ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ: ‘สภาประชาชน’ เวอร์ชั่นภาคประชาสังคม การปฏิรูปการเมืองที่แตกต่าง(?)

อีกหนึ่งนิยาม ‘สภาประชาชน’ นำเสนอโดยภาคประชาสังคม ความต่างและความเหมือนกับเวอร์ชั่นสุเทพ รูปธรรมจากจังหวัดจัดการตนเอง และการวิเคราะห์หนทางข้างหน้า 
 
 
ห้วงจังหวะเวลาเดียวกับที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศแนวคิด ‘สภาประชาชน’ เทหมดหน้าตักปฏิรูปการเมืองหลังนำการชุมนุมต่อเนื่องมานานนับเดือน เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2556
 
ในส่วนเครือข่ายภาคประชาสังคมและและเครือข่ายองค์กรชุมชน 17 เครือข่าย ก็ได้ร่วมกันแถลงเสนอทางออกประเทศไทย เรื่อง ‘การปฏิรูปประเทศไทยที่มีทิศทางในการคืนอำนาจให้กับประชาชน’ โดยนำเสนอความคิดจัดตั้ง ‘สภาประชาชน’ เช่นเดียวกัน 
 
ก่อเกิดคำถามว่าการปฏิรูปประเทศไทย โดย ‘สภาประชาชน’ ของภาคประชาสังคมและเครือข่ายองค์กรชุมชนนั้นเหมือนหรือต่างอย่างไรกับ ‘สภาประชาชน’ ของมวลมหาประชาชนที่จะเข้ามาจัดการประเทศเสียก่อน แล้วจึงจะยอมให้มีการกลับไปสู่การเลือกตั้งตามกติกา ตามข้อเสนอของสุเทพ
 
ขณะหน้าตาหรือรูปแบบ ‘สภาประชาชน’ ของฟากฝั่งการเมืองยังไม่ชัดเจน ประชาไทสัมภาษณ์ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการสถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) หนึ่งในผู้ร่วมแถลงข้อเสนอ ‘สภาประชาชน’ ของภาคประชาสังคมและเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อทำความเข้าใจกับข้อเสนอและเบื้องหลังความคิด
 
ที่มาภาพ: http://cymthaivolunteer.wordpress.com/
 
 
รูปแบบ ‘สภาประชาชน’ ที่เสนอเป็นอย่างไร
 
ส่วนใหญ่ที่เราคุยกันเป็นคนในวงสมัชชาปฏิรูป ซึ่งเรามองทำนองว่า ‘สภาประชาชน’ น่าจะเป็นอีกอำนาจหนึ่งที่มากู้ประชาธิปไตยตัวแทน มาคู่กับประชาธิปไตยทางตรง ถ้าสมมติเราล้อจากเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง จะมีการเลือกตั้งฝ่ายบริหาร มีฝ่ายนิติบัญญัติ และมีสภาประชาชน เพิ่มอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลให้เข้มแข็งขึ้น ที่ผ่านมาประชาชนเลือกตั้งเสร็จก็จบ ประชาชนก็ไปอยู่ข้างนอกไป ไม่มีพื้นที่หรือกลไกที่เข้มแข็งในการตรวจสอบ เราเลยเพิ่ม เราเรียกว่า 3 เส้า อันนี้ระดับท้องถิ่น
 
ถ้าขึ้นถึงระดับประเทศ สิ่งที่เราทำ นอกจากจะมีฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการแล้ว เราอยากให้มี ‘สภาพลเมือง’ หรือ ‘สภาประชาชน’ เข้าไปเป็นอีกกลไกหนึ่ง ซึ่งจะทำงาน 2-3 เรื่องคือ 1.เสนอนโยบายการพัฒนา 2.ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร 3.สนับสนุนความเข้มแข็งของภาคประชาชน เราอยากเห็นกลไกเหล่านี้เข้าไปอยู่ในโครงสร้างที่มีอยู่แล้ว เพิ่มเข้าไปให้มีกลไกภาคประชาชนที่ชัดเจนขึ้น
 
 
เป็นโมเดลที่เราเคยเสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว
 
เราเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เป็นไอเดียว่าประชาธิปไตยตัวแทนยังมีช่องโหว่อยู่ เลยเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน ภาคพลเมืองที่จะเข้าไปมีบทบาทอย่างชัดเจนมากขึ้น เราทำมาก่อนแล้ว
 
 
ที่มาของสภาประชาชน ของภาคประชาสังคมมาจากไหน อย่างไร
 
สภาประชาชน มีการพูดกันมานานแล้ว มีเรื่องสภาองค์กรชุมชนเป็นกฎหมายออกมาแล้วในระดับตำบล แล้วก็ พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ที่เสนอเข้าไป มีคำว่า ‘สภาพลเมือง’ โมเดลของเชียงใหม่ก็คือ มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ และมีสภาพลเมือง แต่เรายังไม่เคยเสนอในระดับที่สูงกว่านี้
 
