ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของ “นกหวีด”: จากแดนไกลสู่ไทยแลนด์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เรามักพบนกหวีดถูกใช้อยู่ในชีวิตประจำวันมากมายหลายโอกาส เช่น ใช้โดยกรรมการเพื่อส่งสัญญาณเตือนหรือตัดสินในการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ใช้โดยตำรวจจราจรในการให้สัญญาณแทนการพูด หรือเรียกให้หยุดรถเมื่อกระทำความผิดบนท้องถนน ใช้ในกองทัพเพื่อให้สัญญาณ ใช้ในการส่งสัญญาณแก่พาหนะที่ขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ เป็นต้น

หากแต่ตลอดเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา “นกหวีด” ถูกใช้เป็นอุปกรณ์การขับไล่ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งแพร่หลายในการชุมนุมของกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อีกทั้งอุปกรณ์ดังกล่าวยังสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองจนมีผลทำให้กลุ่ม กปปส. ถูกเรียกได้ว่าเป็น “ม็อบนกหวีด” ในบางโอกาสเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การใช้นกหวีดเพื่อประกอบการชุมนุมทางการเมืองนั้นมิได้มีเฉพาะเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น และนกหวีดยังถูกใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือไปจากการให้สัญญาณดังที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน หากแต่นกหวีดในบางวัฒนธรรมยังถูกใช้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในชีวิตประจำวันของบางสังคมอีกด้วย ฉะนั้นบทความชิ้นนี้จึงต้องการสำรวจความหมายของนกหวีดในหลาย ๆ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้นกหวีดในสังคมชนเผ่า อีกทั้งยังศึกษาพัฒนาการและที่มาของการใช้นกหวีดจากพื้นที่ทางสังคมสู่พื้นที่ทางการเมือง เพื่อที่ว่า ในท้ายที่สุด เราอาจเข้าใจได้ว่าความหมายของนกหวีดของกลุ่มกปปส. เหมือนหรือแตกต่างจากความหมายในสังคมอื่น ๆ หรือไม่ อย่างไร

 

พัฒนาการทางความหมายอันหลากหลายของนกหวีด

ความเป็นมาของนกหวีดนั้น คาดการณ์กันว่ามีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาตั้งแต่สมัยจีนโบราณ หรือแม้กระทั่งถูกใช้ในอารยธรรมอียิปต์โบราณ

ในอดีต ยามรักษาการณ์ดินแดนในจีนมักเป่าที่ยอดลูกโอ๊คเพื่อส่งสัญญาณเตือนการบุกรุกจากศัตรู ทั้งนี้ คาดกันว่านกหวีดโบราณของจีนมีที่มาจากเครื่องดนตรีโบราณชนิดหนึ่งของจีนที่มีชื่อว่า “ซุน” (Xun) ที่มีลักษณะเหมือนลูกน้ำเต้ามีรูอยู่ด้านบนสำหรับเป่าให้เกิดเสียง (บ้างก็มีรูอยู่ทั่วลูกน้ำเต้าสำหรับใช้นิ้วกดปิดเพื่อทำให้เกิดระดับเสียงต่าง ๆ)

“ซุน” เครื่องดนตรีจีนโบราณ (Photo from chinaculture.org/)

 

ในขณะเดียวกัน “นกหวีด” ในฐานะอุปกรณ์ส่งสัญญาณของชาวอียิปต์นั้นก็คือ การนำเอาใบของต้นปาปิรุสมาใส่ไว้ในอุ้งมือหรือลูกปาล์มแล้วเป่าให้เกิดเสียง

นอกจากจะใช้ในการส่งสัญญาณแล้ว นกหวีดถูกจัดอยู่ในเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งด้วย โดยอยู่ในประเภทเครื่องเป่าลมไม้เช่นเดียวกับขลุ่ย ทั้งนี้ ในหลาย ๆ สังคม นกหวีดถูกใช้ประกอบการสังสรรค์และพิธีกรรมของชนเผ่า เช่น ชาวไมดุ (Maidu Indian) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียใช้นกหวีดที่จากกระดูกส่วนปีกของนกกระเรียนในฐานะเครื่องดนตรีประกอบการเต้นระบำในพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ นักร้อง/นักดนตรีจะใช้นกหวีด 2 อันที่มีความสั้นยาวแตกต่างกัน เป่าสลับกันไปมาเพื่อสร้างระดับเสียงที่แตกต่างกันจนกลายเป็นท่วงทำนองประกอบการเต้นระบำ ในบางโอกาสหากมีนักร้อง/นักดนตรีเป็นจำนวนมาก็จะทำให้เกิดเป็นทำนองเพลงขึ้นมา  [1]

ในขณะเดียวกัน ชาวอัสมัท (Asmat) ชนพื้นเมืองในอิเรียน จายา (Irian Jaya) ที่อาศัยอยู่ในบริเวณปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ใช้ขลุ่ยอัสมัท (Asmat Fue) ที่ทำจากไม้ไผ่แกะสลักด้วยฟันหนู ในการส่งสัญญาณระหว่างการทำศึก นอกจากนี้ ขลุ่ยอัสมัทยังถูกใช้หนุนหัวแทนหมอนอีกด้วยเพื่อส่งสัญญาณได้ทันท่วงทีหากเกิดเหตุอันตราย อีกทั้งยังใช้เป่าบนเรือแคนูระหว่างเดินทางกลับหมู่บ้าน และใช้ในการเฉลิมฉลองทั่วไป

เช่นเดียวกับชนเผ่าเมารี (Maori) แห่งนิวซีแลนด์ที่ใช้หอยสังข์ที่เรียกว่า "ปูตาตารา" (Putatara) เป็นเครื่องเป่าเพื่อส่งสัญญาณและประกอบการเฉลิมฉลองทั่วไป ในขณะที่ ชาวแอสเท็ค (Aztec) ที่อาศัยอยู่ในบริเวณตอนกลางของเม็กซิโกก็ใช้หอยสังข์ในพิธีกรรมขอฝนด้วย

“ดิดเจริดู” (Didgeridoo) ขลุ่ยไม้ขนาดใหญ่ที่ทำจากโพรงไม้ขนาดยาวของต้นยูคาลิปตัสหรือต้นบลัดวู้ดที่ถูกปลวกขาว เจาะเป็นโพรง ใช้ในพิธีกรรมขับกล่อมของชาวอะบอริจิน (Aborigine) และใช้เรียกชาวบ้านในชุมชนมารวมตัวกัน

“ดิดเจริดู” ขลุ่ยไม้ขนาดใหญ่ของชาวอะบอริจิน (Photo from telegraph.co.uk)

 

การใช้นกหวีด (และขลุ่ยบางชนิดที่ถูกจัดให้อยู่ในหมวดเครื่องดนตรีชนิดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน) เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ ถือได้ว่าเป็นที่แพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนเผ่าที่อาศัยในบริเวณต่าง ๆ อาทิ หมู่เกาะมาเลย์, อนุภูมิภาคไมโครนีเซีย (บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก), อนุภูมิภาคโพลีนีเซีย (บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกใต้), และในหมู่ชนเผ่าอินเดียนในอเมริกาเหนือ เป็นต้น

ไม่เฉพาะเพียงแต่การใช้เป็นเครื่องดนตรีประกอบการเฉลิมฉลองและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นกหวีดยังถูกใช้โดยหมอผีในหมู่บ้านเพื่อการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยและขับไล่ภูติผีปิศาจ รวมทั้งเตือนเหตุอันตรายภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น การใช้นกหวีดกระดูกอินทรีที่เป็นที่แพร่หลายในหมู่หมอผีในเอเชียและชนพื้นเมืองในอเมริกาทางตอนเหนือ นกหวีดชนิดนี้ใช้เพื่อเรียกภูติผีวิญญาณและเทพเจ้า อีกทั้งยังสามารถขับไล่ผีร้ายที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายต่าง ๆ ได้ด้วย

โชฟาร์ (Shofar) หรือแตรที่ทำจากเขาแกะตัวผู้ ใช้ในพิธีระลึกถึงความเสียสละของแกะที่ยอมถูกบูชายัญแทนไอแซ็ก บุตรแห่งอัมบราฮัม ในทางความเชื่อของฮีบรู (Hebrew) [2] การเป่าโชฟาร์นั้นแต่เดิมถือเป็นพิธีกรรมทางศาสนาในอารามทั่วไป บ้างก็ใช้ป่าวประกาศเรียกรวมพล และใช้เป็นเครื่องดนตรี หากแต่ในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในโบสถ์ของชาวยิวในโอกาสสำคัญ เช่น ขึ้นปีใหม่ หรือวันถือศีลอด เป็นต้น

“โชฟาร์” แตรเขาแกะของชาวฮีบรู (Photo from theguardian.com)

 

นอกการจะใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว โชฟาร์ยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องเวทมนตร์ด้วย เช่น ใช้ในการขอฝน ใช้ในการขับไล่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หากแต่ในปัจจุบัน การใช้โชฟาร์เป็นเรื่องเคร่งครัดและจำกัดอยู่แต่ในเพียงพื้นที่ทางศาสนาโดยผู้นำทางศาสนาเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีนกหวีดดินเผา [3] ซึ่งมีลักษณะคล้ายตุ๊กตาขนาดเล็ก มักปรากฏเป็นสร้อยคอติดตัวหมอผีชาวอินคาจำนวนมาก ใช้ในโอกาสที่หมอผีต้องการเชื่อมต่อโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณ หรือเป่าเพื่อเตือนเหตุอันตรายที่หมอผีเห็นในภาพนิมิต

อย่างไรก็ตาม เสียงที่เกิดจากนกหวีดในบางวัฒนธรรม อาจไม่ได้หมายถึงเสียงที่ดีเสมอไป หากแต่ในสังคมชาวนาวาโฮ (Navaho) ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา และชาวซาร์ซี (Sarsi) ชนพื้นเมืองกลุ่มแรกในประเทศแคนาดา เสียงนกหวีดในเวลากลางคืนคือเสียงเรียกของวิญญาณหรือสิ่งชั่วร้าย ซึ่งแตกต่างไปจากความเชื่อของหลาย ๆ ชนเผ่า

 

การใช้นกหวีดจากพื้นที่ทางสังคมสู่พื้นที่ทางการเมือง

ความหมายของการใช้นกหวีดในอารยธรรมต่าง ๆ และในสังคมชนเผ่านั้นถือได้ว่าผูกติดกับพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อของกลุ่มเป็นอย่างยิ่ง หากแต่ความหมายในแง่นี้กลับค่อย ๆ ก้าวข้ามพรมแดนจากพื้นที่ทางวัฒนธรรมของสังคมชนเผ่าในชนบท ผ่านพื้นที่ของการแข่งขันกีฬาชนิดต่าง ๆ มาสู่พื้นที่ทางการเมือง เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันหมายถึงตำรวจในทุก ๆ ประเทศ ต่างก็ใช้นกหวีดเป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจรัฐผ่านตัวบุคคล ควบคู่ไปกับการใช้อำนาจของรัฐผ่านเครื่องแบบที่สวมใส่ จึงทำให้ตำรวจในฐานะ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” นั้นมีอำนาจมากพอที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ของการกระทำแบบหนึ่งแบบใดขึ้นแก่ประชาชน ทันทีที่มีการเป่านกหวีด เช่น สั่งให้หยุดรถ อนุญาตให้ผ่านทาง ส่งสัญญาณให้ไปต่อ เป็นต้น ถ้าหากชุดเครื่องแบบเป็นสัญญะทางอำนาจที่บ่งบอกความเป็นตำรวจหรือผู้ใช้อำนาจรัฐอันชอบธรรม นกหวีด (เช่นเดียวกับกุญแจมือและปืน) ก็ถือเป็นเครื่องมือสื่อสารส่งผ่านอำนาจรัฐที่เป็นนามธรรมมาสู่รูปธรรมหรือในทางปฏิบัตินั่นเอง 

ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากการเป่านกหวีดโดยตำรวจจราจรในชีวิตประจำวันแล้ว การเป่านกหวีดในพื้นที่ทางการเมืองในประวัติศาสตร์นั้นนำมาซึ่งการนิยามความหมายของนกหวีดใหม่ เมื่อคำว่า “Whistle-blowing” ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้เป่านกหวีด” อีกทั้งยังสามารถแปลได้ว่า “การกระทำที่กระทำโดยชายหรือหญิงผู้เชื่อว่าผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อยู่เหนือผลประโยชน์ขององค์กรที่เขารับใช้ การเป่านกหวีดจึงเป็นการบ่งบอกว่าองค์กรกำลังดำเนินกิจกรรมที่ทุจริต ผิดกฎหมาย ฉ้อฉล และอันตราย” [4] คำกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1971 เมื่อนายราล์ฟ แนเดอร์ (Ralph Nader) นักกฎหมาย นักเขียน และนักต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคชาวอเมริกัน เป่านกหวีดในสภาเพื่อเป็นสัญญาณเตือนรัฐบาลที่เริ่มมีพฤติกรรมคอรัปชั่น จนทำให้วีรกรรมของเขาเป็นที่เลื่องลือและสืบต่อกันมา

นอกจากนี้ยังมีหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลกที่เกี่ยวข้องกับการเป่านกหวีด เช่น การก่อตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า “ฟอลลิ่ง วิสเซิ่ลส์” (Falling Whistles) ในปี 2008 ซึ่งทำหน้าที่รณรงค์สร้างสันติภาพในประเทศคองโก โดยการขายนกหวีดเพื่อเป็นทุนด้านการศึกษา การต่อสู้เพื่อสิทธิและการบำบัดเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม และการเป่านกหวีดประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ยุติสงครามและตระหนักถึงผลกระทบของสงคราม

องค์กร Falling Whistles ต่อสู้รณรงค์สร้างสันติภาพในประเทศคองโก (photo from fallingwhistles.com)

 

ในปี 2009 มีการเป่านกหวีดที่ใจกลางกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย โดยประชาชนจำนวนประมาณ 15,000 คน รวมตัวกันเป่านกหวีดเพื่อประท้วงรัฐบาลกรณีค่าจ้างแรงงานต่ำ และในปี 2012 ชาวอเมริกันจำนวนมากพร้อมใจกันพกพานกหวีดเพื่อใช้เป่าใส่ตำรวจในกรณีที่ถูกตำรวจเรียกค้นตัวอันเป็นการประท้วงนโยบาย “หยุดและค้น” (Stop-and-Frisk Policy) ของตำรวจนิวยอร์ก ซึ่งอนุญาตให้ตำรวจสามารถเข้าตรวจค้นประชาชนบนท้องถนนได้อย่างอิสระ  [5]

 

นกหวีดในการเมืองไทยกับการขับไล่ระบอบทักษิณ(?)

กรณีที่เด่นชัดมากที่สุดเกี่ยวกับการใช้นกหวีดประกอบการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปี 2013  คงหนีไม่พ้นการชุมนุมของกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หรือ “ม็อบนกหวีด” ที่เริ่มต้นขึ้นจากต่อต้านคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง” ที่รัฐบาลเสนอ จึงทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนไหวโดยการเคลื่อนขบวนจากเวทีสามเสนมารวมตัวกันที่ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันจันทร์ที่ 4 พ.ย. จากนั้นก็เริ่มต้นการเป่านกหวีด 1 นาที เมื่อเวลา 12.34 น.

