดเจน ไม่มีวันหยุดงาน ชั่วโมงการทำงานมากเกินไปและลาพักผ่อนไม่ได้ จึงอยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ ขณะที่ปัญหาของสภาพแวดล้อมในการทำงานที่พบมากที่สุด คือ ไม่ค่อยได้เปลี่ยนท่าทางในการทำงาน สถานที่ทำงานมีฝุ่น ควัน กลิ่น และแสงสว่างไม่เพียงพอ ได้รับสารเคมีเป็นพิษมากที่สุด รองลงมาเป็นเรื่องของความปลอดภัยจากเครื่องจักร

สำหรับประเภทการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่า แรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งทำงานอยู่ในภาคการเกษตร รองลงมาทำงานอยู่ในภาคการค้าและบริการ รวมถึงภาคการผลิต ส่วนที่เหลือไม่ทราบว่าประกอบกิจกรรมใด และยังพบว่าแรงงานเหล่านี้ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานมากถึง 4 ล้านคน ส่วนใหญ่เกิดจากของมีคมบาด

(มติชนออนไลน์, 2-12-2556)

ประกันสังคมโลกห่วงผู้สูงอายุเพิ่มเตือนแต่ละประเทศพัฒนาระบบรองรับ

(2 ธ.ค.) นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนได้เป็นตัวแทน สปส.ไปเข้าร่วมประชุมประกันสังคมระหว่างประเทศครั้งที่ 31 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10-15 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยมีผู้แทนกว่า 150 ประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน โดยที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ระบบประกันสังคมของแต่ละประเทศจะต้องปรับตัวเพื่อพร้อมรับมือกับผลกระทบทาง เศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว เนื่องจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินขึ้นในหลายประเทศ และปัจจุบันโครงสร้างประชากรโลกเปลี่ยนแปลงไป มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแต่เด็กเกิดใหม่ลดลง ทำให้มีแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง และมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

รองเลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า ที่ประชุมเห็นว่า ระบบประกันสังคมของประเทศต่างๆ จะต้องขยายความคุ้มครองไปสู่ประชาชนทุกคน รวมทั้งแรงงานข้ามชาติได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่อให้มีความมั่นคงในการ ทำงานและดำเนินชีวิต และจะต้องบริหารจัดการระบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งให้ผู้ประกันตนได้ รับสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต เช่น สิทธิประโยชน์เงินบำนาญชราภาพ จึงต้องปรับระบบการบริหารจัดการประกันสังคมให้มีความหลากหลาย โดยให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนเพื่อให้ระบบ ประกันสังคมมีความเข้มแข็งและครอบคลุมสู่ประชาชนทุกกลุ่ม
      
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำการพัฒนาการบริหารระบบประกันสังคม โดยให้ตั้งอยู่ที่สมาคมประกันสังคมระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และจัดทำคู่มือแนะนำเผยแพร่ให้แก่ประเทศต่างๆ เช่น การให้คำแนะนำการจัดทำระบบประกันสังคมเพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคมปี พ.ศ. 2557

รองเลขาธิการ สปส.กล่าวต่อไปว่า ผลประชุมดังกล่าวสอดรับกับแนวทางการดำเนินการการพัฒนาระบบประกันสังคมของ สปส.ซึ่ง สปส.เตรียมเสนอให้รัฐบาลและคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติแก้ไขระเบียบ กระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพซึ่งมีอายุ 60 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป จะช่วยให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุมีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น

“สปส.กำลังศึกษาแนวทางปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติที่ทำงาน ในไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานและการอาศัยอยู่ใน ประเทศไทยโดยเบื้องต้นเห็นว่า กรณีชราภาพ หรือกรณีว่างงานควรจัดเก็บเงินสมทบเช่นเดิม แต่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาจ้าง 4 ปี แรงงานข้ามชาติต้องกลับประเทศ สปส.ก็จะจ่ายเป็นเงินก้อนในลักษณะเป็นเงินบำเหน็จ และเงินสะสมกรณีว่างงาน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปคาดว่าปีหน้าจะสรุปแนวทางได้และเสนอต่อคณะกรรมการ ประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ต่อไป” นายอารักษ์ กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-12-2556)

คาดช่วงปลายปีข้อพิพาทระหว่างนายจ้าง-แรงงานมากกว่าปีที่แล้ว

นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีแรงงานออกมาประท้วงนายจ้าง เนื่องจากได้รับเงินโบนัสไม่เท่ากับจำนวนที่ยื่นข้อเรียกร้องประจำปีว่า กสร.คาดว่าปลายปีนี้จะมีปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้องขอปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีและโบนัสมากกว่าปี ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในกลุ่มสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งไม่เคยมีปัญหามาก่อนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ ยางรถยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้เงินเดือนและจ่ายโบนัสในอัตราที่สูง เนื่องจากที่ผ่านมาสถานประกอบการต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม วิกฤตเศรษฐกิจโลกและการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ทำให้สถานประกอบการมีกำลังจ่ายเงินโบนัสได้เท่าเดิมหรืออาจต้องลดจำนวนลง ทำให้ลูกจ้างไม่พอใจนายจ้างก่อให้เกิดข้อขัดแย้ง บางสถานประกอบการลูกจ้างอาจจะหยุดงานประท้วง
      
รองอธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กสร.ได้สั่งการให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในจังหวัดต่างๆ ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับนายจ้างและลูกจ้างในอุตสาหกรรมที่มี กลุ่มเสี่ยงจะเกิดข้อขัดแย้ง เนื่องจากการเรียกร้องเงินโบนัสและหากเกิดข้อขัดแย้งขึ้นระหว่างนายจ้างและ ลูกจ้างก็ให้เร่งเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อให้ได้ข้อยุติซึ่งให้ เป็นที่พอใจต่อทุกฝ่าย ซึ่งล่าสุดเกิดกรณีกลุ่มสหพันธ์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการได้รวมตัวประท้วงบริษัทในเครืออุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากเคยได้โบนัสปีละ 8 เดือน และยื่นข้อเรียกร้องขอเพิ่มเป็น 10 เดือน แต่บริษัทกลับจ่ายเพียง 1 เดือนเท่านั้น ก็ได้ให้สำนักงานสวัสดิการฯจังหวัดสมุทรปราการเข้าไปช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติข้อพิพาท
      
“ขอฝากไปถึงนายจ้างเมื่อมีปัญหาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่มีกำลังจ่ายเงินโบนัสเช่นปีที่ผ่านมา เพราะการปรับค่าจ้างที่สูงขึ้นได้ทำให้อัตราเงินโบนัสสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น แต่ละปีเคยจ่ายอยู 1 ล้านบาท ก็เพิ่มเป็น 1.3 ล้านบาท ส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายเงินโบนัสได้มากขึ้นหรือต้องลดลงจากเดิม ก็ควรพูดคุยชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างเปิดเผยและสุจริตใจ ขณะเดียวกันหากลูกจ้างไม่พอใจและจะใช้สิทธิหยุดงานควรให้เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าหยุดงานโดยผิดกฎหมายจะกลายเป็นเงื่อนไขให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ อย่างไรก็ตาม กสร.จะแก้ปัญหาโดยส่งเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยเจรจามีปัญหา เพื่อให้เกิดข้อพิพาทน้อยที่สุดหรือให้ได้ข้อยุติซึ่งเป็นที่พอใจของทั้ง ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง” นายสุวิทย์ กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-12-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net