คนที่อยู่ในสภาพลเมือง ก็ระบุในกฎหมายค่อนข้างชัด 1.สภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล 2.กลุ่มสาขาอาชีพ 3.ภาคประชาสังคม 4.เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
 
อันนี้หมายถึง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครที่เข้าสภาไปแล้ว เป็นการรับฟังจากพี่น้องชาวบ้านแถวเชียงใหม่ใน 25 อำเภอและเครือข่ายทุกเครือข่ายในเชียงใหม่
 
สิ่งที่พวกเราเสนอในจังหวัดจัดการตนเอง และเสนอการแก้ไขความขัดแย้งในระดับส่วนกลางด้วยนั้น เพราะเรามองว่าถึงขณะนี้โครงสร้างอำนาจที่ผ่านมาทั้งหมด มีลักษณะรวมศูนย์ไว้ที่ตรงกลาง กำหนดนโยบาย ปฏิบัติการ งบประมาณ ทั้งหมดเลย ทำให้มีอำนาจมาก กำหนดนโยบายจากจุดเดียวทั้งประเทศ กำหนดงบประมาณก็ทั้งประเทศ
 
เราวิเคราะห์ว่าปัญหาความขัดแย้งเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจมาก กำหนดจากจุดเดียวสามารถกินรวบได้ทั้งประเทศ ตัดสินใจเชิงนโยบายได้ทั้งประเทศ เลยทำให้มีอำนาจที่มากเกิน เกิดภาวะที่เรียกว่า ความขัดแย้ง การแย่งชิงอำนาจ เพราะประโยชน์มันเยอะ ฉะนั้น ข้อเสนอของเราก็คือการกระจายอำนาจ ให้ชุมชนชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเองหรือจังหวัดจัดการตนเองเสีย ซึ่งเราก็เสนอโมเดลว่ามีสภาจังหวัดและสภาพลเมือง
 
ขณะที่การปกครองท้องถิ่นเราเสนอให้ยกระดับเป็นเทศบาลทั้งหมด เป็นสภาเทศบาล มีสภาพลเมืองในระดับย่อยนั้นด้วย ถ้ากระจายอำนาจมาก งบประมาณถูกกระจายออกมา อยู่ในท้องถิ่นมากขึ้น แล้วท้องถิ่นสามารจัดการทุกเรื่อง ยกเว้นหน้าที่ของส่วนกลาง 4  เรื่องคือ 1.เรื่องความมั่นคง 2.เรื่องการต่างประเทศ 3.เรื่องระบบเงินตรา 4.เรื่องระบบยุติธรรม ส่วนเรื่องอื่นๆ ให้ท้องถิ่นทำทั้งหมด เราเสนอว่างบประมาณ 70% น่าจะไปใช้ในจังหวัด แล้วภาษีเราส่งให้ส่วนกลาง 30%
 
 
กรณีของคุณสุเทพมีการประกาศเรื่องสภาประชาชน ตรงนี้เหมือนหรือต่างกับข้อเสนอของภาคประชาสังคม
 
อันนี้ยังไม่ค่อยแน่ใจ ยังไม่เห็นพูดในรายละเอียดที่ชัดเจน เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ นี่เป็นข้อเสนอที่มีมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วแล้ว เรื่องสภาประชาชน ความหมายยังไม่แน่ใจ ระดับใหญ่สุดเหมือนจะมีอำนาจบริหารประเทศเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต่างกัน เพราะที่พวกเราเสนอนั้นยังมีการเลือกผู้แทนฯ แล้วมีพื้นที่ประชาธิปไตยทางตรง มีกลไกของภาคประชาชนที่คู่ขนานกันไป แต่เรายังไม่เคยเสนอถึงขั้นว่าประชาธิปไตยทางตรงจะมีอำนาจบริหารประเทศ เรายังไม่เคยคิดขนาดนั้น
 
ที่คิดนี้เป็นเพียงประชาธิปไตยทางตรงที่เติมช่องโหว่ของประชาธิปไตยตัวแทน เพราะที่ผ่านมา พอประชาชนเลือกเสร็จแล้วก็เหมือนไปเป็นผู้ดู ไม่มีที่ทางเท่าไร ที่ทางที่มีส่วนมากจะเป็นท้องถนน เลยคิดว่าถ้ามีพื้นที่ในระบบน่าจะทำให้กระบวนการต่างๆ เช่น เสนอทิศทางการพัฒนาประเทศน่าจะตรงความต้องการประชาชนมากขึ้น การตรวจสอบถ่วงดุลน่าจะชัดเจนขึ้น เป็นกลไกที่เวิร์กโดยตัวมันเลยไม่ต้องพึ่งกลไกอื่น และที่สำคัญ บทบาทจะไปเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชนด้วย ให้เขาได้มีข้อมูล มีการเข้าถึงสิทธิของตนเอง สามารถขับเคลื่อนอะไรได้ด้วยตัวเอง เช่น เรื่องป่าชุมชน ก็ไม่ต้องรอตัวแทนแต่สามารถเข้าไปดูแลได้เลย
 
 
ในข้อเสนอของคุณสุเทพยังไม่ชัดเจนเรื่องที่มา 
 
เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่คุณสุเทพเสนอมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ในส่วนของเราเองเสนอว่าที่มาที่ไปมันต้องเป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย ต้องยึดโยงกับรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ณ ตอนนี้ แต่ถ้าจะเกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วก็น่าจะโอเค ถ้าพูดถึงคอนเซ็ปต์ว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นพื้นที่ประชาธิปไตยทางตรงของภาคประชาชนมากขึ้น ในส่วนของเราซึ่งทำงานในเรื่องนี้มานานเราก็เห็นด้วย แต่ต้องไปผ่านกระบวนการกติกาประชาธิปไตย หรือการแก้รัฐธรรมนูญด้วย
 
 
มองความเป็นไปได้ของสภาประชาชนในรูปแบบของคุณสุเทพอย่างไร
 
ถ้าเป็นไปแบบคุณสุเทพเลยตรงๆ ที่จะตั้งสภาประชาชนขึ้นเลย โดยไม่ผ่านกระบวนการ ไม่ไปยึดโยงกับรัฐธรรมนูญก็คงยาก คิดว่าน่าจะยาก อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของผมคือควรมีการเจรจาและประกาศกระบวนการที่จะมายึดโยงกับรัฐธรรมนูญก่อน เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่วมกันอธิบายหรือตีความว่ามันอยู่ตรงไหนอย่างไร ถ้ามีความชัดเจนก็ค่อยดำเนินการ หากมันเกิดขึ้นบนความสงสัย บนความไม่เข้าใจ บนคำถามมากมาย ไม่ชัด มันก็คงไม่เวิร์กหรอกใช่ไหม
 
หากชัดว่าที่มาคืออย่างไร แล้วยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ หรือถ้ามันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมันอาจจะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อน อันนี้ก็ต้องดำเนินการไป
 
 
จะสามารถเชื่อมโมเดลของภาคประชาสังคมและข้อเสนอของฝ่ายการเมืองได้ไหม 
 
ตอนนี้เรากำลังพยายามเตรียม จะพยายามนำเสนอ เราเสนอไป 2-3 ข้อ เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา สิ่งที่เราเสนอเช่น หนึ่ง ให้มีการคุยกันก่อน เราจะพูดเรื่องนี้ไปก่อนหน้าคงยากเพราะว่ามันจะต้องมีการคุยกันก่อน ทุกฝ่ายต้องคุยกันก่อน ต้องให้สัตยาบันกันก่อนว่าหากจะมีการปฏิรูปประเทศ หรือจะมีการจัดตั้งสภาประชาชน ข้อแรกขอให้เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย แต่ว่าต้องมีการตกลงกันก่อน จากนั้นเราอาจเสนอให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ แล้วหลังจากนั้นทุกพรรคทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านที่ได้ให้สัตยาบันกันก็จะดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย หรือมีการจัดตั้งสภาประชาชนตามกรอบของรัฐธรรมนูญ
 
 
สภาประชาชนยึดโยงกับประชาชนที่หลากหลาย การบอกว่าเป็นตัวแทนประชาชนจะเชื่อมโยงได้อย่างไรว่าเป็นตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างแท้จริง
 
หนึ่ง คือการเสนอให้มีทุกระดับ เช่น มาจากสภาองค์กรชุมชน ในระดับจังหวัดก็มีสภาประชาชนในระดับจังหวัดและมีเลือกกันขึ้นมาให้ครอบคลุม เรียกว่ามีมิติตัวแทนพื้นที่ สอง มีมิติวิชาชีพ ซึ่งมีผลประโยชน์แตกต่างกัน เราเรียกว่ากลุ่มผลประโยชน์ที่มีความแตกต่างหลากหลายก็ควรมีให้ครบ ที่เหลืออาจเป็นภาคประชาสังคมที่มีการทำงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีบทบาทตรงในการเป็นพลเมืองที่ขับเคลื่อนประเด็น หรืออาจรวมทั้งผู้มีคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ เป็นต้น
 
คงต้องให้ครอบคลุมทั้งมิติพื้นที่ และมิติที่เราเรียกว่ากลุ่มผลประโยชน์หรือวิชาชีพต่างๆ
 
 
สภาประชาชนที่ภาคประชาสังคมเสนอนี้ ใครอยู่สูงที่สุดของระบอบ
 
อันนี้จำลองมาจากระดับจังหวัด ถ้าของระดับจังหวัดเราเสนอบทบาทเท่ากัน สมมติผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สภานิติบัญญัติมาจากประชาชนเหมือนกัน สภาประชาชนก็เป็นกระบวนการเลือกตั้งเหมือนกันแต่อาจซับซ้อนกว่า เช่น มาจากสภาองค์กรชุมชน สภาวิชาชีพ มาจากภาคประชาสังคม แล้วก็มีกระบวนการเลือกตั้งขึ้นมา เป็น 3 เส้า
 
อันนี้ยังไม่ได้มีการคิดค้นที่ชัดเจนว่าระดับประเทศจะเป็นอย่างไร แต่ก็มีการเสนอกันคร่าวๆ ว่า นอกจากอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ  ตุลาการแล้ว สภาประชาชนจะเข้าไปเป็นอีกหนึ่งกลไกได้ไหม ตอนนี้ยังอยู่ในระดับการแลกเปลี่ยนกันอยู่ในหมู่คนทำงานเรื่องนี้
 
 
จะอยู่ในระบอบรัฐสภาตามปกติ
 
ใช่ มีการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. เหมือนเดิม เรายังไม่ได้คิดถึงขั้นเสนอสภาพลเมืองในระดับประเทศ
 
 
ข้อเสนอนี้เพราะไม่มีความมั่นใจในการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภาเดิมใช่หรือไม่
 
อันนั้นก็เป็นระบบตัวแทน แนวคิดหลักคือ ประชาธิปไตยตัวแทนควบคู่กับประชาธิปไตยทางตรง ถ้าดูของเราระบบตัวแทนยังมีปัญหาอยู่ พรรคเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล เอาไปเอามาในสภากับรัฐบาลก็ไปด้วยกัน ไม่ได้มีบทบาทที่ถ่วงดุลกันจริงเท่าไร
 
 
ตรงนี้เป็นปัญหาของพรรคใหญ่ที่รวบอำนาจในสภา
 
ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่พรรคเล็ก มันก็มีอาการแบบนี้มาโดยตลอด เอาไปเอามาในส่วนตัวแทนนั้น การตัดสินใจมักจะไปอยู่ที่ระบบพรรค ไม่ค่อยฟังประชาชน ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลผสม ถ้าพรรคคุยกันจบก็จบ เขาไม่ได้มาปรึกษาประชาชน ยิ่งเป็นพรรคใหญ่ก็ยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้น ฉะนั้น เราอยากจะเห็นว่าประชาธิปไตยคงไม่ใช่แค่การเลือกตั้งแล้วจบ ประชาชนนั้นควรจะมีส่วนมากขึ้น
 
ยกตัวอย่าง สภาพัฒน์วางแผนประชาชนก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม แผนพัฒนาจังหวัดประชาชนก็ไม่ได้ร่วม มีแต่สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สภาธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมกับข้าราชการ พื้นที่ของประชาชนไม่มี มันไม่ใช่แค่เลือกตั้งเสร็จแล้วปล่อยให้ตัวแทนไปทำทุกอย่าง เราเริ่มมีข้อสรุปว่ามันไม่ได้
 
 
แล้วบทบาทของฝ่ายค้านอยู่ตรงไหน
 
อย่างที่เราเห็นตัวอย่างที่ผ่านไป ฝ่ายค้านก็เป็นเสียงข้างน้อย ถ้ามีเสียงข้างมากก็ผ่านไปได้หมด ประชาชนหรือภาคประชาชนก็ควรจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบถ่วงดุลได้ด้วย ถ้าปล่อยให้เป็นธรรมชาติแบบเดิมก็กลายเป็นเหมือนปัจเจก ไม่รู้จะมีกลไกอะไรที่จะทำให้ประชาชนมีที่ทางและบทบาทที่ชัดเจน
 
 
การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตรงนี้มีความเป็นไปได้มากแค่ไหน
 
ผมมองอย่างนี้ว่า 1.เราต้องยอมรับว่าประชาชนตื่นตัวสูงมาก ดูแล้วไม่ว่าฝั่งไหน ฝั่งแดง ฝั่งม็อบราชดำเนินตอนนี้มีความพร้อมที่จะใช้สิทธิของตนเองในการติดตาม ตรวจสอบ และถ่วงดุลนักการเมือง หรือการบริหารประเทศพอสมควร เราเห็นภาพความเติบโตอันนี้เกิดขึ้น การเติบโตของภาคประชาชนชนิดนี้เกิดจากทุกฝั่ง ทีนี้โครงสร้างเดิม การเลือกตั้ง หรือการเมืองแบบเดิม โครงสร้างแบบเดิมมันจะต้องเปิดที่ทางให้อยู่แล้ว คืออย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะต้องมีการกระจายอำนาจ จะต้องปฏิรูปโครงสร้างให้ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจ หรือมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนา บริหารประเทศแน่นอน
 
หากดูแนวโน้มการตื่นตัวของประชาชนแล้ว แนวทางนี้อย่างไรก็ต้องทำ แต่จะทำได้สำเร็จเมื่อไร อันนั้นไม่รู้
 
ทีนี้ถ้าความขัดแย้งครั้งนี้สามารถทำให้ไปได้ไกลขนาดนั้น ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ไม่ใช่ขั้วนี้เป็นรัฐบาลก็ล้มเอาขั้วนี้ขึ้น ขั้วนี้ล้มก็เอาขั้วนี้ขึ้นคงไม่ใช่ แต่ผมอยากเห็นว่า ถ้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรก็แล้วแต่ มันน่าจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย ปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจ มีส่วนร่วมในการจัดการบริหารประเทศมากขึ้น
 
เพราะฉะนั้นถ้ามองในปรากฏการณ์แบบนี้แล้ว มันก็มีโอกาสเป็นไปได้ในอนาคต อย่างไรทิศทางนี้มันต้องไปแน่ๆ แต่จะออกมาในรูปไหน หรือจะสำเร็จเมื่อไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป
 
สังเกตดูขณะนี้ทุกพรรคคงต้องพูดเรื่องการปฏิรูปกันแล้ว ทุกพรรคต้องพูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแน่นอน แต่ว่ามันคงต้องผ่านความขัดแย้งครั้งนี้ไปก่อน ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะยืดเยื้อแค่ไหน ถ้ายืดเยื้อก็คงต้องใช้เวลาอีก
 
 
สภาประชาชนของภาคประชาสังคมจะต้องมีกฎหมายรองรับหรือไม่ อย่างไร
 
สภาประชาชนที่เสนอกันมันมีรัฐธรรมนูญรองรับอยู่แล้ว เพราะประชาชนมีสิทธิจะรวมตัวกันในรูปของสมาพันธ์ สมัชชา ฯลฯ ได้อยู่แล้ว แต่มันจะเป็นเหมือนกับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการที่จะทำงานพัฒนา การแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มันยังไม่เคยขึ้นไปยึดโยงกับสภาที่บริหารประเทศเลย  
 
  
จากข้อเสนอดูเหมือนว่าต้องการจะมีเสาหลักขึ้นมาอีกเสาหนึ่งเข้ามาร่วมในการบริหารประเทศ ตรงนี้ต้องมีการผลักดันกฎหมายขึ้นมารองรับหรือไม่
 
มันมี 2 ทางขณะนี้เท่าที่ดู 1.มีความพยายามตีความรัฐธรรมนูญว่ามีส่วนไหนที่จะทำได้ หากไม่ได้หรือไม่ชัดก็มาสู่วิธีที่ 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มตรงนี้เข้าไป แต่ถ้าไปดูในส่วนที่ผมทำงานด้วย ในภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนเราเสนอให้เป็นเหมือนอำนาจที่ 4 ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุล ตรงนี้อาจต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกมาเป็นกฎหมาย  
 
 
แสดงว่าจะดำเนินการได้ต้องเป็นภายหลังจากที่การเมืองมีเสถียรภาพ
 
เสนอว่าควรจะมีการตกลงกัน เพราะว่าเวลาเกิดขึ้นและบังคับใช้มันก็จะใช้กับคนทั้งประเทศ ใช้สำหรับคนทุกคน เพราะฉะนั้นจึงควรต้องมีข้อตกลง และสมมติว่าเห็นดีเห็นงามว่าประชาชนจะมีบทบาทมากขึ้น จะตั้งขึ้น ก็เหมือนกับเป็นการยอมรับของทุกฝ่าย แล้วหลังจากนั้นก็จะมีกระบวนการ เช่น ออกพระราชกำหนด ซึ่งก็มีคนเสนอออกพระราชกำหนดตั้งสภาประชาชน หรือเหมือนที่เคยตั้งสภาปฏิรูปประเทศไทย กรรมการปฏิรูปชุดคุณอานันท์ ปันยารชุนก็ใช้วิธีนี้ แต่ว่ามันก็ต้องมาผ่านตัวรัฐ
 
หรือสองอาจให้สัตยาบันกันไว้ก่อนว่าจะทำเรื่องนี้ร่วมกัน ก่อนที่จะมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ทุกฝ่ายทุกพรรคจะร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นจริง
 
หรือสามคือตั้งสภาประชาชนรอแล้วไปแก้รัฐธรรมนูญ  
 
 
ในสถานการณ์การเมืองไม่นิ่งทำไมจึงเสนอให้มีสภาประชาชน
 
ตรงนี้เราทำกันมา 3-4 ปี แล้ว อย่างเชียงใหม่ เราสรุปกันว่า เราจะคัดค้านโครงการหรือนโยบายที่ลงมากระทบกับเราแล้วเราไม่เห็นด้วยอีกกี่ชาติ มาทีไรก็ตัดสินใจอยู่กรุงเทพฯ แล้ว (โครงการพัฒนาที่สร้างปัญหา) ก็ไปโผล่ที่เชียงใหม่ ที่สะเอียบ หรือที่แม่แจ่ม โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เราจะคัดค้านไปอีกกี่ชาติ เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่าจะทำให้ทิศทางการพัฒนาสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้อย่างไร
 
นั่นหมายความว่าตัวแทนที่เลือกไปไม่ได้คิดนโยบายที่สอดคล้องกับประชาชนทุกเรื่อง บางเรื่องก็โอเค แต่บางเรื่องไม่ตรง อันนี้ก็ต้องยอมรับ เพราะหากตรงทุกเรื่องก็คงไม่มีปัญหาเรื่องการคัดค้าน หรือการประท้วง มีม็อบกันเต็มไปหมด คงไม่ใช่อย่างนั้น
 
เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่า เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งกับรัฐหรือกับนโยบายของรัฐ ทำอย่างไรที่เราจะไม่จำเป็นต้องไปอยู่บนท้องถนน ไปอยู่กันเป็นเดือน สองเดือน สามเดือน ทุกทีไป มันยากลำบากมาก เราจะมีโครงสร้างอะไรใหม่ที่จะทำให้นโยบายต่างๆ ไม่สร้างความขัดแย้ง หรือจะมีกลไกอะไรที่จะไปตรวจสอบถ่วงดุลให้นโยบายต่างๆ สอดคล้องกับประชาชนมากขึ้น นี่คือที่มาที่ไปของการเสนอเรื่องสภาในระดับต่างๆ
 
สภาประชาชนหรือที่เราเรียกว่าสภาพลเมืองไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด มาจากตรงนี้ ซึ่งเราทำมานานแล้ว อย่างผมก็คัดค้านอะไรพวกนี้มา 30 ปี จนแก่แล้ว
 
เราก็เสนอมาตลอดและทำงานของเรามาต่อเนื่องว่า เราเห็นว่าจำเป็นจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจตรงนี้ใหม่ จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้ใหม่ ให้มีที่ทางของประชาชนที่ชัดเจนขึ้นและกระจายอำนาจมากขึ้น ตรงนี้เราคิดกันมานานแล้ว
 
 
คิดว่าในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งเข้มข้นทางการเมืองถือเป็นจังหวะและโอกาสที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า
 
ก็เป็นไปได้ ประเด็นคือมันเริ่มมีกระแสปฏิรูปการเมืองถูกไหม และที่ผ่านมาก็มีเวทีปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปในรัฐบาลชุดก่อน สมัยคุณอานันท์ ปันยารชุน มีสมัชชาปฏิรูป มีสมัชชาสุขภาพ คือมันมีอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมดเลยที่พยายามผลักดัน แต่เข้าใจว่าบทบาทอำนาจหน้าที่ของสภาเหล่านี้ยังไม่มีพลังพอ ก็เหมือนกับว่าเที่ยวนี้ถ้าสามารถปฏิรูป ที่เราเรียกว่าปฏิรูปประเทศไทยในช่วงนี้ได้ ให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ให้พื้นที่ของภาคประชาชนมากขึ้นก็เป็นประโยชน์แน่นอน
 
เข้าใจว่าทั้งฝั่งรัฐบาลซึ่งก็มีคณะกรรมการปฏิรูปอยู่ หรือฝั่งผู้ชุมนุมก็เสนอเรื่องสภาประชาชน จริงๆ แล้วถ้าประเด็นมันตรงกันว่าจะให้สิทธิและอำนาจประชาชนมากขึ้น ตรงนี้น่าสนใจ ถ้ามีความร่วมมือกันในการที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรมมันก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน มันไม่ได้เป็นเรื่องของขั้วใดขั้วหนึ่ง ไม่ได้เป็นเรื่องของผู้นำคนใดคนหนึ่ง แต่ว่ามันเป็นผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม
 
เข้าใจว่า จังหวะนี้ก็คงเป็นเหมือนกระแสปฏิรูปได้เปิดแล้ว เพราะฉะนั้นใครที่คิดอยากปฏิรูปอะไรในเชิงโครงสร้าง ทุกคนก็คงออกมาเสนอกัน   
 
 
เหมือนกับว่าวิกฤติก็เป็นโอกาสได้
 
ใช่ๆ แต่ว่าเราก็อยากเห็นมันจบด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยสันติ แล้วทุกฝ่ายมาคุยกัน หันหน้ามาคุยกันเรื่องนี้ว่า ถ้าเห็นว่าควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง และให้ประชาชนมีบทบาท มีอำนาจ มีสิทธิมากขึ้น ก็น่าจะพูดคุยกัน ลงสัตยาบัน แล้วร่วมมือกันผลักดัน อันนี้ประชาชนน่าจะยินดีทุกฝ่าย
 
 
สภาประชาชนของภาคประชาสังคมจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ไหม อย่างไร
 
1.ความขัดแย้งตอนนี้ที่เราก็เห็นภาพ นโยบายหลายเรื่องมีผลกระทบต่อชีวิต คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น นโยบายที่ลงมาหลายเรื่องที่มีผลกระทบ เรื่องเขื่อน เรื่องโครงการพัฒนาต่างๆ เป็นการตัดสินใจจากส่วนกลาง ซึ่งหลายครั้งเราพบว่าไม่ได้เคยปรึกษาประชาชนเลย ประชาชนได้รับรู้ภายหลัง อันนี้คือความขัดแย้งจากโครงการพัฒนาที่ไม่ได้สอดคล้องกับประชาชนและตัดสินใจโดยตรงกลาง
 
ตรงนี้มีปัญหามาโดยตลอด ตั้งแต่ประกาศเขตอุทยานทับที่ สร้างเขื่อน โครงการพัฒนา เมกะโปรเจกต์ ซึ่งภาคประชาชนมีการคัดค้านมาตลอด ซึ่งก็มักจะไม่ค่อยไหว ต้องรวมตัวกันประท้วงแล้วประท้วงอีก ยกตัวอย่าง เชียงใหม่เมื่อประมาณ 3 ปี ที่แล้ว ประท้วงกันประมาณ 66 ครั้งต่อปี เรียกว่าสัปดาห์ละครั้งเศษ มีเรื่องประท้วงเยอะมาก มันสะท้อนว่ามีช่องว่างระหว่างการกำหนดนโยบายการตัดสินใจของรัฐที่อยู่ตรงกลางกับประชาชน
 
หากมีสภาประชาชน มันก็จะมีบทบาทในการเสนอทิศทางที่สอดคล้องกับประชาชนได้มากขึ้น
 
2.การตรวจสอบถ่วงดุล สมมติถ้าเราเริ่มมีปัญหาที่ไม่ชอบมาพากล หรือมีปัญหาความไม่ถูกต้อง ก็จะมีกระบวนการที่คล้ายการไต่สวน มีการซักถาม หรือมีการเสนอ มีการคัดค้านได้ทันที มีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็จะถูกจัดการได้ก่อน ไม่ต้องรอให้สะสมเป็นปัญหาใหญ่ๆ ไม่ต้องรอให้ประเด็นปัญหาสุกงอม ฝีแตก หากมีปัญหาก็สามารถจัดการได้ทันทีทันใด คิดว่ามันก็จะช่วย
 
ผมคิดว่าในฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หากมีสภาประชาชนยืนอยู่ด้วย ประชาชนที่ทุกฝ่ายอ้างถึงยืนอยู่ด้วยก็คิดว่าน่าจะทำให้เกิดความเกรงใจพอสมควร เพราะไม่เช่นนั้นก็จะถูกอ้างอยู่เรื่อยว่าทำเพื่อประชาชน ทุกฝ่ายทำเพื่อประชาชนหมด แล้วก็ทะเลาะกัน แต่ถ้าประชาชนยืนอยู่ด้วยตรงนั้นมันก็จะทำให้สามารถคุยกันได้ มีตัวแทนประชาชนพูดแทนได้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อะไรถูกอะไรไม่ถูกตามครรลอง
 
คิดว่ามันน่าจะช่วยลดความขัดแย้ง และที่สำคัญเมื่อเรากระจายอำนาจไปผลประโยชน์ตรงกลางมันเหลือนิดเดียว เพราะทุกเรื่องทำเกือบเสร็จแล้วในท้องถิ่น เรื่องป่า เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องสาธารณสุข การศึกษา ยกตัวอย่าง การศึกษา ส่วนกลางกำหนดหลักสูตรมาแล้วให้ชนเผ่าเรียน ชนเผ่าก็อยากมีหลักสูตรเป็นของตัวเองก็ทำไม่ได้ ขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ ถ้ากระจายอำนาจ ทุกส่วนมันก็คลาย หลายเรื่องก็จะคลายไป ปัญหาก็จะลดลง หน่วยของความขัดแย้งก็จะเล็กลง โดยภาพรวมๆ
 