ในขณะเดียวกัน ก็มีการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ถนนสีลม บริเวณหน้าสีลมคอมเพล็กซ์ โดยผู้ชุมนุมพร้อมใจกันเป่านกหวีด 1 นาที เมื่อเวลา 12.45 น. เช่นกัน โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรณ์ จาติกวณิช แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมการชุมนุมพร้อมกับ นายประสาร มฤคพิทักษ์ แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี

การเป่านกหวีดยังคงเป็นภาพที่สามารถพบเห็นได้ตลอดการชุมนุมของกลุ่มกปปส. ตลอดเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้อนุมานได้ว่าการใช้นกหวีดของกลุ่ม กปปส. ก็ยึดถือหลักการแบบเดียวกันกับการใช้นกหวีดของ นายราล์ฟ แนเดอร์ (Ralph Nader) เมื่อปี 1971 กล่าวคือ เป็นการเป่านกหวีดเพื่อต่อต้านคอรัปชั่น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณใช้เป็นสารัตถะในการนิยามคำว่า “ระบอบทักษิณ” (แม้ว่าในความเป็นจริง นายสุเทพยังไม่เคยอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมเลยว่าแท้จริงแล้ว “ระบอบทักษิณ” คืออะไร?)

อีกทั้ง การเป่านกหวีด อันเป็นอุปกรณ์ที่เข้าใจกันได้ว่าเป็นของตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น อาจสามารถสะท้อนในมุมกลับได้ว่า เป็นการหยิบเอา “อาวุธ” ที่เป็นของตำรวจหรือผู้ใช้อำนาจรัฐ มาโต้ตอบผู้ใช้อำนาจรัฐนั้นเสียเอง ในอีกมิติหนึ่ง การเป่านกหวีดจึงสามารถตีความได้ว่าเป็นการท้าทายไปที่โครงสร้างอำนาจของรัฐสมัยใหม่เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้นกหวีดของกลุ่ม กปปส. จะมีความคล้ายคลึงกันกับความหมายของการใช้นกหวีดในปี 1971 ซึ่งถือเป็นปีที่นกหวีดเข้ามาสู่พื้นที่ทางการเมืองอย่างเป็นทางการ หากแต่ เมื่อมองให้ชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว การใช้นกหวีดของกลุ่ม กปปส. อาจหมายความได้ว่า เป็นทั้งการเป่าเพื่อ “หยุด!” อันหมายถึงการต่อต้านคอรัปชั่น และเป่าเพื่อเรียกร้องให้ “ประชาชน” (ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ)  “จงฟัง!” และหันมามองเห็น “มวลมหาประชาชน” (ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยของประเทศ) ในเวลาเดียวกัน เสียงก้องกังวาลของนกหวีดจากกลุ่ม กปปส. จึงเป็นเสียงที่มาจากเสียงส่วนน้อยที่ผิดหวังจากระบบการเลือกตั้งในประเทศแต่ในขณะเดียวกันเสียงส่วนน้อยกลุ่มนี้ก็ไม่ต้องการที่จะสูญเสียสถานะหรือตำแหน่งเหนือกว่าของตน (อันหมายถึงการหลุดพ้นจากวงจร “โง่ จน เจ็บ” และรู้เท่าทันคนโกง จึงทำให้พวกตนเป็นคนดี ที่มีฐานะสูงส่งกว่าประชาชนทั่วไป เช่น กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่งกลุ่ม “ไทยเฉย” เป็นต้น [6])

การเป่านกหวีดของกลุ่ม กปปส. จึงเป็นการตอกย้ำสมาชิกภาพหรือการเป็นส่วนหนึ่งของ “มวลมหาประชาชน” ที่หมายความได้ว่า เป็นประชาที่ไม่ธรรมดา เนื่องด้วยนัยของคำว่า “มวล” และคำว่า “มหา” ซึ่งตีความได้ว่าเป็นประชาชนที่รวมตัวกันเป็นเนื้อเดียวกันและยึดแน่นเป็นมวลเดียวกันอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่สูงส่ง เหนือกว่า และยิ่งใหญ่ มิใช่ประชาชนธรรมดา ๆ แต่อย่างใด จึงทำให้ “เสียงนกหวีด” ของ กลุ่มกปปส. มีความหมายที่แตกต่างไปจากความหมายดั้งเดิมในปี 1971 หรือความหมายดั้งเดิมที่ใช้ในอารยธรรมโบราณ และวัฒนธรรมชนเผ่า

แม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 1 เดือนแล้ว  การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ก็ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นเสียงนกหวีด การต่อสู้เพื่อล้มล้าง “ระบอบทักษิณ” ยังคงดำเนินต่อไปและยากที่จะคาดเดาถึงจุดสิ้นสุดได้ ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่า กว่าจะถึงวันนั้น “วันแห่งชัยชนะ” กลุ่มผู้ชุมนุมจะยังคงเป่านกหวีดสุดเสียงโดยไม่เจ็บไข้ได้ป่วยทางกายด้วยเสียงของนกหวีดที่ตนเป่า (เช่น หูอักเสบ) และจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยทางใจจากการเป่านกหวีดที่ยังไม่มีทางรู้ถึงจุดสิ้นสุดของเสียงที่เป่าออกไป... ปรี๊ดดดดดด...

 

เชิญอรรถ:

  1. จึงมิใช่เรื่องแปลกอันใดหากมีการค้นพบนกหวีดสามส่วน (Triple Whistles) ในรัฐแคลิฟอร์เนียและในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งชนพื้นเมืองใช้ประกอบการเต้นระบำเฉลิมฉลองหรือการร่ายมนต์
  2. เขาของวัวถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะวัวเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับรูปเคารพที่ชาวอิสราเอลบูชากันก่อนที่โมเสสจะปรากฏตัวและตำหนิว่าเป็นความผิดบาปอย่างร้ายแรง
  3. เรียกว่า “วาสคอส” (huascos) ในภาษาถิ่น หรือเรียกว่า “วาก้าซิลบาดอร์” (huaca silbador) ในภาษาสเปน
  4. Whistle-blowing is “an act of a man or woman who, believing that the public interest overrides the interest of the organization he serves, blows the whistle that the organization is in corrupt, illegal, fraudulent or harmful activity.” ใน Ralph Nader, Peter J. Petkas, Kate Blackwell, Whistleblowing (New York: Grossman Publishers, 1972), p. vii.
  5. นโยบายดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอีกทั้งยังมีการค้นพบว่า 0.3% ของ ประชาชนที่ถูกจับค้นตัวจำนวนทั้งสิ้น 2.4 ล้านคน นำไปสู่การจำคุกมากกว่า 30 วัน และ 0.1% นำไปสู่การตัดสินพิพากษาว่าก่ออาชญากรรมร้ายแรงอีกด้วย ใน Adam Gabbatt, "Stop-and-frisk: only 3% of 2.4m stops result in conviction, report finds," The Guardian, 14 November 2013, http://www.theguardian.com/world/2013/nov/14/stop-and-frisk-new-york-conviction-rate (accessed 5 December 2013).
  6. อาจกล่าวได้ว่า ในขณะเดียวกัน อาจมีประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าเสียงนกหวีดที่กำลังดังกึกก้องอยู่ในหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ นั้นเป็นสิ่งชั่วร้ายเฉกเช่นเดียวกันกับความเชื่อของชาวนาวาโฮ (Navaho) และชาวซาร์ซี (Sarsi) เพราะเสียงอันชั่วร้ายนี้กำลังคุกคามระบบการเลือกตั้งและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท