บทบาท “ผู้นำศาสนา” แก้ความขัดแย้งที่อูกันดา

5 ตัวแทนภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาความขัดแย้งที่อูกันดา เผยขัดแย้ง 19 ปีตายกว่า 2 ล้าน แต่ปัญหาคลี่คลายด้วยการพูดคุยสันติภาพที่โดยผู้นำศาสนา

29 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา คณะจากภาคประชาสังคมชายแดนแดนใต้เดินทางเยือนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรุนแรงระหว่างปี 1987 -2005 ทางตอนเหนือของประเทศอูกันดา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีปัญหาขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านที่ต้องการขึ้นมามีอำนาจในการปกครอง

คณะที่เดินทางในครั้งนี้ เป็นตัวแทนจาก 5 องค์กรในประเทศไทย ได้แก่ พระมหานภันต์ สันติภัทโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร ในฐานะ ประธานกลุ่มเพื่อชีวิตที่ดีงาม นายไฟซอล ดาโอะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี และนางสาวคนึงนิจ มากชูชิต จากเครือข่ายชุมชนศรัทธา กับนายแวอิสมาแอ แนแซ ผู้อำนวยการวิทยาลัยประชาชน ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

การเดินทางไปประเทศอูกันดาครั้งนี้ เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนต่อเนื่องจากการที่ภาคประชาสังคมในประเทศอูกันดา ได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความรุนแรงของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ในครั้งนั้น ตัวแทนภาคประชาสังคมจากประเทศอูกันดา ประกอบด้วย บาทหลวงของคริสตศาสนา อิหม่ามซึ่งเป็นผู้นำศาสนาอิสลาม ตัวแทนผู้หญิงที่นับถืออิสลาม รวมทั้งตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรภาคประชาสังคมและตัวแทนเยาวชนจากประเทศอูกันดา ได้เชิญตัวแทนภาคประชาสังคมชายแดนใต้เดินทางไปแลกเปลี่ยนปัญหาของประเทศอูกันดาด้วย

คณะประชาสังคมชายแดนใต้เดินทางมาถึงประเทศอูกันดา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน เวลา 10.30 น.โดยประมาณตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 15.30 น. ตามเวลาประเทศไทยและมีกำหนดเรียนรู้ที่ประเทศอูกันดา เป็นระยะเวลา 6 วัน

ตารางกิจกรรมคร่าวๆที่ได้รับการชี้แจงคือ เดินทางจากเมืองหลวงกัมปาลาไปยังตอนเหนือของประเทศ เพื่อเริ่มต้นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนที่นั้น โดยจะมีวงแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายในประเทศอูกันดาประมาณ 40 คนที่สนใจประเด็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

จากนั้นจะมีกิจกรรมลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ จากปัญหาความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกับฝ่ายรัฐบาล ตั้งแต่ช่วงปีค.ศ.1987 - 2005 โดยปัญหาความรุนแรงดังกล่าวจบลงด้วยการสานเสวนาและประสานติดต่อให้เกิดความเข้าใจถึงความต้องการของฝ่ายต่อต้านรัฐในขณะนั้น

Despina Namwemba ผู้ประสานงานประจำภูมิภาคขององค์กร United Religions Initiative หรือ URI ประเทศอูกันดา ผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้เล่าให้ฟังคร่าวๆว่า ที่ประเทศอูกันดา มีปัญหาขัดแย้งยาวนาน 19 ปี มีผู้ได้รับผลกระทบถึงชีวิตประมาณ 2 ล้านกว่าคน และยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมอีกจำนวนมาก

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เคยเป็นทหารเด็กที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเมื่อปัญหาความรุนแรงยุติลงคนเหล่านี้ก็ยังมีชีวิตที่ยากลำบาก เนื่องจากได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง”

Despina เปิดเผยว่า สำหรับองค์กร URI มีส่วนในการเข้าไปจัดเสวนาในพื้นที่ความขัดแย้งนี้โดยนำผู้นำศาสนาต่างๆมาคุยและทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย และออกมาทำความเข้าใจว่า การใช้ความรุนแรงโดยไม่สื่อสารความต้องการออกมา ทำให้ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนืองจากรัฐบาลต้องการจัดการอย่างเด็ดขาดโดยใช้ความรุนแรงเช่นกัน

Despina เปิดเผยต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้ จึงมีการต่อรองจากผู้นำศาสนา 4 คน เพื่อให้เกิดการพูดคุยเจรจากับขบวนการต่อต้านรัฐ จนมีข้อเสนอจากกลุ่มต่อต้านรัฐออกมา และต่อมาก็ไม่มีการจัดการด้วยความรุนแรง

Despina กล่าวว่า เหตุที่เลือกเป็นผู้นำศาสนาเนื่องจากผู้นำต่อต้านรัฐ ไม่ยอมใครกับใครเลย แต่ถ้าเป็นผู้นำศาสนาพวกเขาจะยอมคุยด้วย และมีข้อต่อรองออกมา

"ดิฉันเชื่อว่าการสร้างความเข้าใจเรื่องศาสนาที่ถูกต้องและให้ประชาชนที่นับถือต่างกันได้รับความเคารพในสิ่งที่เขาเลือกเชื่อและศรัทธา จะทำให้สันติภาพยั่งยืน" Despina กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท