Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ถ้าไม่มีการเลือกตั้งเสรี จะมีประชาธิปไตยไม่ได้ การเลือกตั้งเสรีหมายถึงการเลือกตั้งที่ไม่มีอุปสรรคหรือข้อจำกัดสำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และผู้ไปลงคะแนนเสียง ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางกฎหมาย เงิน หรือความพร้อม ดังนั้นข้อเสนอเหลวไหลของสุเทพและคนอื่นเรื่อง “สภาประชาชน” ที่ไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ กอดคอกับทหาร และกีดกันคนจนออกไป สอบตกในเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่แรก
    
แต่ถ้าเราจะพัฒนาประชาธิปไตยและระบบการเลือกตั้งให้ดีกว่านี้ คือดีกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบของรัฐสภาทุนนิยม เรามีตัวอย่างจากคอมมูนปารีสปี 1871 และการปฏิวัติรัสเซียในช่วงระหว่าง 1917-1923 ก่อนที่เผด็จการสตาลินจะขึ้นมาบนซากศพการปฏิวัติสังคมนิยม
    
ลักษณะการออกแบบเขตเลือกตั้ง และวิธีเลือกตั้งก็มีผลต่อประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก การเลือกตั้งที่มีประชาธิปไตยมากที่สุด เป็นระบบที่เคยพบในสภาคนงานที่เรียกว่าสภา “โซเวียด” หลังการปฏิวัติ 1917 ในรัสเซีย เพราะระบบนี้อาศัยการลงคะแนนหรือลงมติหลังจากที่มีการถกเถียงกันอย่างเสรีต่อหน้าผู้ลงคะแนนเสียง ซึ่งแปลว่าผู้ออกเสียงสามารถพิจารณาข้อถกเถียงของหลายๆ ฝ่าย นอกจากนี้ผู้ออกเสียงจะสามารถประเมินกระแสความคิดของคนอื่นที่จะลงคะแนนร่วมกันได้อีกด้วย และที่สำคัญคือ ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากสภาคนงานในสถานที่ทำงาน จะถูกตรวจสอบตลอดเวลา และถ้าทำอะไรที่ไม่ถูกใจผู้เลือก จะถูกถอดถอนทันทีและมีการเลือกตั้งใหม่ นี่คือลักษณะของประชาธิปไตยทางตรงในระบบสังคมนิยม
    
นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัย คาร์ล มาร์คซ์ จนถึงทุกวันนี้ เป็นกลุ่มคนที่ปกป้องประชาธิปไตยทุนนิยมจากการคุกคามของเผด็จการอย่างคงเส้นคงวามากกว่าสำนักคิดอื่นๆ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ในวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 หรือวิกฤตการเมืองในกรีซและอียิปต์เป็นต้น
    
นักมาร์คซิสต์อย่างโรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยพิจารณาว่านักปฏิวัติมาร์คซิสต์ที่ต้องการล้มระบบทุนนิยมและพัฒนาสังคมไปสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบของสังคมนิยม  ควรมีท่าทีอย่างไรต่อประชาธิปไตยครึ่งใบของทุนนิยม
    
ในหนังสือ “ปฏิวัติหรือปฏิรูป” โรซา ลัคแซมเบอร์ค อธิบายว่าการต่อสู้ประจำวันเพื่อการปฏิรูปในกรอบสังคมปัจจุบันของทุนนิยม รวมถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นโอกาสเดียวของชาวสังคมนิยมที่จะลงมือร่วมสู้ในสงครามชนชั้นของกรรมาชีพเพื่อบรรลุจุดเป้าหมายสุดท้าย คือการยึดอำนาจทางการเมืองและการทำลายระบบการจ้างงานของเผด็จการนายทุน สำหรับชนชั้นกรรมาชีพระบบประชาธิปไตยทุนนิยมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะรูปแบบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระบบนี้เช่นการบริหารตนเองและสิทธิในการลงคะแนนเสียงชนชั้นกรรมาชีพสามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการแปรรูปสังคมทุนนิยมได้ การใช้สิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตยในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นทางเดียวที่จะทำให้ชนชั้นกรรมาชีพเกิดจิตสำนึกในผลประโยชน์ของชนชั้นตนเองและภาระทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นตนเอง แต่ประชาธิปไตยไม่ได้มีความสำคัญเพราะจะทำให้การปฏิวัติยึดอำนาจโดยชนชั้นกรรมาชีพไม่จำเป็นอีกต่อไป ตรงกันข้ามมันทำให้การยึดอำนาจดังกล่าวมีความจำเป็นชัดเจนขึ้น และมีความเป็นไปได้มากขึ้นอีกด้วย
    
สำหรับนักมาร์คซิสต์ ประชาธิปไตยทุนนิยมหรือสิทธิเสรีภาพต่างๆ ไม่ได้ประทานลงมาจากเบื้องบนหรือถูกออกแบบโดยอภิสิทธิ์ชนแต่อย่างใด  แต่มาจากการต่อสู้ของมวลชนต่างหาก และการต่อสู้ดังกล่าวอาจ “เปิดเผย” เช่นบนท้องถนนหรือ “ซ่อนเร้น” เช่นการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวันในสถานที่ทำงาน เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้การก่อตั้งสหภาพแรงงาน  การออกแถลงการณ์หรือการประท้วงต่อต้านเผด็จการ และการคัดค้านม็อบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสุเทพ ล้วนแต่เป็นวิธีหลักในการสร้างประชาธิปไตยทุนนิยม ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียง “อุบัติเหตุ” หรือ “ความวุ่นวาย” หรือสิ่งที่ “ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย” ดังที่กระแสหลักชอบเสนอ  และเราจะเห็นว่าสำนักมาร์คซิสต์มีให้ความสำคัญกับการรวมตัวกันและการกระทำของพลเมืองในการเปลี่ยนสังคม โดยเน้นชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกรยากจน  แทนที่จะเน้นชนชั้นกลาง  แต่นักวิชาการกระแสหลักมองข้ามบทบาทของชนชั้นกรรมาชีพและคนจนในการสร้างประชาธิปไตยเสมอ
    
นักมาร์คซิสต์มองว่าการต่อสู้ของมวลชนในฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1986 ในอินโดนีเซียในปี ค.ศ. 1998 หรือในไทยในปี พ.ศ. 2475, 2516 และ 2535 เป็นสิ่งที่เปิดพื้นที่ประชาธิปไตย และแม้แต่นักวิชาการที่ไม่ใช่มาร์คซิสต์บางคน เช่น Barrington Moore ยังยอมรับว่าประชาธิปไตยทุนนิยมในตะวันตกเป็นผลมาจากการต่อสู้และการปฏิวัติในอดีต

นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของอังกฤษชื่อ E.P.Thompson ชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยอังกฤษ เดิมถูกจำกัดไว้ในหมู่คนชั้นสูงและคนมีเงินเท่านั้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ม็อบสุเทพต้องการในไทยทุกวันนี้ แต่การต่อสู้ของขบวนการแรงงานอังกฤษเช่นกลุ่ม Chartists เป็นสิ่งที่เปิดพื้นที่ให้พลเมืองทุกระดับมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง      
    
นอกจากความสำคัญของบทบาทชนชั้นกรรมาชีพและภาคประชาชนส่วนอื่นๆ ในการรณรงค์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว สำนักมาร์คซิสต์มองว่าประชาธิปไตยทุนนิยมจะขาดมาตรฐานและทางเลือกทางการเมืองถ้าไม่มีพรรคการเมืองของแรงงานหรือคนจน เช่นพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมชนิดต่างๆ ในสังคม ซึ่งเห็นได้ชัดในกรณีไทยหรือสหรัฐอเมริกา ที่การเมืองรัฐสภาถูกผูกขาดโดยพรรคการเมืองของนายทุน
    
ข้อเสนอในรูปธรรมของสำนักมาร์คซิสต์เพื่อที่จะการขยายความเป็นประชาธิปไตยภายใต้ระบบทุนนิยมมีหลายข้อเสนอ เช่น

1. ต้องสร้างพรรคของกรรมาชีพและชาวนาเพื่อเสนอทางเลือกทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นล่าง และที่แตกต่างกับนโยบายพรรคนายทุน
2. ต้องมีกระบวนการในการที่กรรมาชีพและคนจนจะสามารถควบคุม ตรวจสอบ และถอดถอน ส.ส. หรือผู้แทนของตนเองได้ ซึ่งมักจะไม่มีในระบบประชาธิปไตยทั่วไปของทุนนิยม
3. สหภาพแรงงานและองค์กรเกษตรกรต้องมีเสรีภาพเต็มที่ในการเคลื่อนไหวต่อสู้หรือนัดหยุดงาน โดยไม่ถูกครอบงำจากรัฐหรือถูกจำกัดในเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยกฎหมาย
4. ต้องมีการขยายระบบเลือกตั้งไปสู่ศาล ตำรวจ ตำแหน่งสาธารณะทุกตำแหน่ง กรรมการบริหารโรงเรียน โรงพยาบาล เทศบาล สื่อมวลชน และรัฐวิสาหกิจ
5. ต้องมีการยกเลิกกฎหมายทั้งหลายที่ปิดปากประชาชน และไม่ให้เราตรวจสอบความถูกต้องของบางสถาบัน เช่นศาลหรือสถาบันกษัตริย์ ต้องยกเลิกกฎหมายความมั่นคงหรือกฎหมายสภาวะฉุกเฉินชนิดต่างๆ และต้องไม่มีงบประมาณลับของใครไม่ว่าจะเป็นทหารหรือองค์กรอื่นๆ
6. ต้องนำสื่อมวลชนออกจากการครอบครองของกลุ่มทุน ทหาร และอภิสิทธิ์ชน
7. ต้องนำระบบลูกขุนมาใช้ในศาลเพื่อให้พลเมืองมีส่วนหลักในระบบยุติธรรม แทนที่จะมอบอำนาจให้ผู้พิพากษา ลูกขุนต้องประกอบไปด้วยคนธรรมดา ไม่ใช่มีแต่คนชั้นกลาง
8. ต้องสร้างรัฐสวัสดิการผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย เพื่อให้พลเมืองส่วนใหญ่มีศักยภาพและความมั่นใจที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในระบบการเมือง แต่รัฐสวัสดิการเป็นแค่จุดเริ่มต้นในทุนนิยม มันยังไม่ใช่สังคมนิยมซึ่งเป็นระบบที่คนทำงานควบคุมระบบการผลิตทั้งหมดร่วมกัน
    
สำนักความคิดมาร์คซิสต์มองว่าในระยะยาวต้องมีการยกเลิกระบบกึ่งเผด็จการของทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมซึ่งจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ และถึงแม้ว่าในโลกปัจจุบันยังไม่มีตัวอย่างของสังคมนิยมให้เราเห็น แต่ในอดีตมีหน่ออ่อนของระบบนี้เกิดขึ้น เช่นกรณีคอมมูนปารีส สภาโซเวียต (สภาคนงาน) ซึ่งมีรูปแบบใหม่ของประชาธิปไตยเต็มใบ กล่าวคือ

1. มีการเน้นการประชุมใหญ่ในสถานที่ทำงาน และการมีส่วนร่วมของพลเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อเสนอนโยบายผ่านผู้แทน การเน้นสถานที่ทำงานเพื่อเป็นหน่วยการเมืองเป็นเรื่องสำคัญเพราะนำไปสู่การควบคุมเศรษฐกิจโดยตรง
2. มีการเลือกผู้แทนตามสถานที่ทำงาน โดยที่ผู้แทนต้องได้รับเงินเดือนเท่ากับเงินเดือนเฉลี่ยของประชาชน และมีระบบถอดถอนผู้แทนตลอดเวลาเพื่อตรวจสอบและควบคุม
3. มีระบบสามฝ่ายในการบริหารสถานที่ทำงานและสถาบันสาธารณะทุกชนิด โดยสามฝ่ายดังกล่าวประกอบไปด้วยผู้แทนรัฐบาล ผู้แทนพนักงานในสหภาพแรงงาน และผู้แทนประชาชนในฐานะผู้บริโภค โดยที่ผู้แทนทุกคนมาจากการเลือกตั้ง
    
โดยสรุปแล้วสำนักมาร์คซิสต์เน้น “ผู้กระทำ” ซึ่งเป็นชนชั้นกรรมาชีพและคนจนในการปกป้องและขยายพื้นที่ประชาธิปไตยทุนนิยม โดยที่การต่อสู้ดังกล่าวมีเป้าหมายระยะยาวในการสร้างประชาธิปไตยเต็มใบของสังคมนิยม
    
“สังคมนิยม” เป็นระบบที่มนุษย์ฝันถึงมานาน ตั้งแต่เกิดสังคมชนชั้นที่ไร้ความเสมอภาคและความยุติธรรม ในสมัยก่อนเขาอาจไม่เรียกว่า “สังคมนิยม” แต่อาจมีคนเรียกว่า “ยุคพระศรีอารย์” หรือชื่ออื่นๆ แต่มันมีความหมายเดียวกันคือ “สังคมที่สงบสุขเท่าเทียมกัน”
    
พวกเราชาว “มาร์คซิสต์” เชื่อว่าสังคมนิยมต้องมาจากการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพเอง ไม่ใช่มาจากการวางแผนโดยผู้นำคนเดียว กลุ่มคนชั้นสูงในวงแคบๆ ผู้นำพรรค หรือกองทัพปลดแอก มันเป็นเรื่องรากหญ้า ดังนั้นสังคมนิยมจะมีลักษณะตามที่กรรมาชีพและพลเมืองส่วนใหญ่พึงปรารถนา ต้องออกแบบและสร้างจากล่างสู่บนโดยคนรากหญ้าเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราจะสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยม มันน่าจะมีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้คือ

1.       เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างทุนนิยมซึ่งอำนาจควบคุมการผลิตเป็นของนายทุน ทั้งนี้เพราะในระบบสังคมนิยมระบบเศรษฐกิจการผลิตจะถูกควบคุมโดยพลเมืองทุกคน ดังนั้นสังคมนิยมจะเป็นระบบก้าวหน้าที่ปลดแอกมนุษย์อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์
2.       ในระบบสังคมนิยมจะมีการวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่เพื่อสะสมอาวุธ หรือเพื่อการหวังกำไรของคนส่วนน้อย จะเป็นระบบที่มีความเสมอภาคเต็มที่ ไม่มีคนรวย ไม่มีคนจน ไม่มีการกดขี่ทางเพศหรือเชื้อชาติ
3.       ในระบบสังคมจะยกเลิกการขูดรีดของนายทุน โดยการยกเลิกสิทธิ์อันไร้ความชอบธรรมของคนบางคน ที่จะควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างผูกขาดแล้วนำกำไรเข้ากระเป๋าตนเองหรือลงทุนเพื่อหากำไรเพิ่ม ทุกสถานที่ทำงาน หรือที่ดินเกษตร จึงต้องเป็นของคนทำงานเอง ของสังคมโดยรวม ไม่มีเจ้านาย ไม่มีชนชั้น บริหารกันเองประสานกับส่วนอื่นของสังคม ทรัพยากรของโลกจะเป็นของส่วนรวม ดังนั้นการกดขี่แย่งชิงกันระหว่างชาติก็จะค่อยๆ หมดไป
4.       มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ ไม่ใช่ว่าบางคนมีงานทำที่น่าสนใจ และคนอื่นต้องทำงานซ้ำซาก การทำงานของพลเมืองควรจะเป็นเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจ และสนับสนุนความสร้างสรรค์ที่หลากหลายของเราทุกคน พลเมืองทั้งสังคมจะได้มีศักดิ์ศรีและได้รับความเคารพรักซึ่งกันและกัน

แต่ก่อนที่เราจะสร้างประชาธิปไตยของสังคมนิยมได้ เราต้องกำจัดอำนาจของพวกอภิสิทธิ์ชนและคนชั้นกลางที่โบกธงไทยบนท้องถนน และอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืดแห่งเผด็จการ เราต้องสร้างพรรคการเมืองของคนชั้นล่างเอง และผลักดันข้อเสนอที่ก้าวพ้นพวกที่รักสมบูรณาญาสิทธิราชย์และพวกที่หลงใหลในอดีตนายกทักษิณ

 


หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: สภาประชาชนที่แท้จริง คือสภาคนทำงานในระบบสังคมนิยม
ไม่ใช่เผด็จการของสุเทพและของพวกที่อ้างว่าเป็นตัวแทน “ประชาสังคม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net