Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. ปัญหาการเมืองไทยที่เกิดขึ้นมีรากลึกมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและ และปัญหาบทบาทความสัมพันธ์ของสถาบันจารีตกับการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 และการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549

2. “ระบอบทักษิณ” ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวทักษิณ ชินวัตร เอง แต่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่

2.1 เขาได้ประโยชน์จากการปฏิรูปการเมืองปี 2540 ที่ให้อำนาจผู้นำทางการเมือง (strong leadership)  

2.2 และผลมาจากการที่สังคมไทยเข้าสู่โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าตั้งแต่ WTO จนถึง FTA ต่างๆ

ทักษิณ ชินวัตร ได้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองจากสองเงื่อนไขดังกล่าว และค่อยๆก่อรูปเป็นระบอบทักษิณ มีกลุ่มทุนอื่นๆที่เติบโตยิ่งกว่าทักษิณ เช่น กลุ่มซีพี แต่พวกเขาไม่ได้แสดงออกว่าอยู่ศูนย์กลางของอำนาจ ทั้งๆที่อยู่ในศูนย์กลางของอำนาจ

3. ปัญหาของทักษิณที่เป็นต้นเหตุของความไม่พอใจของหลายฝ่าย และนำไปสู่การขับไล่เขาภายใต้การนำของกลุ่มพันธมิตรในปี 2548-2549 เกิดขึ้นจาก 3 เหตุผลคือ

3.1 เขาเข้าไปแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบทางการเมืองตามกลไกต่างที่ได้ออกแบบเอาไว้เพื่อถ่วงดุล เช่น การแทรกแซงสว. กกต. สื่อ เป็นต้น

3.2 การกระจายผลประโยชน์ในหมู่ผู้นำทางเศรษฐกิจและการเมืองเดิมกับกลุ่มการเมืองใหม่ของเขาไม่ลงตัว

3.3 เขาและที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของเขาปิดกั้นและบั่นทอนการทำงานของนักวิชาการอิสระและกลุ่มเอ็นจีโอ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

4. การรัฐประหารในปี 2549 ได้ทำให้เกิดการจัดขั้วความขัดแย้งในสังคมไทยที่มีทักษิณ กลุ่มการเมืองท้องถิ่น และประชาชนในชนบท นักวิชาการที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเป็นฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่งที่รวมกันเป็นพันธมิตรชั่วคราว ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ สถาบันจารีต เอ็นจีโอและนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่าเป็นพวกต่อต้านการคอรัปชั่นฝ่ายหนึ่ง

5. ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าฝ่ายใดจะสามารถขึ้นเป็นรัฐบาลได้ก็ตาม โดยขณะนี้ค่อนข้างชัดว่าเป็นการขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่ โดยลากเอาประชาชน นักวิชาการ และนักกิจกรรมทางสังคมเข้าไปเป็นพวก กลุ่มทุนทั้งสองกลุ่มคือ

5.1 กลุ่มทุนเก่า ได้แก่กลุ่มทุนธนาคาร เหล้า/เบียร์ ซีเมนต์ กลุ่นทุนเกษตร (รายเล็กๆ)

5.2 กลุ่มทุนใหม่ ได้แก่ทุนโทรคมนาคม ชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงาน เรียลเอสเตท
โดยมีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เกษตรที่พร้อมจะอยู่กับฝ่ายที่ได้รับชัยชนะทุกเมื่อ

6. ข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีลักษณะคล้ายการรัฐประหารโดยประชาชน(บางกลุ่ม) ที่มีทหาร(ส่วนใหญ่)สนับสนุน ในขณะที่การดำรงอำนาจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีตำรวจส่วนใหญ่ และทหารส่วนน้อยสนับสนุน  หากนายสุเทพได้รับชัยชนะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวได้ อย่าไปหวังว่าจะเห็นการปฏิรูปทางการเมืองและการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เช่นเดียวกันกับเมื่อทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ได้รับชัยชนะในความขัดแย้งครั้งนี้

7. ไม่ว่าจะหลอกลวงตัวเองอย่างไรก็ตาม นักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมที่เรียกตัวเองว่า “แดงประชาธิปไตย” และกลุ่มเอ็นจีโอที่เรียกว่า “สลิ่มก้าวหน้า” จำนวนมาก ต่างตกเป็นเครื่องมือหรือเป็นเพียงลิ่วล้อ ไม้ประดับของความขัดแย้งหลักของกลุ่มทุนทั้งสองฝ่ายนั่นเอง ทั้งนี้ไม่นับพวกที่ได้ประโยชน์เล็กๆน้อยๆและพร้อมจะแปรกลายเป็นฝ่ายสนับสนุนถาวรกับกลุ่มทุนทั้งสองฝ่าย

8. นักกิจกรรมทั้งสองฝ่ายต้องถอนตัวออกจากการถือหางกลุ่มทุนทั้งสองฝ่าย โดยต้องผนึกกำลังหยิบยกประเด็นการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ ประชาชนที่ด้อยโอกาสให้กลายมาเป็นวาระหลักท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองให้จงได้

9. แนวทางที่สำคัญที่สุดสำหรับนักกิจกรรมทางสังคมในสถานการณ์ขณะนี้คือ

9.1 ต้องยึดหลักประชาธิปไตยให้มั่นคง ปฏิเสธการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย

9.2 ทางออกที่ดีที่สุดคือทุกกลุ่มมาวางกติการ่วมกันก่อนยุบสภา นั่นก็คือการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ

9.3 ทักษิณและยิ่งลักษณ์ควรประกาศตัวถอยห่างจากการเมืองชั่วคราว เพื่อเป็นการประนีประนอม โดยที่แต่ละฝ่ายต่างไม่ได้สิ่งที่ตนเองต้องการทั้งหมด

10. สิ่งที่นักกิจกรรมสมควรทำมากที่สุดขณะนี้คือ

10.1 เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สร้างความเป็นอิสระและกลไกการตรวจสอบให้เข้มแข็งและโปร่งใสยิ่งขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540  ไม่ใช่การยกเลิกองค์กรอิสระแบบที่บางกลุ่มเสนอ แต่แน่นอนว่าต้องไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มตุลาการเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550

10.2 ปรับบทบาทของตุลาการไม่ให้มีอำนาจเกินรัฐสภา แต่ต้องยังคงบทบาทของตุลาการเอาไว้หากรัฐสภาใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ไม่เคารพเสียงข้างน้อย และให้อำนาจจัดการกับฝ่ายบริหารได้เช่นเดียวกันเมื่อเกิดกรณีการคอรับชั่น หรือการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แบบเดียวที่เห็นในบางประเทศ

10.3 นักกิจกรรมทุกกลุ่มควรยกข้อเสนอของการปฏิรูปเชิงโครงสร้างให้กลายเป็นข้อเสนอของฝ่ายประชาชนมากกว่าเสียเวลาไปกับการถกเถียงการปฏิรูปการเมืองของชนชั้นนำเหมือนที่เป็นอยู่ ข้อเสนอดังกล่าว ได้แก่ การปฏิรูปที่ดิน มาตรา 112 การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจัดหวัด ภาษีก้าวหน้า การป้องกันการผูกขาด การตรวจสอบบรรษัท และกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ รวมไปจนถึงการจัดทำความตกลงการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

10.4 อย่าลืมว่าขณะที่เรากำลังอ่านบทวิเคราะห์นี้ ประชาชนจำนวนหนึ่งยังคงถูกจองจำอยู่ในคุกเพราะคดีทางการเมือง ซึ่งรวมถึงมาตรา 112
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net