Skip to main content
sharethis
ภาคประชาสังคม-เครือข่ายองค์กรชุมชน ร่วมเสนอทางออกประเทศไทย หยุดรุนแรง-ตั้งสภาประชาชนที่มีองค์ประกอบจากทุกฝ่าย ก่อนการประกาศยุบสภา ชี้หากทำได้ยินดีเข้าร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน
 
 
4 ธ.ค.56 เครือข่ายภาคประชาสังคมและเครือข่ายองค์กรชุมชน ร่วมแถลงการณ์เสนอทางออกประเทศไทย เรื่อง ‘การปฏิรูปประเทศไทยที่มีทิศทางในการคืนอำนาจให้กับประชาชน’ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.56 ในเวทีระดมความคิดเห็นพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ‘กำหนดว่าด้วยสังคมอนาคต’ ณ ห้องทรัพย์มณี โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ
 
แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้
 
แถลงการณ์เสนอทางออกประเทศไทย
เรื่อง ‘การปฏิรูปประเทศไทยที่มีทิศทางในการคืนอำนาจให้กับประชาชน’
 
ตามที่ได้เกิดวิกฤติสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง ความแตกแยกของคนในสังคมอันจะนำไปสู่ความสูญเสียทั้งชีวิตทรัพย์สิน และภาพลักษณ์ของประเทศซึ่งทุกภาคส่วนต่างเสนอทางออกร่วมกันในขณะนี้
 
การพัฒนาที่ผ่านมา มีการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในขณะที่ภาคประชาชนมีการเติบโต มีองค์กรและมีเครือข่ายการพัฒนาที่หลากหลายในทุกระดับอยู่ทั่วประเทศ
 
เครือข่ายภาคประชาสังคมและเครือข่ายองค์กรชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มขององค์กรชุมชนและประชาสังคมที่ทำงานกับประชาชนฐานรากทั่วประเทศในประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น สภาองค์กรชุมชน การแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยการจัดการป่า สวัสดิการชุมชน การศึกษา สาธารณสุขเด็กและเยาวชน คนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และสิทธิชุมชน เป็นต้นได้ร่วมปรึกษาหารือกันและเสนอทางออกเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยในลักษณะที่มีทิศทางการคืนอำนาจให้กับประชาชน ดังนี้
 
1.ขอให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาอย่างมีสติ ยุติความรุนแรงโดยเร็ว
 
2.ให้มีการปรึกษาหารือจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดข้อตกลงหรือสัตยาบันในการร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยที่จะดำเนินการร่วมกันให้มีการจัดตั้งสภาประชาชนภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตยที่มีองค์ประกอบจากทุกฝ่าย เป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปประเทศทุกระดับก่อนการประกาศยุบสภา
 
3.ให้มีการคลี่คลายสถานการณ์ปัจจุบันโดยใช้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญด้วยการยุบสภาเพื่อเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนและดำเนินการเลือกตั้งใหม่
 
4.จากนั้น ให้มีกระบวนการดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อกระจายอำนาจให้ชุมชน จังหวัดจัดการตนเองและให้มีสภาประชาชนในทุกระดับทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ตรวจสอบถ่วงดุล การทำงานของฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน
 
ทั้งนี้ หากเป็นไปตามข้อเสนอข้างต้น เครือข่ายฯ ยินดีที่จะเข้าร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน
 
เครือข่ายภาคประชาสังคมและเครือข่ายองค์กรชุมชน ประกอบด้วย (1) มูลนิธิชุมชนไท (2) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 4,317 ตำบล (3) เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 4,958 ตำบล (4) คณะจริยธรรมสภาพัฒนาการเมือง (5) เครือข่ายสิทธิคนพัฒนาภูเก็ต (6) สมาคมจิตอาสาพัฒนาปราจีนบุรี (7) เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก (8) สภาลุ่มน้ำบางปะกงปราจีนบุรี (9) เครือข่ายคุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภคจังหวัดสระแก้ว (10) สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังภาคตะวันออก (11) เครือข่ายสลัมสี่ภาค (12) คณะกรรมการประสานงานองค์กรสภาเครือข่ายพลเมืองจังหวัดลำปาง (คปอ.ลป.) (13) เครือข่ายองค์กรชุมชนคนเพชรบูรณ์ (14) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) (15) เครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย (ไทยพลัดถิ่น) (16) เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล (17) เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง 22 จังหวัด
 
ที่มา: เว็บไซต์ใจกล้า http://www.jaikla.net/?p=391
 
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กเพจเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อกระบวนการในการขับเคลื่อนสภาประชาชนดังนี้

1.เพิ่มโครงสร้างการบริหารประเทศ สภาประชาชนเป็นอีกหนึ่งโครงสร้าง โดยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สภาประชาชน เป็นกลไกที่ 4 ในการที่จะมาถ่วงดุลอำนาจในการจัดการใหม่ เพื่อหาทางออกของประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่กุมฐานอำนาจใหญ่ 3 หลัก ประกอบด้วย นิติบัญญัติ ตุลาการ และ บริหาร นั่นคืออำนาจสุดท้ายคือการคืนอำนาจให้กับประชาชน

2.ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สภาประชาชนมีสถานนะ/กฎหมายรองรับ

3.กระบวนการสภาประชาชนต้องประกอบด้วย 3 ระดับ คือ ระดับตำบล ระดับจังหวัด ระดับชาติ โดยมีรูปแบบเป็นกระบวนการ ไม่ใช่กลไก หรือระบบตัวแทน

4.บทบาทหน้าที่สภาประชาชน คือ (1) เสนอนโยบายกับประเทศ ให้รัฐบาลหรือผู้ที่มีอำนาจ แปลงไปสู่การปฏิบัติ (2) ทำหน้าที่ในการควบคุม/กำกับนโยบาย จากการนำไปสู่การปฏิบัติ และ (3) ทำหน้าที่ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาชน
 
5.สภาประชาชน เป็นเวทีเสนอให้รัฐทำสิ่งที่ประชาชนเสนอ 
 
6.มีกองเลขาที่เป็นระบบ มีโครงสร้างเพื่อสนับสนุนให้ระบบเดินหน้าต่อไป 
 
7.ให้สภาประชาชนได้รับการสนับสนุนจากภาษีสรรพสามิตอย่างน้อย ร้อยละ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net