Skip to main content
sharethis
สมาคมพัฒนาทวายระบุการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในโครงการทวายต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล ร้องญี่ปุ่นอย่าลงทุนในอุตสาหกรรมสกปรกที่จะทำร้ายชุมชนท้องถิ่น-สิ่งแวดล้อม ก่อนไทย-พม่า หารือร่วมทุนญี่ปุ่น ในเวที Japan-ASEAN Summit 13-15 ธ.ค.นี้
 
 
11 ธ.ค.2556 สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association: DDA) แถลงข่าว เรื่อง “การลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นใน โครงการทวาย ต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล” เนื่องในวาระการประชุมการประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น-อาเซียน (Japan-ASEAN Summit) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-15 ธ.ค.2556 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-พม่า (JCC) เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ได้ระบุว่า ทางรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าจะใช้โอกาสในการร่วมประชุมครั้งนี้ในการหารือกับนายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในพม่าด้วย
 
สมาคมพัฒนาทวายจึงแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่น และหน่วยงานด้านการพัฒนา รวมทั้งนักลงทุนระงับการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone: DSEZ) ในแคว้นตะนาวศรี ประเทศพม่า จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติสากล
 
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พม่าและไทยได้เข้ามาบริหารโครงการแทนที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาความล้มเหลวในการระดมทุน และการตัดสินใจเรื่องแหล่งพลังงานสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
 
สมาคมพัฒนาทวาย ระบุว่า นักลงทุนญี่ปุ่นจะต้องไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมสกปรกที่จะทำร้ายชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านได้เคยหยิบยกประเด็นความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาพึ่งพิงอาศัย และเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2555 ประชาชนหลายพันคนได้รวมตัวกันต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งนับเป็นขบวนการทางสังคมครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในทวาย ซึ่งต่อมาโครงการดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไป
 
“ชุมชนท้องถิ่นไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่เพียงพอ ชาวบ้านถูกบังคับให้ออกจากที่ดินของพวกเขาโดยไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และพวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพที่เหมาะสมหลังจากการถูกโยกย้าย นอกจากนี้ ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิในปัจจุบัน ทั้งนี้ ปัญหาทั้งหมดนี้ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะมีนักลงทุนใหม่เข้ามาลงทุน” ทาน ซิน (Thant Zin) ผู้ประสานงาน สมาคมพัฒนาทวาย (DDA) กล่าว
 
“ประเทศญี่ปุ่นมีแนวระเบียบปฏิบัติ (guidelines) ในการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนอันเกิดจากโครงการ และด้วยข้อกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับโครงการที่มีอยู่จนถึงบัดนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นและนักลงทุนต้องมั่นใจว่าจะปฏิบัติตามแนวระเบียบปฏิบัติดังกล่าว ก่อนที่จะมีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายด้วย” ทาน ซิน กล่าว
 
ตัวแทนสมาคมพัฒนาทวาย ให้ข้อมูลว่า บริษัท มิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นชอบที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ
 
“จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลพม่า และ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ยังมิได้กระทำการใดใดสักเท่าไรในการปกป้อง สิทธิ วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของชุมชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ดังนั้น นักลงทุนรายใหม่ๆ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบครอบถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ที่สอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากล” ทาน ซิน กล่าว
 
สมาคมพัฒนาทวาย ระบุข้อเรียกร้องว่า นักลงทุนที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติสากลในการปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเคารพสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมตาม ‘หลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ’ (Free, Prior, Informed Consent – FPIC) การเปิดเผยข้อมูลในเวลาและรูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งในช่วงการวางแผน การดำเนินงาน และการติดตามผลของโครงการ ไม่กระทำการบีบบังคับหรือขมขู่ให้ชาวบ้านและชุมชนต้องโยกย้ายโดยไม่สมัครใจ หลีกเลี่ยงการโยกย้ายอย่างไม่สมัครใจหากกระทำได้ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องฟื้นฟูมาตรฐานความเป็นอยู่และโอกาสทางรายได้ของชาวบ้านที่ถูกโยกย้าย และมีมาตรการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
 
 
ทั้งนี้ สมาคมพัฒนาทวาย เคยส่งจดหมายร้องเรียนถึงรัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2556 เรื่อง ข้อกังวลในเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันสืบเนื่องมาจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มีรายละเอียดดังนี้
 
 
นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ประเทศญี่ปุ่น
นายทาโร่ อาโซะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น
นายฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศญี่ปุ่น
นายโทชิมิสึ โมเตะกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น
นายฮิโรชิ โอกุดะ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JBIC)
นายอากิฮิโกะ ทานากะ ประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)
 
25 พฤษภาคม 2556
 
เรื่อง ข้อกังวลในเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันสืบเนื่องมาจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในประเทศพม่า
 
พวกเราจากสมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association – DDA) ต้องการจะหยิบยกข้อกังวลต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอันสืบเนื่องมาจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่กำลังพัฒนาอยู่ขณะนี้ในแคว้นตะนาวศรี[1]  พวกเราทราบว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจเข้ามาร่วมทุนในโครงการนี้[2] พวกเราเชื่อว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการทบทวนอย่างรอบคอบในผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ โดยการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงแนวระเบียบปฏิบัติ (Guidelines) สำหรับข้อพิจารณาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (ต่อจากนี้จะเรียกว่า “แนวระเบียบปฏิบัติ”) ของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation – JBIC) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency – JICA) ก่อนการตัดสินใจใดๆ
 
โครงการในทวายจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อวิถีชีวิตและสิทธิมนุษยชนของคนท้องถิ่นในสามพื้นที่ ดังนี้
 
1)   พื้นที่ 204.5 ตารางกิโลเมตรของโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมในย่านนาบูเล  ซึ่งห่างจากเมืองทวายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 20 กิโลเมตร มีประชากรจำนวนกว่า 32,274 คน จาก 3,977 ครัวเรือน ซึ่งมี 21 หมู่บ้านจะถูกโยกย้าย
 
2)   หมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งห่างจากเมืองทวายไปทางตอนเหนือประมาณ 36 กิโลเมตร ที่แห่งนี้จะถูกสร้างเป็นที่กักเก็บน้ำบนแม่น้ำตะลายยาร์  มีประชากรประมาณ 1,000 คน จาก 182 ครัวเรือน จะถูกโยกย้าย
 
3)   พื้นที่ถนนเชื่อมโยงจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปยังบ้านพุน้ำร้อน (ชายแดนไทย) ระยะทาง 132 กิโลเมตร ประมาณการว่ามีประชากรกว่า 50,000 คน จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น มีความยากลำบากในการเพาะปลูกเนื่องจากการก่อสร้างและของเสียจากการก่อสร้างถนน ราคาที่ดินที่สูงขึ้นมากทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของตัวเองได้
 
 
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมสืบเนื่องมาจากโครงการ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกิดจากบริษัทไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  
 
1)   การละเมิดสิทธิชนพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์ – ปราศจาก ‘หลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ’ (Free, Prior, Informed Consent – FPIC)
 
โครงการนี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบทั้งต่อชนพื้นเมืองดั้งเดิมของทวายที่อาศัยอยู่บริเวณนาบูเล (ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือก่อนยุคพุกาม) และกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างถนน  อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงและแผนงานทั้งหมดที่กระทำขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่ารวมทั้งบริษัทต่างๆ ได้มีการลงนามและดำเนินการโดยปราศจาก ‘หลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ’ (FPIC) ที่พึงปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองดั้งเดิมและชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวคือ
 
ประการแรก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และรัฐบาลพม่าประสบความล้มเหลวในการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการให้ข้อมูลแก่ชุมชนท้องถิ่นถึงการดำเนินงานของโครงการ แม้ว่าการก่อสร้างโครงการจะเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เพิ่งจะว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Assessment – EA) ในพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย พื้นที่อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่แนวถนนเชื่อมโยง เมื่อเดือนกันยายน 2554 นี้เอง ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทไม่เคยทำการประเมินผลกระทบทางด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการนี้เลย[3]
 
ประการที่สอง ตั้งแต่ปี 2553 ที่ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ได้เริ่มกิจกรรมต่างๆ ในทวาย การดำเนินการนั้นขาดความโปร่งใสและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับแผนการดำเนินงานต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเราไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (EA) จาก บมจ.อิตาเลียนไทยฯ และจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ จนกระทั่งวันนี้ พวกเขาไม่เคยเปิดโอกาสให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้เข้าร่วมในกระบวนการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (EA) อย่างแท้จริง การมีส่วนร่วมถูกจำกัดเพียงแค่การนำเสนอข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับแผนของโครงการ แทนที่จะเป็นการสื่อสารสองทางที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างมีความหมายกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
 
บริษัทได้ก่อสร้างถนนโดยตัดผ่านพื้นที่เพาะปลูก และทำลายพืชผลเสียหาย โดยปราศจากการยินยอมของชนพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์  ซึ่งชุมชนท้องถิ่นมองว่า วิธีการที่ทางโครงการดำเนินการ เช่น การทำการศึกษาต่างๆ หลังจากการก่อสร้างได้ดำเนินการไปแล้วและทรัพย์สินได้ถูกทำลายไปแล้วนั้น เป็นการแสดงถึง “ความไร้จริยธรรม” ของทางบริษัทอย่างชัดเจน
 
วิธีการปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้ที่กระทำโดย บมจ. อิตาเลียนไทยฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น มิได้เคารพต่อสิทธิในการตัดสินใจของชนพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นและที่ดินในชุมชนของพวกเขา
 
2)   การโยกย้ายโดยไม่สมัครใจ และการสูญเสียวิถีชีวิตท้องถิ่น
 
ขณะนี้ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของทวายมากกว่า 32,000 คน ในแถบนาบูเล และประชากรกว่า 1,000 คนในหมู่บ้านกาโลนท่ากำลังเผชิญหน้ากับการถูกโยกย้ายโดยไม่สมัครใจ ทั้งบมจ. อิตาเลียนไทยฯ และกลุ่มบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำงานในนามของ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ไม่มีการสำรวจอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการโยกย้ายชาวบ้าน และไม่มีกระบวนการปรึกษาหารืออย่างมีความหมายถึงความประสงค์ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
 
ที่หมู่บ้านกาโลนท่า ทั้ง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ และรัฐบาลพม่ามีแผนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำบนแม่น้ำตะลายยาร์ใกล้กับหมู่บ้าน ซึ่งอ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะส่งผลให้น้ำท่วมและทำลายพื้นที่เพาะปลูกกว่า 3,000 เอเคอร์ (ประมาณ 7,587 ไร่) ของชาวบ้านในกาโลนท่า ซึ่งพวกเขาทั้งหมดมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงกับการเพาะปลูก ทั้งนี้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบแห่งนี้ได้แสดงความต้องการย่างหนักแน่นว่า จะไม่ยอมย้าย และจะไม่ยอมสูญเสียพื้นที่ป่า และพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางบริษัทกำลังกดดันให้ชุมชนท้องถิ่นยอมรับการโยกย้าย
 
จากงานวิจัยที่พวกเราได้ทำร่วมกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในพม่า เช่น LokaAhlinn และ Southern Society Development Network และเครือข่ายระหว่างประเทศชื่อ Trocaire[4] พบว่า 86 เปอร์เซนต์ของคนท้องถิ่นในแถบนาบูเลที่ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มีชีวิตที่พึ่งพากับที่ดินเพาะปลูกและการทำเกษตร อย่างไรก็ตาม พื้นที่รองรับผู้อพยพในเขตบาวา ทาวา และวาซันตอ นั้นกลับตั้งอยู่ภายในเทือกเขาตะนาวศรี หรืออยู่ระหว่างเทือกเขากับทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างแคบเกินไปหรือเป็นที่ดินที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ในขณะที่พื้นที่รอบๆ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกำลังถูกกว้านซื้อโดยนักเก็งกำไร ซึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะไม่สามารถซื้อได้ ถ้าคนท้องถิ่นในนาบูเลถูกบังคับให้โยกย้าย วิถีชีวิตของพวกเขาก็จะถูกทำลายไปอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ ถึงกระนั้น พื้นที่รองรับผู้อพยพได้ถูกสร้างขึ้นโดยปราศจากความเห็นชอบของชาวบ้าน นอกจากนั้น บ้านในพื้นที่รองรับผู้อพยพยังมีคุณภาพต่ำ และบ้านหลายหลังยังได้พังลงถึงสองครั้งจากกระแสลมตามฤดูกาลปกติ
 
ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ บริษัทได้อวดอ้างถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ดีกว่าเดิม พวกเขายังติดป้ายโปสเตอร์แผ่นโตที่ศูนย์เยี่ยมชมโครงการของทางบริษัทเพื่อโฆษณาว่า “พวกเขามีความห่วงใยในวิถีชีวิตของชาวบ้านมากขนาดไหน” แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่มีแผนใดๆ ทั้งสิ้นที่จะหาที่ดินทดแทนให้กับชาวบ้านเพื่อการทำเพาะปลูกและการทำเกษตรกรรมที่ดี
 
3)   ค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม และการทุจริตคอรัปชั่น
 
โครงการมีส่วนเกี่ยวข้องกับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบกว่า 3,000 คน แต่ทางบริษัทไม่มีกระบวนการที่เป็นมาตรฐานเพื่อที่จะรองรับและจัดการกับปัญหาเหล่านี้ และที่สำคัญ ยังปราศจากการปรึกษาหารือล่วงหน้าและความยินยอมของชุมชน ในระยะแรกเริ่มของการพัฒนาโครงการเช่นนี้ ก็ปรากฏชัดว่า การจ่ายค่าชดเชยนั้นไม่ยุติธรรมและไม่เท่าเทียมกันในหลายกรณี
 
ที่ดินหลายผืนถูกยึดไปเพื่อก่อสร้างสำนักงานของบริษัทและถนน ถึงแม้ว่าโครงการจะถูกบริหารงานโดยบริษัทเพียงแห่งเดียว แต่กระบวนการชดเชยก็ยังไม่มีมาตรฐาน อีกทั้งราคาที่ดินถูกกำหนดโดยวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน ทั้งยังมีการคุกคาม และการใช้อิทธิพลจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นด้วย
 
เจ้าหน้าที่รัฐของพม่าได้พยายามที่จะใช้อิทธิพลในขั้นตอนการจ่ายค่าชดเชยด้วยเช่นกัน เนื่องจากทางบริษัทไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐและการกระทำอันมิชอบของบรรดานายหน้า
 
เมื่อต้นปี 2555 บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เริ่มจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น ถนน ที่ทำการของสำนักงาน และอาคารต่างๆ รอบบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจำนวนเงินของการจ่ายค่าชดเชยในแต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นการจ่ายให้กับรายบุคคลที่มีสภาพที่ดินเหมือนกัน แต่ค่าชดเชยนั้นกลับต่างกัน นี่คือการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ในแต่ละกรณีนั้นการตัดสินใจเรื่องค่าชดเชยจะขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐและ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ยิ่งไปกว่านั้น การจ่ายค่าชดเชยจะผ่านทางเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและผู้ปกครองหมู่บ้าน พวกเราสงสัยอย่างยิ่งว่ามีการทุจริตอย่างแพร่หลายในกระบวนการจ่ายเงินค่าชดเชย และพวกเรายังมีหลักฐานอย่างชัดเจนในการทุจริตหลายกรณี อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐเก็บเงินจำนวน 40 ล้านจั๊ต จากเจ้าของที่ดินโดยการทำตัวเลขค่าชดเชยให้สูงขึ้น เป็นต้น จนกระทั่งถึงตอนนี้ยังไม่มีความโปร่งใสเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าชดเชยที่จ่ายโดยบริษัท และจำนวนเงินที่ชาวบ้านผู้ถูกผลกระทบได้รับ
 
ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามีการละเมิดในแนวระเบียบปฏิบัติ (Guidelines) หลายข้ออย่างชัดเจน ดังนั้นพวกเรา – คนท้องถิ่นจากทวายในแคว้นตะนาวศรี ขอเรียกร้องรัฐบาลญี่ปุ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาอย่างรอบคอบและติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งทบทวนรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่มีอยู่ รวมถึงสถานการณ์การละเมิดทางสิทธิมนุษยชนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายก่อนทำการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมในโครงการนี้ และก่อนที่สถาบันทางการเงินของญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนโครงการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการยึดที่ดินและการใช้ที่ดินที่ยังไม่เคยมีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับชาวบ้าน ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่ต้องดูแลอย่างละเอียดถี่ถ้วน   
 
พวกเราเชื่อว่าญี่ปุ่นต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบเกี่ยวกับประเด็นผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ทันทีที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ซึ่งรวมไปถึงการลงทุนหรือการให้กู้  แม้พวกเราตระหนักดีและคาดหวังอย่างยิ่งว่า ญี่ปุ่นจะดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะขั้นสูงเมื่อต้องประเมินโครงการทวายอย่างเป็นทางการ พวกเราจึงอยากจะเน้นย้ำประเด็นดังต่อไปนี้ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของพวกเราเพื่อให้ญี่ปุ่นคำนึงถึงมาตรฐานสากลในการปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
 
1)   บมจ. อิตาเลียนไทยฯ รวมทั้งรัฐบาลไทย และพม่า ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมตามหลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ (FPIC)
 
2)   เปิดเผยข้อมูลให้ทันท่วงทีและด้วยการปฎิบัติที่เหมาะสม และให้คนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการแนวทางสำคัญต่างๆ  อย่างเช่น การวางแผนงาน การดำเนินงาน และการติดตามตรวจสอบในแผนการดำเนินการการโยกย้าย (RAP) และกระบวนการการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม
 
3)   ไม่มีการบีบบังคับหรือข่มขู่คุกคามชาวบ้านและชุมชนในกระบวนการโยกย้ายที่ไม่สมัครใจ
 
4)   หลีกเลี่ยงการโยกย้ายที่ไม่สมัครใจ หากมันได้พิสูจน์ว่ามาตรฐานความเป็นอยู่และโอกาสทางรายได้ของคนท้องถิ่นจะไม่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยจะได้รับการฟื้นฟู
 
5)   ไม่มีการทุจริต หรือมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและมีความหมายต่อการต่อต้านการทุจริต
 
6)   เคารพต่อสิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจกรรมใดก็ตามของโครงการ
 
ขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพิจารณาข้อเรียกร้องของพวกเรา และพวกเราจะรอฟังการตอบรับของคุณ
 
 
 
ด้วยความเคารพอย่างสูง
 
 
ลงชื่อ
สมาคมพัฒนาทวาย (DDA)
 
 
 
 
 
ลำดับเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่ ปี 2551-2556
 
 
โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ  (ปี 2551-2556)
รวบรวมโดย โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)
 
2551
9 พฤษภาคม 2551
รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมเพื่อการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมสู่กรุงเทพฯ
 
19 มิถุนายน 2551
รัฐบาลพม่าลงนามบันทึกความเข้าใจกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ ในโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมสู่กรุงเทพฯ 
 
2553
ชาวบ้านเริ่มสังเกตเห็นการก่อสร้างในพื้นที่ และชาวบ้านบางคนเริ่มร้องเรียนว่าที่ดินของเขาถูกบุกรุก หรือทำลายโดยปราศจากการแจ้ง หรือได้รับการยินยอม
 
2 พฤศจิกายน 2553
บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ลงนามกรอบข้อตกลงกับการท่าเรือพม่า โดยบริษัทได้รับสัมปทานในการสร้าง ดำเนินการ และถ่ายโอน (BOT) ในโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย (รวมถึงอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงเหล็ก โรงงานปุ๋ย โรงไฟฟ้า และสาธาณูปโภคอื่น ๆ), ถนน, ทางรถไฟ, ท่อก๊าซ, ท่อน้ำมัน และอาคารที่พักอาศัย
 
2554
19 กรกฎาคม 2554
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู เข้าระงับการก่อสร้างถนนเชื่อมจากโครงการทวายมาประเทศไทยของ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เนื่องจากชาวบ้านได้ร้องเรียนว่าที่ดินของพวกเขาถูกบริษัททำลายและไม่ได้รับการดูแลหรือจ่ายค่าชดเชยใดๆ ถนนสายนี้มีระยะทาง 160 กิโลเมตร ตัดผ่านชุมชนชาวกะเหรี่ยง 21 หมู่บ้าน
 
15 ธันวาคม 2554
สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association หรือ DDA) จัดแถลงข่าวที่กรุงย่างกุ้ง โดยออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อโครงการซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวน 32,279 คน โรงเรียน 21 แห่ง และวัด 23 แห่ง จาก 19 หมู่บ้านต้องย้ายออกจากพื้นที่ และเรียกร้องรัฐบาลและผู้พัฒนาโครงการต้อง; 1) ยึดถือแนวทางการพัฒนาสีเขียวอันยั่งยืน คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่โครงการทวาย 2) ดำเนินการโดยยึดเอาความปรารถนาของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ 3) ทำการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบทางสังคม (SIA) ในมาตรฐานสากล และ 4) เพื่อการพัฒนาสีเขียวอันยั่งยืน ผลประโยชน์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ควรได้รับการพิจารณา
 
2555
4 มกราคม 2555
สมาคมพัฒนาทวายร่วมกับชาวทวายจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชายหาดเมามะกัน โดยเรียกร้อง “การพัฒนาสีเขียว” ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
 
5 มกราคม 2555
องค์กรภาคประชาชนไทย 18 องค์กร ออกแถลงการณ์กรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยถึงความเหมาะสมในการนำเงินสาธารณะจำนวน 5.2 หมื่นล้านบาท และเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางหลวงพิเศษรองรับโครงการนี้ รวมถึงการที่กฟผ.เจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากประเทศพม่าในสัดส่วนที่สูงมากจนอาจกระทบต่อความมั่นคงของระบบพลังงานไทยในอนาคต และแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น
 
7 มกราคม 2555
สมาคมพัฒนาทวายยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีไทย ในระหว่างการจัดการประชุมร่วมทวิภาคีเพื่อหารือในความร่วมมือในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายระหว่างรัฐมนตรีของสองประเทศที่เมืองทวาย โดยได้แสดงความกังวลต่อปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการโครงการในวิถีทางซึ่งแสดงถึงความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งยึดมั่นต่อหลักการสิทธิมนุษยชน
 
9 มกราคม 2555
นายอู คิน หม่อง ซอ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไฟฟ้า (ลำดับที่ 2) แถลงต่อสื่อมวลชนที่กรุงย่างกุ้งว่า จะไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพราะจะเกิด
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา
 
6 เมษายน 2555
กะเหรี่ยงหมู่บ้านตะบิวชองในพม่า ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตัดถนนเชื่อมระหว่างนิคมอุตสาหกรรมทวายกับประเทศไทย ประท้วงและเดินออกจากห้องประชุมในขณะที่คณะนักวิชาการจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ขอชี้แจงการสำรวจข้อมูลเพื่อจะใช้ประกอบการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านไม่เชื่อมั่นว่าจะเกิดความเป็นกลางในการจัดทำรายงาน เพราะนักวิชาการเดินทางมากับ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เจ้าของโครงการ และทางบริษัทฯ เองก็ไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนในเรื่องการชดเชยที่เกิดจากความเสียหายของการขยายถนน  ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อชาวบ้าน เพราะบริษัทฯ ได้ก่อสร้างถนนรุกเข้าไปในที่ทำกิน แต่ไม่เคยดูแลหรือเยียวยา จนชาวบ้านได้ประกาศปิดถนนห้ามบริษัทเข้ามาก่อสร้าง ซึ่งบริษัทก็ได้เลี่ยงไปก่อสร้างที่อื่นก่อน และยังทิ้งปัญหาไว้
 
18 สิงหาคม 2555
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม นายวีรวัธน์  ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมเป็นวิทยากรในการแถลงข่าว “หยุดอุ้มโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย หยุดขยายหนี้สาธารณะ” ตั้งคำถามต่อจริยธรรมและธรรมาภิบาลในโครงการ และแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไทยเข้าสนับสนุนโครงการนี้โดยใช้เงินแผ่นดิน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างหนี้สาธารณะ ยังเป็นการอุ้มเอกชนให้ลงทุนในประเทศที่ไม่มีความพร้อมในการปกป้องสิทธิมนุษยชน และมาตรการป้องกันผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยมีองค์กรภาคประชาสังคม 42 องค์กรได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์นี้ด้วย
 
กันยายน 2555
รายงานวิจัยขององค์กรสิทธิมนุษยชนเนเธอร์แลนด์ที่ร่วมกับกลุ่มท้องถิ่นระบุว่า ทาง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ถูกชาวบ้านกล่าวหาในเรื่องการยึดที่ดินของชาวบ้าน การจ่ายค่าชดเชยที่ต่ำ และการบังคับให้ชาวบ้านโยกย้าย และได้ประเมินตัวเลขของผู้ที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาการยึดที่ดินขนานใหญ่ในพื้นที่ทวายว่าอาจสูงถึง 500,000 คน
 
20 กันยายน 2555
ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมเพื่อต่อต้านโครงการที่พวกเขาบอกว่า เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสกปรกและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านในหมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเพื่อนำมาใช้ในโครงการ ได้ทวงถามถึงบัญญัติหลัก 4 ข้อเกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เคยดำริไว้ นั่นคือ 1) ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนพม่า 2) ปกป้องศักดิ์ศรีแห่งรัฐ 3) ปกป้องอธิปไตยของชาติ และ4) การลงทุนของต่างชาติต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
ทั้งนี้ ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างถนนยังได้ติดตั้งป้ายคัดค้านโครงการที่มีใจความว่า “หยุดสร้างมาบตาพุดอีกแห่งในทวาย”
 
4 ตุลาคม 2555
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายเซ็ทซึโอะ อิอูจิ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประจำประเทศไทย ซึ่งยืนยันจะร่วมมือพัฒนาพื้นที่ทวาย ในลักษณะ 3 ประเทศ คือไทย พม่า และญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแก่โครงการต่างๆ
 
28 ตุลาคม 2555
ชาวบ้านในพื้นที่นาบูเล ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย บอกว่าโครงการนี้ทำให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ไม่สามารถปลูกพืชผลได้ตามฤดูกาล และเจ้าหน้าที่โครงการยังสั่งให้พวกเขาย้ายไปปลูกที่อื่นด้วย กลุ่มท้องถิ่นในทวายที่ชื่อ Tavoyan Voice ยังได้กล่าวว่า โครงการทวายสร้างประโยชน์เฉพาะนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่เท่านั้น ในขณะที่ชาวท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้รับเคราะห์กรรมในเรื่องผลกระทบ
 
15 พฤศจิกายน 2555
แผนการสร้างเขื่อนที่บ้านกาโลนท่าเพื่อนำน้ำไปใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายถูกต่อต้านจากชาวบ้าน เนื่องจากทั้งหมู่บ้าน 182 หลังคาเรือนจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ และชาวบ้านกว่า 1.000 คนต้องย้ายออกจากพื้นที่ ชาวบ้านกล่าวว่า บริษัทขอเดินทางมาเจรจา เพราะการคัดค้านของชาวบ้านทำให้โครงการทวายต้องล่าช้าออกไป แต่ในวันที่เจ้าหน้าที่ทางการและ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เดินทางไปที่หมู่บ้านเพื่อพูดคุยถึงแผนการโยกย้าย ชาวบ้านต้อนรับด้วยป้ายที่เขียนว่า “ไม่เอาเขื่อน” และ “ไม่ย้าย”
 
22 พฤศจิกายน 2555
องค์กรท้องถิ่นในทวาย ชื่อ Tavoyan Voice ออกมาตอบโต้ข่าวที่ทาง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ระบุกับสื่อว่ามีการโยกย้ายชาวบ้านส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ไปแล้ว ซึ่งแหล่งข่าวในพื้นที่กล่าวว่า ยังไม่มีชาวบ้านสักคนเดียวที่ย้ายออกจากพื้นที่ การออกมาให้ข่าวของทางบริษัทเป็นความพยายามที่จะทำให้เห็นว่าโครงการมีความคืบหน้าเพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว แผนการโยกย้ายประชาชนกว่า 32,000 คนของทางบริษัทกำลังเผชิญกับการต่อต้านจากชาวบ้านซึ่งไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่
 
28 พฤศจิกายน 2555
สื่อระบุว่า รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2556 ในขณะที่ชาวบ้านมีข้อกังขาว่า โครงการได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 แต่ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เพิ่งจะว่าจ้างให้ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Assessment) ในพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย, พื้นที่สร้างเขื่อนที่หมู่บ้านกาโลนท่า และพื้นที่ก่อสร้างถนนเชื่อมต่อมายังประเทศไทย ตามลำดับ ซึ่งการศึกษาเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2554 และจนถึงบัดนี้ ยังไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินสิ่งแวดล้อมใด ๆ แก่ชาวบ้าน
 
2556
17 มกราคม 2556
นายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในการนี้ นายอะเบะได้พูดคุยกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนา ซึ่งรวมถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น รายงานว่าประเทศญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายในประเทศพม่า
 
19 มกราคม 2556
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย พร้อมทั้งเสริมว่า การขยายตัวของการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของโครงการนั้น จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของโครงการ เนื่องจากเงินกู้ดังกล่าวจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยในช่วงเริ่มต้นของโครงการ
 
25 มกราคม 2556
นักปั่นจักรยานและนักกิจกรรมในประเทศพม่าเริ่มการรณรงค์ปั่นจักรยานเป็นเวลา 10 วัน จากย่างกุ้งไปยังโครงการทวาย เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากโครงการ
 
5 มีนาคม 2556
สมาคมพัฒนาทวายได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร ระบุถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธชุมชนอันเกิดจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยชี้ให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นโดยบริษัทไทยและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ – ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลและไม่มีการปรึกษาหารืออย่างเหมาะสมกับชนพื้นเมืองท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ คนท้องถิ่นกว่า 32,000 คน ยังต้องประสบกับการโยกย้ายถิ่นฐานโดยไม่สมัครใจและการให้ค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม
 
28 มีนาคม 2556
ชาวบ้านจากหมู่บ้านชาคาน ในเขตเท็งจี ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นให้ย้ายออกจากหมู่บ้าน เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านปฏิเสธที่จะย้าย เนื่องจากได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวมานานหลายทศวรรษ และได้ดำรงชีวิตโดยการหาปลาและทำนาเกลือมาหลายชั่วอายุคน
 
12 พฤษภาคม 2556
ประชาชนในท้องถิ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อจากทวายไปยังประเทศไทย ได้ปฏิเสธการเข้าร่วม “การประชุมสาธารณะเพื่อปรึกษาหารือ” จัดโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกว่าจ้างโดย บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เพื่อทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านกล่าวว่าคณะนักวิจัยล้มเหลวหลายต่อหลายครั้งในการให้ข้อมูลเรื่องการทำการศึกษา และล้มเหลวในการชี้แจงประเด็นที่สำคัญอย่างการชดเชยความเสียหายอันมีต่อที่ดินและพืชผล พวกเขายังกล่าวถึงการดำเนินการของ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ และคณะนักวิชาการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำการศึกษาหลังจากที่การก่อสร้างได้เริ่มไปแล้ว และทรัพย์สินของชาวบ้านได้รับความเสียหายไปแล้วว่า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการ “ขาดจริยธรรม”
 
24 มิถุนายน 2556
กลุ่มจับตาทวาย (Dawei Watch) กล่าวว่าชาวบ้านในทวายกำลังวางแผนที่จะฟ้อง บมจ. อิตาเลียนไทยฯสำหรับการสูญเสียที่ดินจากการที่บริษัทได้ตัดถนนผ่านที่ดินของชาวบ้านในเมืองเยบิว นอกจากนี้ ตามรายงานของเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกที่เสนอต่อศาลพิเศษในเขตอำเภอตะลายยาร์ยังระบุว่า ชาวบ้าน 14 คน ได้โต้แย้งถึงจำนวนเงินค่าชดเชยที่บริษัทเสนอให้สำหรับการสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกและวิถีชีวิตของพวกเขา
 
29 กรกฎาคม 2556
นาย ทูรา ตวง ลวิน ประธานคณะกรรมการบริหารการจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประกาศถึงความพยายามที่จะดึงประเทศญี่ปุ่นเข้าเป็นพันธมิตรในทางยุทธศาสตร์ของโครงการทวาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในการจัดหาไฟฟ้า ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีประเทศพม่าและประเทศไทยที่ส่งถึงประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 เมษายน เพื่อเชิญชวนให้ร่วมลงทุนในโครงการ
 
4 สิงหาคม 2556
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศพม่ากล่าวว่า พวกเขายังคงเชื่อมั่นว่าประเทศญี่ปุ่นจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงการทวาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นกล่าวกับว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาหลาย ๆ ตัวเลือกเพื่อเข้าร่วมในโครงการทวาย นาย มาซากิ ทากาฮาระ ผู้บริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำย่างกุ้ง กล่าวด้วยว่า ประเทศญี่ปุ่นสามารถช่วยเหลือในสิ่งที่ญี่ปุ่นเชี่ยวชาญผ่านการวางแผนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถพิจารณาเรื่องการจัดหาทุนสำหรับโครงการด้วย โดยเขากล่าวว่า “การสนับสนุนการพัฒนาและการเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้ ถือเป็นงานของประเทศญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค”
 
9 กันยายน 2556
ชาวบ้านในพื้นที่ทำการปิดถนนที่หมู่บ้านตะบิวชอง เพื่อประท้วง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ  โดยกล่าวหาว่าบริษัทไม่รักษาสัญญาที่เคยระบุว่า จะชดเชยความเสียหายจากการสร้างถนนสำหรับโครงการทวาย โดยทางกลุ่มผู้ประท้วงยังได้ออกแถลงการณ์วิจารณ์ถึง “ค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส” ที่บริษัทดำเนินการ
 
29 กันยายน 2556
ชาวบ้านทวายเรียกร้องให้ระงับโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยกล่าวว่าบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยตามที่ได้สัญญาไว้  ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มไม่พอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากไร่สวนของพวกเขาถูกทำลายจากการก่อสร้างโครงการโดยที่พวกเขาไม่เคยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการมาก่อน
 
16 ตุลาคม 2556
สื่อ Eleven Media ของพม่ารายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวในที่ประชุมร่วมพม่า-ไทย-ญี่ปุ่น ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังดำเนินการพิจารณาครั้งใหม่เกี่ยวกับการเข้าร่วมในโครงการทวาย โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการขนส่ง นาย ฮัน ซิน ในฐานะประธานกรรมการดำเนินงานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กล่าวว่า “รัฐบาลญี่ปุ่นสนใจเข้าลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจใดๆ และหากรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการลงทุนในโครงการนี้จริง ก็จะต้องใช้วิธีการระดมทุนในทางสาธารณะ”
 
21 พฤศจิกายน 2556
คณะกรรมการประสานงานร่วม ไทย-พม่า ให้ความเห็นชอบกรอบข้อตกลงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายฉบับใหม่ และมีการลงนามในสัญญา 3 ฉบับ คือ
 
1. สัญญาระหว่างคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZ Authority) กับบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ซึ่งถือหุ้นร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลไทย และรัฐบาลพม่าฝ่ายละ 50% (เงินทุนจดทะเบียนเบื้องตัน 12 ล้านบาท) โดย SPV จะเป็นผู้ประสานงานและที่ปรึกษาหลักหลักของคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รวมไปถึงการเชิญชวนนักลงทุนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในโครงการ ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ลงทุนในโครงการนี้
 
2. สัญญาร่วมสามฝ่าย (Tripartite Memorandum) ระหว่าง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และ SPV โดยเนื้อหาสำคัญระบุถึงสิทธิการดำเนินงานที่เหลืออยู่ของ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ก่อนส่งมอบงานให้กับนิติบุคคลย่อย (SPC) รับช่วงในการดำเนินงานต่อไป ซึ่งสิทธิในการดำเนินงานของ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ  ก่อนที่จะมีการประมูลโครงการเกิดขึ้น คือการซ่อมแซมและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มีกรก่อสร้างไปแล้วบางส่วนในโครงการทวาย เช่น ถนน และท่าเรือขนาดเล็ก
 
และ 3. สัญญาในการยกเลิกสิทธิสัมปทานเดิมของบมจ. อิตาเลียนไทยฯ ที่ได้มีการทำสัญญาเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทวายที่ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ  เคยลงนามร่วมกับคณะกรรมการบริหารท่าเรือพม่า โดยสิทธิดังกล่าวจะคืนให้กับ SPV เพื่อนำไปสู่การประมูลโครงการต่างๆ ในทวาย โดย SPV จะได้สิทธิในการบริหารโครงการตามกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของพม่าเป็นเวลา 75 ปี และมีการขยายสัญญาการลงทุนได้อีก 25 ปี
 
นาย เซต อ่อง รองผู้ว่าการธนาคารกลางพม่า กล่าวว่าตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดการยังได้เชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นส่งข้อเสนอทางธุรกิจสำหรับการพัฒนาโครงการชุดแรกด้วย อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่าญี่ปุ่นจะประกาศแผนการลงทุนของตนในโครงการทวายในการประชุมฉลองความสัมพันธ์ 40 ปี อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ในเดือนธันวาคม 2556
 
21 พฤศจิกายน 2556
ชาวบ้านทวายปิดถนนทวาย-บ้านพุน้ำร้อน ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 37-38 และยึดรถ 3 คันของ บมจ. อิตาเลียนไทย โดยกล่าวว่า บมจ. อิตาเลียนไทย ไม่รับผิดชอบในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเรือกสวนไร่นาซึ่งถูกทำลายนับแต่บริษัทเริ่มก่อสร้างถนนในปี 2554
 
22 พฤศจิกายน 2556
บริษัท มิตซูบิชิประกาศจะร่วมกับ บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และ บมจ. อิตาเลียนไทย ในสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 30, 50 และ 20 ตามลำดับ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 7,000 เมกะวัตต์ในทวาย ซึ่งถือว่ามีขนาดเท่ากันกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 7 โรง โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ 3,000 เมกะวัตต์ จะใช้ในโครงการทวาย และอีก  4,000 เมกะวัตต์ จะขายให้ประเทศไทย ทั้งนี้ คาดว่าโรงไฟฟ้าส่วนแรกจะจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2558
 
25 พฤศจิกายน 2556
สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและภาคเอกชน ได้หันกลับมาสนใจโครงการทวายอีกครั้งหลังจากที่เคยแสดงท่าทีเมินเฉยต่อข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว “โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภูมิภาคนี้” นายทาดาชิ เมเอดะ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ได้กล่าวในงานสัมมนาธุรกิจที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งจัดโดยนิเคอิ บริษัทสื่อชื่อดังของญี่ปุ่น
 
 
 
 
 

[1] โครงการประกอบด้วยองค์ประกอบหลายส่วน อาทิ ท่าเรือน้ำลึก, โรงกลั่นน้ำมัน, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมเหล็ก, โรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมไปถึงโครงการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และถนนเชื่อมโยงมายังประเทศไทย โดยเป็นไปตามข้อตกลงในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่ลงนามโดยการท่าเรือแห่งพม่า กับ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2551  โดยในข้อตกลงเบื้องต้นนั้นมี บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้พัฒนาหลักของโครงการ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นโครงการระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ภายใต้การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555
 
[2] ยกตัวอย่างเช่น นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวในโอกาสเข้าพบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ในวันที่ 17 มกราคม 2556 ว่า  “ญี่ปุ่นต้องการแลกเปลี่ยนความเห็นกับประเทศที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ก็มองการพัฒนาต่าง ๆ (ในพื้นที่ทวาย) ด้วยความสนใจ”  (http://www.mofa.go.jp/region/asia-paci/pmv_1301/thailand.html) นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการหารืออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศพม่า โดยเฉพาะหัวข้อเกี่ยวกับพื้นที่ทวาย  ทั้งในการประชุมระดับภูมิภาคและการประชุมระดับทวิภาคี อันได้แก่ การประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 (http://www.mofa.go.jp/annouce/jfpu/2011/12/1221-01.html), การประชุมผู้นำญี่ปุ่น-ไทย วันที่ 7 มีนาคม 2555 (http://kantei.go.jp/foreign/noda/diplomatic/201203/07thai_e.html), และในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 วันที่ 30 สิงหาคม 2555 (http://www.asean.org/news/asean-secretariat-news/item/joint-media-statement-of-the -4th-makong-japan-economic-ministers-meeting-siem-reap-cambodia-30th-august-2012).  
 
[3] การประเมินผลกระทบทางด้านสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในกรณีนี้ เนื่องจากการก่อสร้างถนนที่เชื่อมโยงจากโครงการได้ตัดผ่านพื้นที่ที่ได้เกิดความขัดแย้งเมื่อไม่นานมานี้ และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการละเมิดทางด้านสิทธิมนุษยชน
 
[4] DDA, LokaAhlinn, Southern Society Development Network, Trocaire. “Local People Understanding of Dawei Special Economic Zone” (March 2012).

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net