 
แล้วในสถานการณ์ความขัดแย้งช่วงฝีแตกนี้ สภาประชาชนจะมาช่วยอะไรได้ไหม
 
ณ ตอนนี้ มันเป็นความขัดแย้งที่อยู่ในโครงสร้างเดิม เราอาจจะเรียกว่ากลุ่มทุนเก่ากลุ่มทุนใหม่ กลุ่มผู้นำเก่ากลุ่มผู้นำใหม่ซัดกันอยู่ แล้วแต่ละฝ่ายก็มีมวลชนของตนเอง คิดว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ตอนนี้ มันจะต้องมีกระบวนการพูดคุยและหาทางออก เพื่อที่จะปรับโครงสร้างอำนาจใหม่ หรือปรับกติกาใหม่ เช่น จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ก่อน อาจจะมีข้อตกลงได้ว่าจะมีการปฏิรูปประเทศ จะมีสภาประชาชนหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันคงต้องไปเป็นตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญก่อน
 
ขณะนี้คงเป็นข้อถกเถียงเท่านั้นว่าจะลงตัวอย่างไร เช่น เราเห็นว่าตอนนี้มีปัญหาความขัดแย้งในทางการเมือง มีปัญหาความขัดแย้งในทางโครงสร้างทางการเมือง เพราะฉะนั้นเราจะมาร่วมกันปรับโครงสร้างไปอย่างไรให้มันลงตัว ซึ่งผมก็ยังมองว่าถ้าเราสามารถปรับโครงสร้างใหม่ให้มันมีลักษณะที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งก็คงจำเป็นเรื่องการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย และก็มีกลไกของการเมืองภาคประชาชน การเมืองภาคพลเมืองด้วย สำหรับอนาคตน่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้
 
แต่สำหรับปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ก็คงต้องคุยกันให้ลง ให้จบก่อน แล้วค่อยมาว่ากันตามกติกาของรัฐธรรมนูญ ตามกติกาของประชาธิปไตย เพราะว่าการจะเปลี่ยนอะไรใหม่มันคงต้องผ่านกติกาประชาธิปไตยกับเรื่องการไขรัฐธรรมนูญ
    
 
สภาประชาชนจะเป็นที่รวมของคนทั้งสองขั้วได้หรือเปล่า
 
ขึ้นอยู่กับข้อตกลงว่าเห็นด้วยกันไหม อย่างที่เสนอในตอนแรก ถ้าเห็นด้วยกัน เช่น คณะของคุณสุเทพมาคุยกับคณะของคุณพงษ์เทพ (พงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี) ไหม หาข้อตกลงกันได้ไหมว่าโอเคจะให้บทบาทประชาชนมากขึ้น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองมากขึ้น ถ้าตกลงกันได้มันก็จะมีกระบวนการของมัน จะไปดูในรัฐธรรมนูญ ดูในกฎหมาย หรือว่าจะถึงขั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ค่อยว่ากันไป
 
 
ดูท่าจะยาก หากมองว่าเป้าหลักของทั้งสองกลุ่มคือเอาและไม่เอาทักษิณ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
 
อันนี้เราคงต้องเลยเรื่องนี้ไป คือสถานการณ์ขณะนี้อย่างที่บอก การเมืองขณะนี้ ความขัดแย้งขณะนี้ คิดว่ามันไม่ควรเป็นเรื่องการเปลี่ยนขั้ว โค่นคนนี้ขึ้น โค่นคนนี้ล้ม เป็นวังวน แต่มันต้องไปไกลกว่านั้น เราจะปล่อยให้ความขัดแย้งเป็นอย่างนี้ตลอดไปหรือ ประชาชนคงไม่มีความสุข ไม่มีความพึงพอใจหรอก
 
สิ่งที่เข้าใจก็คือว่า กระบวนการจากนี้ไปมันจะมีการผลักดันให้ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนขั้ว แต่ให้มันไกลกว่านั้น ให้มันเป็นการปฏิรูปที่แท้จริง ให้มันเป็นการปฏิรูปที่ให้ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจ มีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ ในการบริหารจัดการบ้านเมือง เข้าใจว่าคนจะอยู่ในความรู้สึกอย่างนี้นะ คืออยากให้ไปไกล มองไปสู่สังคมอนาคตที่มีทางออก มีความยั่งยืน แล้วความขัดแย้งก็ไม่วนไปวนมาแบบนี้อีก
 
ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ประชาชนทุกกลุ่ม หรือเสียงที่เงียบๆ อยู่ทั้งหมดออกมาช่วยกันในเรื่องนี้ ผลักดันเรื่องนี้ว่าจริงๆ แล้วเรื่องประเทศชาติมันไม่ได้เป็นเรื่องของแกนนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือสองกลุ่ม แต่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ ต้องผลักดันไปสู่ทิศทางที่สร้างสรรค์ ก็อยากให้มาร่วมกัน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท