โฉมหน้าศักดินามหาวิทยาลัย กรณี ทปอ.กับสังคมประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพจากผู้จัดการออนไลน์

 

เสาหลักของชนชั้นนำสังคมไทยเสาหนึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นโรงงานผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงานได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน รวมไปถึงการสร้างสถานะอันสูงส่งราวกับเทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์ มหาวิทยาลัยยังเป็นศูนย์กลางความรู้ของโลกสมัยใหม่ที่มาแทนราชสำนัก วัดอารามหลวง กระทั่งราชบัณฑิตสภา ต่อมากลายเป็นราชบัณฑิตยสถานหลังปฏิวัติสยาม 2475

การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยในบริบทสังคมไทย
ลักษณะเฉพาะของสังคมไทย หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ก็คือ มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นรับใช้มวลชนพร้อมไปกับผลิตบุคลากรป้อนระบอบใหม่ อย่างมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเกิดขึ้นปี 2477 จากนั้นก็ยกระดับโรงเรียนที่สอนวิชาชีพเฉพาะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในช่วงคณะราษฎรเรืองอำนาจ ในปี 2486 เช่น  มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร

ในช่วงการพัฒนาประเทศเกิดมหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคขึ้นเช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2507 มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2509 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัตตานี เป็นแห่งเดียวที่ไม่ได้ชื่อจังหวัดตั้งเป็นชื่อมหาวิทยาลัยในยุคนี้) 2511 อันเป็นการขยายโอกาสสู่ภูมิภาคต่างๆ ในระลอกแรก ยุคนี้ยังเกิดสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ในปี 2509 และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ทั้ง 3 วิทยาเขต ในปี 2514 นั่นคือ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ธนบุรี และพระนครเหนือ นอกจากนั้นหลังจากการปิดตัวลงของมหาวิทยาลัยตลาดวิชาอย่างธรรมศาสตร์ในทศวรรษ 2490 การเกิดขึ้นของ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในปี 2514 ก็สร้างความใหม่ให้กับระบบการศึกษาแบบตลาดวิชาขึ้น เพียงเวลาอีกไม่กี่ปีก็เกิดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตรที่มีฐานสำคัญอยู่ที่วิชาชีพครู ในปี 2517

จะสังเกตเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2511 เป็นต้นมา ชื่อมหาวิทยาลัยเริ่มผูกอยู่กับพระนามชนชั้นนำแล้ว ผิดกับช่วงก่อนหน้านั้นที่ชื่อผูกกับวิชาชีพและความเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภูมิภาค มหาวิทยาลัยเหล่านี้จึงเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่กลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นครีมของประเทศที่เยาวชนทั้งประเทศต่างแย่งชิงที่นั่งเพื่อเข้ามาแสวงหาโอกาสของชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาค ด้านหนึ่งคืออุตสาหกรรมศึกษาต่อเนื่องจากระดับมัธยมปลาย ธุรกิจกวดวิชา หอพัก บันเทิง ฯลฯ แต่อีกด้านหนึ่งแล้วมันคือ แซงจูรี่ของปัญญาชน ทั้งหมดคือ การก่อตั้งของมหาวิทยาลัยหลักก่อน 14 ตุลาคม 2516 กล่าวคือ กลุ่มบัณฑิตไม่น้อยจากสถาบันดังกล่าวผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่านสำคัญ อย่างไรก็ตามสำหรับมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสุโขทัยฯ อาจเป็นข้อยกเว้นในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเปิด

ระลอกต่อมา คือ การยกระดับและก่อสร้างมหาวิทยาลัยในภูมิภาคแถว 2 ขึ้นมา หลังจากที่สังคมชนบทขยายตัวจากฐานเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนผ่านจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร (พิษณุโลก) มหาวิทยาลัยบูรพา (ชลบุรี) ในปี 2533 ขณะที่ในปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่แยกตัวมาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เกิดขึ้น  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้รับการยกระดับจากวิทยาลัยสุรนารี

หลังรัฐประหาร 2534 ก็ได้เกิดมหาวิทยาลัยในหัวเมืองต่างๆ ขึ้นอีกนั่นคือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (นครศรีธรรมราช) 2535 นอกจากนั้น รกรากของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยังส่งผลให้เกิดมหาวิทยาลัยอีกจำนวนหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยสารคาม ในปี 2537 มหาวิทยาลัยทักษิณ 2539 ขณะที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (เชียงใหม่) 2539 ยกระดับจากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาที่เชื่องช้า ทั้งที่มีฐานการเป็นสถาบันการศึกษามาเนิ่นนาน

ความต้องการของท้องถิ่นที่ยังเรียกร้องสถาบันระดับอุดมศึกษายังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในจังหวัดใดที่มีคอนเนคชั่นกล้าแข็ง ก็สามารถจะตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาได้เช่นกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) 2541 ขณะที่การจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีกโมเดลหนึ่งก็คือ ควบรวมสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในท้องถิ่นต่างๆ ยกตนขึ้นมา ได้แก่ มหาวิทยาลัยนครพนม 2548 ที่รวมเอามหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม, วิทยาลัยเทคนิคนครพนม, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม, วิทยาลัยการอาชีพธาตุพนม, วิทยาลัยการอาชีพนาหว้า และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม ขณะที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 2548 ได้รวมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส วิทยาลัยการอาชีพตากใบ วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนมหาวิทยาลัยน้องใหม่ล่าสุดก็คือ มหาวิทยาลัยพะเยา 2553 (2538) อันเกิดจากรากฐานของมหาวิทยาลัยนเรศวร

ทั้งหมดนี้คือ มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

กำเนิดที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

ตามข้อมูลของเว็บไซต์ ทปอ. [1] ชี้ให้เราเห็นว่าการรวมตัวกันมาเป็น ทปอ.นั้นเกิดขึ้นในปี 2515 ช่วงรัฐบาลจอมพลถนอมกิตติขจรนั่นเอง พบว่าช่วงนั้นรัฐบาลกำลังปฏิรูประบบบริหารราชการจัดรูปงานและองค์การของราชการเสียใหม่ให้มีหน่วยงานเท่าที่จำเป็น คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารของคณะรัฐบาลได้เสนอให้โอนมหาวิทยาลัยทั้งหมดไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปัญหาดังกล่าวเป็นที่ขบคิดกันของเหล่าชนชั้นนำปัญญาชนและเห็นว่า สถาบันดังควรร่วมมือกันมากขึ้นจึงจัดตั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยนั้น ได้มีการมอบหมายให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ  ณ นคร, ศาสตราจารย์ นพ.สวัสดิ์  สกุลไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ยกร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นข้อตกลงว่าด้วยการประชุมอธิการบดี พ.ศ. 2515 ขึ้น

เมื่อร่างเสร็จจึงมีการจัดประชุมขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 29 มกราคม 2515 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประชุมได้ลงมติรับรองข้อตกลงดังกล่าว และได้มีการลงนามในข้อตกลงโดยผู้แทนจาก 12 สถาบัน คือ

ศาสตราจารย์ มจ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ  จักรพันธุ์  ผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศาสตราจารย์ พิมล  กลกิจ  ผู้แทนมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศาสตราจารย์ ดร.อรุณ  ศรเทศน์ ผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ นพ.บุญสม  มาร์ติน ผู้แทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศาสตราจารย์ สัญญา  ธรรมศักดิ์ ผู้แทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศาสตราจารย์ นพ.กษาน  จาติกวนิช  ผู้แทนมหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์  ผาสุขนิรันดร์ ผู้แทนมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ศาสตราจารย์ แสวง  สดประเสริฐ ผู้แทนมหาวิทยาลัยศิลปากร
ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ  คำทอง ผู้แทนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศาสตราจารย์ ดร.ชุบ  กาญจนประกร ผู้แทนวิทยาลัยวิชาการศึกษา (ต่อมาคือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ  เหล่าสุนทร ผู้แทนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า

ตามประวัติยังกล่าวว่าในเวลาต่อมาเพิ่มสมาชิกอีก 4 สถาบันซึ่งน่าจะรวม มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ต่างก็เกิดขึ้นในปี 2533 ในระยะเวลาอันสั้นผู้เขียนไม่สามารถค้นพบว่า ทปอ.มีปฏิบัติการที่ส่งผลต่อสาธารณะในวงกว้างเช่นไรในอดีต แต่ฐานกำลังดังกล่าวจะเห็นถึงเครือข่ายอันแน่นหนาของแวดวงการเมืองปัญญาชน นอกจากนี้กลุ่มมหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็ยังมีการเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมอย่างเช่น กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยที่เริ่มในปี 2513

เดือนกันยายน พ.ศ. 2522 ในการประชุมครั้งที่ 6/2522 ที่ ประชุมได้พิจารณาทบทวนและกำหนดบทบาทของทปอ. ดังนี้ [2]

1) ที่ประชุมอธิการบดีฯ ควรเป็นแหล่งประสานงานส่งเสริมความช่วยเหลือ และการพัฒนามหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น การพัฒนาบุคลากร การร่วมมือพัฒนาคุณภาพ และคุณวุฒิอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยไม่ดำเนินการซ้ำซ้อนกับงานของทบวงมหาวิทยาลัย (ทบวงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันคือ สกอ.)

2) ที่ประชุมอธิการบดีฯ ควรเป็นองค์กรกลางระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ช่วยแนะนำให้คำปรึกษาแก่ทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐบาลหรือแสดงท่าทีในด้านต่างๆ ให้รัฐบาลได้รับทราบ

3) ที่ประชุมอธิการบดีฯ ควรเป็นองค์กรกำหนดนโยบายในลักษณะการกำหนดท่าที หรือความคิดเห็นกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นผลประโยชน์หรือปัญหาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย และเสนอความคิดเห็นต่อรัฐบาล ส่วนเรื่องใดทำได้เองก็ร่วมมือร่วมใจให้ 

จนกระทั่งปี 2542 ได้มีการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของตนอีกครั้ง ได้มีการออก ปฏิญญาว่าด้วยพันธกิจและสถานภาพของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในศตวรรษใหม่ประกาศเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2542 คาดว่าเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญหลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้นทศวรรษ 2540 มหาวิทยาลัยที่เคยทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน จึงค่อยๆหันมาสมาทานหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง เงาของชาตินิยมได้ขยายตัวขึ้นในเวลาเดียวกับแสงอาทิตย์ของความชิบหายทางเศรษฐกิจที่แผดแรงกล้า จุดยืนของทปอ.จึงกลับมาสู่ชุมชน ความเป็นไทย คู่ไปกับความร่วมมืออื่นๆด้วย โดยเฉพาะการลุกขึ้นมา “ชี้แนะ” และ “ชี้นำ” สังคม ดังพันธกิจข้อแรกที่กล่าวว่า

ทปอ. จะเพิ่มบทบาทการชี้แนะเชิงนโยบายแก่รัฐบาล และชี้นำชุมชนและสังคมในการแก้ไขปัญหาพัฒนาและ สร้างภูมิคุ้มกันแก่ชุมชนและสังคมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยเพื่อมุ่งสู่การพึ่งพาตนเองบนฐานวัฒนธรรมไทยและด้วยสัมพันธภาพที่ดีกับนานาประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี

สำนึกทางศีลธรรมความเป็นไทยจึงค่อยเติบโตงอกรากอย่างพิสดารหลังวิกฤตเศรษฐกิจและปฏิญญา ทปอ.ในปี 2542อย่างช้าๆ

เทวสถานสมัยใหม่กับอำนาจเผด็จการ

แม้ว่าการลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะมีแกนหลักอยู่ที่นิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ปรากฏชัดนักว่า ทปอ.จะมีบทบาทอะไรต่อรัฐบาลเผด็จการทหาร ไม่เพียงเท่านั้นนอกโครงสร้างมหาวิทยาลัยเราพบว่า สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ล้วนอาศัยสุญญากาศและกระบวนการอำนาจสถาปนาสถาบันต่างๆ ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ เช่น การก่อตั้งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2515 ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 42, การก่อตั้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. หรือ NSTDA)  ซึ่งรวมเอา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  (NECTEC – ปรับรูปองค์กรใหม่ให้เฉพาะทางมากขึ้น), ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)  เมื่อเดือนธันวาคม 2534 หลังรัฐประหารโดยคณะ รสช., การก่อตั้งสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.),  สมัยอานันท์ ปันยารชุนรัฐบาลที่เกิดจากรัฐประหาร หรืออาจจะนับการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารในปี 2549  ดังนั้น องค์กรสถาบันความรู้ในสังคมไทยจึงมีความสัมพันธ์พิเศษกับอำนาจนิยมและเผด็จการอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ ข้อแก้ตัวทั้งหลายที่เกิดขึ้นจึงมักกล่าวอ้างระบบการเมืองปกติที่ไม่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของสถาบันต่างๆ เนื่องจากนักการเมืองไม่เข้าใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ การสถาปนาความรู้จึงนิยมทางลัด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตก็คือ องค์กรความรู้ไม่น้อยก็สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเรือนเช่นกัน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2544 ต้นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อเครือข่ายประเวศ วะสียังญาติดีกับนักการเมืองฝั่งนี้อยู่, สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ในปี 2547 ถือเป็นองค์กรที่รัฐบาลทักษิณได้นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักอย่าง TK Park โดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) มิวเซียมสยาม โดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) TCDC โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ.) ฯลฯ

มหาวิทยาลัยที่ไม่ถูกนับ

สถาบันการศึกษาชั้นรองที่เคยเป็นแหล่งผลิตผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพรับใบประกาศนียบัตร อนุปริญญา กระทั่งปริญญาตรี ได้ปรับตัวอย่างช้าๆ มาเป็นสถาบัน และมหาวิทยาลัย นั่นคือ วิทยาลัยครู ที่กลายมาเป็นสถาบันราชภัฏ ปี 2538 มหาวิทยาลัยราชภัฏปี 2547 ที่มีมากถึง 41 จังหวัด (ก่อนที่บางแห่งจะถูกควบรวมภายหลัง) ขณะที่วิทยาลัยด้านช่างได้ยกระดับเป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลในปี 2532 และยกเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ในปี 2548  ในส่วนนี้ประกอบด้วยวิทยาเขตกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยเกิดใหม่เหล่านี้ตามที่สำรวจจากเว็บไซต์ ทปอ. ไม่ถูกนับเป็นสมาชิก

ทปอ.เปิดหน้าสู้รัฐบาล

ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ ทปอ.ที่เป็นประดุจสภาผู้ทรงภูมิที่มีสมาชิกจาก 27สถาบันจะออกหน้าคัดค้านรัฐบาล จริงอยู่ว่ารัฐบาลเพื่อไทยก็มิได้เป็นรัฐบาลที่ใสบริสุทธิ์ การไม่ชอบการชังรัฐบาลนี้ด้วยเหตุผลหลายประการเป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้ แต่ที่น่าสังเกตก็คือ หลังจากที่รัฐบาลใต้เงาของทักษิณ ชินวัตรตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทย จะถูกตรวจสอบ ถ่วงดุลด้วยอิทธิฤทธิ์จากหลายฝ่ายทั้งการรัฐประหารลุ่นๆ โดยทหาร, ตุลาการภิวัตน์โดยอำนาจศาล, สมาชิกวุฒิสภา, พรรคฝ่ายค้าน อีกกลุ่มอิทธิฤทธิ์ที่ก้าวออกมาในที่แจ้งก็คือ ทปอ.นั่นเอง

การค้นข่าวเก่าที่สุดที่จะหาได้ก็คือ จดหมายเปิดผนึกของชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของกฏหมายอาญา มาตรา 112 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2555 อย่างไรก็ตาม [3] จุดเริ่มต้นของหมากเกมนี้ปรากฏชัดหลังจากต้นเหตุสำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ...  ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.นี้ มีตั้งแต่การยัดไส้ร่าง พ.ร.บ. , การผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ 3 วาระรวดตอนก่อนรุ่งเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ที่ทำให้คนลุกขึ้นมาต้านร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างแข็งขัน ทุกวันนี้จำนวนไม่น้อยก็คงภาพโพรไฟล์ใน FB เป็นการต้านนิรโทษกรรมนั้นอยู่ เช่นเดียวกับบางมหาวิทยาลัยยังดีเลย์รณรงค์ต่อต้านร่างนี้อยู่เช่นกัน

วันที่ 4 พฤศจิกายน เวลา 13.30 น. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ณ โรงแรมดุสิตธานี ได้ออกแถลงการณ์ ทปอ.เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม [4] โดยมีสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธาน ทปอ.พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกลุ่ม ทปอ.ร่วมแถลงข่าว ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.โดยให้เหตุผลหลักอยู่ที่การต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นแคมเปญที่พวกเขารณรงค์อยู่ โดยเหตุผลไม่ได้โต้เถียงเรื่องเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กันเลย เช่น การนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง

“การที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีเนื้อหาดังกล่าวข้างต้น เท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอร์รัปชันมิใช่สิ่งร้ายแรง และในท้ายที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรม การกระทำความผิด ในเรื่องทุจริตคอร์รัปชันจะทำให้การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยในปัจจุบันไม่ประสบผลสำเร็จ และจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับการกระทำในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เห็นว่า การรณรงค์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังจะเห็นได้จากการจัดโครงการ "บัณฑิตไทยไม่โกง" ขึ้น ที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดปี พ.ศ.2556 การรณรงค์ดังกล่าว จะประสบความสำเร็จได้ดีต่อเมื่อมีตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า คนที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันจะต้องถูกลงโทษโดยไม่มีการนิรโทษกรรม

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ดังมีรายนามต่อไปนี้ จึงขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนี้ร่วมกัน”  [5]

อีกสัปดาห์ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน ทปอ.ก็ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรียกร้องรัฐบาลรับผิดชอบ มีความจริงใจ ใช้สันติวิธีแก้ปัญหาและวอนทุกฝ่ายงดใช้ความรุนแรงโดยที่ยังมีฐานอยู่ที่การต่อต้านคอร์รัปชั่นนั่นเอง [6]  กระนั้นผู้เขียนไม่สามารถค้นเจอแถลงการณ์ฉบับที่ 3 แต่พบข่าวว่าในวันที่ 29 พฤศจิกายน ทปอ.เสนอให้รัฐบาลยุบสภา และส่งจดหมายเวียนเสนอให้มหาวิทยาลัยปิดทั้งประเทศ ในวันที่ 5-10 สอดคล้องกับที่มีการหยุดต่อเนื่องอยู่แล้ว [7]

ในฉบับที่ 4 วันที่ 2 ธันวาคม ได้เสนอสิ่งที่มีปัญหาอย่างยิ่งและทำให้สถานการณ์ตึงเครียดไปอีกนั่นคือ ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงพร้อมทั้งเสนอให้ยุบสภาและให้รัฐบาลลาออกเพื่อให้มีรัฐบาลกลางรักษาการณ์ก่อนจะถึงการเลือกตั้ง [8] เรียกได้ว่าบีบรัฐบาลไปจนสุดทาง ซึ่งด้วยปัจจัยอีกมหาศาลอื่นในที่สุด รัฐบาลก็ถูกกดดันจนตัดสินใจประกาศยุบสภาเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2556

นับว่าบทบาทที่ออกมาเล่นเต็มตัวไม่ว่าจะเป็นในนามของ ทปอ. หรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าทำให้ ทปอ.กลายเป็นองค์กรการเมืองที่ออกมาสู่ที่แจ้งอย่างเต็มตัว เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่เคยแอบซ่อนตัวเองอยู่อย่างอดทน

ที่น่าสังเกตคือ เมื่อเทียบกับยุคหลังราชประสงค์ 2553 ที่พวกนักสันติวิธี ผู้รู้ ราษฎรอาวุโส (ใครเป็นคนตั้งให้กันแน่ทุกวันนี้ผู้เขียนก็ยังงงถึงที่มา) อดีตนายกฯ ดาหน้าออกมาสร้างความชอบธรรมใน คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ [9] คนเหล่านี้หายหัวไปหมดแทบไม่ปรากฏออกสื่อ ไม่แน่ว่ากำลังเก็บตัวหรือซุ่มคิดอะไรอยู่หลังม่านเราก็ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆ บทบาทของ ทปอ.ที่ยังนึกว่าตนเองเป็นเทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ ได้เข้ามาสร้างความชอบธรรมให้กับม็อบขย่มรัฐบาลอย่างปฏิเสธไม่ได้

ปัญหาความโปร่งใสของตำแหน่งอธิการบดี การยึดโยงกับประชาคมภายในมหาวิทยาลัย และความเหลื่อมล้ำ

ในด้านหนึ่งตำแหน่งอธิการบดีนั้นถือว่าเป็นพื้นที่ขับเคี่ยวทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง การที่อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พงศ์เทพ เทพกาญจนาออกมาเตือนให้ สภามหาวิทยาลัยควรมีความโปร่งใสในการสรรหาอธิการบดี ก็ยิ่งเป็นตัวชี้วัดได้ดี [10] ไม่เพียงเท่านั้นข่าวฉาวของอธิการบดีก็มีอยู่เรื่อยๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำสมาชิก ทปอ. และมหาวิทยาลัยนอก ทปอ. ยังไม่ต้องนับว่า ตำแหน่งอธิการบดีหลายแห่งในประเทศไทย ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และตัดขาดความมีส่วนร่วมของประชาคมในมหาวิทยาลัยนั้นๆ

ความเหลื่อมล้ำของสถาบันต่างๆ โดยโครงสร้างนั้นมีอยู่จริง ไม่นับต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำภายในองค์กรที่จัดฐานันดรศักดิ์ ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างชั่วคราว ที่เป็นปัญหาอย่างมากในฐานะขององค์กรแนวดิ่ง ไม่มีสหภาพแรงงานเฉกเช่นประเทศในโลกสมัยใหม่ทั้งหลาย  ในที่นี้ขอปิดท้ายด้วยงบประมาณที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รับการจัดสรร ตั้งแต่งบประมาณปี 2549-2556 ทำให้เห็นความแตกต่างของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในระดับครีมสมาชิกทั้ง 27 แห่ง มีความแตกต่างอย่างไรกับมหาวิทยาลัยที่ไม่ถูกนับ ช่องว่างดังกล่าวแสดงถึงความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรมยิ่ง มหาวิทยาลัยใหญ่จึงได้รับทั้งอภิสิทธิ์ทางเกียรติยศ เงินทอง และบทบาททางการเมือง ซึ่งที่ถือว่ามีปัญหามากในสายตาของผู้เขียนคือ ทำตัวเป็นผู้ไม่รู้ร้อนเกี่ยวกับหลักการอยู่ร่วมกันโลกสมัยใหม่ และระบอบประชาธิปไตย.

ตารางที่ 1   งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549, 2553, 2556 ของ 27 มหาวิทยาลัย
ที่เป็นสมาชิก ทปอ.

 

มหาวิทยาลัย

ปี 2549

ปี 2553

ปี 2556

หมายเหตุ

จุฬาลงกรณ์ฯ

4,603,134,000

3,708,977,900

5,325,192,500

 

เกษตรศาสตร์

2,713,963,200

2,870,028,300

3,917,298,400

 

ขอนแก่น

2,835,428,000

3,099,287,200

3,712,444,000

 

เชียงใหม่

2,862,714,500

4,135,889,000

5,299,092,800

งบก้าวกระโดด

ทักษิณ

599,415,400

512,057,400

926,807,400

 

ธรรมศาสตร์

1,802,949,300

2,024,839,600

2,543,653,100

 

นเรศวร

1,271,297,000

1,822,197,900

1,651,239,400

 

บูรพา

612,424,400

985,888,500

1,215,947,500

 

มหาสารคาม

793,182,000

720,645,600

896,133,100

 

มหิดล

6,060,641,000

9,027,319,200

10,361,578,400

มากที่สุด

แม่โจ้

583,958,500

678,085,400

839,721,300

 

รามคำแหง

1,015,741,000

1,085,769,100

1,268,514,100

 

ศรีนครินทรวิโรฒ

1,370,721,100

2,118,610,700

2,558,941,800

 

ศิลปากร

998,528,400

921,515,100

1,125,409,500

 

สงขลานครินทร์

2,499,405,000

3,267,602,900

4,171,014,200

งบก้าวกระโดด

สุโขทัยธรรมาธิราช

640,340,000

634,995,600

731,083,200

 

อุบลราชธานี

396,812,200

493,710,100

574,656,400

 

พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง

861,822,500

1,091,902,400

1,371,513,200

 

พระจอมเกล้าฯ พระนครเหนือ

711,662,000

1,060,972,700

1,453,342,500

 

พระจอมเกล้าฯ ธนบุรี

717,983,000

941,229,200

1,153,896,200

 

นิด้า

366,353,400

429,822,000

633,901,700

 

เทคโนโลยีสุรนารี

658,376,600

767,778,500

1,045,677,000

 

วลัยลักษณ์

452,735,000

564,219,800

737,840,100

 

แม่ฟ้าหลวง

360,105,900

485,802,400

880,481,900

 

นราธิวาสราชนครินทร์

100,000,000

514,798,900

461,561,800

น้อยที่สุด

นครพนม

 

382,024,900

473,694,200

เพิ่งแยกตัวออกมา

พะเยา

   

883,310,800

เพิ่งแยกตัวออกมา

ที่มา : พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549, 2553, 2556

ปีงบประมาณ 2549 อยู่ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, 2553 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ2556 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ตารางที่ 2   งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549, 2553, 2556 ของ 27 มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ทปอ. (สุ่มตัวอย่าง)

 

มหาวิทยาลัย

ปี 2549

ปี 2553

ปี 2556

หมายเหตุ

ราชภัฏกาญจนบุรี

120,633,100

169,147,400

275,626,300

 

ราชภัฏกาฬสินธู์

84,701,000

76,708,700

117,010,600

น้อยที่สุดในราชภัฏ?

ราชภัฏจันทรเกษม

182,280,200

259,616,400

304,720,100

 

ราชภัฏชัยภูมิ

56,509,800

69,082,700

155,513,300

 

ราชภัฏเชียงใหม่

224,420,000

330,791,100

560,712,100

มากที่สุดในภูมิภาค?

ราชภัฏนครปฐม

167,670,000

196,680,500

410,999,400

 

ราชภัฏนครราชสีมา

195,169,400

233,386,000

429,437,900

 

ราชภัฏนครศรีธรรมราช

116,444,400

253,433,100

486,437,700

 

ราชภัฏนครสวรรค์

171,111,500

217,311,400

379,892,600

 

ราชภัฏบุรีรัมย์

141,372,400

210,827,300

296,902,200

 

ราชภัฏเพชรบูรณ์

104,815,500

215,586,700

292,740,200

 

ราชภัฏภูเก็ต

126,711,200

149,939,100

311,253,500

 

ราชภัฏยะลา

135,957,900

212,811,600

280,660,900

 

ราชภัฏลำปาง

158,915,500

183,661,900

295,935,400

 

ราชภัฏศรีษะเกษ

49,646,000

161,663,000

307,832,700

งบก้าวกระโดด

ราชภัฏสวนดุสิต

214,986,400

396,713,200

682,810,400

มากที่สุดในราชภัฏ?

ราชภัฏสวนสุนันทา

203,130,000

392,334,300

638,520,400

 

       

 

สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

80,569,800

80,333,100

157,847,200

 

เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

770,088,000

820,966,500

1,106,628,800

 

เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

637,758,800

833,813,500

1,300,839,500

 

เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

326,319,300

454,375,400

647,881,200

 

เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

427,882,600

700,641,000

888,759,900

 

เทคโนโลยีราชมงคลสุวรณภูมิ

416,346,400

577,746,900

752,883,600

 

เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

632,975,600

851,657,900

1,303,361,800

 

ที่มา : พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549, 2553, 2556

ปีงบประมาณ 2549 อยู่ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, 2553 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ2556 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

เชิงอรรถ

[1] ประชาไท. จดหมายเปิดผนึกจากอดีตอธิการบดี (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) ถึงประธานที่ประชุมอธิการบดี: ขอเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของ ม.112 . http://prachatai.com/journal/2012/06/41193 (21 มิถุนายน 2556)
[2] ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย. "บทบาทและกิจกรรมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย". http://www.cupt-thailand.net/activity.php (10 ธันวาคม 2556)
[3] ประชาไท. จดหมายเปิดผนึกจากอดีตอธิการบดี (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) ถึงประธานที่ประชุมอธิการบดี: ขอเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของ ม.112 . http://prachatai.com/journal/2012/06/41193 (21 มิถุนายน 2556)
[4] ASTVผู้จัดการออนไลน์. เอกฉันท์! มหา'ลัยกลุ่ม ทปอ.ค้านนิรโทษฯ ศิริราชรอหารือมหิดล ยันไม่ห้ามแสดงความเห็น. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000137387 (4 พฤศจิกายน 2556)
[5] ASTVผู้จัดการออนไลน์. ทปอ.ค้านร่าง กม.นิรโทษฯ ชี้สร้างมาตรฐานผิดให้สังคมไทย. http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000137168 (4 พฤศจิกายน 2556)
[6] ไทยรัฐออนไลน์. แถลงการณ์ 'ทปอ.' ฉบับ 2 วอนรัฐจริงใจแก้ปัญหา. http://www.thairath.co.th/content/edu/382130 (10 ธันวาคม 2556)
[7] สำนักข่าวอิศรา. ทปอ. “อารยขัดขืน” เล็งสั่งปิดมหาวิทยาลัยทั่วปท.5-10 ธ.ค.. http://www.isranews.org/isra-news/item/25503.html (29 พฤศจิกายน  2556)
[8] แนวหน้า. ทปอ.ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 เสนอยุบสภา-ตั้งรัฐบาลรักษาการ. http://www.naewna.com/politic/80178 (2 ธันวาคม 2556)
[9] ประชาไท. "อานันท์-ประเวศ" เปิดรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูป 19 คน และสมัชชาปฏิรูป 27 คน. http://prachatai.com/journal/2010/07/30255 (8 กรกฎาคม 2553)
[10] ASTVผู้จัดการออนไลน์. “พงศ์เทพ” จี้สภามหา’ลัยมีความโปร่งใสสรรหาอธิการบดี. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000033605 (19 มีนาคม 2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท